“ดีจังที่ท้อง ได้หยุดตั้ง 180 วัน”

“คนโสดแบบเราทำงานทั้งชาติคงไม่มีวันหยุดได้มากขนาดนี้”

 

“แต่ 180 วัน คือตัวเลขที่แพทย์แนะนำว่าดีทั้งต่อแม่และเด็ก แกจะโวยวายทำไม”

 

“หยุดเยอะแบบนี้บริษัทก็ขาดทุนยับพอดี”

“เป็นแรงงานเหมือนกันแท้ๆ แต่ดันเห็นอกเห็นใจนายทุนมากกว่า”

 

“ผมว่าผู้หญิงที่ลาคลอดควรทำงานแบบ Work from home”

“ก็เขียนอยู่ว่าลาคลอด จะให้ Work from home บ้าบออะไรอีก”

 

หลากหลายความคิดเห็นกำลังถกเถียงกันไม่รู้จบถึงสิทธิในการลาคลอดของสตรี ซึ่งหนึ่งในการจุดประเด็นที่ว่าเกิดขึ้น เพราะพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายว่า หากเป็นรัฐบาลจะปรับสิทธิลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อไปว่านโยบายนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ และสังคมไทยมองการลาคลอดแบบไหน

หากจะแบ่งฝั่งความคิดเห็นที่ร้อนแรงในทวิตเตอร์ อาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่มองว่าไม่ควรให้หญิงตั้งครรภ์ลาคลอดได้มากถึง 180 วัน กับกลุ่มคนที่มองว่า 180 วัน คือตัวเลขที่เหมาะสม

คอลัมน์ Gender ครั้งนี้ จะพาไปสำรวจความคิดเห็นของทั้งสองฝั่งจากการรวบรวมความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย เพื่อดูว่าแต่ละกลุ่มมีความคิด มีเหตุผล และมองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง พวกเขามองเห็นข้อดีข้อเสียอะไรบ้างหากผู้หญิงจะลาคลอด 180 วัน และเมื่อแวะเวียนไปทั้งสองกลุ่มแล้ว ผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณเพื่อเลือกตัดสินใจว่าสังคมไทยควรมีวันลาคลอดกี่วันกันแน่

           

หญิงลาคลอดควรทำงานแบบ Work from home?

มีความคิดเห็นไม่น้อยในทวิตเตอร์ที่ตั้งคำถามถึงวันลาคลอด 180 วัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลาดังกล่าวนั้นนานเกินไป คล้ายกับไม่แน่ใจว่าตลอดเวลาที่ลาไปนั้นผู้หญิงเพิ่งคลอดจะต้องทำอะไรบ้าง นั่งๆ นอนๆ ดูลูก ทำงานบ้าน หรือทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจะสามารถให้ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการลาคลอดทำงานแบบ Work from home ทยอยกลับมาอัปเดตงานวันละไม่กี่ชั่วโมงได้หรือไม่

ยังมีคำถามที่ว่าในช่วงระยะเวลา 180 วันที่ลาไป ทำไมพอถึงวันที่ 181 ผู้หญิงเพิ่งคลอดสามารถกลับมาทำงานได้เลย ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะขอให้ Work from home อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นได้โดยไม่รบกวนกันจนเกินไปได้ 

ประเด็น 180 กับ 181 วัน มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ยกตัวอย่างบริบทการลาคลอดว่าอาจนำมาเทียบกับการลาป่วยได้ เหมือนกับการตั้งคำถามว่าพนักงานคนหนึ่งแขนขาหักต้องเข้าเฝือก 90 วัน พอวันที่ 91 ก็ถอดเฝือกและกลับมาทำงานได้ เพราะระยะเวลาตั้งแต่การบาดเจ็บวันแรกจนถึงวันที่ 90 ร่างกายได้พักฟื้นจนค่อยๆ กลับมาดีเหมือนเดิม ถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นต์อาจเทียบได้ว่า เจ็บวันแรกไม่พร้อมทำงานเลย เพราะร่างกายอยู่ที่ 1% แต่ผ่านไปจนถึงวันที่ 90 ร่างกายซ่อมแซมตัวเองแล้วจนอยู่ที่ 99% เป็นต้น

ส่วนประเด็น Work from home นั้นมีความคิดเห็นหลากหลาย บางส่วนเห็นด้วยว่าระหว่างอยู่บ้านดูลูกควรจะแบ่งเวลามาช่วยอัปเดตงาน แต่บางส่วนก็มองว่าการเลี้ยงลูกอ่อนไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะเด็กจะร้องบ่อย ต้องปั๊มนม ให้นมลูก และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ประกอบกับต้องเร่งฟื้นฟูร่างกายของตัวเองหลังคลอด แม้จะดูเหมือนว่าง แต่แม่ลูกอ่อนก็ไม่ได้มีเวลาว่างขนาดนั้น

บริบท Work from home อาจเป็นการมองเพียงแค่คนกลุ่มเดียว เพราะในสังคมยังมีคนประกอบอาชีพหลากหลายแต่ไม่สามารถ Work from home จากบ้านได้ แบบนี้หมายความว่าพวกเธอจะถูกตัดสินว่าเห็นแก่ตัวและได้นอนอยู่บ้านสบายๆ ทั้งหมดหรือไม่ และการหยุดพักนี้ก็เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่าลาตาม ‘สิทธิลาคลอด’ ชาวเน็ตบางคนเลยอดที่จะถามไม่ได้ว่าทำไมถึงยังมีบางเสียงเรียกร้องให้คนที่ลางานยังต้องทำงาน

นอกจากนี้ยังมีมุมมองน่าสนใจที่ว่า ‘สิทธิลาคลอดอาจเป็นสิทธิพิเศษให้กับสตรีตั้งครรภ์’ การถกเถียงจึงลุกลามไปยังสิทธิการลาอื่นๆ เช่น ลาบวช ลาเกณฑ์ทหาร เนื่องจากสำนักงานบางแห่งระบุในกฎการทำงานชัดเจนว่าผู้ที่ตั้งครรภ์จะสามารถลาคลอดได้ 90 วัน แต่ผู้ชายสามารถลาบวชได้ 120 วัน

แม้ลาคลอดกับลาบวชแม้จะมีบริบทต่างกัน แต่บางคนมองแบบภาพกว้างในแว่นเดียวกันว่าทั้งสองแบบก็คือวันลา ถ้าอยากให้ผู้หญิงเพิ่งคลอดแล้วยังอยู่ในวันลาจะต้องทำงานแบบ Work from home แบบนี้เราจะสามารถขอให้พระสงฆ์ที่บวชเพียงชั่วคราวทำงานแบบ Work from home ได้เหมือนกันหรือไม่

ไปจนถึงการถามว่าทำไมคนถึงไม่เดือดร้อนเรื่องการลาบวชมากเท่ากับการลาคลอด ทั้งที่การลาคลอดเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลต้องการอย่างมาก เพื่อส่งเสริมทำให้สังคมไทยมีแรงงานเพิ่มขึ้น ส่วนการลาบวชเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลและมีผลพลอยได้คือการช่วยทำนุบำรุงศาสนา ที่แน่นอนว่าการแตกประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับการตั้งคำถามทำนองนี้อย่างมาก

 

ทำไมรัฐต้องนำภาษีมาเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียว?

บางคนมองว่าการลาคลอดคือปัญหา เนื่องจากรัฐบาลจะต้องนำภาษีของคนทั้งประเทศมาเอื้อประโยชน์ให้แค่คนกลุ่มเดียว เหมือนกับเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี ที่ผู้ไม่มีประจำเดือนก็ไม่ได้ประโยชน์จากสวัสดิการดังกล่าว หรือสวัสดิการเกี่ยวกับฮอร์โมนของคนข้ามเพศ ที่คนตรงตามเพศสภาพแต่กำเนิดก็ไม่ได้ผลประโยชน์ ไปจนถึงการทำแท้งถูกกฎหมาย ที่รัฐจะต้องเตรียมสถานพยาบาลเพื่อทำแท้งให้กับหญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ฯลฯ

ความคิดเห็นประมาณนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักไม่แพ้ความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอให้ผู้หญิงลาคลอดทำงานแบบ Work from home การโต้กลับมีตั้งแต่คอมเมนต์อย่างสุภาพ เปรียบเทียบอย่างใจเย็นเพื่ออธิบายความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป และมีหลายคอมเมนต์ที่รู้สึกโกรธไม่น้อยกับมุมมองดังกล่าว

“ถ้าจะพูดว่าไม่สนับสนุนอะไรก็ตามที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ หมายความว่าคุณมองสวัสดิการคนพิการ เงินเบี้ยเลี้ยงคนชรา บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสิ่งที่ไม่ควรมี แค่เพราะว่าคุณไม่ได้รับมันด้วยงั้นหรือ”

“ถามกลับแบบโง่ๆ ถ้ามองกันแค่นี้ งั้นถนนที่ตัดผ่านหน้าบ้านมึงก็ไม่จำเป็นต้องมีใช่ไหม เพราะคนที่อยู่ที่อื่นไม่ได้ประโยชน์จากการตัดถนนผ่านบริเวณนั้น”

“พูดแบบนี้ถือว่าไม่ต่างจากที่ว่าทั้งประเทศจ่ายภาษี แต่มีแค่คนกรุงเทพฯ ที่ได้ใช้รถไฟฟ้าเลยนะ”

ประเด็นนี้อาจต้องย้อนกลับไปมองถึงขั้นว่า “ปกติแล้วรัฐบาลมีสวัสดิการอะไรให้เราบ้าง” เงินภาษีที่ได้จากทุกคนจะถูกแบ่งไปจัดการในหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองและแก้ปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม 

กลายเป็นเวลาสิ่งที่สังคมเห็นในเวลานี้ คืองบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลถูกเทไปยังกองทัพหรือบางสถาบันทางการเมือง ก่อนที่งบประมาณเหลือเพียงหยิบมือถูกส่งคืนกลับมาเป็นสาธารณูปโภคหรือสวัสดิการแก่ประชาชน จนทำให้คนทำงานหรือแรงงานจะต้องต่อสู้กันเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกแรงงานด้วยกันเอาเปรียบ ทั้งที่ปัญหาทั้งหมดอาจมีต้นตอมาจากโครงสร้างที่ไม่ได้ประสิทธิภาพก็เป็นได้

 

สิทธิลาคลอดมากไป เดี๋ยวคนก็แห่ใช้วันลากันหมด

“ให้สิทธิลาคลอดนานๆ เดี๋ยวคนก็แห่กันไปมีลูก ลากันแบบไม่รู้จบ”

ความคิดเห็นนี้อาจดูแปลกประหลาดในหลายแง่ แต่ก็อยากจะหยิบยกมาถกเถียงให้เห็นภาพ เพราะตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าอัตราการเกิดลดลง ภายภาคหน้าแรงงานก็จะต้องน้อยลงตามไปด้วย ขณะที่แรงงานยุคนี้เปลี่ยนเป็นคนชราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่จะต้องแบกภาษีของประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัว ก็จะมีแค่แรงงานวัยกลางคนที่ตอนนี้ก็ไม่ได้มีมากเหมือนเก่าอีกแล้ว

แล้วการที่คนอยากท้องมากขึ้นจะส่งผลเสียกับประเทศชาติงั้นหรือ?

ข้อมูลจากบทความ ‘ประเทศไทยในสีดอกเลา: โอกาส ความพร้อม และความหวัง’ ระบุว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี 2568 ไทยจะเป็นประเทศลำดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวตามหลังสิงคโปร์ไปติดๆ 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มองว่าสังคมผู้สูงอายุเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจลดลงได้สูงถึง 0.8% ต่อปี เนื่องจากวัยแรงงานลดลง ผลิตภาพแรงงานต่ำลง และแรงงานบางส่วนออกจากการทำงานก่อนกำหนด

ข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ ‘นักวิชาการกังวลเด็ก ‘เกิดน้อย’ จำนวนคนจะทดแทนรุ่นพ่อแม่ไม่ได้ คนจะตายอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น’ ระบุว่าในปี 2564 คือปีแรกที่จำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต ประชากรไทยจะลดลงเรื่อยๆ จนกว่าจำนวนเด็กแรกเกิดจะสูงกว่าหรือเทียบเท่ากับประชากรที่เสียชีวิต

จำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่มีสัดส่วนมากพอทดแทนคนรุ่นพ่อแม่ส่งผลกระทบหลายด้าน ส่งผลเกี่ยวกับธุรกิจเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ลามไปยังธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ที่จะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสำหรับคนจำนวนมากจะสูญเปล่า ไปจนถึงความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร 

รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ถึงประเด็นการขาดแคลนแรงงานเพราะอัตราการเกิดลดลง ต้องยอมรับว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ทัศนคติต่อการมีบุตรมักถูกมองในเชิงลบ ทั้งเชิงมโนทัศน์และข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏผ่านสื่อหลักและสื่อออนไลน์ที่ชี้ให้เห็นว่าการมีลูกเป็นภาระ ขาดอิสระห่วงว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตไปดีมีคุณภาพ และห่วงพ่อแม่พี่น้องกับปัญหาหนี้สินภาระที่ต้องดูแลจัดการ

“สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน”

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องจำนวนประชากร หากมองด้วยความคิดเห็นหลักที่นำมาถกเถียงอย่าง ‘ท้องเพื่อเอาวันลา’ ผู้เขียนชื่อว่าน้อยคนนักที่จะอยากตั้งท้อง 9 เดือน เสียเงินจำนวนมากไปกับการเตรียมความพร้อมให้เด็กที่กำลังลืมตาดูโลก ขยับเขยื้อนตัวลำบาก ทำอะไรก็เชื่องช้าลงกว่าเดิมเพียงเพื่อต้องการใช้วันลา 180 วันให้เต็มอิ่ม หรือถ้ามีคนประเภทท้องเอาวันลาจริงๆ ก็คงไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ที่มากขนาดนั้น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนมองแบบนี้ เป็นเพราะหลายคนไม่ได้ท้องแล้วคลอดลูกออกมาได้ง่ายๆ มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตั้งครรภ์แล้วพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเรื่องครรภ์เป็นพิษ ความเสี่ยงเรื่องการเสียชีวิตทั้งแม่และลูก เพราะเด็กไม่ยอมกลับหัวจนต้องผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ พอคลอดแล้วก็ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คู่กับการดูแลฟื้นฟูร่างกายตัวเอง และมีหลายคนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ทั้งหมดที่ว่ามาไม่คุ้มเอาเสียเลยกับการได้วันลา 6 เดือน

“ท้อง 9 เดือน ไม่ใช่แค่ว่าเราปวดขี้ วิ่งเข้าห้องน้ำ เบ่งออกมาแล้วจบไป”

 

ลาคลอดสร้างภาระให้เพื่อนร่วมงาน?

“ถ้ามองนอกเหนือจากสิทธิลาคลอด เรารู้สึกว่าคนโสดโดนเอาเปรียบจริงๆ เพราะมักเจอคำพูดทำนองว่า ‘ไม่มีภาระอะไรไม่ใช่เหรอ ฝากทำแทนหน่อย เดี๋ยวพี่จะต้องไปรับลูก พี่มีภาระน่ะ’ โดนแบบนี้ตลอด ทำไมคนโสดต้องอยู่เย็นแทนด้วยเหตุผลว่าไม่มีภาระ”

“แจ้งขอเข้างานช้าเพราะไปส่งลูก แจ้งขอกลับก่อนเพราะไปรับลูก พาลูกมาออฟฟิศให้ทุกคนวุ่นดูแล เราเข้าใจความลำบากของคนทำงานที่ต้องเลี้ยงลูก แต่คนโสดหรือคนไม่มีลูกก็จะโดนโยนภาระก่อนตลอด”

“การลาคลอด 6 เดือน ไม่ดีต่อนายจ้าง ไม่ดีต่องาน เสียแรงงานในระบบ แต่ไม่มีสักเหตุผลที่คิดถึงพัฒนาการเด็ก คุณภาพการเลี้ยงดูทารก คุณภาพประชากรในอนาคต และความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ หรือนี่คือผลของการที่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงในช่วง 6 เดือนแรก”

ว่ากันต่อด้วยประเด็น ‘ลาคลอดสร้างภาระให้เพื่อนร่วมงาน’ เพราะมีหลายเสียงยืนยันว่าเมื่อผู้หญิงท้องในออฟฟิศลางานหลายสัปดาห์ ภาระงานของผู้หญิงคนนั้นจะตกไปอยู่กับเพื่อนร่วมงานที่จะต้องแบกเนื้องานเพิ่มขึ้น จึงเกิดความคิดเห็นว่าไม่อยากให้คนท้องได้วันลานานเกินไป

มีหลายคนเห็นด้วยเพราะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีหลายคนค้านแนวคิดนี้เช่นกัน โดยมองว่าบริษัทจำนวนมากอาจมีปัญหาในระดับโครงสร้าง หากมีการบริหารจัดการที่ดี งานของคนที่ใช้สิทธิลาคลอดอย่างถูกต้องก็ไม่ควรต้องทำให้เพื่อนร่วมมีภาระงานหนักขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายแห่งมักแก้ปัญหาเรื่องลาคลอด ลาบวช ลาป่วยระยะยาว หรือลาเกณฑ์ทหาร ด้วยการจ้างเอาท์ซอร์ส (Outsource) หรือพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว มาช่วยจัดการงานของพนักงานที่ใช้สิทธิลาตามกฎหมาย

ถ้าบริษัทไหนยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องภาระงานในวันคลอดได้ ควรจะต้องเป็นการบ้านให้บริษัทเร่งกลับไปคิดหาวิธีแก้ เพราะถึงแม้จะเป็นเคสแรกที่เจอ แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องฉุกละหุกเหมือนอุบัติเหตุหรือการลาป่วย บริษัทย่อมรู้ว่าตัวเองมีพนักงานตั้งครรภ์หรือไม่ ไม่ใช่ผลักภาระให้กับแรงงานต้องทะเลาะกันเอง

ขณะเดียวกัน ถ้าโยนไปให้บริษัทหมด เหล่าเจ้านายก็คงไม่อยากให้กฎหมายลาคลอด 180 วันเกิดขึ้นจริง เรื่องนี้ก็ต้องวกกลับไปยังรัฐบาลอีกครั้งว่าจะมีนโยบายใดมาช่วยเหลือบริษัทน้อยใหญ่บ้าง เพราะไม่ใช่เรื่องปกติที่บริษัทจะต้องมาแบกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียงลำพังเหมือนกัน

“มันไม่ควรเป็นภาระบริษัทอยู่แล้ว รัฐต้องเข้ามาอุดหนุนส่วนนี้ เพราะนี่คือนโยบายของรัฐเพื่อเพิ่มอัตราเกิด อาจจะช่วยเรื่องเงินเดือนลาคลอดและค่าสวัสดิการอื่นๆ อะไรก็ว่าไป เพราะสังคมเราต้องการแรงงานและจ่ายภาษี”

“สวัสดิการลาคลอดควรเป็น national agenda รัฐควรสนับสนุนตรงนี้ โดยเฉพาะในรัฐที่อัตราเกิดน้อยอย่างไทย สนับสนุนทั้งในแง่บุคคล เงินสนับสนุนการเลี้ยงดู และแง่องค์กรที่เอกชนต้องจ่ายจาก manpower ที่หายไป เพราะถ้าอยากผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตไปด้วย รัฐก็ต้องทุ่มให้ตรงนี้”

ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามคำถามเดิมอีกครั้งว่า ตอนนี้รัฐของเราให้อะไรกับประชาชนบ้าง?

 

คนเป็นพ่อก็ควรใช้สิทธิลาคลอดได้เหมือนกัน

“ผู้ชายก็ควรจะได้ลาคลอด เพราะหากมองในแง่พ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ชายที่มีลูกอ่อนจะไม่ได้สิทธิลาไปดูแลลูกเลยแม้แต่วันเดียว”

ปกติสังคมไทยจะเคยชินกับระบอบปิตาธิปไตย ผู้ชายรับบทเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานหาเงินเลี้ยงปากท้องคนในบ้าน ส่วนภรรยาจะมีหน้าที่เป็น ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ที่ดี 

แม้ภายหลังแนวคิดแบบนี้จะเริ่มเจือจางลงไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยมา จนบางครั้งสังคมอาจหลงลืมไปว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่ผู้หญิงจะต้องเลี้ยงดูลูก เพราะคนเป็นพ่อก็มีหน้าที่ดูแลลูกด้วยเหมือนกัน

หลังเกิดข้อถกเถียงเรื่องวันลาคลอด มีพ่อเลี้ยงเดี่ยวหลายคนมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง เช่น เมื่อภรรยาที่หย่าร้างแล้วคลอดลูกที่ฝ่ายชายได้สิทธิเลี้ยงดู แต่ตอนนี้ฝ่ายชายทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัท เขาไม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดเหมือนกับผู้หญิงได้ จึงต้องนำลูกไปฝากไว้ให้ปู่ย่าช่วยเลี้ยง 

แม้จะฝากให้ญาติผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยงลูก แต่ชายคนดังกล่าวก็ยังไม่คลายความกังวลใจ เพราะห่วงว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันจากการปล่อยให้เด็กอ่อนกับคนชราอยู่ด้วยกันลำพัง แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้เพราะนี่คือวิธีเดียวที่จะเลี้ยงลูก บางคนไม่มีเงินมากพอจากพี่เลี้ยงเด็ก หรือไม่ได้แต่งงานใหม่ เลยทำให้วิธีเดียวที่จะได้หยุดยาวเพื่อเลี้ยงลูก คือการลางานแบบไม่รับค่าตอบแทน (Leave without pay)

หากดูในบริบทโลก จะเห็นว่ากลุ่มเฟมินิสต์ในหลายประเทศออกมาเรียกร้องให้ผู้เป็นพ่อควรมีสิทธิได้ลาคลอดเหมือนกับผู้เป็นแม่ โดยวันลาของทั้งสองคนจะนับรวมกันให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ฝ่ายหญิงได้มีเวลาฟื้นฟูร่างกายของตัวเอง ส่วนฝ่ายชายได้ช่วยดูแลเด็กอ่อนไปพร้อมกัน ซึ่งกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิลาคลอดให้ผู้ชายมองว่า กฎกติกานี้จะส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพจากการเลี้ยงดูที่ดี ลดปัญหาการแบ่งแยกทางเพศ ไม่ต้องจำกัดความว่าผู้ชายจะต้องทำงานอย่างเดียว ส่วนผู้หญิงจะต้องเลี้ยงดูลูกเท่านั้น

ประชาชนไทยผู้ใช้โซเชียลมีเดียยังคงถกเถียงถึงประเด็นนี้กันต่อไป ทว่าการลาคลอดไม่ควรเป็นเรื่องผิด การเลือกเป็นโสดก็ไม่ใช่เรื่องผิด คู่สมรสที่ไม่อยากมีบุตรก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน ทุกคนต่างมีเงื่อนไขชีวิตและความพอใจแตกต่างกัน

เมื่อได้มองมุมองหลากหลายมาพอประมาณ ตกลงแล้วหญิงตั้งครรภ์ควรลาคลอดได้กี่วัน?

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,