ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหนของชีวิตเราก็สามารถเจ็บปวดกันได้ทั้งนั้น แต่วัยเด็กอาจเป็นช่วงเวลาที่ส่งผลกระทบกับเรามากที่สุด พฤติกรรมหลายอย่าตอนโตอาจมาจากผลลัพธ์ที่เรากระทำหรือถูกกระทำในวัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของความรุนแรง จิตใจนั้นก็อาจบอบช้ำจนเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันรักษาหาย
ตัวละครเด็ก 5 คน จากหนังสือ 5 เล่มนี้จะทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดโลกถึงไม่เคยปรานีหรือออมมือให้กับวัยเยาว์ที่ค่อยๆ ผ่านพ้นไปของพวกเขาเลย
ต้นส้มแสนรัก
Meu Pé de Laranja Lima
ผู้เขียน: โจเซ่ วาสคอนเซลอส
ผู้แปล: มัทนี เกษกมล
สำนักพิมพ์: ประพันธ์สาส์น
ต้นส้มแสนรัก วรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังที่สุดเล่มหนึ่งและยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เขียนโดยนักเขียนชาวบราซิล ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาโปรตุเกสเมื่อปี 1968 และแปลเป็นภาษาต่างๆ 32 ภาษา กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเยาวชน และดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และแอนิเมชันหลายต่อหลายครั้ง
เซเซ่ เด็กชายที่มีเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความฝันอันสดใสตามวัยเด็ก ถึงจะดื้อซนจนเป็นที่น่าหนักใจไปบ้าง แต่เขาก็เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด เซเซ่เกิดมาในครอบครัวยากจนและมีพี่น้องอีกสี่คน ซึ่งเขารักหลุยส์น้องชายคนสุดท้องมากที่สุด
เซเซ่ถูกทำโทษแรงๆ อยู่บ่อยครั้ง นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา โลกที่มีแต่ความสุข โลกอันเต็มไปด้วยชีวิตชีวา จนกระทั่งครอบครัวเขาต้องย้ายบ้านใหม่ เซเซ่จึงได้พบกับมิงกินโยเพื่อนรัก เพื่อนที่เป็นมากกว่าต้นส้มตามที่มันควรจะเป็น และในเมืองนี้มีเศรษฐีชาวโปรตุเกสคนหนึ่งอาศัยอยู่ เซเซ่เรียกเขาว่าโปรตุก้า ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน โดยที่แทบจะไม่มีใครรู้เรื่องนี้ พวกเขาแลกเปลี่ยนเรื่องสนุกๆ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างเพลิดเพลิน จนในวันหนึ่งโลกทั้งใบของเซเซ่ก็ต้องพังลง เจ็บปวดจนล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่หลงเหลืออะไรอีก ไม่มีแม้กระทั่งน้ำตา
“อย่าร้องซิ หลุยส์ น้องเป็นพระราชาเชียวนะ พ่อบอกว่าที่ตั้งชื่อหลุยส์ให้ก็เพราะเป็นชื่อพระราชา และพระราชานั้นร้องไห้กลางถนนต่อหน้าคนอื่นอย่างนี้ไม่ได้หรอก รู้มั้ย”
ต้นส้มแสนรักได้ทำให้เราได้กลับไปสัมผัสความเป็นเด็กในตัวเราเอง ภาษาที่ตรงประเด็น กระชับ และเรียบง่ายนั้นสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน
เด็กเก็บว่าว
The Kite Runner
ผู้เขียน: ฮาเหล็ด โฮเซนี่
ผู้แปล: วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ
สำนักพิมพ์: สรัสวดี
เด็กเก็บว่าว ผลงานของฮาเหล็ด โฮเซนี่ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 และสร้างเป็นภาพยนตร์ในอีกสี่ปีต่อมา เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวมิตรภาพอันเข้มข้น การทรยศหักหลังอย่างรุนแรง และการไถ่บาปที่ใช้เวลายาวนานจนเกือบจะสายเกินแก้
เด็กชายสองคน อาเมียร์และฮัซซานเป็นเพื่อนรักกัน แม้สถานะจะต่างกันอย่างลิบลับ อาเมียร์เป็นเด็กชายชาวพาชทุนที่เกิดมาในครอบครัวมีฐานะและได้รับการศึกษา ส่วนฮัซซานนั้นเป็นเด็กชายชาวฮาซารา ลูกของคนใช้ประจำบ้านอาเมียร์ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ อุปนิสัยของพวกเขาต่างกัน อาเมียร์ออกจะขี้กลัว ไม่กล้าเผชิญหน้ากับศัตรู แต่ฮัซซานนั้นเข้มแข็ง คล่องแคล่ว ฉลาด มีไหวพริบ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้อาเมียร์กลัวอยู่ลึกๆ ว่าพ่อของเขาจะเอ็นดูฮัซซานมากกว่า
สิ่งหนึ่งที่อาเมียร์และฮัซซานชอบเหมือนกันคือการเล่นว่าว เมื่อมีการแข่งขัน อาเมียร์จะเป็นคนหลักที่ควบคุมว่าว ฮัซซานจะคอยเป็นผู้สนับสนุน เมื่อว่าวชนะคู่ต่อสู้ ฮัซซานผู้ซึ่งมีฝีเท้าดีและแม่นยำในการกะตำแหน่งการตกของว่าวจะเป็นคนวิ่งไปเก็บว่าวที่ขาด และเหตุการณ์แข่งว่าวในครั้งนี้ก็คือจุดเริ่มต้นในการทำลายความสัมพันธ์ของทั้งคู่
อัสเซฟ เด็กชายที่ชอบรังแกเด็กคนอื่นๆ มาเอาคืนฮัซซานที่เคยปกป้องอาเมียร์ เขามาพร้อมกับลูกสมุนและจับตัวฮัซซานไว้ จากนั้นก็เริ่มรุมทำร้ายและข่มขืน… อาเมียร์มาพบเข้า แต่ก็หวาดกลัวเกินกว่าจะเข้าไปช่วยเหลือ
หลังเหตุการณ์นี้อาเมียร์กลัวว่าความจริงที่ตนไม่ยอมเข้าไปช่วยฮัซซานจะถูกเปิดเผย เขาจึงใส่ร้ายครอบครัวฮัซซานให้ต้องออกจากบ้าน และต่อมา เมื่อรัสเซียบุกเข้ามาในอัฟกานิสถาน อาเมียร์กับพ่อก็อพยพออกจากประเทศไปตั้งต้นชีวิตใหม่ หลายสิบปีผ่านไป อาเมียร์ก็ได้รับรู้ข่าวครอบครัวฮัซซาน เขาตัดสินใจกลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อไถ่บาปและกอบกู้สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้จะรู้ดีอยู่แล้วว่าอดีตไม่มีทางแก้ไขได้
“สำหรับคุณ กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว”
อย่ามองข้ามความผิดพลาดและทำเหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าเราจะสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้างก็จงทำ
ผมไม่กลัว
IO NON HO PAURA
ผู้เขียน: นิกโกโล อัมมานิติ
ผู้แปล: งามพรรณ เวชชาชีวะ
สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ
ผมไม่กลัว เป็นผลงานที่ทำให้นิกโกโล อัมมานิติ ได้รับรางวัล Viareggio-Rapaci ซึ่งเป็นรางวัลด้านวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลรางวัลหนึ่งของอิตาลี เขาได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2001 และยังเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดที่ได้อีกด้วย หนังสือขายออกไปถึง 700,000 เล่มในปีนั้น ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 20 ภาษา และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2003
ในชนบทอันห่างไกลของอิตาลีมีชุมชนเล็กๆ ชื่ออักกวา ทราแวร์เซ่ ที่ที่เต็มไปด้วยทุ่งข้าวสาลีและมีป่าเขาให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ครอบครัวของมิเกเล่อาศัยอยู่ที่นั่น ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ มิเกเล่วัย 9 ขวบและน้องสาวที่อ่อนกว่าเขาไม่มากนัก
มิเกเล่มีเพื่อนวัยเดียวกันที่ชอบไปเล่นไกลจากบ้าน ปั่นจักรยานและแข่งขันกันแบบเด็กๆ วันหนึ่งมิเกเล่พบเด็กชายแปลกหน้าคนหนึ่งในหลุมลึก เปลือยเปล่า ถูกปิดตาและล่ามด้วยโซ่ เขาเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ แล้วลักลอบไปหาเด็กชายคนนั้นอีกหลายครั้ง เพื่อซักถามแนำอาหารไปให้ จนเกิดเป็นมิตรภาพโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว
แม้จะเริ่มรู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร และถูกพ่อสั่งห้าม แต่เขาก็ยังไม่ลดละ มิเกเล่ต้องต่อสู้กับความกลัวมากมาย ทั้งต้องการที่จะปกป้องเด็กคนนั้น และป้องกันไม่ให้พ่อทำสิ่งชั่วร้าย เพื่อไม่ให้เรื่องราวกลายเป็นโศกนาฏกรรม
“ฉันมาแล้ว ฉันมาเดี๋ยวนี้แล้ว นายเห็นไหมฉันมาแล้ว ฉันรักษาสัญญา นายเห็นหรือยัง”
ในวัยเด็กเรามักกลัวสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะความมืด ผีในจินตนาการ บ้านร้าง เสียงลมตอนกลางคืน และอีกหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจ มิเกเล่อาจเป็นเด็กที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สามารถทำลายความกลัวและทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับมันได้นั้นคืออะไร ไม่ใช่แค่การบอกกับตัวเองว่า “ผมไม่กลัว” แต่เราต้องลงมือทำบางสิ่งกับมัน!
ฆ่ามันซะ! อย่าให้มันโต
Nip the Buds, Shoot the Kids
ผู้เขียน: เคนซาบุโระ โอเอะ
ผู้แปล: เดือนเต็ม กฤษดาธนนท์
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์
เคนซาบุโระ โอเอะคือหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของญี่ปุ่น เขาได้รับรางวัลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1994 ผลงานของโอเอะมักเต็มไปด้วยปรัชญา สังคม การเมือง สงคราม อัตถิภาวนิยมและมนุษยนิยม
ท่ามกลางสงครามโลกที่กำลังดำเนินไป ภายในประเทศญี่ปุ่นก็ระอุไปด้วยไฟสงครามเช่นกัน สถานที่หลายสถานที่ไม่สามารอาศัยอยู่ต่อไปได้ สถานดัดสันดานแห่งหนึ่งจึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายเด็กๆ ไปที่อื่น แม้จะอนุญาตให้ผู้ปกครองมารับกลับสู่อ้อมอกครอบครัวได้ แต่ก็กลับไม่มีผู้ปกครองคนใดมารับลูกของตัวเองกลับไปเลย
เด็กทั้งหมดถูกพาไปยังหมู่บ้านอันห่างไกลในชนบท ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่ารั้วสถานดัดสันดาน และภายหลังพวกเขาต้องเผชิญความรุนแรง โรคระบาดร้ายแรง และลงเอยด้วยการโดนผู้ใหญ่ทอดทิ้ง ปิดกั้นทางออกสู่โลกภายนอก
ในยามนี้ เด็กที่โดนปลิดหน่ออ่อนเพื่อไม่ให้เติบโต กลับร่วมด้วยช่วยกันเพื่อหาทางเอาตัวรอด เกื้อกูลกันและกันให้รอดจากความตาย ความพลาดพลั้งใยวัยเยาว์กลับไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าเด็กเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นคนเลวร้ายเช่นที่พวกผู้ใหญ่กระทำกับพวกเขา
“ในช่วงที่ย้ายจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่งนั้น พวกผมก็ตระหนักว่าตนเองถูกล้อมรอบด้วยกำแพงใหญ่มหึมา สำหรับหมู่บ้านชาวนาเหล่านี้ พวกผมเป็นหนามแหลมที่คอนทิ่มแทงอยู่ใต้ผิวหนัง”
สงครามก่อความเจ็บปวดให้มนุษย์ในทุกทาง หยั่งรากความสูญเสียลึกลงในจิตใจ จนบางทีก็เปลี่ยนให้มนุษย์กลายเป็นคนร้ายกาจกว่าเดิม
เอเรนดีรา ผู้บริสุทธิ์
The Incredible and Sad Tale of Innocent Eréndira and Her Heartless Grandmother
ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
ผู้แปล: กำพล นิรวรรณ
สำนักพิมพ์: สามัญชน
ความจริงและความเหนือจริงผสมผสานกันอย่างลงตัวในทุกเรื่องราวของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ จนเมื่อเอ่ยถึงวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ ชื่อที่ผู้คนนึกถึงเป็นชื่อแรกจะต้องเป็นชื่อเขา
หัวใจสำคัญของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์นั้น คือการที่โลกสองประเภท คือโลกแห่งความเป็นจริง และโลกแห่งความมหัศจรรย์ ดำรงอยู่คู่กันและดำเนินไปภายใต้ตรรกะชุดเดียวกัน จนในท้ายที่สุดเราไม่สามารถจำแนกได้ว่าอะไรคือ “ความเป็นจริง” และอะไรคือ “ความมหัศจรรย์”*
เอเรนดีรา เด็กสาวที่อาศัยอยู่กับย่าที่ใช้งานเธอเยี่ยงทาส ในคฤหาสน์หลังโต วันหนึ่งเธอทำงานจนหมดเรี่ยวแรง ล้าเกินกว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้า เธอเพียงวางเชิงเทียนไว้บนโต๊ะแล้วเข้านอนทันที ทว่าเทียนกระเด็นใส่ผ้าม่านจนไฟลามคฤหาสน์ไปทั่วทั้งหลัง
เธอกับย่ารอดมาได้ แต่นี่ถือเป็นความผิดที่เอเรนดีราต้องชดใช้ เอเรนดีราถูกย่าพาไปหาพ่อม่ายคนหนึ่งที่พร้อมให้ราคากับพรหมจรรย์ของเด็กสาววัย 14 ปี
จากนั้นเรื่อยมา เอเรนดีราต้องเอาตัวเข้าแลกเงินเพื่อใช้คืนให้กับย่า จากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ก็เริ่มตระเวนไปตามที่ต่างๆ ผู้ชายมากหน้าหลากช่วงอายุต่างมาต่อแถวเพื่อใช้บริการ วันแล้ววันเล่าอย่างไม่มีหยุดพัก เอเรนดีราหวังเพียงว่าสักวันหนึ่งมันจะสิ้นสุดลง
“หากทุกอย่างยังราบรื่นอย่างนี้ต่อไป” นางบอกเอเรนดีรา “แกจะชำระหนี้ข้าได้ภายในแปดปี เจ็ดเดือน กับอีกสิบเอ็ดวัน”
*จากหนังสือ สัจนิยมมหัศจรรย์ ในงานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย