วิธีหนึ่งที่มนุษย์เราใช้ในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ก็คือการเปรียบเทียบกับของเก่าที่เรารู้จัก เช่น ชาวกรีกโบราณในยุโรปไม่เคยเห็นยีราฟมาก่อน ก็เลยเทียบเคียงเอาว่ามีคอยาวเหมือนอูฐและมีลายเหมือนเสือดาว ก็เลยเอาชื่อสัตว์ทั้งสองอย่างมาผสมกันและเรียกว่า ‘kamelopardalis’ หรือในภาษาไทยเองก็เรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอ้วนใหญ่ที่มีขาหน้าคล้ายใบพายและมักพบตามเขตหนาวว่า ‘แมวน้ำ’ เพราะมีหนวดคล้ายแมวแต่ล่าสัตว์น้ำกินเป็นอาหารเป็นต้น

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปท่องโลกของสัตว์และชำแหละชื่อสัตว์ในภาษาอังกฤษที่มาจากชื่อสัตว์อื่นกัน

Hippopotamus

แม้ว่าฮิปโปโปเตมัส หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่าฮิปโป จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูปร่างอุ้ยอ้าย ดูแล้วไม่ได้มีส่วนไหนละม้ายคล้ายสัตว์ที่ปราดเปรียวสง่างามอย่างม้า แต่คำว่า hippopotamus นี้กลับมาจากคำว่า hippos ในภาษากรีกที่หมายถึง ม้า และ potamos ที่หมายถึง แม่น้ำ จึงมีความหมายว่า ‘ม้าแห่งแม่น้ำ’ นั่นเอง

คำว่า hippos นี้ก็มีญาติอยู่ในภาษาอังกฤษอยู่หลายคำ เช่น hippodrome (สนามม้า) hippocampus (ฮิปโปแคมปัส ส่วนนี้ในสมองมีลักษณะคล้ายสัตว์ประหลาดครึ่งม้าครึ่งปลาตามความเชื่อของคนโบราณ) hippogriff (สัตว์ประหลาดครึ่งม้าครึ่งกริฟฟิน แบบที่เห็นในเรื่อง Harry Potter) หรือแม้แต่ในชื่อ Philip (มาจากคำว่า philos ในภาษากรีกที่แปลว่า รัก รวมกับ hippos ได้ความหมายรวมว่า ผู้รักม้า) ด้วยเหตุนี้ ชื่อประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งตามชื่อพระเจ้าเฟลิเปที่สองแห่งสเปน (Felipe II ส่วนในภาษาอังกฤษเรียก Philip II) จึงมีม้าซ่อนตัวอยู่ด้วย

ส่วนคำว่า potamos ก็ยังหลงเหลือให้เห็นในชื่อดินแดนเมโสโปเตเมีย หรือ Mesopotamia อันหมายถึง ดินแดนระหว่างแม่น้ำสองสาย ซึ่งก็คือแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส (Euphrates)

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นอกจากคำว่า hippopotamus แล้ว ยังปรากฏหลักฐานว่าในอดีตเคยมีการใช้คำอื่นด้วย เช่น river horse และ water horse (แปลตรงตัวได้ว่าม้าน้ำ ซึ่งชื่อนี้บ้านเราใช้เรียกสัตว์ชนิดอื่นๆ)

Lobster

แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่น่าจะเชื่อมโยงล็อบสเตอร์ ซึ่งแลดูเป็นอาหารหรูหรา กับแมลงอย่างตั๊กแตนหรือแมงอย่างแมงมุม แต่แท้จริงแล้วล็อบสเตอร์มีความเกี่ยวพันกับสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ทั้งในเชิงชีววิทยา (อยู่ในไฟลัม Arthropoda เหมือนกัน) และในด้านชื่อ

คำว่า lobster ในภาษาอังกฤษสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า locusta ในภาษาละติน แรกเริ่มเดิมทีก็ใช้เรียกสัตว์ทะเลจำพวกล็อบสเตอร์นี่แหละ แต่ในเวลาต่อมาถูกนำไปใช้เรียกตั๊กแตนแบบที่มากัดกินพืชผลกันเป็นฝูงด้วย (ในภาษาอังกฤษเรียก locust) ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีขายั้วเยี้ยคล้ายๆ กัน

ในเวลาต่อมา คำนี้ก็ถูกยืมเข้ามาในภาษาอังกฤษเก่า แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือหากดูตัวสะกดคำนี้ในยุคนั้นแล้ว (lopustre , lopystre , loppestre) จะเห็นว่าตัว c กลับหายไปและดันมีตัว p โผล่เข้ามาแทน นักวิชาการหลายคนจึงสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดมาจากอิทธิพลของคำว่า loppe ในภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งหมายถึง แมงมุม เพราะล็อบสเตอร์ดูไปดูมาก็มีขายั้วเยี้ยคล้ายแมงมุมด้วยอยู่เหมือนกัน

Porpoise

นอกจากคำว่า dolphin แล้ว อีกคำที่ใช้เรียกโลมาก็คือ porpoise (ในทางวิทยาศาสตร์มีความต่างกัน คือ porpoise โดยมากจะหัวทู่และตัวป้อมกว่า dolphin)

คำว่า porpoise (อ่านว่า พอร์เพิส) เป็นคำที่ภาษาอังกฤษยืมผ่านภาษาฝรั่งเศสยุคกลางมาและสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า porcopiscis ในภาษาละติน ซึ่งประกอบขึ้นจาก porcus แปลว่า หมู (เป็นที่มาของคำว่า pork ที่แปลว่า เนื้อหมู) และคำว่า piscis ที่แปลว่า ปลา (แบบในคำว่า pisces ราศีมีน) รวมแล้วความหมายว่า ปลาหมู ว่ากันว่าที่เรียกแบบนี้ก็เพราะมีปากทู่ๆ คล้ายๆ จมูกหมูนั่นเอง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีคำว่า porpoise ในภาษาอังกฤษเคยใช้คำว่า mereswine ด้วย มาจาก mere ซึ่งในภาษาอังกฤษเก่าหมายถึง ทะเล รวมกับ swine ที่แปลว่า หมู รวมความหมายได้ว่า หมูน้ำ นั่นเอง

Urchin

คำว่า urchin หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า sea urchin เป็นคำที่เราใช้เรียกหอยเม่น หรือ เม่นทะเล (หลายคนอาจคุ้นเคยกับสัตว์ชนิดนี้ในรูปอูนิมากกว่า) คำนี้สาวต้นตอกลับไปได้ถึงคำว่า ericius ในภาษาละติน หมายถึง เม่น ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า ericius นี้ใช้ไปใช้มาก็เริ่มมีการเติม h ไปด้านหน้า เกิดเป็นคำว่า *hericionem ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในภาษาอังกฤษในหลากหลายรูปแบบ เกิดเป็นคำว่า hurcheon, irchin, และ urchin ซึ่งล้วนแล้วใช้เรียก เม่น ทั้งนั้น แต่ปัจจุบันนี้สองคำแรกแทบไม่มีใช้แล้ว เหลือเฉพาะคำหลังที่ยังใช้กว้างขวาง

ในเวลาต่อมา ก็เริ่มมีการสร้างคำว่า sea urchin ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกหอยเม่น ซึ่งมีหนามรอบตัวคล้ายเม่นแต่อยู่ในทะเล จนท้ายที่สุดคำว่า urchin ก็ถูกเชื่อมโยงกับหอยเม่นหนักจนปัจจุบันไม่ใช้คำนี้เรียกเม่นแล้ว คือถ้าพูดว่า urchin และหมายถึงสัตว์ ก็จะเข้าใจกันว่ากำลังพูดถึงหอยเม่น

ส่วนเม่นที่เป็นสัตว์บก จะใช้คำไหนเรียกก็ขึ้นอยู่กับประเภท หากเป็นเม่นตัวเล็กๆ ที่มีขนสั้นๆ ก็จะเรียก hedgehog มาจาก hedge ที่แปลว่า พุ่มไม้ กับ hog ที่แปลว่า หมู ส่วนถ้าเป็นเม่นที่ตัวใหญ่หน่อย มีขนเป็นหนามแหลมยาวๆ ไว้ป้องกันตัวก็จะเรียกว่า porcupine ซึ่งมาจาก porcus ในภาษาละตินที่แปลว่า หมู รวมกับ spina ที่หมายถึง หนาม นั่นเอง (เป็นที่มาของคำว่า spine ในภาษาอังกฤษที่นอกจากจะแปลว่ากระดูกสันหลังแล้ว ยังใช้เรียกหนามของเม่นด้วย) 

Canary

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกนกคีรีบูน มาจากชื่อหมู่เกาะแคนารี (The Canary Islands) ของประเทศสเปนเพราะเป็นนกชนิดนี้เป็นสัตว์พื้นถิ่นของเกาะนี้

ส่วนสัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ในชื่อ canary ก็คือ หมา นั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ากันว่าหมู่เกาะนี้เคยมีหมาอยู่เยอะมาก เลยได้ชื่อว่า Canariae Insulae หมายถึง เกาะหมา มาจากคำว่า canis ในภาษาละติน หมายถึง หมา (แบบที่เจอในคำว่า canine ที่หมายถึง หมา หรือ ฟันเคี้ยว ในภาษาอังกฤษ) รวมกับ insula ที่หมายถึง เกาะ (คำนี้เกี่ยวข้องกับการกักตัวและโรคเบาหวานด้วย)

ทั้งนี้ คำว่า canary พบได้ในสำนวน canary in the coal mine หมายถึง สัญญาณบอกเหตุ ด้วย

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://oceanservice.noaa.gov/facts/dolphin_porpoise.html

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barber, Katherine. Six Words You Never Knew Had Something to Do with Pigs: And Other Fascinating Facts about the English Language. Penguin Books: New York, 2006.

Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , ,