สีคืออะไร?

ผู้เขียนเองก็ทำงานดีไซน์และรายล้อมด้วยงานศิลปะหลากหลายแขนง สีมีความผูกพันและความสำคัญอย่างยิ่งกับงานดีไซน์ที่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สมัยเรียนกลับมีวิชาเรื่องสีเพียงหนึ่งเทอม ที่ผู้เขียนเองก็ยังไม่ได้มีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจบริบทของสีสักเท่าไร

การใช้สีหรือการจับคู่สีลงในงานดีไซน์ อ้างอิงจาก mood และ tone ความเหมาะสมที่ออกมาลงตัวนั้น เกิดขึ้นตามประสบการณ์และการฝึกฝน รวมถึงรสนิยมความชอบส่วนตัวและความใฝ่รู้ชอบทดลองของนักออกแบบ แต่ก็น้อยครั้งนักที่จะมีใครมานั่งพูดคุยกันเรื่องสีอย่างจริงๆ จังๆ หรือตั้งคำถามกับคำสั้นๆ อย่างคำว่า ‘สี’

ความหมายของ ‘สี’

“Colour is the light—it can be changed under different lights”

คำจำกัดความเกี่ยวกับสีจาก คล็อด โมเนต์ (Claude Monet) ศิลปินเอกแห่งยุคอิมเพรสชันนิสต์ น่าจะเป็นคำที่อธิบายสีไว้อย่างรวบรัดที่สุด ในชีวิตประจำวันของเราประกอบไปด้วยสีอยู่หลากหลายจนเผลอมองข้ามไป ในตอนนี้เราอาจมีชื่อเรียกสีต่างๆ แต่แท้จริงแล้วสีนั้นก็คือแสง เกิดจากแสง และไม่มีค่าตายตัวเพราะสามารถเปลี่ยนได้เมื่ออยู่ใต้แสงที่แตกต่างกัน ในที่นี้อาจหมายถึงเฉดสีที่เข้มอ่อนต่างกันไป หรือสีที่สดและซีดภายใต้เงื่อนไขธรรมชาติต่างๆ

งานศิลป์กับสีเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศิลปินในแต่ละยุคต่างให้ความสนใจกับสีเป็นอย่างมาก อย่างซีรีส์ภาพวาดของโมเน่ต์ ที่เพนท์ภาพโบสถ์ Rouen ในช่วงแสงต่างกัน ที่แสดงให้เห็นถึงเฉดและโทนของสีที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด แม้จะเป็นภาพที่วาดขึ้นในช่วงกลางวันเอง ส่วนของสีเหลืองที่ตกกระทบกับโบสถ์นั้นก็ยังมีเฉดที่สว่างเข้มแตกต่างกัน แม้เราอาจจะยืนอยู่ตรงหน้าโบสถ์นั้นและมองว่ามันคือสีทอง แต่ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป สีทองนั้นก็อาจไม่ใช่สีทองเดิม

เวอร์เนอร์ แพนตัน (Verner Panton) นักออกแบบชาวเดนมาร์กที่มีอิทธิพลต่อวงการการออกแบบภายในและเฟอร์นิเจอร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเขาน่าจะเป็นหนึ่งในนักออกแบบคนแรกๆ ที่ค้นคว้าถึงความสำคัญของสีบนผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ หนึ่งในเหตุผลนั้นก็มาจากความต้องการที่จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นให้กับ Vitra (บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์) เขามองว่าสีเป็นเรื่องของการรับความรู้สึกทางกายภาพที่ก่อให้เกิดอารมณ์ภายในใจของผู้มอง ความสำคัญของมันก็คือการเลือกใช้สีที่เหมาะสมกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆ เพื่อสร้างอารมณ์ที่แตกต่างออกไป

แพนตันกล่าวเกี่ยวกับสีไว้ว่า “สีคือสิ่งนามธรรมและเฉพาะตัว มันไม่ได้มีอยู่จริงด้วยซ้ำ สีเหลืองคือสีเหลืองในความคิดของเราที่เกิดจากระบบของการมองเห็นของเรา และทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรานั้นมีสี ยกเว้นน้ำกลั่นเท่านั้นล่ะที่ไม่มี” สีที่ศิลปินผสมมาใช้บนงานศิลป์นั้นก็เกิดจากการมองเห็นกับตาตรงหน้าและเลียนสีออกมา มนุษย์อาจจะรู้จักการผสมสีให้เป็นอย่างตาเห็นก่อนที่โลกนี้จะเกิดคำเรียกชื่อสีกันเป็นสากลเสียอีก

วงล้อสีสู่แพนโทน

สมัยเด็กๆ ที่เรียนวิชาศิลปะ เราก็จะพบกับวงล้อสี เริ่มจากสีปฐมภูมิ (Primary Colors) หรือแม่สี ที่ประกอบด้วยสีแดง  น้ำเงิน และเหลือง ไล่ออกมาเป็นสีทุติยภูมิ (Secondary Colors) ได้แก่สีส้ม ม่วง และเขียว แต่หารู้ไม่ว่าผู้ที่คิดค้นวงล้อสีอันแรกในปี 1706 นั้นคือนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ไอแซ็ค นิวตัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการจำลองสเปกตรัมของสีแดง ส้ม เหลือง เขียว คราม และม่วงจากตาเห็น ระบายในช่องไล่กันเป็นวงกลม ที่เมื่อหมุนเร็วๆ ตาของเราก็จะเห็นมันเป็นสีขาว หรือที่เรารู้จักกันต่อมาว่าสีรุ้งนั่นเอง

จากที่เห็นวงล้อสีของนิวตันแล้วทำให้เราตระหนักได้ว่า การมองเห็นสีของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปแม้เป็นสีที่อยู่ภายใต้ชื่อเดียวกัน ฉะนั้น การเลือกใช้สีไม่ได้จำกัดเพียงแค่สีที่ใครคนใดคนหนึ่งกำหนด อย่างเช่นศิลปินชาวเดนมาร์ก Margrethe Odgaard เธอมีสมุดไดอารี่สีเป็นของตัวเองที่เกิดจากการไปยังสถานที่ต่างๆ เมื่อเห็นสีสันที่สนใจ ก็จะผสมสีนั้นขึ้นมา เทียบเอาจากสิ่งที่ตาเห็น แล้วบันทึกลงไปในสมุดพกพา สีที่เธอจดจำอาจจะไม่ใช่ชื่อเรียกสีเขียว ฟ้า และแดง แต่คงเป็นสีของสะพาน Golden bridge หรือสีของดอกไม้หน้าร้านกาแฟในเช้าฤดูใบไม้ผลิ

นอกจากการเลียนสีให้ใกล้เคียงกับจินตนาการและธรรมชาติที่ตาเห็นเพื่อใช้ในงานศิลปะแล้ว สีก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้ในงานออกแบบ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรื่องของสีที่เป็นนามธรรมก็จับต้องได้มากขึ้นเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่ารหัสสี RGB, CMYK หรือ ค่าสีมาตรฐานจากบริษัทสี เช่น Pantone เป็นต้น สำหรับนักออกแบบแล้ว เหล่ารหัสสีพวกนี้สำคัญและเรียกได้ว่า คุ้นเคยกว่าการผสมสีให้ใกล้กับสิ่งที่ตาเห็นเสียอีก เพราะในการทำงานกับคนหมู่มากและมีหลายระบบ จึงต้องมีค่าตรงกลางที่ทำให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมได้ว่า สีที่กำลังจะใช้นั้นคือสีไหนกันแน่

สีกับการออกแบบ

ทว่า หลายครั้ง ในกระบวนการออกแบบ สีก็ดูจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่นักออกแบบจะนึกถึง ทั้งๆ ที่นักเรียนออกแบบทุกคนน่าจะถูกพร่ำสอนว่า สีมีความสำคัญต่อภาพรวม หรือ mood และ tone ของผลงานที่จะออกมา สีเป็นสิ่งที่เล่นกับความรู้สึกของคนดูบนพื้นฐานของวัฒนธรรมและบริบทต่างๆ มันคงจะดีมากขึ้นหากนักออกแบบได้เริ่มคิดถึงสีที่จะทำมาใช้ในงานตั้งแต่กระบวนการคิดออกแบบแรก เพื่อทำให้งานที่ออกมานั้นสื่อสารได้สมบูรณ์ในทุกมิติ

ในโลกของงานออกแบบ ไม่ได้มีข้อบังคับว่าสีใดคือสีที่ต้องใช้ หรือสีใดห้ามใช้ แต่ก็มักจะมีขนบในการใช้สีอยู่เสมอ อิทธิพลหลักของการเลือกใช้สี น่าจะเป็นการเลือกให้เข้ากับวัฒนธรรม เลือกใช้ให้เข้ากับเทรนด์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น สีดำในบ้านเราอาจเป็นสีของการไว้ทุกข์ แต่ก็อาจเป็นสีที่สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในอีกประเทศหนึ่ง

สีในงานออกแบบ ยังสามารถเชื่อมโยงกับผู้ใช้และผู้อาศัย เพราะสีคือสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของผู้ใช้ หากสังเกต ในการตัดสินใจซื้อสินค้าหนึ่งครั้ง ปัจจัยที่ทำให้เราตัดสินใจได้มักจะเลือกจากสี และเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ หลักการนี้จึงสามารถนำมาใช้สร้างแบรนด์ได้ ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามการเลือกใช้สีที่ประกาศอัตลักษณ์ขององค์กร เพื่อสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการแข่งขันของธุรกิจสูง

เทรนด์สีและการตลาด

เทรนด์ของสีเองก็ไม่ต่างจากเทรนด์ของเสื้อผ้าหรือค่านิยมในสังคม ในช่วงเวลาหนึ่ง ศตวรรษนั้นอาจเกิดเทรนด์ของสีมากมาย สีบางสีนั้นอาจอยู่นานกว่า แต่บางสีอาจมาเพียงชั่วครู่และหมดความนิยมไป ซึ่งส่วนใหญ่ ต้นสายของผู้นำเทรนด์สีจะมาจากคนในวงการแฟชั่นและอุตสาหกรรม เพราะการกำหนดเทรนด์ของแต่ละปีจะเริ่มอย่างน้อยหนึ่งปีล่วงหน้า

ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือตัวตัดสินว่า ปีถัดไป สีอะไรควรจะเป็นสีที่มีอิทธิพลต่อความนิยมของประชากรโลก แท้จริงแล้ว มันก็เกิดจากการเก็บข้อมูลความเป็นไปของสังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความคาดหวังของประชากรส่วนใหญ่ของโลกอีกด้วย

การเลือกใช้สีอัตลักษณ์ขององค์กรไม่ควรที่จะเป็นสีที่เป็นกระแสในขณะนั้น หากแต่ควรเป็นสีที่แสดงถึงตัวตนและเอกลักษณ์ของแบรนด์มากกว่า เนื่องด้วยการเปลี่ยนผันของปัจจัยรอบตัวต่างๆ ที่ทำให้ความรู้สึกของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การเปิดตัวแบรนด์หรือร้านค้าด้วยสีตามเทรนด์อาจทำให้เป็นที่กล่าวขานกันในวงกว้าง แต่ถ้าหากว่าอัตลักษณ์ขององค์กรไม่ได้เข้มแข็งพอ ความสนใจของผู้คนก็จะค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลาและความนิยมที่ลดลงของเทรนด์นั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าผู้ประกอบการเลือกใช้สีที่สามารถสื่อสาร แสดงถึงบุคลิกลักษณะของแบรนด์ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสีเฉดใหม่ หรือกำลังเป็นเทรนด์ล่าสุด ก็จะทำให้ภาพรวมของแบรนด์สื่อสารกับผู้บริโภคได้ยาวนานขึ้น

หากจะพูดถึงการเลือกใช้สีเพื่อตอบสนองต่อบุคลิกของผู้ใช้ที่แสดงให้เห็นว่า สีเป็นหนึ่งปัจจัยที่ผู้ซื้อจะตัดสินใจเลือกสินค้าหนึ่งชิ้น บริษัทแอปเปิลจึงเป็นกรณีตัวอย่างของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการใช้สี เริ่มตั้งแต่คอมพิวเตอร์ iMac G3 ที่เปิดตัวในปี 1998 ด้วยสีสันสดใส ทั้งหน้าจอและ CPU รวมอยู่ในกล่องเคสพลาสติกสีฟ้ากล่องเดียว แตกต่างจากคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปสีขาว-ดำในท้องตลาดช่วงยุค ’90s ที่เป็นยุคฟองสบู่แตก เศรษฐกิจซบเซา และอยู่ในกระแสมินิมอลลิสม์เสียมากกว่า

สีสันสดใสของคอมพิวเตอร์ iMac G3 กลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการออกแบบอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตาและเฉดสี ซึ่งทำให้ได้เห็นต่อมาอีกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็น iPod Nano, iPod Shuffle รวมถึง iPhone ที่ผลิตสีสันออกมามากขึ้นที่ยิ่งทำให้ขายดิบขายดีกว่าเก่า การมีสีสันที่ถูกใจผู้ซื้อก็ย่อมเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียวเสมอไป เพราะบุคคลย่อมถูกดึงดูดเข้าหาสิ่งที่เข้ากับบุคลิกของตัวเอง

ถ้าหากว่าผู้ประกอบการเลือกใช้สีที่สามารถแสดงบุคลิกลักษณะของแบรนด์ โดยไม่จำเป็นว่ากำลังเป็นเทรนด์ล่าสุด ก็จะทำให้ภาพรวมของแบรนด์สื่อสารกับผู้บริโภคได้ยาวนานขึ้น

ไม่ใช่แค่ในแวดวงการออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของสีที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล วงการแฟชั่นและสิ่งทอ และบริษัทออกแบบทุกแขนงเองก็เช่นกัน ทำให้เกิดตำแหน่งสายงานที่น่าสนใจอย่าง CMF design ย่อมาจาก Color, Materials, และ Finish ที่จะมีหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสี วัสดุ และการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย CMF อาจไม่ใช่อาชีพที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมากสำหรับบริษัทออกแบบใหญ่ๆ ทั่วโลก

สีเป็นสิ่งพื้นฐานที่พวกเราพบเห็นทุกวันจนชินตา และโลกทันสมัยที่หลอกให้เราคิดว่าสีเป็นสิ่งจับต้องได้ แต่เมื่อได้ลองมาทำความเข้าใจอีกครั้ง กลับพบว่า ความเป็นนามธรรมของสีกลับกระทำกับอารมณ์ ความรู้สึก และลวงตาของเรา เมื่อคิดแบบนี้แล้วก็ชวนให้คิดตามว่า จะมีผลงานสร้างสรรค์ใดอีกบ้างที่จะสร้างปรากฏการณ์ชี้นำอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนผ่านสิ่งเรียบง่ายที่เรียกว่า สี

Tags: , ,