เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2022 รัฐสภาสเปนโหวตผ่านกฎหมาย ‘Only yes means yes law’ ที่กำหนดให้บุคคลต้องพูดคุยสอบถามความสมัครใจกันและกัน รวมถึงต้องตอบตกลงยินยอมในการร่วมเพศถึงจะนับว่าเป็นการยินยอมทางกฎหมาย ซึ่งความเงียบ การหลับตา หรือแสดงท่าทีไม่ขัดขืน ไม่ได้มีความหมายว่าบุคคลนั้นๆ ให้การยินยอมเพื่อที่จะมีเพศสัมพันธ์
ก่อนหน้านี้กฎหมาย Only yes means yes law ถูกคัดค้านจากพรรคอนุรักษนิยมและประชาชนฝ่ายขวาในสเปน แต่ตอนนี้กฎหมายดังกล่าวโหวตผ่านด้วยคะแนน 205 ต่อ 141 เสียง และตัวกฎหมายได้เพิ่มข้อกำหนดพฤติการณ์ของผู้กระทำอย่างละเอียดอีกด้วย เช่น พฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนโดยคนรัก ญาติ คนรู้จัก พฤติกรรมการใช้สิ่งมึนเมาก่อนข่มขืนเหยื่อ หรือพฤติกรรมการข่มขืนเป็นกลุ่ม โดยกฎหมายฉบับนี้จะแตกต่างจากกฎหมายเดิมของสเปนที่เหยื่อจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าถูกใช้ความรุนแรง ถูกบังคับ หรือข่มขู่ให้ยินยอมร่วมเพศอย่างไรบ้าง
กฎหมายดังกล่าวถูกผลักดันและเรียกร้องหนักขึ้นหลังเกิด ‘คดีฝูงหมาป่า’ (Wolf pack gang rape) ที่ผู้ก่อเหตุมีรอยสักรูปหมาป่าตามร่างกาย ย้อนกลับในปี 2016 ชาย 5 คนในแก๊งฝูงหมาป่าได้ข่มขืนหญิงสาวอายุ 18 ปี ที่งานแข่งวิ่งหนีกระทิง ในเมืองแพมโพลา เธอถูกกลุ่มฝูงหมาป่าล้อมก่อนพาตัวไปด้านหลังของอพาร์ตเมนต์ เปลื้องเสื้อผ้าเธอออก แล้วข่มขืนทั้งทางช่องคลอด ปาก และทวารหนัก ซึ่งสิ่งที่เธอทำได้ในขณะนั้นคือหลับตา รอเวลาให้การกระทำเลวทรามเหล่านั้นจบลง
ภาพจากกล้องวงจรปิดของอพาร์ตเมนต์บันทึกช่วงเวลาที่ชาย 5 คน เดินออกจากตึก หญิงสาวรีบแต่งตัว ควานหาโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าหนึ่งในผู้ข่มขืนขโมยโทรศัพท์มือถือเธอไปด้วย และหนึ่งในนั้นใช้โทรศัพท์มือถือของเธอถ่ายคลิปวิดีโอขณะข่มขืน พร้อมกับเผยแพร่คลิปวิดีโอการข่มขืนไปในกลุ่มแชตชื่อ ‘La manada’ (ฝูงหมาป่า) ในวอตส์แอป (WhatsApp)
คดีดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ แก๊งฝูงหมาป่าใช้คลิปวิดีโอขณะข่มขืนเหยื่อมาเป็นหลักฐานประกอบการสู้คดี เนื่องจากในคลิปทำให้คิดได้ว่าเหยื่อเต็มใจเพราะไม่ขัดขืน หนึ่งในผู้ต้องหายืนยันว่าเหยื่อทำเพียงแค่หลับตา ไร้ท่าทีขัดขืน จึงเท่ากับว่ายินยอม ซึ่งผู้พิพากษาคนหนึ่งกล่าวว่า แก๊งฝูงหมาป่าควรถูกตัดสินโทษแค่ข้อหาขโมยโทรศัพท์เท่านั้น
ท้ายที่สุด ศาลท้องถิ่นเมืองแพมโพลาตัดสินจำคุกจำเลย 5 คน เป็นระยะเวลา 9 ปี ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ แทนที่จะเป็นข้อหาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งมีโทษหนักกว่า โดยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามีโทษจำคุกสูงสุดนาน 22 ปี และต้องจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อเป็นจำนวนเงิน 5 หมื่นยูโร หรือประมาณ 2 ล้านบาท
ผลการตัดสินที่เกิดขึ้นส่งผลให้คลื่นมวลชนจำนวนมากออกมาประท้วงลงถนนคัดค้านต่อคำพิพากษา ภายหลังศาลสูงสุดสเปนนำคดีนี้กลับมาพิจารณาใหม่ และเปลี่ยนคำตัดสินเป็นคดีข่มขืน โดยเพิ่มโทษจำคุกเป็นคนละ 15 ปี
กฎหมายตอบตกลงเท่ากับยินยอม จึงเป็นกฎหมายใหม่ที่นิยามความแตกต่างระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนให้ชัดเจนขึ้น กฎหมายฉบับนี้ยังระบุต่อว่า ไม่สามารถตีความการนิ่งเฉยหรือความเงียบว่าเท่ากับยินยอมได้อีกต่อไป ดังนั้น การตอบตกลงเพื่อสอบถามความสมัครใจอย่างเสรีเท่านั้น จึงจะถูกนับว่าเป็นความยินยอม และต้องพิจารณาดูความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย
กฎหมายใหม่ยังระบุชัดเจนว่า หากผู้ที่ตอบตกลงยินยอมหรือให้ความยินยอมขณะนั้นอยู่ในลักษณะมึนเมาไม่ได้สติ ไม่รู้สึกตัว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่สามารถแสดงความยินยอมตามกฎหมายได้ และกำหนดบทลงโทษไว้หลายระดับ ตั้งแต่ปรับไปจนถึงติดคุกสูงสุด 15 ปี
แม่ของเหยื่ออายุ 18 ปี กล่าวถึงกฎหมายฉบับใหม่ว่า “กฎหมายฉบับนี้คือผลลัพธ์ของความกล้าหาญ ความพยายาม เป็นศักดิ์ศรีของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตธรรมดาโดยไม่ถูกตัดสินจากใคร เธอเป็นผู้หญิงที่ตัดสินใจเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า บนถนนอันโสมมเส้นนี้ยังมีเหยื่อที่ถูกทำร้ายอีกจำนวนมาก พวกเขาต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า และนี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องเปลี่ยนไปพร้อมกัน”
ที่มา
https://www.theguardian.com/world/2019/apr/23/wolf-pack-case-spain-feminism-far-right-vox
Tags: Gender, การล่วงละเมิดทางเพศ, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, การยินยอม