ในยุคที่วงการฮิปฮอปกำลังเบ่งบานครองตลาดแวดวงดนตรี มีศิลปินมากหน้าหลายตา ทั้งเก่าและใหม่ที่ใช้ ไรห์มและจังหวะ สร้างผลงานในแบบฉบับของตนบอกเล่าเรื่องราวที่แตกกันไป บ้างก็พูดถึงพวกพ้อง ความร่ำรวย รถ และปืนที่ถือครอง ไปจนถึงการว่าร้าย ด่าทอกัน กลายเป็นวัฒนธรรมการ Flex ที่เกิดขึ้นในวงการขณะนี้

กระแสดังกล่าวทำให้ชื่อของ คนนท์ ชาญคลีเช่ ศิลปินฮิปฮอปหน้าใหม่ ดูโดดเด่นและแตกต่าง เพราะเนื้อหาที่เขาเล่าผ่านไรห์มกลับไม่มีปืน เพชร ทอง หรือพวกพ้องมากมาย แต่คือการพูดถึงความปรารถนาที่อยากมีชีวิตแสนสงบ ผ่านเพลง ต้นไม้ หรือปัญหาการทำงานกับเพื่อนในชั้นเรียนในเพลง งานกลุ่มทำคนเดียว ซึ่งเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไม่น้อย

The Momentum ชวน ควันธรรม นนทพุทธ หรือ คนนท์ ชาญคลีเช่ มาพูดถึงวัฒนธรรม Non PC ทั้งหลายในวงการฮิปฮอป รวมไปถึงเจาะลึกวิธีการทำเพลงในแบบของเขา จนออกมาเป็นอัลบั้ม นิสิต และอีพี ไม่ตลก ผมจริงจัง ที่ผู้อ่านทุกท่านกำลังจะได้ฟัง ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

เพลง แร็ปเปอร์คนโปรดของคุณ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเพลงแจ้งเกิด มีเนื้อหาพูดถึงวงการฮิปฮอปในปัจจุบัน ที่มาที่ไปเพลงนี้เป็นอย่างไร

มันเริ่มจากช่วง 4-5 ปีก่อนหน้าที่วงการดนตรีฮิปฮอปกำลังเบ่งบาน มีรายการแข่งขัน ประกวด และศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันในด้านของดนตรี ส่วนใหญ่จะมีแต่แนวโรแมนติกไม่ก็เป็นในเชิงอวดความเป็นนักเลง แก๊งสเตอร์ กันมากกว่า ดังนั้นพอได้บีตเท่ๆ จาก Unic โปรดิวเซอร์และเพื่อนคู่ใจ ผมจึงเริ่มทำเนื้อหาเพลงนี้ 

จุดประสงค์ของเพลงนี้ ผมตั้งใจทำให้เป็นจดหมายเหตุดนตรีฮิปฮอป อยากบันทึกสิ่งที่เกิดในช่วงเวลานั้น เผื่อว่าในอนาคตที่ดนตรีฮิปฮอปพัฒนาไปแล้ว คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าครั้งหนึ่งฮิปฮอปในไทยมันเบ่งบานและเติบโตมาจากรูปแบบไหน 

หลายคนคิดว่ามันคือการโจมตีศิลปินคนอื่น จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อย่างที่บอกในเพลง ศิลปินอยากทำเพลงแบบไหน พูดเรื่องอะไร ก็ทำไปเถอะ ถ้าคุณอยากให้ถูกเป็นที่จดจำในแบบนั้น 

พูดถึงวัฒนธรรมของของดนตรีฮิปฮอปที่มีทั้งเรื่องความรุนแรง ยาเสพติด และการล่วงละเมิดทางเพศ คุณคิดเห็นอย่างไรบ้างที่มันปะปนอยู่ในแขนงดนตรีที่คุณชื่นชอบ

ผมมองเรื่องแบบนี้มันเป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของศิลปินฮิปฮอปบางคน เพราะในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ว่าศิลปินทุกคนจะอยากทำเพลงทิศทางนี้ หลายคนก็ไม่ต้องมีแก๊ง ไม่ต้องถือปืน บางทีเรามีแนวทางของเราที่ต้องการนำเสนอ ทำไมเราต้องไปยึดติดการมีพวกด้วย 

ผมว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิด และเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสรี แต่ก็ยังเชื่อว่าดนตรีฮิปฮอปสามารถไปไกลได้มากกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องวนเวียนแบบกับเรื่อง Non PC ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำเพลงคนเดียวก็เท่ได้ ไม่พูดถึงเรื่องรถก็เท่ได้ ถ้ามีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ศิลปินฮิปฮอปจากคอมป์ตัน เมืองต้นกำเนิดดนตรีแขนงนี้ ที่ถึงเท่ขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าเขาคงไม่อยากบอกเยาวชนคอมป์ตันให้ก่อสงครามหรือเสพยาหรอก 

ผมเข้าใจดีว่าอะไรแบบนี้มันไม่มีทางสูญสลาย มันยังคงอยู่ตราบที่ยังมีคนชอบ มีกลุ่มคนฟัง เพียงแต่อยากบอกว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างอยู่ในวัฒนธรรมฮิปฮอปให้พวกคุณค้นหา ลองเปิดใจกันดู 

แต่ก็มีหลายคนจะแย้งขึ้นมาว่า ก็มันเป็นการเคารพวิธีทำเพลงแบบดั้งเดิม (OG) ความเห็นแบบนี้ฟังขึ้นไหมสำหรับคุณ 

ผมมองว่าเรื่องนี้มีหลายแง่มุม จึงจะไปบอกว่าเขาผิดไม่ได้ เพราะในเมื่อมันก็เป็นวัฒนธรรมที่ติดจากรากเหง้า แต่ในแง่หนึ่งก็อยากชวนพวกเขาคิดว่า ในช่วงเวลาที่มันเปลี่ยนผ่านไป เราก็ต้องพัฒนาตามสังคม ตามเวลา อย่าติดอยู่กับจุดนั้นเลย ลองเปิดใจ ปรับเปลี่ยน ให้ศิลปินทำเพลงจากตัวตนจริงๆ ของเขาดู

ย้อนกลับไปวัฒนธรรมฮิปฮอปจะเป็นการสะท้อนและเปล่งเสียงของคนผิวดำในช่วงเวลาหนึ่ง มองว่าในไทยฮิปฮอปมันสามารถเป็นเสียงสะท้อนได้อย่างไรบ้างตามความคิดของคุณ

ใจความหลักสำคัญที่ฮิปฮอปมีคือ ‘การดิ้นรน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนเจอกันอยู่แล้ว มันอยู่ในตัวคนทุกคน และถูกกลั่นออกมาเป็นแก่นในเพลงฮิปฮอปในเวลาต่อมา ดังนั้นสำหรับประเทศไทยการนำมาพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำก็สามารถทำได้เช่นกัน 

ปัจจุบันประเทศไทยมีหลากหลายเหตุการณ์ที่นำฮิปฮอปมาเป็นกระบอกเสียง เพื่อดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิมบ้างแล้ว ซึ่งทำได้ดีด้วย ผมมองว่า ‘ไรห์มกับดนตรี’ เป็นสิ่งที่แข็งแกร่งมากในการสื่อสาร เปลี่ยนแปลง ทางสังคม ทางศิลปะ ทางการศึกษา

อีกสิ่งหนึ่งในวัฒนธรรมฮิปฮอปที่มีข้อกังขาในปัจจุบันอย่างการ Rap Battle ที่ให้คนสองคนขึ้นมาใช้ดนตรีฮิปฮอปด่ากันโดยเฉพาะ เรื่องนี้คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง

Rap Battle เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ยกข้อเท็จจริงมาสาดใส่กัน มีอารมณ์เดือดพุ่งพล่าน แต่ทุกอย่างก็ต้องจบในเวทีนะ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่คนสามารถมาแสดงความสร้างสรรค์ได้ 

แต่ในยุคปัจจุบันที่มีความ PC เช่นนี้ เราก็ต้องมาดูลีลาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนอีกที คือมันมีศิลปะในการด่าอยู่นะ บางคนเก่งก็สามารถโจมตีกันได้สร้างสรรค์น่าติดตาม แต่บางคนที่พอถึงทางตันก็มาบูลลี่หรือล้อเลียนเรื่องรูปร่าง (Body Shaming) ซึ่งมันเป็นความรู้สึกกำกวมมาก ที่มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในนั้น 

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการ Rap Battle คุณจะนำเรื่องอะไรมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ถ้าไปถึงจุดนั้น ผมอาจทำการศึกษาผู้เข้าแข่งขันว่าสามารถพูดถึงเขาได้อย่างไรบ้าง สร้าง Punchline ให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นกับไรห์มเราได้ แต่จะไม่ไปถึงการบูลลี่กัน ส่วนเรื่องที่ผมจะไม่แตะเลยคือครอบครัวและการล้อเลียนเรื่องรูปร่าง (Body Shaming)

คุณมองเรื่องการนำเพลงฮิปฮอปมาใช้โจมตีกันนอกสนาม ของ YOUNGOHM และ P9d อย่างไรบ้าง

มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งซึ่งมาลงกันที่เพลง เปลี่ยนฮิปฮอปเป็นวิธีทิ่มแทงกันในแบบของเขา คนฟังอาจรู้สึกได้กำลัง ได้ฟังเพลงด่าเดือดๆ จากศิลปินที่รัก แต่สำหรับศิลปินกันเอง ผมก็ไม่รู้ว่าต้องแลกกับอะไรไปบ้าง สำหรับวัฒนธรรมแบบนี้

สไตล์ของคุณเองที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ คุณฟังเพลงใคร ชอบศิลปินคนไหน 

Open Mike Eagle, JPEGMAFIA, Tyler, the Creator หรือ Earl Sweatshirt สำหรับผมคนพวกนี้คือพวกที่สร้างความแตกต่างทางด้านดนตรีทุกอย่างเลย ตัวผมเองอยากสร้างปรากฎการณ์แบบนี้ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นความแตกต่างในแบบของ คนนท์ ชาญคลีเช่ เอง สิ่งที่ผมชอบในพวกเขาคือการสร้าง Alternative Hiphop ที่ไม่พยายามไปเจาะจงแค่ว่าฮิปฮอปต้องมีเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างลายเซ็นที่ชัดเจน อย่างเช่น JPEGMAFIA ที่เขาหาแนวเพลงใหม่เป็นแนว Experimental ที่ดูยากในการฟัง มาทำให้ป็อปได้ ให้คนเข้าถึงเนื้อหาได้ จนรู้สึกว่าศิลปินคนนี้มีของ

สำหรับคนที่อยากรู้จักความแตกต่างทางดนตรีแบบ คนนท์ ชาญคลีเช่ 3 เพลงที่คุณอยากแนะนำควรเป็นเพลงไหน 

เพลงแรกคือ เพลง สันติโศก เป็นการเกริ่นให้คนฟังเห็นว่า ผมเป็นคนเล่าเรื่อง มีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดประมาณนี้ อยากบอกผู้ฟังว่าเป็นคนอ่อนไหวพอตัว ไม่ได้ใจใหญ่เหมือนร่างกายภายนอก 

ต่อมาคือ เพลง ใส่กางเกงแบบไคโรเลน คือการพยายามนำเสนอเป้าหมายของคนนท์ว่า กำลังก้าวไปสู่ตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม เป็นการสมานแผลสดๆ ของตัวเองให้คนฟัง

สุดท้าย เพลง แร็ปเปอร์คนโปรดของคุณ ให้คนฟังเห็นว่าความแตกต่างในรูปแบบของผมเป็นอย่างไร อยากเชิญชวนพวกเข้าคุณมาฟังเพลงในแบบของผม 

ในปี 2020 คนนท์ ชาญคลีเช่ ได้ปล่อยอัลบั้มนิสิต บอกเล่าเรื่องราวของเด็กต่างจังหวัดที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งทำให้เขาต้องเจอกับปัญหาทางสังคมมากมายตั้งแต่ ประเพณีการรับน้อง ปัญหาการอยู่ร่วมกับรูมเมท ห้องข้างๆ เสียงดังยามวิกาล ไปจนถึงอาการ Homesick ที่คิดถึงบ้านแทบใจจะขาด กลายเป็น 22 เพลงแบบเรียงต่อกัน ถ่ายทอดเรื่องราวและบันทึกอารมณ์ของนิสิตคนหนึ่งเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

พูดถึงอัลบั้มแรกของคุณ นิสิต ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร 

มันเกิดขึ้นจากการที่ผมต้องจากหาดใหญ่มาเรียนมหาวิทยาลัยย่านศาลายา แล้วมีเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเยอะมาก มีหลายสิ่งที่เพิ่งเคยเจอกับตัว ซึ่งเป็นหัวข้อทางสังคมที่อยากบอกเล่าให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะกับนิสิตนักศึกษาเช่นเดียวกับผม ที่คงจะรู้สึกร่วมไม่น้อย เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ เพียงแต่ว่าคนที่ฟังมีวิธีรับมือที่เหมือนหรือแตกต่างกับเราอย่างไรบ้าง 

อีกส่วนหนึ่งคือความคิดถึงบ้าน ที่ต้องจากพ่อจากแม่มาเช่าหอและอยู่ร่วมกับรูมเมทจนมีความขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องเราที่ผสมผสานจนกลายเป็นอัลบั้ม นิสิต 

อัลบั้มนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างระบบการศึกษา แต่พูดถึงเรื่องเล็กน้อยที่ถูกมองข้าม เช่น ห้องข้างๆ เสียงดัง รูมเมทแอบกินมาม่า ไปร้านบอร์ดเกมแต่ไม่มีเพื่อนไป ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ฟังดูใหม่ ซึ่งหากมีใครบันทึกไว้เป็นคู่มือชีวิตมหาวิทยาลัยคงจะดีไม่น้อย

ที่สำคัญคือการบันทึกเอาไว้ให้กับคนที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองเจอปัญหาอยู่ ตัวคนนท์ในฐานะศิลปินเอง ก็อยากบอกคุณว่าเราเจอเรื่องนี้เหมือนกัน ผมผ่านมาได้ คุณก็ผ่านได้ ไม่ต้องห่วง

การเป็นเด็กต่างจังหวัดต้องจากบ้านมาเล่าเรียนมันส่งผลอย่างไรบ้าง 

มันคือการต้องรับมือกับความหลากหลาย คือการต้องมาเจอบุคคล ผู้คนที่แตกต่าง ไม่คุ้นชิน ออกมาจากคอมฟอร์ตโซน ซึ่งมันใหม่ไปทุกอย่างจนน่ากลัว และถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกไม่เข้าพวก บางทีเพื่อนมีสังคมที่ชอบสังสรรค์ปาร์ตี้ แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นก็รู้สึกโดดเดี่ยว บางคนที่หาวิธีรับมือได้ก็ดีหน่อย ส่วนบางคนทำไม่ได้ก็รู้สึกเคว้งคว้าง เปล่าเปลี่ยว ณ ตอนนั้น 

แต่พออยู่ไปพักหนึ่งมันก็ดีขึ้น ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตมากขึ้น รู้จักการทำอะไรคนเดียว ตื่นนอนคนเดียว ไปเรียนให้ทัน เป็นอารัมภบทก่อนออกไปชีวิตจริงในโลกข้างนอก โดยที่ยังไม่รู้หรอกว่าต่อไปเป็นอย่างไร แต่ก็ให้อันนี้เป็นบทนำในชีวิตสำหรับความบัดซบในอนาคตข้างหน้า 

หากเลือก 3 เพลงในอัลบั้ม นิสิต เป็นคู่มือการเป็นเด็กต่างจังหวัดในมหา’ลัยเมืองกรุง จะเป็นเพลงอะไรบ้าง

3 เพลงที่เลือกคือ เพลง งานกลุ่มทำคนเดียว, เพลง ต้นไม้ แล้วก็ เพลง สายด่วนศาลายา ผมเชื่อว่า 3 เพลงนี้น่าจะโอบกอดคนฟังที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกันได้

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2022 คนนท์ ชาญคลีเช่ ได้ปล่อยอีพีใหม่ที่ชื่อ ไม่ตลก, ผมจริงจัง ประกอบไปด้วย 6 เพลงสะท้อนความรู้สึกของศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องเผชิญกับคำติชมที่บ้างก็เพื่อก่อ แต่บ้างก็เพื่อทลาย ซึ่งเขาขอใช้เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศกร้าวต่อจุดยืนและตัวตนที่ยึดเสมอมา และขอไม่ฟังทุกความเห็นที่เข้ามาทำร้ายและกัดกินความรู้สึกของผู้อื่นอีกต่อไป เชิญรับฟัง

Tags: , , , ,