“รัฐบาลมุ่งปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทยและการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง และส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่ได้สรรค์สร้างเอกลักษณ์ของชาติไว้ให้ลูกหลานในวันนี้ โดยให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมแบบอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย เพื่อคงคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้ยั่งยืน”
เนื่องในประเพณีสงกรานต์และเทศกาลงานบุญปีใหม่ไทย ประจำปี 2560
กว่า 8 ปีที่ ‘เรียงความประเทศไทย’ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ‘มิวเซียมสยาม’ ก็ทำการปิดนิทรรศการถาวรชุดดังกล่าวเพื่อเตรียมนำเสนอนิทรรศการถาวรชุดใหม่ ซึ่งจะมีเนื้อหาแหวกแนวและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยใช้เวลาถึงหนึ่งปีครึ่งสำหรับการจัดเตรียมเนื้อหาและการก่อสร้าง
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา The Momentum มีโอกาสได้เข้าชมบางส่วนของ ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรชุดใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้ไม่ต่างจาก ‘เรียงความประเทศไทย’ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านสื่อสมัยใหม่ที่จะลบภาพจำของพิพิธภัณฑ์ที่มีเพียงป้ายห้ามจับ วัตถุจัดแสดง และการรับชมผ่านการดูและการอ่าน ขณะเดียวกันก็ชี้ชวนให้ผู้ชมขบคิด ผูกโยงเรื่องราว และตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นไทย’ ที่แฝงฝังอยู่ในความคิด/ความเชื่อ ประเพณี/วัฒนธรรม และวัตถุ/สิ่งของที่อยู่รายรอบตัวเรา
รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ทำหน้าที่นำชมในวันนั้น ให้ข้อมูลว่าเนื้อหาของ ‘ถอดรหัสไทย’ มีความต่อเนื่องจาก ‘เรียงความประเทศไทย’ โดยนิทรรศการชุดนี้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือการตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เราเรียกว่าความเป็นไทย ความเป็นไทยเกิดขึ้นเมื่อใด ความเป็นไทยคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และตัวเราทุกวันนี้มีความเป็นไทยแค่ไหน
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คืออยากให้ผู้ชมนิทรรศการได้คิด ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าการไหว้คือความเป็นไทยหรือเปล่า วัด วัง โขน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยหรือเปล่า อะไรคือความเป็นไทย แม้กระทั่งอาหารการกินและทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในวิถีชีวิตของเราในทุกวันนี้ และเราให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย นิทรรศการนี้พยายามจะอธิบาย และพยายามตั้งคำถามกลับไปสู่ผู้ชม”
นิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 14 ห้อง โดยแต่ละห้องจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่ไม่น่าจะมีพิพิธภัณฑ์แห่งใดในประเทศไทยเคยทำมาก่อน
ในวันนั้น เรามีโอกาสได้เข้าชม 6 ห้อง ซึ่งก็สร้างความแปลกหูแปลกตาและชักชวนให้เราคิดตามได้ไม่น้อย
• ‘ไทยรึเปล่า!’ ที่รวมของคำถามและข้อถกเถียงเรื่องความเป็นไทย จุดเริ่มต้นของการสำรวจนิทรรศการ
• ‘ไทยแปลไทย’ เปิดลิ้นชักค้นหาความเป็นไทยผ่านสิ่งต่างๆ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย
• ‘ไทยตั้งแต่เกิด’ นำเสนอพัฒนาการความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัยผ่านระบบแสง-สี-เสียงอันทันสมัย
• ‘ไทยดีโคตร’ ถอดรหัสที่มาที่ไปของพระปรางค์วัดอรุณฯ ศิลปะไทยที่ไม่ได้มีที่มาจากดินแดนไทย
• ‘ไทยชิม’ ห้องครัวมีชีวิตที่บอกเล่าที่มาที่ไปของ ‘อาหารไทย’ ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ
• ‘ไทยวิทยา’ ห้องเรียน 4 ยุค เบื้องหลังการสร้าง ‘ความเป็นไทย’ ผ่านระบบการศึกษา
สำหรับที่เหลืออีก 8 ห้อง ประกอบด้วย ไทยสถาบัน ไทยอลังการ ไทยแค่ไหน ไทย Inter ไทย Only ไทยเชื่อ ไทยประเพณี และไทยแชะ
นอกจากการนำเสนอที่ชวนติดตามและการใช้เทคโนโลยีที่ลบล้างภาพจำของพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย เนื้อหาของนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ คือสิ่งสำคัญที่เราอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัส เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งแรกๆ ของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พิพิธภัณฑ์ชี้ชวนให้ผู้ชมคิดตามและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว หลังจากเราถูกบอก/สั่งให้เชื่อและปฏิบัติตามมายาวนานหลายสิบปี ดังที่อาจารย์ศานติบอกกับเราว่า
“นิทรรศการชุดนี้ต้องดูไปด้วยและคิดตามไปด้วย ไม่ใช่นิทรรศการที่ต้องการแค่ให้เราอ่านหรือเรียนรู้เรื่องราวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนิทรรศการที่อยากให้เรียนรู้เรื่องราว เข้าใจเรื่องราว พร้อมกับตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วย และเมื่อดูนิทรรศการจบก็อยากให้ทุกคนคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวซึ่งถูกให้คำจำกัดความว่าคือความเป็นไทย ท้ายที่สุดมันมีความเป็นไทยแค่ไหน”
ในยุคสมัยที่ ‘ความเป็นไทย’ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการค้าขาย การท่องเที่ยว และการเมือง กระทั่งถูกนำมาใช้เป็นอาวุธโจมตีผู้ที่เห็นต่าง สิ่งที่นิทรรศการชุดนี้พยายามทำจึงต้องไปไกลกว่าคำถามที่ว่า ‘มีความเป็นไทยแค่ไหน’ “เพราะมีความเป็นไทยแค่ไหนนั้นยังไม่พอ สิ่งที่เราอยากให้คนที่มาดูนิทรรศการนี้ได้เห็นก็คือท้ายที่สุดเราควรจะตอบได้ว่ามีกระบวนการอะไรที่ทำให้สิ่งของหรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเดิมอาจจะไม่ใช่ของไทย แต่ท้ายที่สุดมันกลายมาเป็นของไทย นี่เป็นนิทรรศการที่อยากให้ผู้ชมตระหนักว่าในอนาคต สิ่งต่างๆ มันจะไม่หยุดอยู่แค่ตรงนี้”
ถึงแม้ในหนังสือ หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) จะมีคำว่า ‘เทือกเขาอัลไต’ ปรากฏอยู่เพียงแห่งเดียว และเมื่อปี 2523 ขุนวิจิตรฯ ในวัย 83 ปี ก็เคยกล่าวกับคณะทำงานนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ไว้ว่า “ผมเขียนตามของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเม้คขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอก ว่าจริงหรือไม่จริง” แต่ ณ ปี 2558 นายกรัฐมนตรีไทยก็ยังคงเชื่อว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต และสารจากท่าน ณ ปีปัจจุบันก็ยังคงอบอวลไปด้วย ‘ความเป็นไทย’ (ในแบบของท่าน) ตามที่ยกมาข้างต้น
‘ถอดรหัสไทย’ จึงเป็นนิทรรศการที่คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำไทย ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
“เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดของประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนเรื่องเชื้อชาติไทย/ชนชาติไทย ในโลกนี้เขาไม่มีหรอก ประวัติศาสตร์เชื้อชาติ/ชนชาติ ในโลกนี้ไม่มี สมัยก่อนอาจจะมี ยุคสงครามเย็นที่ประเทศค่ายคอมมิวนิสต์เขาเรียนเรื่องแบบนี้กัน แต่หลังจากนั้นเขาไม่เรียนกันแล้ว ทีนี้ประวัติศาสตร์ไทยมันถูกเขียนโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส คนไทย โดยนักวิชาการไทย ก็ไปก๊อปปี้วิธีคิดของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส แล้วก็แต่งตำราประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่คุณเรียนกันอยู่ทุกวันนี้”
Tags: เทือกเขาอัลไต, อาหารไทย, มิวเซียมสยาม, ถอดรหัสไทย, ความเป็นไทย, ศานติ ภักดีคำ, ขุนวิจิตรมาตรา