เมื่อเอ่ยถึงเคมบริดจ์ (Cambridge) หลายคนคงนึกถึงชื่อเสียงและบรรยากาศอันขรึมขลังของมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งสหราชอาณาจักร บ้างก็คงนึกถึงการล่องเรือถ่อในแม่น้ำเคม (River Cam) ที่ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้ระหว่างสองฟากฝั่ง

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดหมายสำคัญในเคมบริดจ์ ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนหลั่งไหลเข้ามา คือแผ่นหินที่จารึกบางส่วนของบทกวีชื่อ A Second Farewell to Cambridge ของ สวี จื้อหมัว (Xu Zhimo) ซึ่งเขียนขึ้นจากความรู้สึกอิสระและเป็นสุขของกวี ที่ซาบซึ้งในสัมผัสของเคมบริดจ์

ความไพเราะและมีเอกลักษณ์พิเศษ ทำให้บทกวีนี้เป็นหนึ่งในบทกวีแนวโรแมนติกที่สำคัญของแบบแผนกวีจีนสมัยใหม่

ไม่ใช่เพียงแค่ความงดงามของบทกวีเท่านั้นที่ทำให้ สวี จื้อหมัว เป็นที่จดจำในหน้าประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมจีน ชีวิตที่โลดโผนของเขาก็มีรสที่ตรึงใจไม่แพ้กัน

แผ่นหินที่ระลึกถึง สวี จื้อหมัว จารึกท่อนสุดท้ายของบทกวี 再别康橋 หรือ A Second Farewell to Cambridge ที่มา: https://commons.wikimedia.org/

จารึกท่อนสุดท้ายของบทกวี 再别康橋 หรือ A Second Farewell to Cambridge แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย สี่ว์ไก้อี้ว์ (Xu Gaiyu)

悄悄的我走了        Silently I am going                              

正如我悄悄的來; As silently I came;                              

我揮一揮衣袖,     I shake my sleeves,                           

不帶走一片雲彩     Not to bring away a patch of cloud.    

 

หลายปีก่อนในนิวยอร์ก เด็กชายชาวจีนที่ครอบครัวอพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งมองภาพถ่ายจากทศวรรษ 1920s ของชายชาวจีนอีกคนที่แขวนอยู่ในห้องรับประทานอาหาร ชายในภาพถ่ายนั้นเป็นกวีและปัญญาชนที่อยู่ต่างยุคต่างสมัยกับเขา เขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องของชายคนนั้น รู้แต่เพียงว่านี่คือปู่ของเขา และบางครั้งเขาก็มีจินตนาการลอยไปไกลว่าได้พูดคุยกับปู่ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

เมื่อเด็กชายคนนั้นเข้าเรียนเป็นนักศึกษาวิศวกรรมในมหาวิทยาลัยมิชิแกน ชะตาชีวิตก็ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักปู่ของเขามากขึ้น

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งเอาใบปลิวเกี่ยวกับการบรรยายของศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมจีนชื่อ ซิริล เบิร์ช (Cyril Birch) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เรื่องความสัมพันธ์ทางปัญญาระหว่าง สวี จื้อหมัว และ โธมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy) มาให้เขา เพื่อต้องการล้อเล่นเพราะเห็นว่า ชื่อของชายชาวจีนในหัวข้อบรรยายนั้นพ้องกับชื่อของเขา

และนั่นคือจุดกำเนิดของมหากาพย์แห่งการค้นหาอดีตที่สูญหายของบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์จีน

สวีจื้อหมัว จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ความเป็นกวี

Chasing the Modern (การไล่ตามความเป็นสมัยใหม่) เป็นหนังสือที่ โทนี่ เอส. สวี (Tony S. Hsu) เขียนเล่าเรื่องประวัติของ สวี จื้อหมัว ปู่ผู้ไม่เคยพบหน้ากัน โทนี่ เอส. สวี เป็นลูกชายของ สวี จี้ไข (Xu Jikai) ลูกชายคนเดียวของ สวี จื้อหมัว กับ จัง โอ้วอี้ (Zhang Youyi) ภรรยาคนแรกที่เลิกรากันไป

ชีวิตของสวีจื้อหมัวใน Chasing the Modern เริ่มตั้งแต่การเล่าเรื่องในวัยเยาว์และความเป็นเลิศทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงผันผวนและเปราะบางทางการเมืองอันนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิง

หลังจากได้รับการศึกษาขั้นต้นจากบ้านเกิดในมณฑลเจ้อเจียง สวีจื้อหมัวย้ายเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลังจากนั้นไม่นาน พ่อของเขาจัดการหาคู่แบบคลุมถุงชนให้เขากับจังโอ้วอี้

ความที่สวีจื้อหมัวเป็นคนที่ใฝ่ใจและทะเยอทะยานด้านการศึกษา ครอบครัวของจังโอ้วอี้จึงแนะนำให้เขารู้จักกับเหลียงฉีเชา (Liang Qichao) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกเข้ามาสู่จีน การพบกับเหลียงฉีเชาสร้างแรงบันดาลใจให้กับการอุทิศตนและสติปัญญาเพื่ออนาคตของประเทศชาติที่กำลังเผชิญหน้ากับความเป็นสมัยใหม่ซึ่งถาโถมเข้ามาจากตะวันตก เหลียงฉีเชายังกระตุ้นให้สวีจื้อหมัวเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อเปิดรับทัศนคติใหม่

ภาพของสวีจื้อหมัวและจังโอ้วอี้ ที่มา: http://story321.com

ต่อมาในปี ค.ศ. 1918 สวีจื้อหมัวเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้จังโอ้วอี้กับลูกชายที่เพิ่งคลอดไปพักอยู่กับครอบครัวของเขา สวีจื้อหมัวเริ่มต้นการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่คลาร์ก คอลเลจ ในแมสซาชูเซตส์

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สวีจื้อหมัวต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แต่เนื่องจากเขาไม่ชอบบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1921 แต่ช่วงเวลาที่เขาไปถึงนั้นยังไม่ใช่เวลาที่กำหนดไว้ในการเข้าศึกษาในปีการศึกษาใหม่ เขาจึงไปลงทะเบียนศึกษาวิชาแบบอิสระที่คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ในช่วงที่อยู่ในอังกฤษ สวีจื้อหมัวได้พบรักกับหลินฮุยอิน (Lin Huiyin) ลูกสาวของหลินฉังหมิน ( Lin Changmin) ปัญญาชนจีนซึ่งอาศัยอยู่ในลอนดอน แต่ความรักของทั้งคู่ก็มีอุปสรรคเพราะสวีจื้อหมัวยังมีพันธะผูกพันอยู่กับจังโอ้วอี้

ภาพของหลินฮุยอิน ที่มา: https://commons.wikimedia.org/

ขณะเดียวกันนั้นเอง ทางครอบครัวของสวีจื้อหมัวและจังโอ้วอี้เห็นว่าสองสามีภรรยาอยู่ห่างกันนานเกินไป จึงจัดการส่งเธอมาอังกฤษเพื่ออยู่กับสามี เมื่อจังโอ้วอี้ได้พบกับสวีจื้อหมัว เธอก็รับรู้ว่าชีวิตในต่างแดนได้ทำให้เขาเปลี่ยนไป และเธอรู้ว่าสามีของเธอมีใครอีกคนอยู่ในใจ

สวีจื้อหมัวเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอันมากเพราะเขาต้องการแต่งงานกับหลินฮุยอิน แต่เธอยืนยันว่าการแต่งงานจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าเขาจะหย่าขาดจากภรรยา ในระหว่างที่เขากำลังพยายามเพื่อพิสูจน์ความรักนั้น หลินฉังหมินก็พาหลินฮุยอินย้ายกลับประเทศจีนไปโดยไม่ได้บอกกล่าว

ช่วงที่สวีจื้อหมัวกำลังสับสนกับความรักและความรับผิดชอบในการแต่งงานตามขนบประเพณี เป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในของเขา สวีจื้อหมัวใช้ชีวิตไปกับการพบปะเพื่อนนักศึกษา อ่านหนังสือและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้อารมณ์ที่อ่อนไหวไร้ทางออกและทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำเคมและมหาวิทยาลัยนี้เองที่เขาเริ่มเขียนบทกวี และซาบซึ้งไปกับพลังของถ้อยคำที่เป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึก

ภาพของการเมืองและเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เขาเดินทางจากบ้านเกิดมาเริ่มเลือนหายไป จนท้ายที่สุดเหลือเพียงความต้องการที่จะเป็นกวีและนักเขียน

ปัญญาชนสมัยใหม่ และชีวิตรักที่ท้าทายขนบ

ในที่สุด สวีจื้อหมัวก็หย่าร้างกับจังโอ้วอี้สำเร็จ และใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษอีกระยะหนึ่ง เขาได้พบปะกับกลุ่มปัญญาชนสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในขณะนั้นอย่างกลุ่มบลูมสบิวรี่ (Bloomsbury Group) ทำให้เขามีทัศนคติและความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมและความเป็นสมัยใหม่

จากการค้นพบตัวตนใหม่และความเสียใจที่ต้องห่างไกลจากหญิงคนรัก สวีจื้อหมัวเปลี่ยนพลังของความรู้สึกในช่วงนี้เป็นข้อเขียนและบทกวีจำนวนมาก หลังจากพยายามต่อสู้กับความรู้สึกและความทุกข์ทรมานของความรัก สวีจื้อหมัวตัดสินใจเดินทางกลับประเทศจีนในปี ค.ศ. 1922 เพื่อสานสัมพันธ์กับหลินฮุยอิน แต่ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะหลินฉังหมินได้จับคู่หมั้นหมายลูกสาวของเขากับลูกชายของเหลียงฉีเชาไปก่อนแล้ว

แม้จะผิดหวังจากความรัก สวีจื้อหมัวก็ยังมุ่งมั่นในการเป็นกวีและนักเขียน ข้อเขียนและบทกวีที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ากับขนบเดิมของจีนของเขาเริ่มได้ตีพิมพ์ในวารสารและหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง หลังจากนั้น เขาได้เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ในปี ค.ศ. 1924 สวีจื้อหมัวได้รับโอกาสให้เป็นล่ามให้กับรพินทรนารถ ตะกอร์ (Rabindranath Tagore) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอินเดียที่ได้รับเชิญให้มาเยือนประเทศจีนเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ เขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านวรรณกรรมกับรพินทรนารถ ตะกอร์ และริเริ่มตั้งชมรมพระจันทร์เสี้ยว (Crescent Moon Society) ซึ่งมีจุดประสงค์ให้เป็นการรวมกลุ่มปัญญาชนสมัยใหม่แบบกลุ่มบลูมสบิวรี่ในอังกฤษ

หลังจากสวีจื้อหมัวผิดหวังกับความรักที่โหยหามาตลอด เขาได้พบกับลู่เสี่ยวมั่น (Lu Xiaoman) สาวสังคมชั้นสูง ภรรยาของหวังเกิง (Wang Geng) ผู้ทำงานอยู่กับเหลียงฉีเชา ทั้งสองตกหลุมรักกันอย่างรวดเร็ว แต่สังคมรอบข้างไม่ยอมรับ หวังเกิงโกรธแค้นกับเรื่องนี้มาก เขาขู่ว่าจะฆ่าสวีจื้อหมัวถ้ายังไม่เลิกติดต่อกับลู่เสี่ยวมั่น

ผลกระทบจากความอาฆาตของหวังเกิงและแรงต้านจากสังคมทำให้สวีจื้อหมัวออกเดินทางไปยุโรปอีกครั้งเพื่อผ่อนคลายจิตใจและลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นกับชีวิตและการงาน แต่เขาก็ไม่ตัดใจจากลู่เสี่ยวมั่น ทั้งคู่เขียนจดหมายติดต่อกันทุกวัน จนในที่สุด ลู่เสี่ยวมั่นตัดสินใจหย่าขาดจากหวังเกิง ทั้งคู่จึงแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1926

ภาพของลู่เสี่ยวมั่น ที่มา: https://commons.wikimedia.org

การแต่งงานของทั้งสองมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เหลียงฉีเชาผู้เปรียบเสมือนอาจารย์และผู้ใหญ่ของสวีจื้อหมัวได้รับเชิญให้กล่าวอวยพรแก่คู่สมรส แต่เหลียงฉีเชากลับทำในสิ่งตรงกันข้าม เขากล่าวตำหนิการตัดสินใจของทั้งคู่ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

หลังจากการแต่งงาน ทั้งสองย้ายจากปักกิ่งไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ พวกเขาเริ่มประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตเนื่องจากรสนิยมที่หรูหราของลู่เสี่ยวมั่น ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของสวีจื้อหมัวยังตัดเงินสนับสนุนทั้งเพราะ เหตุผลทางเศรษฐกิจและความไม่เห็นด้วยกับการใช้ชีวิตคู่ของทั้งสอง สวีจื้อหมัวต้องทำงานหลายอย่างเพื่อพยุงฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว

แม้สวีจื้อหมัวจะพยายามประคับประคองชีวิตคู่อย่างยากลำบากเพียงใด แต่ก็ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเมินเฉยต่อความอุตสาหะ ทั้งยังกลับเพิ่มภาระทางจิตใจให้เขาอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง นั่นคือลู่เสี่ยวหมานที่ชอบใช้ชีวิตในวงสังคมได้พบกับเวิงรุ่ยอู้ (Weng Ruiwu) นักแสดงสมัครเล่นที่มีพื้นฐานครอบครัวจากสังคมชั้นสูง ทั้งสองได้พัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เวิงรุ่ยอู้ได้แนะนำลู่เสี่ยวมั่นให้รู้จักกับการเสพฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น

การหวนคืนสู่ยุโรป

ในช่วงที่สวีจื้อหมัวต้องต่อสู้กับปัญหาครอบครัวนั้น เขาได้เข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านหนังสือพระจันทร์เสี้ยวและเริ่มตีพิมพ์หนังสือรวมข้อเขียนและบทกวีที่มีรูปแบบของความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เขาเริ่มรับมือกับสภาพจิตใจที่เกิดขึ้นจากปัญหาครอบครัวไม่ไหว เขาก็เดินทางกลับไปหาพ่อแม่เพื่อผ่อนคลายสภาวะตึงเครียด ทางบ้านของเขาจึงช่วยสนับสนุนให้เขาเดินทางท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูจิตใจจากความซึมเศร้า เขาเลือกเดินทางกลับไปยุโรปอีกครั้ง

การกลับไปครั้งนี้เป็นเสมือนการคืนสู่ความทรงจำที่เร่งให้ตัวตนและจิตใจของเขาเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อแรงปรารถนาด้านกวีและวรรณกรรม ช่วงที่เดินทางกลับจากการท่องเที่ยวนี้เองที่สวีจื้อหมัวเขียนบทกวี A Second Farewell to Cambridge ออกมาจากความรู้สึกผูกพันกับสถานที่อันเปรียบเสมือนบ้านทางจิตวิญญาณของเขา

หลังจากกลับจากยุโรป สวีจื้อหมัวกลับมาใส่ใจในด้านวรรณกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาครอบครัว เขาตีพิมพ์งานเขียนของตัวเองและงานที่เขาแปลจากนักเขียนที่เขาชื่นชม นอกจากนั้นยังรับงานสอนในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนให้ได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

สวีจื้อหมัวย้ายไปอยู่ที่ปักกิ่งหลังจากได้รับตำแหน่ง แต่ยังต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างเซี่ยงไฮ้กับปักกิ่ง เนื่องจากการเดินทางระหว่างสองเมืองนี้โดยรถไฟใช้เวลาถึง 14 ชั่วโมง เขาจึงเลือกเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นหลักเพื่อประหยัดเวลา

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931 สวีจื้อหมัวเดินทางกลับปักกิ่งหลังจากการทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับลู่เสี่ยวมั่นเพราะเขาขอให้ลู่เสี่ยวมั่นเลิกสูบฝิ่นแต่เธอปฏิเสธ เครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่มีเพียงเขาเป็นผู้โดยสารกับนักบินอีกสองคนประสบกับอุบัติเหตุชนกับเนินเขาเนื่องจากทัศนวิสัยที่มืดมัวจากหมอก ไม่มีใครรอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

สวีจื้อหมัวจากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 34 ปี 10 เดือน

Chasing  the Modern ชีวประวัติของกวีที่เขียนและค้นคว้าโดยทายาท

เมื่อมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจสงสัยว่าเหตุใดผู้เขียนจึงบอกเล่าประวัติชีวิตอย่างยืดยาวของสวีจื้อหมัว  คำตอบคือ หลังจากที่ผู้เขียนเองได้รู้จักกับสวีจื้อหมัวจากคำแนะนำของชาวไต้หวันที่สนิทสนมกัน ผู้เขียนได้พยายามค้นหาประวัติของเขาในภาษาไทยและพบว่าประวัติชีวิตและบทกวีของเขาไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในโลกภาษาไทย มีเพียงบทความที่กล่าวถึงประวัติชีวิตเขาสั้นๆ และบทกวีแปลไม่กี่ชิ้นตีพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่กันในวงแคบ ทั้งๆ ที่ชื่อเสียงของเขาโด่งดังมากในโลกภาษาจีน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงพยายามให้ภาพของสวีจื้อหมัวเท่าที่จะให้ได้ในพื้นที่จำกัด ก่อนจะกล่าวถึงหนังสือ

ใน Chasing  the Modern  โทนี่ เอส. สวี ใช้วิธีค้นคว้าเรียบเรียงชีวิตปู่ของเขาจากคำบอกเล่าของญาติในครอบครัว เอกสารชั้นต้นและการเดินทางไปพบกับผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตของสวีจื้อหมัว ความที่เป็นทายาทสืบเชื้อสายโดยตรง เขาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะหาข้อมูลจากที่ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเขาสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาเปรียบเทียบเชื่อมโยง ทำให้เราเห็นภาพของสวีจื้อหมัวชัดเจนขึ้น

และถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเป็นทายาทของครอบครัวภรรยาคนแรกที่สวีจื้อหมัวทอดทิ้ง การเขียนถึงสวีจื้อหมัวและผู้หญิงคนอื่นที่เกี่ยวข้องก็ปราศจากน้ำเสียงลำเอียงที่ให้ร้ายในทางกลับกัน เขากลับถ่ายเทน้ำหนักความสำคัญให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งยังนำเสนอข้อสังเกตที่วางอยู่บนเหตุผลของหลักฐานเพื่อให้ผู้อ่านได้เหตุที่มาที่ไปของทางเลือกและวิธีปฏิบัติของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เขานำเสนอเรื่องให้ผู้อ่านตัดสินมากกว่าจะเป็นผู้ที่ซ่อนคำตัดสินแฝงไปในเรื่องเล่า

หนังสือประกอบไปด้วยประวัติส่วนตัว บุคคลรอบข้าง บริบทของเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในโลกตะวันตกและสังคมจีนที่รายรอบตัวของสวีจื้อหมัวในขณะนั้น นอกเหนือไปจากส่วนของประวัติชีวิตแล้ว โทนี่ เอส. สวียังรวบรวมงานเขียนและบทกวีชิ้นสำคัญๆ ที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของปู่ของเขาเอาไว้ในช่วงท้ายเล่ม การอ่านประวัติของสวีจื้อหมัวประกอบกับงานเขียนของเขาจะช่วยเติมเต็มความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกที่แฝงอยู่ในประวัติชีวิตและบทกวีได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

การค้นคว้าและวิธีเรียบเรียงเรื่องราวจากข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ของผู้เขียนทำให้เราทราบถึงแรงบันดาลใจในการเลือกใช้ชีวิตที่ขัดกับขนบธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของสวีจื้อหมัว เนื่องจากการแต่งงานในสังคมจีนยุคนั้นหมายถึงการเป็นพันธมิตรกันของสองตระกูลมากกว่าการหลอมรวมกันทางจิตวิญญาณของคู่รักเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ การหย่าร้างเพื่อความรักในสังคมจีนจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเป็นการหย่าร้างเพื่อไปแสวงหาความรักตามแรงปรารถนาของจิตใจยิ่งเป็นเรื่องที่เกินคาดฝันของคนในสังคม การเลือกของสวีจื้อโหมวสะท้อนให้เราเห็นอิทธิพลของความเป็นตะวันตกที่มีอิทธิพลเหนือความเป็นตะวันออกในแง่ของความรักเชิงปัจเจก  

ยิ่งไปกว่านั้น Chasing the Modern ยังทำให้เราเห็นแรงบันดาลใจของวรรณคดีสมัยใหม่ของตะวันตกที่มีส่วนปรับทิศทางการเขียนของสวีจื้อหมัว ซึ่งต่อมาลักษณะการเขียนที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างตะวันออกกับตะวันตกนี้ก็ไปมีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ของโลกวรรณกรรมและกวีสมัยใหม่ของจีน กล่าวคือ สวีจื้อหมัวได้เลือกใช้ภาษาจีนราษฎร์ (Vernacular Chinese) ในการเขียนบทกวี ทั้งยังเสนอโครงสร้างการเขียนใหม่ที่ปราศจากกลิ่นอายคร่ำครึของบทกวีจีนในแบบดั้งเดิม โดยที่ยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างของบทกวีและรูปแบบของการเปล่งเสียงด้วยภาษาที่เรียบง่ายเพื่อสื่อถึงความหมาย บทกวีของเขาจึงมีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในการเปลี่ยนโฉมหน้าของวรรณคดีจีนในยุคเปลี่ยนผ่าน

นอกจากข้อมูลที่ทำให้เห็นแรงบันดาลใจข้างต้นแล้ว โทนี่ เอส. สวียังนำเสนอข้อมูลอื่นเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงทั้งสามคนในชีวิตของสวีจื้อหมัว ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประวัติของสวีจื้หมัวเอง เพราะในขณะที่สวีจื้อหมัวรับอิทธิพลของโลกตะวันตกเพื่อปรับตัวเองเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทั้งด้านความคิดและชีวิตนั้น คนรอบข้างของเขาก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย

การหย่าร้างระหว่างเขากับจังโอ้วอี้ไม่เพียงแต่สร้างตำนานใหม่ให้แก่ขนบธรรมเนียมด้านความรักของจีน แต่ยังเป็นการเปิดโลกใหม่ด้านความเป็นหญิงให้แก่สังคม เพราะจังโอ้วอี้ก็เลือกที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วยการต่อสู้เพื่อตัวเองและลูกชาย การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในโลกยุคเก่าอย่างประสบความสำเร็จของเธอทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า หรือแท้จริงแล้วโลกสมัยใหม่ด้านความรักที่สวีจื้อหมัวไขว่คว้านั้นเป็นเพียงการเปิดประตูสู่โลกสมัยใหม่ที่แท้จริงให้แก่จังโอ้วอี้และผู้หญิงจีนในยุคหลังต่างหาก

ไม่เพียงเท่านั้น โทนี่ เอส. สวียังได้ค้นคว้าไปถึงช่วงที่เวลาสูญหายจากประวัติศาสตร์ของสวีจื้อหมัวจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เนื่องจากผลงานของเขามีลักษณะของกระฎุมพีและเป็นฝ่ายปฏิกิริยาต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสม์ หลักฐานต่างๆ จากการค้นคว้าทำให้เราได้เห็นช่วงที่ลับหายไปจากสายตาและการกลับมาเจิดจ้าอีกครั้งของมรดกทางความคิดของสวีจื้อหมัวในสังคมจีน

สวีจื้อหมัวอาจจากเคมบริดจ์มาโดยไม่มีอะไรติดมือมาเลยดังที่เขากล่าวในบทกวี แต่เขาจากโลกไปโดยทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้แก่ชาวจีนรุ่นหลังและเคมบริดจ์ที่เขารักด้วยบทกวี

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณ ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีนจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดีสำหรับความช่วยเหลือในการถอดเสียงภาษาจีน

Fact Box

  • ก้อนหินที่ระลึกถึงสวีจื้อหมัวได้รับการติดตั้งที่คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ค.ศ. 2008
  • ปรากฏการณ์การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับการนำเสนอผ่านสำนักข่าวบีบีซีไปทั่วโลก ผู้ที่สนใจสามารถดูข่าวได้จากคลิป ‘Chinese flock to Xu Zhimo King's College Cambridge festival’ และคลิป ‘Chinese visitors seek out poet's farewell to Cambridge’
  • กลุ่มบลูมสบิวรี่คือกลุ่มปัญญาชน นักเขียน และศิลปินในลอนดอนที่รวมตัวกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรม สมาชิกที่มีชื่อเสียงในกลุ่มได้แก่ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf), จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์(John Maynard Keynes) และ โรเจอร์ ฟราย (Roger Fry) เป็นต้น
  • บทกวีของสวีจื้อหมัวได้รับการดัดแปลงไปเป็นบทเพลงขับร้องโดยศิลปินมากมาย เพลงที่มีชื่อเสียงมากคือเพลงที่ขับร้องโดยเติ้งลี่จวิน (Teresa Teng) ชื่อ ‘Rhythm of the Sea’ ซึ่งดัดแปลงมาจากบทกวีชื่อ ‘Sea Rhyme’ ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1925
  • สถานีโทรทัศน์ CCTV ของประเทศจีนได้จัดทำสารคดี 20 ตอนจบเกี่ยวกับชีวิตของสวีจื้อหมัว (มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ) สามารถชมได้จาก tv.cntv.cn
  • ในปี ค.ศ. 2000 ประวัติชีวิตของสวีจื้อหมัวได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เผยแพร่ในประเทศไต้หวันในชื่อ April Rhapsody
Tags: , , , , , , ,