“หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อชาวอเมริกัน หาใช่เพื่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใด ไม่ว่าจะเป็น The Weatherman หรือ The Minutemen พวกเขารู้ทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้อยู่แล้ว หากประชาชนชาวอเมริกันอยากมีชีวิตรอดพวกเขาต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง และนี่คือเป้าประสงค์หลัก
ในปัจจุบัน ความเพิกเฉยหาใช่แค่สิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ แต่ยังเป็นอาชญากรรมและหายนะ The Anarchist Cookbook ไม่ใช่รูปธรรมของการปฏิวัติเฉกเช่นปืนที่ไม่สามารถลั่นกระสุนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ข้าพเจ้าก็หวังให้หนังสือเล่มนี้สั่นสะเทือนเซลล์สมองของผู้อ่านเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหว หากประชาชนชาวอเมริกันไม่ปกป้องตัวเองจากพวกฟาสซิสต์ ทุนนิยม และคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะมีแผ่นดินอยู่ได้อีกไม่นาน
ข้าพเจ้าอาจใช้คำว่า ‘การปฏิวัติ’ บ่อยครั้งโดยหาได้จำกัดความมันอย่างชัดเจน จึงขอแจงมาตรงนี้ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาการมีอยู่ของรัฐไม่ว่าจะในรูปแบบใด แต่ถ้าประชาชนคิดว่าพวกเขาไม่สามารถปกครองตัวเองและต้องการรัฐบาล เช่นนั้นวิธีทางที่ดีที่สุดคือการกลับไปสู่รูปแบบการปกครองดั้งเดิมในยุคที่สหรัฐอเมริกาถือกำเนิด คำว่าปฏิวัติจึงหมายถึงการฟื้นฟูและนำประเทศของเรากลับสู่สภาวะที่มันเคยเป็นเช่นสองร้อยกว่าปีก่อน
อำนาจที่แท้จริงของประชาชนไม่อาจได้มาอย่างสันติ อำนาจไม่ใช่การครอบครองที่เป็นรูปธรรมที่สามารถยกให้กันได้แต่มันเป็นความสามารถในการกระทำต่างหาก อำนาจหาใช่การส่งมอบแต่เป็นการยึดมา ข้าพเจ้าคิดว่า ณ โอกาสที่เราฉลองครบรอบ 200 ปีของการปฏิวัติอเมริกาครั้งแรก เราจะสามารถมองย้อนกลับมายังยุค ’60 และต้น ’70 ในฐานะยุคมืดของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประเทศเสรีแห่งนี้”
(ตัดทอนโดยไม่ตัดใจความสำคัญมาจากคำนำของหนังสือ The Anarchist Cookbook โดยวิลเลียม โพเวลล์)
The Anarchist Cookbook ไม่ใช่รูปธรรมของการปฏิวัติเฉกเช่นปืนที่ไม่สามารถลั่นกระสุนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ข้าพเจ้าก็หวังให้หนังสือเล่มนี้สั่นสะเทือนเซลล์สมองของผู้อ่านเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหว
เคยรู้สึกอยากทำลายผลผลิตทางความคิดของตัวเองในอดีตไหมครับ อย่างแอคเคานต์ใน Hi5 สเตตัสในเฟซบุ๊กยุคแรกๆ รวมไปถึงรูปถ่ายสมัยเป็นเฟรชชี่มหาวิทยาลัยด้วยสไตล์การแต่งตัวที่ตอนนั้นเรามั่นใจหนักหนาว่ามันเท่มาก ฟรานซิส เบคอน – ชาวไอริชที่ไม่ใช่นักปรัชญา – ขยันสร้างงานจิตรกรรม พอๆ กับที่มาทำลายพวกมันภายหลังอยู่เสมอ ฟรานซ์ คาฟคา ขอร้องให้แม็กซ์ โบรด เพื่อนของเขาทำลายต้นฉบับของเขามีทิ้งเสียหลังจากที่เขาเสียชีวิต (เคราะห์ดีของมนุษยชาติที่แม็กซ์ไม่ทำเช่นนั้น) หรืออย่างนักเขียนที่เป็นเพื่อนของผมอีกหลายท่าน (รวมทั้งผมด้วย) ที่เมื่อเวลาผ่านไปและได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มแรกที่ตัวเองเขียนไว้ ก็รู้สึกละอายใจกับทั้งความคิดและน้ำเสียงอันแสนห้าวหาญเสียเหลือเกินในตอนนั้นจนอยากเผามันทิ้งเสียตอนนี้
แต่นั่นล่ะเท่าที่เคยได้เห็น ได้ยิน หรือได้อ่านมา ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากทำลายผลงานของตัวเองเท่าวิลเลียม โพเวลล์ ผู้เขียน The Anarchist Cookbook อีกแล้ว เขามีความตั้งใจเช่นนั้นอยู่หลายสิบปีแต่มันก็ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล กระทั่งเขาจากไป
เริ่มต้นจากความกราดเกรี้ยวจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งคนหนุ่มไปร่วมรบในสงครามเวียดนามช่วงทศวรรษ 1960s และเมื่อโพเวลล์พบว่าการชุมนุมประท้วงไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรนอกจากความเจ็บปวดจากการถูกกระบองของตำรวจฟาดและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม เขาจึงคิดจะเขียนหนังสือ ตอนนั้นเขาอายุ 19 ปี เชื่อว่าการปกครองโดยรัฐจะนำพาสหรัฐอเมริกาสู่ความฉิบหาย และเชื่อมั่นว่าอำนาจของประชาชนไม่อาจจะได้มาโดยปราศจากความรุนแรง เขาไปยังห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ไปยังชั้นหนังสือหมวดตำราการทหาร และคัดลอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อาวุธ ขั้นตอนการประกอบสร้างระเบิด และยุทธวิธีการวางกับระเบิด เขาต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทหารถือครองสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด และนั่นคือที่มาของหนังสือ The Anarchist Cookbook หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1971 บอกเล่าด้วยน้ำเสียงของคนหนุ่มอันพลุ่งพล่าน เชื่อมั่นในระบอบอนาธิปไตย และมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ความรุนแรงร่วมสมัยของโลก
“…ยอมให้ความกลัว ความเหงา และความเกลียดชังสั่งสมในตัวคุณ ยอมให้ความลุ่มหลงบำรุงเลี้ยงเมล็ดพันธุ์การปฏิวัติที่ทรงพลัง ยอมให้ความรักในเสรีภาพเอาชนะคุณค่าผิดๆ ที่ฝังอยู่ในชีวิต อิสรภาพมาจากความนับถือ ถ้าอยากได้ความนับถือก็ต้องมีการหลั่งเลือด…” (เนื้อความส่วนหนึ่งจากในหนังสือ)
The Anarchist Cookbook เป็นหนังสือที่โพเวลล์ตั้งใจให้มันเป็นคู่มือนักปฏิวัติ แต่มันก็หาได้เปี่ยมด้วยความคิดทฤษฎีแบบ The Communist Manifesto ของมาร์กซ์และเองเกลส์ หรือ On Liberty ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ เพราะนอกจากน้ำเสียงในการเล่าอันกราดเกรี้ยวและการนำเสนอความคิดซึ่งสามารถสรุปรวบยอดทั้งเล่มให้เหลือเพียงพารากราฟก่อนหน้า เนื้อหาที่เหลือของหนังสือซึ่งเขาวาดภาพประกอบขึ้นมาเอง ก็คือ how to be ผู้ก่อการร้าย โดยสามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในห้องใต้ดินหรือในครัวที่บ้านได้
หนังสือแบ่งออกเป็นสี่บท บทแรกพูดถึงยาเสพติด โพเวลล์เขียนไว้ว่าแม้ยาเสพติดจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ยาเสพติดถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการปฏิวัติฟื้นฟูวัฒนธรรม เพราะยาเสพติดมาพร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ เขามองว่าสังคมหลังการปฏิวัติควรมีเสรีภาพในการใช้ยาเสพติด เท่าๆ กับเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือการปฏิบัติกับคนทุกเผ่าพันธุ์อย่างเท่าเทียม โดยเขามุ่งเน้นไปที่กัญชาและ LSD (ที่ซึ่งวัยรุ่นในยุคนั้นเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็นหนทางสู่นิพพาน) เขาเขียนถึงวิธีปลูกกัญชาเองที่บ้าน สูตรการปรุงกัญชาเข้ากับอาหารอื่นๆ ข้อแนะนำ 12 ประการในการซื้อ LSD การสกัดสารหลอนประสาทจากกระบองเพชร peyote และเขียนถึงวิธีการเสพสารเสพติดอื่นๆ (โดยคร่าว) เช่น โคเคน เฮโรอีน ไปจนถึงการดมกาว!
โพเวลล์เขียนไว้ว่าแม้ยาเสพติดจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ยาเสพติดถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการปฏิวัติฟื้นฟูวัฒนธรรม เพราะยาเสพติดมาพร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่
บทที่ 2 ว่าด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการก่อวินาศภัย โพเวลล์บอกว่าการปฏิวัติจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อเหล่าอนาคิสต์เข้าถึงสมดุลระหว่างความหลงใหล (passion) กับการนำไปใช้ได้จริง (practicality) เขาวิจารณ์การประท้วงโดยใช้สัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวอเมริกันว่าเป็นความขี้ขลาด กระนั้นการต่อสู่ด้วยอาวุธเพียงท่อนไม้หรือการปาก้อนหินก็เป็นเรื่องโง่เขลา อนาคิสต์ควรเท่าทันเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้รองรับยุทธวิธีต่างๆ และเขาก็เขียนถึงวิธีการประกอบและติดตั้งเครื่องดักฟัง เครื่องก่อกวนสัญญาณ วิทยุสื่อสาร รวมไปถึงเทคนิคการก่อวินาศภัยแบบง่ายๆ ที่แม้จะเป็นการก่ออาชญากรรมเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีผลสะเทือนสู่ระบบใหญ่ เช่น การยิงกาวเรซิ่นใส่รูกุญแจของอาคารตลาดหุ้นวอลล์สตรีต สอดเทปกาวปริมานมากๆ เข้าไปในช่องฝากเงินของธนาคาร รวมไปถึงการขโมย (ซึ่งเขาก็แยกแยะให้ฟังด้วยว่ามันแตกต่างจากขโมยกิ๊กก๊อกทั่วไป เพราะอนาคิสต์จะขโมยแต่ร้านค้าที่เป็นสาขาของบรรษัทใหญ่ๆ เท่านั้น) ไปจนถึงเทคนิคขโมยรถและเผารถ
บทที่ 3 พูดถึงเทคนิคการต่อสู้ด้วยมือและการใช้อาวุธแบบต่างๆ ไปจนถึงชนิดของปืน และการแปลงปืนลูกซองไปเป็นเครื่องยิงระเบิด รวมทั้งการทำแก๊สน้ำตาได้เองจากใต้ถุนบ้านพร้อมแนบวิธีการรักษาหากถูกแก๊สเล่นงานเข้าเสียเอง โพเวลล์สนับสนุนให้ประชาชนถือครองอาวุธได้อย่างเสรี เขาอ้างว่าหากกฎหมายต่อต้านการถือครองอาวุธ อาวุธก็จะตกไปอยู่ในมือของศัตรูของประชาชนเพียงฝ่ายเดียว (อาทิ ตำรวจ กองทัพ พวกนอกกฎหมาย และคนบ้า) ส่วนบทที่ 4 คือการทำระเบิดและกับระเบิด ไปจนถึงการก่อวินาศกรรมขนาดใหญ่ เช่น ระเบิดภูเขา เผากระท่อม และวินาศกรรมรถไฟ เป็นต้น
หนังสือมีความหนา 160 หน้า โพเวลล์ให้ข้อมูลในขั้นตอนการทำยาเสพติดและอาวุธค่อนข้างละเอียด โดยมีทั้งอัตราส่วน ราคา และแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบ รวมไปถึงการเปรียบเทียบข้อดีและเสียของวัตถุดิบแต่ละอย่าง ฯลฯ แม้การอ่านหนังสือเล่มนี้ใน ค.ศ. นี้จะให้ความรู้สึกชวนหัว ประหนึ่งการอ่านวรรณกรรมล้อเลียน (การแนะนำให้เอากาวเรซิ่นไปยิงรูกุญแจตึกหรือคำแนะนำไม่ให้พกอาวุธติดตัวไปขณะออกไปต่อรองซื้อยาเสพติด… นี่มันเหมือนการอ่านการ์ตูนคุโรมาตี้มากเลยนะ) แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศการเมืองของทศวรรษนั้น หรือมองด้วยแว่นของผู้คนที่อึดอัดกับสภาพสังคมจนไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรนอกจากความรุนแรงในทศวรรษนี้ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกมาจึงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างอย่างเผ็ดร้อนและรุนแรง ลามไปถึงการมีจดหมายขู่ฆ่าผู้เขียนด้วยซ้ำ
และก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ว่าแทนที่จะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนใช้ประกาศจุดยืนหรือแนวคิดอันสลักสำคัญของลัทธิอนาธิปไตย มันกลับกลายเป็นคู่มือการประกอบอาชญากรรมแก่พลเรือนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์สังหารหมู่เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ในโคโลราโดเมื่อปี 2003 ที่ผู้สังหารเรียนรู้การประกอบระเบิดจากหนังสือเล่มนี้ และยังมีกรณีการสังหารและการวางระเบิดโดยภาคประชาชนและกลุ่มก่อการร้ายอีกไม่น้อยที่ได้องค์ความรู้การทำอาวุธมาจากหนังสือเล่มนี้
โพเวลล์สนับสนุนให้ประชาชนถือครองอาวุธได้อย่างเสรี เขาอ้างว่าหากกฎหมายต่อต้านการถือครองอาวุธ อาวุธก็จะตกไปอยู่ในมือของศัตรูของประชาชนเพียงฝ่ายเดียว (อาทิ ตำรวจ กองทัพ พวกนอกกฎหมาย และคนบ้า)
ภาพยนตร์สารคดี American Anarchist (กำกับโดย Charlie Siskel ออกฉายเมื่อปี 2016) ได้สัมภาษณ์โพเวลล์ในวัย 65 ถึงหนังสือที่เขาเขียนเมื่อเกือบสี่ทศวรรษก่อน โพเวลล์บอกว่า ณ เวลาที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ เขาไม่คิดว่าจะมีคนเอาข้อมูลที่เขาเขียนไปใช้จริง (ซึ่งเขาเองยังไม่เคยทดลองสูตรการทำระเบิดในหนังสือจริงๆ ด้วยซ้ำ) เขาตระหนักได้ถึงผลลัพธ์ของหนังสือที่เกินควบคุม ก่อนที่เขาจะเขียนบทความเรียกร้องให้ระงับการตีพิมพ์หนังสือลงในเว็บไซต์ Amazon และ The Guardian ในเวลาต่อมา รวมไปถึงการขอร้องให้หน่วยงานรัฐแบนหนังสือของเขา
กระนั้นความน่าสนใจก็ไม่ได้อยู่แค่การนำไปใช้อย่างผิดๆ ของผู้อ่านและความไร้เดียงสาของผู้เขียน แต่ยังรวมไปถึงประเด็นการถือครองลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและสำนักพิมพ์ เพราะด้วยความที่โพเวลล์ในวัยหนุ่มได้ขายลิขสิทธิ์ขาดให้กับสำนักพิมพ์ Lyle Stuart ในราคา 10,000 เหรียญ เขาจึงไม่มีสิทธิ์ในการระงับการพิมพ์หรือจำหน่ายหนังสือของตัวเอง และ Lyle Stuart (ที่ต่อมาขายลิขสิทธิ์ต่อให้ Ozark Press) สามารถขายหนังสือเล่มนี้ได้กว่าสองล้านเล่ม! ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการวางจำหน่ายอยู่ในเว็บ Amazon เป็นหนังสือที่คนอเมริกันสามารถหาซื้อได้ง่ายๆ พอกับการซื้ออาวุธ
“ตอนคุณอายุ 19 คุณก็จะต้องเคยทำสิ่งที่มุทะลุ ผลีผลาม หรือไม่ประนีประนอมกับอะไรทั้งนั้น เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเหลือไว้ แต่ผมกลับมีหนังสือเล่มนี้ และไม่สามารถทำอะไรกับมันได้” โพเวลล์กล่าวในภาพยนตร์สารคดี โดยหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์ในปี 1971 เขาเขียนนิยายอีกหนึ่งเล่มแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก ก่อนจะทำงานเป็นครูสอนเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ในโรงเรียนนานาชาติทั้งในแอฟริกาและเอเชีย โดยมีช่วงหนึ่งที่เขาต้องตกงานเพราะจู่ๆ ก็มีจดหมายสนเท่ห์ไปตามโรงเรียนนานาชาติแห่งต่างๆ ว่าเขาเป็นผู้เขียนหนังสือ The Anarchist Cookbook และพบว่าเมื่อไปสมัครงานโรงเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีใครตอบรับ
โพเวลล์ถูกสิ่งที่เขาเขียนไว้ในวัยหนุ่มหลอกหลอนมาทั้งชีวิต โดยตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา เขาได้แต่ภาวนาทุกครั้ง โดยเฉพาะหากมีเหตุเด็กนักเรียนฆ่ากันตาย ว่าเด็กนักเรียนพวกนั้นหาได้เอาศาสตร์การทำระเบิดมาจากหนังสือของเขา แต่ถึงแม้จะไม่มีข่าวการตาย หากข่าวคราวที่เชื่อมโยงกับหนังสือของเขาก็ปรากฏอยู่อย่างเนืองๆ เช่นในปี 2015 ที่มีเด็กชายวัยสิบห้าปีสองคนที่อังกฤษซื้อวัตถุดิบการทำระเบิดมาจากอินเตอร์เน็ตและพยายามประกอบระเบิดตามสูตรในหนังสือ หรือในปีเดียวกันก็มีการจับกุมหญิงชาวอเมริกันสองคนที่พยายามจะทำระเบิดขึ้นเองในอพาร์ตเมนต์ของพวกเธอในย่านควีนที่นิวยอร์ก
โพเวลล์เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อเดือนมีนาคม 2017 เขามีอายุ 66 ปี ตลอดชีวิตเขาทุ่มเทให้กับการให้การศึกษาแก่เด็กผู้มีปัญหาทางอารมณ์และผู้ด้อยโอกาสในประเทศกำลังพัฒนามาตลอด น่าเศร้าที่โลกทั้งใบก็ยังคงจดจำเขาในฐานะศาสดาของคนบ้าและความรุนแรง เพียงเพราะหนังสือที่เขาเขียนไว้ในวัย 19 ปี
Fact Box:
ผมพบว่านิยายเลอไวอะธัน (Leviathan) ของพอล ออสเตอร์ (มีฉบับแปลไทยโดยนาลันทา คุปต์, สำนักพิมพ์กำมะหยี่) สะท้อนภาพความเกรี้ยวกราดแบบอเมริกันอนาคิสต์ร่วมสมัยได้เห็นชัด และแม้จะไม่มีการอ้างอิงถึงกัน แต่การอ่าน The Anarchist Cookbook ก็ช่วยอธิบายเหตุผลในความเคลื่อนไหวของตัวละครหลักในนิยายของออสเตอร์ได้ดี ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจ สารคดี American Anarchist มีให้ชมใน Netflix ครับ
ถ้าอยากรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอนาคิสต์ แนะนำให้อ่าน ซ้ายขวาหลบไป อนาธิปไตยมาแล้ว ของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ สำนักพิมพ์ Way of Books
Tags: ก่อการร้าย, อนาธิปไตย, Anarchist