หลายคนนิยามเพลงของ KIKI (กีกี้) แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าผลงานของพวกเขาให้ความรู้สึกเหงา หว่อง แต่บางส่วนก็มองว่าสร้างความเพลิดเพลิน มีมุมเท่ๆ ซ่อนอยู่ในจังหวะเพลง และมีเนื้อร้องที่เข้าถึงห้วงอารมณ์หลากหลาย
สมาชิกในวงกลับไม่ได้นิยามแนวเพลงของตัวเองไว้เป็นบรรทัดฐาน เพราะ เฮเลน-เอเลน่า อะมาร็องตินิซ์ พันธุ์สุข นักร้องนักแต่งเพลงประจำวง บอส-ภูริช พันธุ์สุข และนนท์-ธนญ แสงเล็ก สองนักดนตรีที่หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาจากการเป็นมือกีตาร์วงสมเกียรติ ที่คราวนี้พวกเขารวมกลุ่มกันทำเพลงในแบบที่ตัวเองต้องการ พวกเขาถือเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจแนวเพลงกระแสหลัก มุ่งมั่นทำตามสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือการสร้างสรรค์งานเพลงให้เป็นงานที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยไม่มีกรอบแนวเพลง กรอบกำแพงภาษา หรืออุปสรรคอื่นใดมาขวางกั้น
KIKI ที่โดดเด่นด้วยเนื้อเพลงภาษาอังกฤษและดนตรีที่มีเอกลักษณ์
ทำไมวงถึงเลือกทำเพลงภาษาอังกฤษ?
นี่คือหนึ่งในคำถามแรกๆ ที่เราถามพวกเขา เป็นหนึ่งในคำถามที่หลายคนฝากเรามาถามพวกเขา และเป็นคำถามที่เราก็อยากจะรู้คำตอบไม่แพ้กัน
เฮเลนอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดถึงความคิดของเธอที่มีต่อคำถามนี้ว่าจุดเริ่มต้นของวงเกิดจากพวกเขา 3 คน ซึ่งทั้งหมดตกลงกันให้เธอเป็นคนเขียนเนื้อเพลง แล้วด้วยความที่ใช้ภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นหลักมากกว่าภาษาไทย ผลงานที่ออกมาจึงมาจากความถนัดของเธอเอง
“เราไม่เคยเป็นนักเขียนเพลง ไม่เคยทำเพลง มีประสบการณ์ตรงนี้น้อยมาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าหยิบยืมเอามาใช้ได้มากที่สุดก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่เจอมา เพลงส่วนใหญ่ของ KIKI จึงเป็นประสบการณ์ตรงของเรา ถึงแม้ว่าเราจะพยายามคิดสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ แล้วลองเอาตัวเองไปอยู่ในรองเท้าคนอื่นบ้าง เฮเลนคิดว่าความรู้สึกมีส่วนร่วมก็คงจะไม่เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ แต่เราเองก็ไม่ได้อยากปิดกั้นว่าข้อความนี้จะมีแค่เราคนเดียวที่เข้าใจ เลยต้องทำผลงานออกมาให้คนอื่นก็รู้สึกได้ว่าเป็นเรื่องทั่วไป เรื่องอกหัก การมูฟออน ชีวิต ฯลฯ เป็นอะไรที่เราเจอแต่คนอื่นก็เจอเหมือนกัน แต่แค่อาจจะมีรูปแบบยิบย่อยที่ต่างกัน
“เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ทำเพลงภาษาไทยดูบ้าง ถ้าทำเพลงไทยวงจะมีกระแสมากขึ้น เป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น แต่เหตุผลหลักคือเฮเลนไม่ถนัดเขียนภาษาไทย ทุกวันนี้ยังถามบางคำจากพี่บอสอยู่เลยว่าแปลว่าอะไร เฮเลนเคยลองเขียนเนื้อเพลงภาษาไทยแต่รู้สึกว่ามันเงอะงะมาก เราเขียนได้ไม่ดีเลย เราไม่สามารถบรรยายสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาได้ดั่งใจเท่ากับตอนที่เขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้รู้สึกว่าถ้าเขียนด้วยภาษานี้เราจะทำงานได้เร็วขึ้น คล่องขึ้น แทนใจได้มากกว่า และเวลาทำสิ่งที่ถนัดก็น่าจะส่งผลดีต่อตัวเรา ต่อผลงาน และต่อคนฟังด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดที่ออกมาไม่ใช่การฝืนทำ ตรงนี้คือประเด็นหลักที่ทำเพลงแบบนี้
“บางคนอาจรู้สึกว่าที่เราทำแต่เพลงภาษาอังกฤษอาจเป็นเพราะหวังตีตลาดนอกเป็นหลัก เราไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นเรื่องหลักเลย เราไม่อยากให้คนมองว่า KIKI ทำเพลงสากลเพราะอยากโกอินเตอร์ เน้นขายนอกอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว เราแค่ไม่ถนัดภาษาไทยเท่านั้น ดูอย่างมิลลิ เขาก็ไม่ได้ร้องเพลงภาษาอังกฤษ เขายังโกอินเตอร์มากๆ เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าภาษาไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้คนปิดกั้นโอกาส หรืออย่างเพลงเกาหลีที่มีคนฟังทั่วโลก แต่ก็ยังร้องภาษาเกาหลี ไม่ได้แฟนเซอร์วิสทั้งหมด
“เราไม่อยากให้ภาษาเป็นกำแพงในการฟังเพลง ตอนนี้ตลาดไทยเองก็ฟังเพลงสากลค่อนข้างเยอะ เฮเลนมองว่าเราอาจต้องแยกเรื่องตลาดกับเรื่องที่คนจะเลือกฟังเพลงออกจากกันก่อน คนฟังจะรู้ความหมายหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่หลักสำคัญคือคนฟังรู้สึกสนุกและชอบเพลงเพลงนั้นไหม ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญมากกว่า
“สุดท้ายแล้ว ถึงแม้คนฟังเพลงจะไม่เข้าใจหรือแปลเนื้อเพลงที่กำลังฟังอยู่ไม่ออกเลยสักนิด เราก็ยังมีเครื่องมือที่สามารถช่วยแปลสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อยู่ดี และเฮเลนเองก็ไม่ค่อยชอบอธิบายความหมายของเพลงกับแฟนเพลง เราจะอธิบายแค่คนในวงว่าเพลงนี้บอกเล่าเกี่ยวกับอะไร เขียนเกี่ยวกับอะไร ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร แต่เราไม่อยากอธิบายกับคนฟังมากจนเกินไป”
เฮเลนอธิบายเพิ่มเติมว่าที่ทำให้แนวทางของ KIKI เป็นอย่างที่ว่าส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของทุกคนในวงด้วยเหมือนกัน พวกเขาไม่อยากตีกรอบชัดเจนกับอะไรทั้งนั้น พวกเขาชื่นชอบความยืดหยุ่นและการเปิดรับที่จะลองสิ่งใหม่ ชื่นชอบการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่หยุดอยู่กับแนวเดิมๆ และจะรู้สึกมีความสุขมากเวลาได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ด้วยกัน โดยไม่มีกรอบมากั้นว่าวงจะต้องทำเพลงแค่แนวนี้ หรือจะต้องเซอร์วิสคนฟังตลอดเวลา และหวังว่าถ้าวันหนึ่ง KIKI เปลี่ยนไป ก็จะยังคงมีคนที่ชื่นชอบสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาทำ เหมือนกับว่าเดินไปด้วยกันเรื่อยๆ จนสุดทาง
“เพราะทุกคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ตีความเพลงที่ฟังไม่เหมือนกัน เราพยายามที่จะเขียนเพลงให้คนเอาไปผนวกเข้ากับชีวิตตัวเอง มากกว่าการที่จะมานั่งฟังเราว่าเราเขียนเนื้อเพราะอะไร เหมือนกับบังคับกลายๆ ว่าคนฟังก็จะต้องคิดแบบที่เฮเลนคิด ซึ่งเราก็ไม่อยากนิยามแบบนั้น
“เรารู้สึกว่าอันนี้สำคัญมากๆ เราชอบผลงานของเรามากๆ สิ่งนี้คือการที่เราทำออกมาอย่างเต็มที่แล้ว ทำสุดความสามารถที่ทำได้ ณ ตอนนั้น บางคนบอกว่าเราทำให้แมสกว่านี้ได้ แต่แมสไม่แมสมันเป็นการตอบโจทย์ตลาด ซึ่งตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วเราแค่รู้สึกว่าการทำแบบนี้ วันนี้เราแมส ปีหน้าอาจจะไม่แมสอีกแล้ว เราทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร ซึ่งจุดเริ่มต้นการทำวงไม่ใช่แบบนั้น
บอสเสริมตรงนี้ให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เขาเองก็มีวงดนตรีที่ชอบเหมือนกัน เวลาวงที่ชอบเปลี่ยนแนวเพลงใหม่ หลายครั้งเราก็ยังรู้สึกว่าเพราะ แล้วเราก็จะรู้สึกสนุกที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง รู้สึกมีความสุขที่เห็นพวกเขายังคงเดินหน้าทำผลงานด้วยกันต่อไป พวกเขาพยายามสนุกกับการได้ทำอะไรไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องตีกรอบ เลยทำให้เขาคิดว่าถ้าวันไหนผลงานของศิลปินที่ชอบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขาก็จะไม่รู้สึกผิดหวัง
“เราเลือกที่จะวิ่งโดยที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ”
‘อารมณ์’ และ ‘ความยืดหยุ่น’ คือ 2 สิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานเพลง
เมื่อถามเรื่องการทำเพลงต่ออีกนิด เฮเลนเอ่ยขึ้นมาทันทีว่านนท์คือกระดูกสันหลังของพวกเขา แม้เขาจะเป็นผู้ชายที่พูดน้อย แต่แนวดนตรีของ KIKI ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เผยให้เห็นตัวตนของนนท์ โดยที่เขาไม่ต้องพูดอะไรมากเลยด้วยซ้ำ
นนท์: ปกติผมเป็นคนไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงการทำเพลง แนวเพลง แค่แล้วแต่ว่าทุกเช้าที่เราตื่นมาแล้วรู้สึกอย่างไร สมมติว่าเราตื่นมาแล้วมีไฟ มีแรงบันดาลใจมากๆ มันก็จะส่งผลกับเพลงที่ทำ สมมติวันนี้เรามีความสุขมากเลย เราก็จะไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ขึ้นเดโม่ที่รู้สึกว่าดนตรีมันเข้ากับอารมณ์ของเรา แล้วส่งให้เพื่อนฟัง ตอนนี้ห้องมีกองเดโม่ที่เสร็จแล้วเยอะมาก ซึ่งงานพวกนี้ก็แล้วแต่ว่าอารมณ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างไร เราเลยไม่อยากไปสร้างกรอบครอบไว้ว่าเราคือแนวไหน หรือเราต้องเป็นแบบไหน
เฮเลน: ที่นนท์พูดมาเป็นสิ่งหนึ่งที่เรามองตรงกัน บางทีเขาจะถามว่าอยากได้เพลงแบบไหน เฮเลนก็บอกว่าไม่ตอบได้ไหมว่าอยากได้เพลงแบบไหน อยากให้ตอนนั้นนนท์มีมู้ดแบบไหนก็ทำออกมาเลย เราเองจะมีหน้าที่รอเขียนเนื้อร้องกับเมโลดี้ ยกเว้นบางทีที่เราจะมีขอว่าอยากได้เพลงแบบนี้จริงๆ เช่น เพลงในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เราก็จะบอกนนท์ว่าเราอยากได้มู้ดแบบคริสต์มาส แต่ก็ไม่ได้คริสต์มาสจ๋าขนาดนั้น
นนท์: บางครั้งเพื่อนก็เป็นคนเลือกอารมณ์ของเรา เช้านี้เราควรหยิบอันไหนมาเล่น
เฮเลน: เวลาที่นนท์ส่งเพลงมา เฮเลนก็จะถามว่าตอนทำคิดอะไรอยู่
นนท์: ‘ลมปะทะหน้า’ ‘แสงแดด’ เราจะบอกแบบนี้มากกว่าเรื่องแนวเพลง
บอส: นนท์จะถามว่าอยากได้อารมณ์แบบไหน สงคราม ภาพสงคราม หรือความเครียด
นนท์: แล้วตั้งชื่อกำกับเดโม่มาแบบแปลกๆ
เฮเลน: แปลกจริง บางช่วงก็เป็นชื่อสัตว์หมดเลย อัลบั้มสองจะเป็นหมาหรือฮิปโปฯ
บอส: ฮิปโปฯ เหรอ เพลงนี้แม่งต้องหนักแน่นหน่อยแน่เลย
เฮเลน: ฮิปโปฯ แบบอ้วนๆ น่ารักๆ หรือเปล่า ตอนนั้นมองว่าน่ารักมากกว่า
นนท์: จริงๆ มันคือบรีฟเหี้ยนั่นแหละ เวลาเราขึ้นโปรเจกต์ เราต้องสร้างโฟลเดอร์ ตั้งชื่องานไว้สำหรับเซฟก่อน แล้วก็คิดว่าทำไมเราจะต้องมาเสียเวลาตรงนี้นานด้วย งั้นฮิปโปฯ ไปเลยก็แล้วกัน แล้วเราก็เอาฮิปโปฯ ตรงนั้นมาครอบเราอีกที
เฮเลน: มีอีกอันหนึ่งชื่อเพลง ‘Dog’ เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าเหมือนเกมหมาสมัยก่อน
บอส: บางครั้งเราก็มีแรงบันดาลใจมาจากเพลงในเกมเก่าๆ ด้วยเหมือนกัน
นนท์: ทั้งหมดทั้งมวลก็คือเราไม่ค่อยได้คุยเรื่องแนวเพลงกันสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะคุยเรื่องอารมณ์มากกว่า
บอส: เลยอธิบายเรื่องแนวเพลงยากมากเพราะเราไม่เคยคุยกันถึงเรื่องนี้เลย ว่าจะต้องทำแบบนี้ หรือจะต้อง Post-punk Revival เราไม่ได้คุยกันว่าเราจะเป็นอะไรขนาดนั้น เพราะเราอยากให้เป็นผู้ฟังช่วยจำกัดความดีด้วยอีกทาง เราเลยบอกว่าเป็นแค่ Alternative Indie แม้จะมีหลายวงที่พอเริ่มทำเพลงมาพักหนึ่งจะขมวดแนวเพลงจากผลงานที่ทำมา สุดท้ายเราคิดว่าจินตนาการมันไม่สิ้นสุด ถ้าปีหน้าเราไปฟัง House แล้วชอบมาก ก็อาจจะผสมเข้ามาด้วยก็ได้ ไม่มีใครรู้ เลยเป็น KIKI แบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้
Don’t forget me: โปรดเธอจงอย่าลืมฉัน
หลายคนนิยามเพลงของ KIKI ไว้หลากหลายรูปแบบ บ้างก็ว่าผลงานของพวกเขาให้ความรู้สึกเหงา หว่อง แต่บางส่วนก็มองว่าสร้างความเพลิดเพลิน มีมุมเท่ๆ ซ่อนอยู่ในจังหวะเพลง
แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในห้วงอารมณ์มากขึ้น แล้วให้พวกเขาเลือกเพลงเพลงหนึ่งขึ้นมาให้กับเรา โดยเพลงเพลงนั้นจะเข้ามาช่วยปลอบโยนความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรือความรู้สึกแปลกแยกแตกต่าง พวกเขาตอบว่าเป็น Don’t Forget Me อย่างไม่ลังเล โดยเฉพาะกับเฮเลนผู้แต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากห้วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด
“ตอนเขียนเพลงนี้เราเองก็รู้สึกแย่กับชีวิต เราเขียนในช่วงโควิด-19 เขียนหลังจากเพิ่งเรียนจบแล้วเคว้งมากว่าจะทำอะไรกับชีวิตดี เรารู้ดีว่าไม่ได้อยากทำงานออฟฟิศ เราอยากทำงานอิสระมากกว่า ในช่วงที่เรียนสมัยก่อนจะรับจ๊อบเป็นช่างถ่ายภาพเบื้องหลัง เราชอบออกกอง ชอบอยู่กับคน ชอบเปลี่ยนสถานที่ตลอดเวลา แต่พอเกิดโควิด-19 และผู้ใหญ่ย้ำกับเราว่าจะต้องหางานทำ มองหาสิ่งที่มั่นคง คาดหวังว่าจะต้องทำงานประจำ เรารู้สึกว่าบรรยากาศรอบตัวมันหดหู่กว่าที่คิด
“วันหนึ่งวันเราอยู่แต่ในห้อง จะออกจากห้องแค่ตอนกินข้าว เสร็จแล้วก็กลับขึ้นไปใหม่ วนลูปแบบนี้จนวันหนึ่งเราออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้าน แล้วรู้สึกว่าวันนี้อากาศดีจังเลย วันนี้ลมดีจังเลย แดดดีมากแต่ไม่ร้อนเกินไป เริ่มมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดูต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ รู้สึกเกิดความรู้สึกอิ่มเอมขึ้นมาเฉยๆ ทำให้ตั้งคำถามว่าหรือจริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีได้ก็เป็นเรื่องพวกนี้ ของเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวเรา แค่ที่ผ่านมาเราเลือกที่จะไม่มองหรือเปล่า
“ตอนนั้นเราเคว้งคว้างมาก และเขียนเพลงนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ฟัง คำว่า ‘Don’t forget me’ ที่ว่านี้หมายถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวพยายามบอกกับเราว่าอย่าลืม ‘อย่าลืมนะว่าฉันก็ยังอยู่ตรงนี้’ เรารู้สึกเคว้งหรือรู้สึกโดดเดี่ยวแค่ไหน มันยังมีสิ่งนี้อยู่ ไม่เคยไปไหน
“อย่าลืมเรื่องรอบๆ ตัว อย่าลืมเรื่องที่ทำให้มีความสุข เวลาที่กำลังวิ่งสุดแรงเพื่อให้ถึงจุดหมาย เราอาจรู้สึกว่าชีวิตมันเหนื่อย ชีวิตมันโหดร้ายกับเรามาก แต่อย่าลืมว่ายังคงมีความสุขอยู่รอบตัวเสมอ” นนท์ปิดท้ายบทสนทนานี้ด้วยรอยยิ้ม
เมื่อ KIKI ต้องทำแบบประเมินตัวเองและตอบคำถามถึงทิศทางหลังจากนี้
สำหรับบอสและนนท์ที่เคยทำวงดนตรีมาก่อนแล้ว การฟอร์มวงครั้งนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อการก่อร่างสร้างวงดนตรีให้เป็น KIKI อย่างทุกวันนี้ บอสตอบทันทีว่าแตกต่างกันอย่างมาก เพราะด้วยความเป็นคนละวงดนตรี ทำเพลงกันคนละแนว มีจุดยืนและแพชชั่นคนละอย่าง รวมถึงการมีส่วนร่วมกับทั้งสองวงก็ไม่เท่ากัน จึงแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
บอส: พอเป็น KIKI เราสามารถมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนได้อย่างเต็มที่ เราทำกันเองทุกอย่างตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนปล่อยเพลง ถ้าเป็นสมัยก่อนผมกับนนท์มีค่ายเพลงตั้งแต่ตอนที่ประกวด ตอนนั้นเราก็จะไม่รู้ขั้นตอนอื่นๆ เลย ในแง่ความแตกต่างมันต่างแน่ ในแง่ความตั้งใจใส่เต็มผมว่าเราทำอย่างเต็มที่กับทั้งสองวง แต่ละแบบก็มีความสนุกต่างกันไป ซึ่งผมว่าคนที่เคยฟังมาทั้งสองวงอาจจะพอสัมผัสได้
ยุคนี้ผมรู้สึกว่าเรานำเข้าหรือหยิบยืมความใหม่มาจากหลายทาง เลยไม่อยากนิยามอะไรให้มันแข็งเกินไป เพราะตอนนี้พวกเราสนุกที่จะทำเพลงอะไรก็ได้ แต่ในความหมายของ ‘ทำอะไรก็ได้’ ก็จะยังคงมีกลิ่นอายของ KIKI อยู่แล้ว เพราะว่าคนทำเพลงก็ยังเป็นคนเดิม เราแค่กำลังหาอะไรใหม่ๆ มาเสริมให้สนุกสนานมากขึ้น
เฮเลน: อัลบั้มหน้าอาจจะไม่เหมือนอัลบั้มแรก แต่ก็จะมีบางอย่างให้คิดถึงเราอยู่แน่นอน
ถ้า KIKI มองภาพรวมวงในปีนี้ คิดว่าตัวเองเติบโตอย่างก้าวกระโดดไหม?
บอส: เอาจริงๆ มันเป็นวงแคบแค่คนรู้จักประมาณหนึ่ง เล็กนิดเดียวถ้าเทียบกับตลาดเพลงไทยทั้งหมด ยังไม่เท่าวงอินดี้ที่เขาเกิดใหม่เลยด้วยซ้ำไป แต่ที่เราได้ไปเล่นนั่นเลยนี่ จนมาบรรจบที่งานมหรสพ ถือเป็นงานที่ใหญ่มากสำหรับเรา ตอนนี้เรายังไม่ได้เล่นเยอะขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเราต้องก้าวเข้าไปในเกมเกมนี้ ในการเดินทางครั้งนี้ใหม่อีกรอบ
เฮเลน: คีย์เวิร์ดที่คนพูดบ่อยที่สุดเกี่ยวกับวงเรา เขาจะใช้คำว่า ‘แปลก’ สำหรับเฮเลนคิดว่าบางคนอาจจะไม่ชอบคำนี้ ครั้งแรกที่เคยเห็นคำนี้ในบทความที่เขาเขียนถึง KIKI เราก็งงว่าดีหรือไม่ดี
บอส: เรามองว่าเป็นความแปลกที่ดี เพราะเฮเลนแปลตรงตามภาษาอังกฤษ มันก็จะเป็นแปลกคนละแบบที่กับที่คนพูดถึง
เฮเลน: ส่วนคำถามที่ว่าเราก้าวกระโดดไหม สำหรับเฮเลนก้าวกระโดดตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำสิ่งนี้แล้ว เป็นก้าวใหญ่มากสำหรับเรา แล้วเราก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุน หรือให้ความสนใจกับวงของพวกเราด้วย เพราะว่าเราเองก็เป็นวงใหม่มากๆ ถึงแม้จะมีสมาชิกที่ไม่ได้ใหม่ในวงการ แต่เราก็อยากให้เขามองสองคนนี้ในมุมมองใหม่ว่าเขาก็ทำอะไรได้แบบนี้จริงๆ
หากต้องลองเชิญชวนผู้ฟังหน้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก KIKI มาก่อน จะชักชวนว่าอะไร?
บอส: พวกเราหลงรักการดูดนตรีสดมาก เลยอยากให้ทุกคนมาดูพวกเรา มาสนุกไปด้วยกันกับเรา
เฮเลน: เราได้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น แล้วก็กำลังจะได้ร่วมแสดงในงานมหรสพ ตอนนี้พวกเราฝึกซ้อมกันเยอะมาก แต่ในการซ้อมที่ว่าก็จะพยายามให้มาตรฐานการเล่นของเราเป็นเหมือนกันทั้งต่างประเทศและในไทย เพราะเราไม่อยากให้คิดว่าพอเป็นเล่นเมืองนอกต้องเล่นให้ดีกว่าเดิม จริงๆ ตอนเล่นในประเทศก็ควรเล่นให้ดีกว่านี้
บอส: ตอนเล่นสดเราไม่ได้เล่นกันสามคน เราเล่นกันเจ็ดคน
เฮเลน: ในวงเราก็จะมีทีม เราไม่อยากให้คำว่าแบ็กกราวน์เพราะถ้าเราไม่มีเขา เราก็เล่นไม่ได้ ตอนนี้เรามีทั้งคอรัส คีย์บอร์ด เบส กลอง ในการแสดงครั้งถัดๆ ไป เราอาจจะเล่นแบบวงใหญ่ที่มีเก้าคน และที่แน่ๆ จะได้เห็นเต็มวงแบบนี้อีกครั้งที่งานมหรสพ หวังว่าพวกเราจะได้พบกันนะคะ
Tags: Music, Maho Rasop 2022, ดนตรี, มหรสพ, เทศกาลดนตรี, วงไทยอินดี้, people, Parinam Music, สัมภาษณ์, The Frame, วงดนตรี, KIKI, กีกี้, Interview, Maho Rasop Festival