หลังจากที่ได้เกริ่นไปในบทความก่อนหน้าแล้วว่าคุณสมบัติที่ดี 3 ประการของบล็อกเชน ที่เรียกว่า Blockchain Trilemma นั้น ได้แก่

1. การขยายขนาดธุรกรรม (Scalability)

2. ความปลอดภัย (Security)

3. การกระจายศูนย์ (Decentralization)

แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะคงคุณสมบัติทั้ง สามไว้ได้ มากที่สุดทำได้เพียงแค่ 2 ด้านเท่านั้น

เนื่องจากปัจจุบัน มีการใช้บล็อกเชนเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางด้านการเงินเสียส่วนใหญ่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องคงคุณสมบัติทางด้านความปลอดภัยไว้เป็นพื้นฐาน และจำเป็นต้องเลือกว่าจะคงการกระจายศูนย์ไว้โดยที่มีความล่าช้าในการทำธุรกรรม หรือจะเลือกความรวดเร็วสะดวกสบาย แต่ต้องทิ้งการกระจายศูนย์ซึ่งเป็นแก่นหลักของเทคโนโลยีคริปโทเคอร์เรนซีทิ้งไป

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ อีเธอเรียม (Ethereum) ที่ปัจจุบันมีปัญหาในการขยายขนาดการทำธุรกรรม จึงทำให้การทำกิจกรรมใดๆ บนอีเธอเรียมบล็อกเชนนั้นมีค่าแก๊ส (Gas) หรือค่าบริการที่ค่อนข้างสูง และความล่าช้าในการประมวลผล จนทำให้มีบล็อกเชนรุ่นหลังๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อต้องการล้ม ‘พี่ใหญ่’ ไม่ว่าจะเป็น Solana, Polygon และ Avalanche ที่คนในคอมมูนิตี้เรียกขานว่า ‘Ethereum Killer’

เพื่อคงความเป็นอันดับ 1 ของการเป็นบล็อกเชนสาย Smart Contract ไว้ อีเธอเรียมจำเป็นที่จะต้องได้รับการอัพเกรดในด้านขนาดของการทำธุรกรรม นึ่จึงเป็นที่มาของไอเดียอีเธอเรียม 2.0 (Ethereum 2.0) ที่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ในการพัฒนา แต่จะให้รอนานขนาดนั้น เหล่า Ethereum Killer ทั้งหลายคงจะแซงหน้าไปได้แน่นอน ในระหว่างที่กำลังพัฒนาอีเธอเรียม 2.0 ทางอีเธอเรียมจึงได้ออกหมัดไม้ตายอย่าง ‘Ethereum Layer 2’ ทางแก้ที่ช่วยทำให้ค่าธุรกรรมถูกลงและประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น

ปัญหาทางด้านการขยายขนาดธุรกรรมนั้นสามารถแก้ไขได้โดยสองวิธี วิธีแรกคือการเปลี่ยนระบบพื้นฐานของตัวบล็อกเชน ที่อีเธอเรียม 2.0 จะเปลี่ยนจากการใช้ระบบฉันทามติ (Consensus) จาก Proof of Work ไปใช้ Proof of Stake ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการทำธุรกรรมในระยะยาว และวิธีที่สองคือการขยายฐานข้อมูลของบล็อกเชนขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรม ซึ่งคือ Layer 2 นั่นเอง

การสร้าง Layer 2 ของอีเธอเรียมนั้น นอกจากจะช่วยลดปัญหาในการทำธุรกรรมแล้ว ยังคงคุณลักษณะความกระจายศูนย์ และความปลอดภัยไว้ได้ดังเดิม

ปัจจุบัน การทำงานของ Layer 2 แบ่งบ่อยได้อีก 2 ประเภทคือการทำงาน แบบ On-Chain และ Off-Chain โดยการทำงานในรูปแบบ On-Chain คือการสร้างบล็อกเชนขึ้นมาและบันทึกข้อมูลกลับลงไปยังอีธีเรียมโดยตรง ในขณะที่ Off-Chain นั้น จะเป็นบล็อกเชนอีกหนึ่งตัวที่ทำงานควบคู่ไปกับอีเธอเรียม แต่ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลลงอีเธอเรียมโดยตรง

เราจึงเห็น Layer หลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น Plasma, Arbitrum, Validium, Optimistic แม้ว่าในเชิงเทคนิคของการทำงานจะมีความแตกต่างกันไป แต่ว่าจุดมุ่งหมายยังคงมุ่งเป้าไปที่การขยายขนาดธุรกรรม เพื่อลดค่าแก๊ส และความล่าช้าในการประมวลผล และไม่ต้องกังวลไปว่าเมื่ออีเธอเรียม 2.0 มาถึง จะทำให้เหล่า Layer 2 เหล่านี้ต้องปิดตัวลงตามไปด้วย เพราะหาก Layer ตัวใดที่ผู้คนนิยมใช้งานกันเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีระบบของอีเธอเรียม 2.0 รองรับบล็อกเชนดังกล่าวไว้ด้วย

ที่มา:

– https://www.qredo.com/blog/solving-the-scalability-trilemma

– https://quantstamp.com/…/meet-the-l2s-in-the-race-to…

– https://www.gemini.com/…/blockchain-trilemma…

– https://www.researchgate.net/…/The-Scalability-Trilemma…

– https://dappradar.com/blog/defi-scalability-trilemma-horizen

– https://academy.bitcoinaddict.org/what-is-ethereum-layer-2/

Tags: , , , ,