รู้ตัวอีกทีเราก็ถูกแวดล้อมด้วยงานออกแบบจากใครสักคนที่อยู่ห่างออกไปนับร้อยหรือพันไมล์ จึงน่าจะดี หากวันหนึ่งใครสักคนที่อยู่ไกลออกไปจะถูกแวดล้อมด้วยงานออกแบบฝีมือคนไทยบ้าง ไม่ใช่แค่ในฐานะนักออกแบบจากบ้านเมืองเรา แต่ยังเป็นในฐานะผู้นำทางการออกแบบระดับโลกหรือ global design leader ที่ทำการออกแบบในฐานะประชากรโลก เพื่อผู้คนที่เป็นประชากรโลก
นี่คือหนึ่งในมุมมองสนุกๆ จากผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี หรือ DBTM แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองโลกยุคใหม่เป็นยุคแห่งนวัตกรรม ซึ่งนักออกแบบเองจำเป็นต้องมองไปให้ไกลกว่าที่ผู้บริโภคเห็น รวมถึงพัฒนาตนเองให้เหมาะกับโลกอนาคตด้วย
เราพูดคุยถึงนวัตกรรมและทิศทางการออกแบบในอินคิวเบชั่นที่เปิดให้นักศึกษาได้เข้าใช้เพื่อทำโปรเจ็กต์ที่มีอยู่เกือบตลอดการเรียนการสอน—บรรยากาศและบทสนทนาในตู้คอนเทนเนอร์ยกพื้นสูง ที่ปลายสุดเป็นบานกระจกสีส้มสดอันเป็นสีของคณะ ดูเหมือนว่าโลกอนาคตอยู่ไม่ไกลจากเรานี่เอง และงานออกแบบก็มีส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญทีเดียว
ในมุมมองของคุณ นักออกแบบที่เหมาะกับโลกอนาคตควรเป็นอย่างไร
นักออกแบบไม่ว่าจะแขนงไหน ควรต้องมีคุณสมบัติร่วมคล้ายๆ กัน คือความเป็นนักคิดที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกกับวิธีการสื่อสาร แต่สำหรับโลกยุคใหม่ที่เรากำลังจะก้าวไปหานี้ นักออกแบบอาจต้องมีมากกว่านั้น ซึ่งผมมองว่ามีสามข้อด้วยกัน
หนึ่งก็คือ ต้องเป็นคนรู้รอบ รู้กว้าง และเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้ เขาต้องรู้ถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นลักษณะลูกค้า หรือประเด็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม
สองคือ ต้องเป็นคนสมาร์ต ซึ่งไม่ได้แปลว่าฉลาดอย่างเดียว แต่เป็นคนที่มีวิธีการทำงานที่เป็นระบบ บริหารเวลาและทรัพยากรได้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการออกแบบมากขึ้น
และสามคือ การทำงานเป็นทีม คือคนมักจะคิดว่างานของดีไซเนอร์มาจากการคิดของคนเก่งๆ คนเดียว แต่ในโลกอนาคต การจะได้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน นักออกแบบรุ่นใหม่จะต้องมีเซนส์เรื่องนี้ ต้องรู้ว่าในงานออกแบบที่กำลังทำจะต้องมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง สามข้อนี้จะทำให้ดีไซเนอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในโลกของอนาคตอันเป็นโลกแห่งนวัตกรรม
นักเรียนออกแบบเจนฯ นี้มีลักษณะเด่นอย่างไร ที่จะส่งเสริมให้มีสามข้อที่คุณยกมาได้
เด็กสมัยใหม่ ข้อดีของเขาคือเขาเปิดกว้างกับโลกมาก เขารับรู้เรื่องต่างๆ ในโลกได้เร็ว ดังนั้นข้อแรกที่ผมบอกนั้นพวกเขามีกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของคนทำงานในไทยเลยคือเขายังไม่ถนัดการทำงานกับทีมอย่างเป็นระบบ อาจยังมีความคิดที่ว่าเราเก่งพอที่จะทำงานคนเดียว แต่อย่างที่บอก งานดีไซน์ในยุคต่อไปจากนี้ ไม่สามารถจบได้ที่คนคนเดียวแล้ว ไม่สามารถใช้เพียงมุมมองเดียวในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาเองก็มีความซับซ้อนเกิดจากปัจจัยหลายด้านด้วยเหมือนกัน
การออกแบบในยุคนี้ต้องมองไปที่อนาคตอย่างเดียวหรือไม่ ควรเรียนรู้เรื่องจากอดีตมากน้อยแค่ไหน
ในทางปฏิบัติมันก็ต้องมองไปยังอนาคตก่อน เพราะงานดีไซน์ยุคนี้คือการออกแบบเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ยังไม่เกิด แต่เราก็จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปในอดีตว่าเราเคยแก้ปัญหามายังไง
มันจะมีไดอะแกรมสี่เหลี่ยมที่ดูง่ายๆ เลย คือแกนตั้งจะเป็นเรื่องบริบทของปัญหา (context) แกนนอนเป็นเรื่องวิธีการแก้ปัญหา (solution) ซึ่งถ้าเราอยู่ในควอแดรนต์ที่ 1 มันก็คือปัญหาเดิมๆ ที่ถูกแก้แบบเดิมๆ หรือควอแดรนต์ที่ 2 ก็อาจจะเป็นปัญหาในบริบทใหม่ ยังใช้วิธีแก้แบบใหม่ๆ นี่คือวิธีการมองอย่างง่ายๆ ในเชิงออกแบบ ว่างานดีไซน์ที่เราทำอยู่ในควอแดรนต์ไหน
ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในยุคที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง ในยุคก่อนโลกอาจขับเคลื่อนด้วยสิ่งประดิษฐ์ (invention) เช่น ยุคที่เกิดไฟฟ้า ยุคที่เกิดคอมพิวเตอร์ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคนั้นแล้ว โลกเราถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation) แทน และการออกแบบนวัตกรรมก็คือการออกแบบในบริบทแบบใหม่ และใช้วิธีแก้ปัญหาแบบใหม่
แต่ถ้าใหม่อย่างเดียว ไม่สามารถทำให้มีคุณค่าเชิงธุรกิจ (commercialize) มันก็จะยังเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์อยู่ดี ดังนั้นสำหรับยุคนี้มันจึงควรเป็นการใช้แนวคิดใหม่ บวกกับงานดีไซน์และเทคโนโลยี ประกอบกับความสามารถในการดำเนินเป็นธุรกิจ นั่นแหละถึงจะเป็นนวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต
โมเดลการออกแบบชิ้นไหน เป็นตัวอย่างที่ดีในการรวมเอางานออกแบบ เทคโนโลยี และธุรกิจเข้าด้วยกันได้เยี่ยมที่สุด
มีหลายชิ้น แต่ที่เห็นได้ชัดก็ยังคงเป็นงานของ Apple ที่เขาใช้องค์ความรู้หลายด้านประกอบกัน Apple ไม่ได้เริ่มต้นจากอะไรอย่างเดียว แต่มันคือการใช้ดีไซน์ เทคโนโลยี และการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นได้ชัดว่าผลิตภัณฑ์ของเขา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของที่เราจำเป็นต้องใช้เลย แต่เขาสามารถทำให้กลายเป็นสิ่งที่คนอยากจะมีได้
ส่วนหนึ่งมันคือการเข้าใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปยังไง แล้วยูสเซอร์อินเทอร์เฟส (user interface) ควรออกมาเป็นยังไง รวมทั้งความเข้าใจในเชิงธุรกิจ เขามีวิธีการใช้กลยุทธ์ให้ภาพลักษณ์แบรนด์ไม่ใช่แค่โทรศัพท์แต่คือเครื่องแสดงตัวตนของคนยุคใหม่ ห้างสรรพสินค้าในสมัยนี้ก็ต้องมี Apple Store เพื่อแสดงความเป็นห้างสรรพสินค้าของคนรุ่นใหม่ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด
ในการจะไปถึงจุดนั้น อุปสรรคสำคัญที่นักเรียนออกแบบบ้านเราจำเป็นต้องก้าวผ่านคืออะไร
เด็กไทยกูเกิลเก่ง แต่ทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์อาจจะยังไม่เก่งพอ อาจด้วยว่าระบบการเรียนของเราไม่ได้สอนให้คิด สอนให้ท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเวลาที่ผมสอบจะเปิดให้นักศึกษาเปิดหนังสือและใช้อินเทอร์เน็ตได้ เห็นชัดเลยว่าเด็กมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่สูง แต่เลือกใช้ข้อมูลไม่เป็น ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหานี้ก็คือการให้ลองทำบ่อยๆ สอนให้ตั้งคำถาม ท้าทายให้คิด
ปรัชญาของการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดคือเรียนเพื่อให้จำให้ได้ หรือเรียนเพื่อให้เข้าใจ แต่เป้าหมายของหลักสูตรเราคือเพื่อให้เอาไปใช้ให้ได้ ต้อง apply ได้ ดังนั้นเราต้องให้นักศึกษาเรียนรู้จากการทำจริง
สิ่งหนึ่งที่เราเจอคือพอลองทำจริงแล้วทำพลาด เขาจะท้อ แต่ขณะนั้นเขาไม่รู้ตัวว่าการพลาดของเขานั่นแหละคือการเรียนรู้ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดในวิชาของเราที่ส่วนใหญ่เป็นโปรเจ็กต์เบส ทุกวิชาต้องมีโจทย์ให้นักศึกษาได้หัดคิดอะไรบางอย่าง
สังเกตได้ว่า เด็กเก่งหรือคนที่พร้อมมากๆ ในการประกอบอาชีพจะมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ต่างประเทศ?
ผมเองเรียนจบก็เริ่มทำงานในต่างประเทศ มันเป็นเรื่องปกตินะ ตลาดงานสมัยนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในเมืองไทย เพราะเราคือประชากรโลก
ซึ่งความท้าทายก็คือการทำงานในบริบทที่ต่างออกไป จุดหนึ่งที่คนไทยต้องปรับตัวคือการเรียนรู้จะอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายกว่าที่เคยชิน เราอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายสูงมาก เวลาออกแบบหรือคิดค้นนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ในพื้นที่นั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในปัจจัยและบริบทเหล่านี้ด้วย
แปลกใจพอสมควร ส่วนใหญ่เรามักได้ยินแนวคิดที่ว่าอยากให้เด็กไทยเริ่มหันมาพัฒนาประเทศเราก่อน
ผมว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเลือก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่านักออกแบบทั้งร้อยเปอร์เซ็นจะไหลไปทำงานต่างประเทศ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังผูกพันกับบ้านเกิด สุดท้ายก็ยังต้องกลับมา
นอกจากความท้าทายด้านการเข้าใจวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความท้าทายอื่นอีกไหม สำหรับนักออกแบบในฐานะประชากรโลก
ต้องยอมรับว่าในโลกปัจจุบัน ภาษาคือพื้นฐานสำคัญ ถ้าเป็นในยุคก่อน การมีทักษะภาษาอังกฤษคือคุณสมบัติที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่สมัยนี้ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เผลอๆ ต้องพูดภาษาที่สามกันแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นนักออกแบบไม่ควรถูกกำแพงทางภาษากั้น ตอนเริ่มพัฒนาหลักสูตรเราก็เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็น จึงทำเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษไปเลย
คุณมองว่าช้าไปไหม หากเด็กจะได้มาเรียนรู้แนวคิดที่สำคัญในการเป็นนักออกแบบก็เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน อย่างผมสนใจศาสตร์ทางด้านการออกแบบมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมฯ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาควรทำหน้าที่ในการเปิดโอกาสให้กับเด็กมากที่สุด ให้เขาเห็นว่าในโลกของอนาคตมีอะไรบ้าง สอนวิธีคิดให้กับคน อย่างที่เราเห็นจากงานวิจัยที่บอกว่าตำแหน่งงานในปัจจุบัน เกินครึ่ง ไม่เคยมีมาก่อนในห้าปีที่แล้ว มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อความต้องการของโลกเปลี่ยนไป แล้วยิ่งโลกอนาคตมันจะยิ่งเปลี่ยนไปอีก ในความเห็นผม เด็กจึงไม่ควรถูกจำกัดแนวทางที่จะประกอบอาชีพตั้งแต่เด็ก น่าจะดีกว่าถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้มองโลกกว้างๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปเพื่อพร้อมสำหรับอนาคต
ที่ DBTM เราจึงพยายามที่จะไม่มุ่งแต่สอนให้มีความรู้ เรามุ่งสอนให้คิด ถ้าเราคิดเป็น ต่อให้โลกเปลี่ยนไปยังไงก็จะคิดตามไปได้ เหมือนที่ยุคหนึ่งเราถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม จนมาถึงยุคกล้องดิจิทัล ประเด็นคือไม่ใช่กล้องแบบไหนที่ถ่ายสวย แต่เป็นมุมมองและวิธีการถ่ายแบบไหนที่จะทำให้ภาพออกมาสวยมากกว่า
ต่อจากนี้ บทบาทของนักออกแบบในโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร
มันจะเปลี่ยนไป ในยุคนี้เองก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว เช่นการมีอยู่ของนักออกแบบในองค์กรที่ดูเหมือนจะไม่จำเป็นต้องมี เช่นธนาคาร ส่วนใหญ่เรามองว่าอาชีพในธนาคารจะเป็นนักบัญชี นักวิเคราะห์การลงทุน แต่สมัยนี้เริ่มมีนักออกแบบเข้าไป เช่น KBTG ของกสิกร หรือ Kasikorn Business Technology Group ที่เขาเริ่มรู้แล้วว่าความเสี่ยงของธนาคารคือคนจะไปทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
เขาจึงเคยคิดว่าเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ภายหลังก็พบว่าเทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบ แต่จริงๆ มันคือการออกแบบ จึงเริ่มมีตำแหน่ง visionary architect หรือ designer เข้าไปอยู่ในหน่วยวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการตลาด นี่ยังไม่นับองค์กรใหญ่อื่นๆ หรือองค์กรต่างประเทศ ก็ล้วนมีนักออกแบบอยู่ในทีมเป็นหลัก
ที่เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ตอัปก็ตาม ระหว่างที่ผมทำวิจัยเรื่องบทบาทของการออกแบบในสตาร์ตอัป ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าในตอนนี้ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ตอัปไทยมีนักออกแบบอยู่ในทีม และถ้าพูดถึงสตาร์ตอัปดังๆ ในต่างประเทศอย่าง Airbnb หรือเฟซบุ๊กเองก็เป็นอย่างนั้น
และยิ่งกว่านั้น จากสัดส่วนของการเติบโตทางธุรกิจ เราพบว่าสตาร์ตอัปไทยที่มีนักออกแบบอยู่ในทีม มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าสตาร์ตอัปที่ไม่มีนักออกแบบ ซึ่งข้อนี้สะท้อนว่าการมีนักออกแบบช่วยให้วิธีการคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นระบบมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจปัญหาที่แท้จริง
แล้วบทบาทของนักออกแบบในฐานะประชากรโลกล่ะ?
คีย์เวิร์ดของคำว่าประชากรโลก หรือ global citizen อย่างหนึ่งคือ เราต้องเข้าใจโลกในแง่ที่ว่า เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไปยังไง เรื่องของฐานการผลิต ทำไมจีนถึงประสบความสำเร็จ เรามองไปถึงการรวมองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันโดยข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งมันโยงไปที่คุณสมบัติข้อแรกที่ผมมองว่านักออกแบบยุคใหม่ควรมี
ซึ่งเมื่อประกอบกันทั้งสามข้อแล้ว เรายังสามารถไปได้ไกลถึงภาวะผู้นำทางด้านการออกแบบ หรือ global design leadership สำหรับโลกแห่งอนาคต นั่นคือคุณสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ ในแง่ที่ว่าคุณสามารถสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยนวัตกรรมของคุณเอง และนี่เอง คือภาพที่เราวางไว้ว่าอยากให้นักออกแบบไทยก้าวไปสู่จุดนั้น
Tags: design, การออกแบบ, DBTM, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์