หากเปรียบข้อมูลล่าสุดว่าด้วย ‘ไอทีวี’ ที่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย รายงานผ่านรายการข่าว 3 มิติ ก็ดูเป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมอีกหนึ่งเรื่องที่ ‘หักมุม’ ไปอีกทอด ผูกปมให้ซับซ้อนขึ้นไปอีก และพอปะติดปะต่อภาพอันเลือนรางจนชัดเจนยิ่งขึ้น จนมองเห็นขั้นตอน กระบวนการอันแปลกประหลาด และตัวละครผู้อยู่เบื้องหลังในเงาดำชัดเจน
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะรอบนี้ ‘หุ้นสื่อ’ ไม่ใช่แมกาซีนเล็กๆ แบบของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หากแต่เป็นไอทีวี อันเป็นบริษัทมหาชนที่ต้องประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเปิดเผย และยังมีความหมายในทางประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็สำหรับนักข่าวจำนวนมากที่ยังโลดแล่นอยู่ในปัจจุบัน การจะ ‘ปลุกผี’ โดยอ้างว่าไอทีวียังคงมีลมหายใจในฐานะ ‘สื่อ’ ก็มิอาจทำได้ง่ายๆ เมื่อวิดีโอว่าด้วยการประชุมผู้ถือหุ้นถูกเผยแพร่ในลักษณะตรงข้ามกับรายงานการประชุม
สิ่งที่นอกเหนือจาก ‘ความสะใจ’ ก็คือการเปิดเผยตัวละครต่างๆ ในบทภาพยนตร์ชั้นดีเรื่องนี้ The Momentum ชวนวิเคราะห์บทภาพยนตร์ และ ‘ตัวละคร’ ทั้งตัวประกอบและผู้ที่อยู่หลังฉาก รวมถึงทางไปต่อของคดี ‘หุ้นสื่อ’ หลังจากเกิดเหตุหักมุมว่าจะไปต่อในทิศทางใดได้บ้าง
1. ปริศนา ‘ไอทีวี’ เป็น ‘หุ้นสื่อ’ หรือไม่
หากรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อห้ามในการ ‘ถือหุ้นสื่อมวลชน’ และไม่ได้มีชื่อพิธาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก 4.2 หมื่นหุ้น ณ วันนี้ ในปี 2566 ก็คงไม่มีใครคิดว่า ‘ไอทีวี’ ยังประกอบกิจการสื่อมวลชน
เพราะทุกคนรู้ดีว่า ไอทีวีหมดสภาพอย่างไม่สวยงามนักไปตั้งแต่การปิดตัวเมื่อปลายปี 2550 พร้อมกับคดีความยาวเป็นหางว่าว พร้อมกับการถือกำเนิดของ ‘ไทยพีบีเอส’ ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อลบล้างผลพวงของตระกูล ‘ชินวัตร’
แต่หลังจาก นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่าพิธาถือหุ้นนี้อยู่ ตามมาด้วยการร้องเรียนจาก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมสร้างกระบวนการกล่อมเกลาสังคมไปยังฝ่ายอำนาจนิยม ไอทีวีก็กลายเป็นหุ้นสื่อไปอย่างฉับพลัน เพื่อบอกกับสังคมว่าพิธาอยู่ภายใต้ ‘ความเสี่ยง’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เรื่อยไปจนถึงการที่บอกว่า ส.ส.ของพรรคก้าวไกลทั้งหมดจะถูก ‘ตัดสิทธิ์’ แล้วต้องเลือกตั้งใหม่ เพราะพิธาทำผิดข้อบังคับพรรค
จากเรื่องเล็ก กลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยฝ่ายเรืองไกรใช้หลักฐานสำคัญประกอบ คือเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้น ที่คณะกรรมการตอบว่า “ไอทีวียังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์”
เรื่องทั้งหมดจึงไปถึง กกต. และ กกต.รับเรื่องสอบไว้เองว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 151 หรือไม่ แซงหน้าเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งอื่นๆ
เป็นความปกติใหม่ที่ ‘คำร้อง’ ของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลจะเร็วเป็นพิเศษ
2. การ ‘สู้กลับ’ ของฝ่ายก้าวไกล
อันที่จริง หากมองเรื่องนี้จะพบว่า พรรคก้าวไกลและพิธานั้น ‘นิ่ง’ เป็นพิเศษ ในช่วงแรก พิธาแทบไม่ตอบคำถามเรื่องนี้ โดยมักให้เหตุผลว่ายังไม่ได้รับเรื่องจาก กกต. และไม่กังวล เนื่องจากมีบรรทัดฐานเรื่องการถือหุ้นสื่อ โดยมักยกกรณีของ ภาดาท์ วรกานนท์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกร้องเรียนคล้ายกัน แต่บริษัทที่ภาดาท์ถือหุ้น มิได้มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมิได้เพิกถอนสิทธิ์
แต่สุดท้าย พิธาก็ต้องชี้แจงยาวเหยียดภายหลังมีข่าวว่า พิธาโอนทั้ง 4.2 หมื่นหุ้น ให้กับทายาทคนอื่นๆ ตามมรดก พร้อมระบุว่า คนบางกลุ่มพยายามทำให้ไอทีวีฟื้นสภาพกลับมาเป็น ‘สื่อ’ อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ หากย้อนความกลับไปก็จะพบความแปลกประหลาด การที่ไอทีวีเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558-2559 ระบุว่า ‘ไม่ได้ประกอบกิจการ’ แต่ในปี 2563 กลับระบุว่าเป็น ‘สื่อโทรทัศน์’ และในปี 2565 ระบุว่าเป็น ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ ทั้งที่ไม่ได้ปรากฏรายได้จากกิจการเหล่านี้
ความพยายามดังกล่าวทำให้หลายคนมองไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี ที่ถือหุ้นกว่า 75.18% ณ ขณะนี้ ซึ่งก็คือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ว่ากำลังมีกระบวนการอะไรภายในอยู่หรือไม่
เป็นความจริงที่ว่า ไอทีวีเคยเป็นของกลุ่มชินคอร์ป ของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก (Temasek) ประเทศสิงคโปร์ และในเวลาต่อมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีความสนใจในธุรกิจนี้
ปัจจุบัน กัลฟ์จึงเป็นเจ้าของทั้งอินทัชโฮลดิงส์และเป็นเจ้าของไอทีวีไปด้วย เพราะไอทีวีซึ่งมีคดีความฟ้องร้องกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงสถานภาพบริษัทมหาชนต่อไป
และเป็นความจริงที่ว่า กลุ่มกัลฟ์มีคดีความฟ้องร้องกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล 2 คน คือ รังสิมันต์ โรม หลังอภิปรายเรื่องสัมปทานดาวเทียมไทยคมผูกโยงกับผู้บริหารกัลฟ์ และ เบญจา แสงจันทร์ หลังอภิปรายเรื่องความผิดปกติของสัมปทานโรงไฟฟ้าในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
3. ทฤษฎีสมคบคิด หรือ Deep State หาทางล้ม ‘รัฐบาลก้าวไกล’ ผ่านไอทีวี
ในแวดวงการเมืองนั้น รู้กันตั้งแต่หลังการเลือกตั้งวันแรกแล้วว่า มีความต้องการในลักษณะ ‘สามประสาน’ ไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ให้พิธาขึ้นเป็นนายกฯ แต่กลับผิดคาด พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งแทนพรรคเพื่อไทย
สามประสานก็คือความร่วมมือระหว่าง พรรคการเมืองบางพรรค ชนชั้นนำระบอบเก่า และทุนผูกขาดบางกลุ่ม รวมตัวกันในฐานะ Deep State หรือ ‘รัฐพันลึก’ สามประสานต่างรู้ดีว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ยากจะไปต่อ ฉะนั้น พวกเขาต้องวาดเส้นทางทางการเมืองใหม่ ที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดปลอดภัย สามารถสะสมทุน สะสมอำนาจได้ต่อ
การเลือกตั้งที่ผ่านมา กลุ่มทุนบางกลุ่มถึงขั้น ‘ลงทุน’ ในพรรคการเมืองทั้งสองขั้ว จะเสียก็แต่ว่าในขั้วที่ชนะนั้น พวกเขาไม่ได้ลงทุนกับพรรคก้าวไกล
พลันที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง เรื่องไอทีวีก็ค่อยๆ ถูกร้อยเรียงเป็นขั้นตอน โหมโรงให้รุนแรงเข้าไว้ ให้เห็นว่าพิธานั้นพลาด ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกลนั้นทำงานไม่ได้เรื่อง แล้วค่อยๆ เปิดหลักฐานใหม่เรื่อยๆ เพื่อชักจูงสังคมว่าไอทีวียังคงมีสถานภาพสื่อ
ไม่ต้องสนคดีความเมื่อ 16 ปีที่แล้ว เพราะหากผู้ถือกฎหมายบอกว่าไอทีวียังเป็นสื่อ ณ วันนี้ ก็ต้องเป็นสื่อต่อไป
แล้วสุดท้าย เรื่องจะคาราคาซังจนถึงวันเลือกนายกฯ แล้วสุดท้าย ส.ว.อาจตัดสินใจไม่ยกมือให้พิธา เพราะยังมีเรื่องนี้ค้างอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
เดิมพันในจุดนี้ก็เพื่อเปลี่ยนตัวนายกฯ ให้จงได้
4. ทางไปต่อของข้อกล่าวหา ‘ถือหุ้นสื่อ’
จริงอยู่ที่ว่าหลังจากนี้ กกต.น่าจะเดินเรื่องสอบสวนต่อ เพื่อหาว่าพิธาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 หรือไม่ อ้างอิงหลักฐานการเป็นสื่อของไอทีวีผ่านวัตถุประสงค์การจดทะเบียน และหลังจากนี้ ก็คง ‘ฝุ่นตลบ’ เรื่องบันทึกการประชุมว่าเกิดข้อผิดพลาดประการใดที่ทำให้เรื่องทั้งหมดเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า
แต่สิ่งที่สาธารณชนจะเชื่อได้ยากขึ้นก็คือ พวกเขาจะไม่เชื่อว่าพิธาทำผิดจริง โดยปราศจากขบวนการใดอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นนักร้องเรียน นักการเมือง หรือกลุ่มทุน โดยสรุปก็คือ ไม่ว่า ‘พวกเขา’ จะอธิบายอย่างไร สังคมก็เห็นชัดแล้วว่ามีขบวนการนำไอทีวีกลับมาเป็นสื่อเพื่อทำลายพิธา
ในเวลาไม่กี่เดือน ฝ่ายอำนาจนิยมและบรรดา Deep State ทั้งหลาย ใช้ต้นทุนที่มีอยู่ขวาง ‘พรรคอันดับหนึ่ง’ ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายๆ ไปมหาศาล ยากจะประเมินมูลค่าได้
จริงอยู่ที่ว่าเกมนี้จะต้องสู้กันอีกยาว แต่รอบนี้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายโดยสิ้นเชิง ทั้งยังเป็นการเปิดหน้าให้สังคมได้เห็นหน้าค่าตา Deep State กันอย่างชัดเจน
แต่แน่นอน เส้นทางไปสู่ทำเนียบรัฐบาลของพิธาและพรรคก้าวไกล ยังเป็นเส้นทางที่ต้องเดินย้อนศรบนถนนที่ใครก็แล้วแต่ทำไว้ เป็นการเดินไปข้างหน้าบนเข็มนาฬิกาที่พวกเขาพยายามย้อนกลับ
ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อฝ่ายตรงข้ามเริ่มเปิดหน้าแล้ว ก็อาจทำให้สังคมเห็นตัวละคร กระบวนการ และ ‘เกม’ ได้ชัดเจนขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่เคยง่ายก็อาจไม่ง่ายอีกต่อไป
Tags: หุ้นสื่อ, ก้าวไกล, The Momentum ANALYSIS, กัลฟ์, พิธา, ไอทีวี, itv, อินทัช