ในผลงานภาพยนตร์ชิ้นเอกของเฟเดริโก เฟลลินี La Dolce Vita (1960) มีบทบาทของ ‘ปาปาราซโซ’ (ชื่อตัวละครช่างภาพที่ผู้กำกับฯ สร้างคำขึ้นจาก ‘pappataci’ แปลว่ายุงตัวเล็กๆ และ ‘ragazzo’ แปลว่าเด็กผู้ชาย) ปรากฏขึ้นครั้งแรก แม้เป็นตัวประกอบในเรื่อง แต่ก็แสดงบทบาท ‘แทรกแซง’ และ ‘ก้าวก่าย’ ให้เป็นที่จดจำ นับแต่นั้นมา บทบาทของช่างภาพแนวนี้ไม่เคยสูญหายไปจากสังคมอีกเลย

ปาปาราซซีคอยสอดส่องและบอกเล่าให้เรารับรู้ว่า บรรดาคนมีชื่อเสียงทำอะไรกันบ้าง ปาปาราซซีไล่ล่าคนดังด้วยกล้องถ่ายรูปของพวกเขา บางครั้งตามลำพังคนเดียว แต่ส่วนใหญ่มักทำกันเป็นฝูง เราต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำ ที่ทำให้เรารู้ว่า บริตนีย์ สเปียร์ส ปารีส ฮิลตัน จอร์จ คลูนีย์ หรือซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ทำธุระส่วนตัวอะไรบ้างในแต่ละวัน รวมทั้งตอนกลางคืน

และปาปาราซซีนี่เอง ที่ไล่ล่าตามติดรถเมอร์ซิเดส คันที่เลดี้ ไดอานา และโดดี อัล-ฟาเยดนั่งอยู่ ก่อนรถคันดังกล่าวจะพุ่งชนเสาคอนกรีตในอุโมงค์อัลมา ใจกลางกรุงปารีส ในคืนล่วงเข้าสู่วันที่ 1 กันยายน 1997

ในหลายประเทศ ปาปาราซซีที่มีชื่อเสียงล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเจ็ตเซ็ต พวกเขาเปรียบเสมือนความแร้นแค้นและความน่าชังที่จำเป็น เพราะหากปราศจากพวกเขา บรรดาสื่อทั้งหลายในโลกนี้จะพากันขาดสีสันและความบันเทิง

ทุกวันนี้มีปาปาราซซีที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างเช่น ฟาบริซิโอ โคโรนา หรือ ‘ราชา’ แห่งปาปาราซซีของอิตาลี มีเหยื่อคนดังหลายคนที่เขาใช้เป็นฐานสร้างชื่อเสียง ในจำนวนนั้นได้แก่ ดารานางแบบ-มิเชลล์ ฮุนซิเคอร์ หรือนักฟุตบอล-ฟรานเชสโค ท็อตติ แต่ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานของเขา เช่นการแบล็กเมล์คนดังด้วยภาพลับเฉพาะ ทำให้เขาต้องถูกดำเนินคดีในศาล

ปาปาราซซีทำงานคาบเกี่ยวระหว่างเสรีภาพของสื่อและสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ในรัฐแคลิฟอร์เนียมีกฎหมายซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2006 เพื่อควบคุมการทำงานของปาปาราซซี มันเป็นกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าการรัฐในสมัยนั้น คือ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ถูก ‘ก้าวก่าย’ ในเรื่องส่วนตัวจากปาปาราซซีโดยตรง

เมื่อ 50 กว่าปีก่อนยังไม่มีใครเคยรู้ว่าอะไรคือ ปาปาราซโซ ครั้งนั้น เอนนิโอ ฟลาเอียโน เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita ให้กับเฟเดริโก เฟลลินี ในเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากผู้หญิงคนหนึ่งทำพิธีฝังศพสามีเสร็จแล้ว เธอก็ถูกช่างภาพ ‘ปาปาราซโซ’ คอยตามก้าวก่ายรบกวน ปาปาราซโซที่กลายเป็นคำจำกัดความใหม่นั้นเป็นคำเอกพจน์ แต่เท่าที่เรารู้จักมักคุ้นกว่านั้นคือ ปาปาราซซี ที่เป็นคำพหูพจน์ ชื่อนี้ ฟลาเอียโนเฉลยในสมุดบันทึกของเขาว่า เป็นชื่อตัวละครหนึ่งที่เขาเคยอ่านเจอในหนังสือนิยายของนักเขียนอังกฤษชื่อ จอร์จ กิสซิง ในปี 1901

เอนนิโอ ฟลาเอียโนเขียนบทภาพยนตร์กว่า 60 เรื่อง เคยทำงานร่วมกับผู้กำกับฯ เก่งๆ เช่น โรแบร์โต รอสเซลลินี หรือมิเชลอังเกโล อันโตนิโอนี และเฟลลินี “ผมเป็นนักเขียนแนวเสียดสี เพราะผมใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีแต่ด้านนี้ให้ยืนเท่านั้น” ฟลาเอียโนเคยให้สัมภาษณ์ก่อนเขาเสียชีวิตในปี 1972

‘ภาพถ่าย’ ในสื่อสิ่งพิมพ์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงศตวรรษที่ 20 ในปี 1904 Daily Mirror ของอังกฤษ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลกที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์

New York Times เริ่มตีพิมพ์ภาพถ่ายครั้งแรกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 1922 แต่ภาพถ่ายในขณะนั้นถูกใช้เป็นภาพประกอบ หรือภาพเล่าเรื่องมากกว่าเป็นภาพข่าว

ปี 1936 ในนครนิวยอร์กมีนิตยสารรายสัปดาห์ถือกำเนิดใหม่คือ Life ที่มีคอนเส็ปต์แนวปฏิวัติ ไม่ใช่เนื้อหาหรือบทความ หากเป็นภาพถ่ายที่นำเสนอเป็นหลัก อีกทั้งยังนำเสนอด้วยขนาดที่ใหญ่ จำนวนหลายหน้าอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน Life กลายเป็นต้นแบบของนิตยสารยุคใหม่ ที่ทั่วโลกนำไปลอกเลียน และครองอันดับ 1 ของนิตยสารภาพข่าวอย่างยาวนานถึง 35 ปี

ความสำเร็จของ Life ยังกระตุ้นให้บรรดาช่างภาพเกิดความตื่นตัว กระหายอยากจะมีส่วนร่วมในนิตยสารที่มีชื่อเสียง ใครที่มีผลงานตีพิมพ์ใน Life จะได้ชื่อว่าเป็นช่างภาพมีฝีมือ แต่ละคนต่างแสวงหาภาพที่เป็นที่สุด ไม่มีสถานการณ์ที่เรียกว่าเป็นอันตราย และไม่มีไอเดียไหนที่บ้าบอคอแตกสำหรับพวกเขา

“ถ้าภาพถ่ายของคุณไม่ดีพอ แปลว่าคุณยังเข้าไปไม่ใกล้เหตุการณ์พอ” โรเบิร์ต คาปา ช่างภาพชื่อดังของ Life เคยกล่าว ผลงานภาพที่โด่งดังและน่าประทับใจของเขาคือภาพทหารเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาถ่ายภาพในระยะกระชั้นชิดจริงๆ

เมื่อเกิดนิตยสารภาพดีๆ ช่างภาพมีฝีมือแล้ว ปี 1947 ก็เกิดธุรกิจจัดจำหน่ายภาพถ่ายรายแรกขึ้นมา ชื่อว่า Magnum ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ช่างภาพในราคาที่สูงกว่า เพื่อขายต่อให้กับนิตยสาร

ผลพวงจากนิตยสารภาพยังทำให้เกิดการรายงานเกี่ยวกับความรุนแรง ความทุกข์ และความตาย ภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มาจากประเด็นเหล่านี้ เช่นเดียวกับวลีที่ว่า “ข่าวร้ายคือข่าวดี” การไล่ล่าหาภาพอันเป็นที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่โหดร้าย ทุกคนต้องได้ภาพเร็วที่สุด ดีที่สุด และอ่อนไหวต่อความรู้สึกที่สุด บ่อยครั้งช่างภาพต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการมา

ในจำนวนนั้น ปาปาราซซี ได้ชื่อว่าเป็นช่างภาพข่าวที่มีชื่อเสียมากกว่าดี และส่วนใหญ่ฝีมือดีแต่ไร้รสนิยม มักนำเสนอภาพด้านลับในชีวิตของคนดัง จนเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ข้อได้เปรียบมีตรงที่ภาพถ่ายของพวกเขาเหล่านี้มีค่าตอบแทนสูง

เพราะไม่มีอะไรขายดีเท่าเรื่องราวชีวิตของคนสวยและคนรวย

อ่านบทความตอนแรก เรื่อง ปาปาราซซี และ ‘เหยื่อ’ ในความใคร่รู้ใคร่เห็นของสังคม

Tags: , , , , ,