1.

“สังคมนี้ขยันอย่างเดียวไม่พอหรอกพี่ ต้องมีต้นทุนชีวิตดี มีเส้นสาย มีคนรู้จัก ถึงจะรวยได้” 

‘มายด์’ พูดขึ้น ขณะที่เธอนั่งพักดื่มน้ำหน้าร้านขายของชำของแม่เธอที่ตั้งอยู่กลางชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มายด์อายุ 27 ปี เรียนจบปริญญาตรีสาขาการตลาดจากมหาวิทยาลัยระดับล่าง เคยตั้งใจหางานในบริษัทเอกชนมาหลายครั้ง แต่ล้มเหลว เพราะบริษัทเห็นว่าเธอไม่มีคุณสมบัติพอ 

เพื่อนบ้านของมายด์ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเรียนสูง มายด์ได้ยินเรื่องความยากลำบากในการหางานของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน บางคนหางานไม่ได้ ต้องมาขับวินมอเตอร์ไซค์ บางคนหางานได้ แต่นายจ้างให้เงินเดือนน้อย หรือไม่ขึ้นเงินเดือนให้ก็มี หลายคนต้องวิ่งเต้นหาคนรู้จักเพื่อพาเข้าทำงาน 

“เป็นคนจนต้องดิ้นรนเยอะกว่าคนอื่น ต้นทุนเรามีน้อย คนไม่เก่งแบบเราไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของบริษัท” 

หลังจากผิดหวังกับการหางานมาหลายครั้ง มายด์จึงตัดสินใจรับช่วงร้านขายของชำต่อจากแม่ กิจวัตรของเธอเป็นเหมือนเดิมทุกวัน คือตื่นเช้ามาเปิดร้าน ช่วยแม่ขายของจนถึงสี่ทุ่ม มีเวลาว่างก็จะออกมานั่งพักเล่นโทรศัพท์มือถือที่โต๊ะไม้หน้าร้าน แม้มีลูกค้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้แน่นขนัด จำนวนลูกค้าลดลงตามจำนวนปีที่ผ่านพ้นไป แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ร้านของชำแห่งนี้คือ ‘แหล่งขุดทอง’ ของ ‘ป้าหน่อย’ แม่ของมายด์ 

2.

ป้าหน่อยเกิดที่จังหวัดสกลนคร ครอบครัวยากจน ต้องออกจากโรงเรียนตอนชั้นประถมสี่ เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่ง พออายุได้ 22 ปี ก็พบกับสามีซึ่งเป็นช่าง ทั้งสองพากันย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านของสามี 

ป้าหน่อยมีสมบัติติดตัวมาอย่างเดียว คือเงินเก็บ 300 บาท เธอเอาเงินนั้นไปซื้อลูกอมและอ้อยในตลาดมาวางขายหน้าบ้าน ค่อยๆ สะสมเงินจากการขายของกินของใช้กระจุกกระจิก จนสามารถนำไปลงทุนซื้อตู้เย็น ชั้นวางของ เพิ่มประเภทสินค้า ขยายพื้นที่ร้านของชำที่ชั้นล่างของบ้านสามี อาศัยว่ามีกรรมกรจากต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะแรงงานระดับล่างเป็นที่ต้องการสูง พวกเขาคือลูกค้าเจ้าประจำของเธอ

ทศวรรษที่ 2530 คือยุคเฟื่องฟูของป้าหน่อย ตรงกับช่วงที่รัฐบาลไทยส่งเสริมนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามามหาศาล โรงงานผุดขึ้นจำนวนมาก งานก่อสร้างอาคาร ถนน และสาธารณูปโภคในเขตเมืองขยายตัว ไทยได้รับการกล่าวขานในช่วงนั้นว่าจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’

ป้าหน่อยขายของได้เฉลี่ยเดือนละ 40,000 บาท บางเดือนมีรายได้สูงถึง 70,000 บาท มีกำลังจ้างลูกจ้างถึง 7 คน พร้อมขยายกิจการทำร้านข้าวแกงราคาถูก เพื่อจับกลุ่มลูกจ้างในโรงงาน จากคนที่จนแทบไม่มีกิน ขอแค่ขยันสร้างตัว เธอสามารถซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดในกรุงเทพฯ ได้ด้วยเงินสด ทั้งยังส่งลูกสองคนเรียนจบปริญญาตรีได้สบายๆ 

วันนี้ ร้านขายของชำแห่งเดียวกันอยู่ในสภาพทรุดโทรม ผนังปูนแตกร้าว แผ่นกระเบื้องบนพื้นหมองลงตามอายุการใช้งาน ลูกค้าหดหาย เพราะโรงงานรอบชุมชนต่างปิดตัวลงหรือย้ายไปอยู่เขตปริมณฑล ป้าหน่อยพอมีเงินเก็บดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่มายด์มีเพียงร้านขายของชำของแม่ที่อยู่ในช่วงขาลง ไม่มีงานอื่น ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวหรือแม้แต่เงินเก็บสักก้อน 

“เมื่อก่อนมีความหวังว่าลูกเราน่าจะมีฐานะที่ดีกว่า เราสร้างตัวมาได้ขนาดนี้ ส่งเขาเรียน เพราะเราไม่อยากให้เขาลำบากแบบตอนเราเด็กๆ” ป้าหน่อยวัย 61 ปี เล่าด้วยสีหน้ากังวล 

“ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่าลูกจะรอดไหม ตอนเราสาวๆ เงินหาง่ายกว่านี้เยอะ ถ้าขยัน ยังไงก็หางานหาเงินได้ เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจไม่ดี เงินเดือนก็โตช้า ของก็แพง มีร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ เราสู้เขาไม่ไหว ลูกเราจะทำมาหากินในยุคนี้ก็ยากกว่าเมื่อก่อน”   

3.

เรื่องราวของคนจนที่เข้ามาเสาะแสวงหาโอกาสในกรุงเทพฯ ขอเพียงขยันทำงานและประหยัดอดออม ก็สามารถพลิกชีวิตได้ภายในช่วงหนึ่งอายุคน ได้กลายเป็นเพียงความทรงจำหอมหวานสำหรับคนจากยุคป้าหน่อย 

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องราวที่รุ่นลูกอย่างมายด์ประสบพบเจอ การสร้างฐานะในรุ่นของเธอดูจะเป็นไปได้ยากกว่ารุ่นพ่อแม่ ทั้งที่ยุคนี้มีทั้งเทคโนโลยีสื่อสารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ นานา ทั้งยังสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงกว่ารุ่นพ่อแม่   

อันที่จริง นี่อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ของมายด์คนเดียว หากมองสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนวัยทำงานจำนวนมาก แม้แต่ในกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแสดงความรู้สึกโกรธเกรี้ยวปนผิดหวังที่เห็นชีวิตตัวเองย่ำอยู่กับที่ โอกาสขยับฐานะที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ 

ผู้เขียนได้ศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะการขยับสถานะ หรือที่เรียกว่า ‘การเลื่อนชั้นทางสังคม’ ของตัวแทนรุ่นลูกและรุ่นพ่อแม่จาก 30 ครอบครัว ที่มีภูมิหลังยากจนแบบป้าหน่อย พบว่าแม้รุ่นลูก 28 คน จะมีระดับการศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ เพราะนโยบายกระจายการศึกษาของรัฐบาล และเกือบสองในสามมีลักษณะอาชีพที่มั่นคงกว่า เช่น มีงานประจำหรือทำงานในระบบ แต่มีเพียงตัวแทนรุ่นลูก 8 คนเท่านั้น หรือน้อยกว่าหนึ่งในสาม ที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่าพ่อแม่ โดยเปรียบเทียบฐานรายได้ในช่วงที่รุ่นลูกและพ่อแม่อายุใกล้เคียงกัน มีการปรับค่าฐานรายได้ตามราคาสินค้าและภาวะเงินเฟ้อในแต่ละปีแล้ว นั่นสะท้อนว่ารุ่นลูกส่วนใหญ่ที่อยู่ในการสำรวจ มีรายได้น้อยกว่ารุ่นพ่อแม่ที่เป็นแรงงานอพยพและทำงานนอกระบบเสียอีก 

ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก อย่างแรกคือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส แม้รุ่นลูกมีการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่จริง แต่ส่วนใหญ่มักเข้าศึกษาในสถาบันที่มีคุณภาพการเรียนการสอนอยู่ในอันดับกลางถึงรั้งท้าย เพราะรุ่นพ่อแม่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ไม่มีกำลังจ่ายให้กับสินค้าหรือกิจกรรมที่พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ตั้งแต่สารอาหารในวัยเด็ก หนังสือดีๆ ไปจนถึงค่ายพัฒนาความรู้ ที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของลูกเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

ความเหลื่อมล้ำนี้ยังปรากฏให้เห็นเมื่อรุ่นลูกอยู่ในตลาดแรงงานแล้ว โดยเฉพาะการขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ นานา ทั้งจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแรงพอ หรือไม่มีเงินจ่ายคอร์สเรียนออนไลน์ 

ปัจจัยที่สองสัมพันธ์กับบริบทด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป รุ่นพ่อแม่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษที่ 2510-2530 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่จีดีพีเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตและขยายตัวสูงสุด แรงงานไร้ทักษะเป็นที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างที่รุ่นพ่อแม่หลายคนเล่าว่า ถึงขั้นที่นายจ้างต้องแย่งลูกจ้างกัน

ส่วนรุ่นลูกเข้าสู่ตลาดแรงงานภายหลังปี 2540 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในขาลง จีดีพีเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงยึดติดกับภาคการผลิตหรือเทคโนโลยีเก่า ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เท่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ นอกจากนี้ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยก็อยู่ในสภาวะชะงักงัน ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสที่กล่าวมาข้างต้น 

ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริง (คืออำนาจการซื้อ ซึ่งคำนวณจากการเปรียบเทียบค่าจ้างกับระดับค่าครองชีพในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง) มีแนวโน้มลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการแข่งขันในตลาดแรงงานค่อนข้างสูง ทั้งยังมีแรงงานต่างชาติเข้ามาแทนที่แรงงานระดับล่างในไทย รุ่นลูกที่มาจากครอบครัวยากจนจึงขาดความมั่นคงในตลาดแรงงาน จะกดค่าแรงตนเองเพื่อแข่งกับแรงงานต่างชาติก็ไม่ได้ จะแข่งกับแรงงานระดับบนก็ไม่มีความสามารถเทียบเท่า 

“เดี๋ยวนี้งานยิ่งหายาก เขาให้เท่าไร เราก็เอาไว้ก่อน ดีกว่าไม่มีงาน” ‘อุ้ย’ ลูกจ้างในคลังสินค้าในวัย 35 ปี บอกต่อว่า “ถ้าเขาไม่เอาเรา เขาก็หาคนอื่นได้อยู่ดี นายให้ทำงานแบบไหน เราก็ต้องทำไว้ก่อน อย่างหนูก็ต้องทำโอทีจนถึงสองทุ่มทุกวัน หนูได้เงินเดือน 12,000 บาท ถ้าไม่ทำโอทีก็ไม่พอใช้ ไม่พอซื้อข้าวซื้อนมให้ลูกกิน” 

อุ้ยเรียนจบชั้นมัธยม 3 เพราะแม่ไม่มีเงินส่ง หากดูจากจำนวนชั่วโมงทำงานของอุ้ยที่ลากยาวถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจพูดได้ว่าอุ้ยเป็นคนขยันคนหนึ่ง แต่แทบไม่มีอำนาจต่อรองในตลาดแรงงานเลย เพียงเพราะเกิดในครอบครัวยากจน ท่ามกลางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส และเกิดในยุคที่เศรษฐกิจไทยถดถอย สองทุกข์ภัยสำหรับแรงงานวัยหนุ่มสาว และประเทศไทยที่ยังคงติดหล่มกับดักรายได้ปานกลาง  

4.

งานวิจัยด้านการเลื่อนชั้นทางสังคมในต่างประเทศส่วนหนึ่งชี้ว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ภูมิหลังของรุ่นพ่อแม่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดอนาคตของรุ่นลูก โดยมีอิทธิพลมากกว่าความสามารถและความขยันส่วนบุคคล ภูมิหลังนี้อาจหมายถึงกำลังทรัพย์ที่ใช้ลงทุนกับการพัฒนาสมองและการศึกษาของลูก ไปจนถึงการแนะนำเครือข่ายเส้นสายเดิมที่พ่อแม่มีให้กับลูก เพื่อต่อยอดทางอาชีพและธุรกิจ 

ภาพอธิบายนี้ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เราเห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจ ข้าราชการ และนักธุกิจ ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งแบบก้าวกระโดด ในขณะที่มีคนจำนวนมากที่ชีวิตมีทางเลือกไม่มากนัก แม้ว่าจะพยายามเกินร้อยแล้วก็ตามที

หลายคนอาจทักท้วงว่านี่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า เพราะความเป็นอยู่ของรุ่นลูกในวันนี้ก็ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ในวันวานมากไม่ใช่หรือ ผู้เขียนอยากยกคำพูดของ ‘หวาน’ เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในวัย 40 ปี ที่เกิดมาในครอบครัวของกรรมกร 

“ถึงเราไต่เต้าจนเรียนจบ ทำงานจนมีบ้าน มีห้องแอร์ มีรถให้ขับ มีเงินซื้อของได้ก็จริง แต่ไม่มีอำนาจกำหนดชีวิตตัวเองเลย ยังต้องจัดการภาระที่แบกไว้ ยังต้องดูแลพ่อแม่ตอนแก่ ยังต้องดูแลพี่น้องคนอื่นในบ้านที่ติดหนี้สิน พี่ว่าพี่ไม่มีทางรวย หากเงื่อนไขครอบครัวเป็นแบบนี้ เส้นสายก็ไม่มีให้ใช้ ต้องพึ่งตัวเองล้วนๆ อาจต้องรอให้ถึงรุ่นหลาน ที่เกิดมาแล้วไม่ต้องแบกภาระเหมือนพี่ ถึงจะมีฐานะดีกว่าได้”

ดังนั้น การขยับฐานะจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเป็นอยู่ทางกายภาพ แต่ยังต้องนับรวมเรื่องของอิสรภาพของคน ที่เลือกได้ว่าอยากเป็นอะไร อยากใช้ชีวิตแบบไหน  

การกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงจึงเป็นทางออกเดียวที่จะกู้คืนชีวิตให้ประเทศไทย ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตวิญญาณของผู้คนที่ต่างต้องการมีเส้นทางของตนเอง  

หนึ่งในนโยบายที่จะช่วยกระจายโอกาส คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ดูแลคนคนหนึ่ง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ตั้งแต่การได้รับสารอาหารในครรภ์ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไปจนถึงโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดชีพ มีการปฏิรูประบบภาษีให้มีความเป็นธรรมและจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง พร้อมกับการจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่ายของรัฐกับกิจกรรมประเภทต่างๆ เพื่อผันเงินมายกระดับสวัสดิภาพ รวมถึงเพิ่มพูนความรู้และทักษะใหม่ให้ประชาชน 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเรายังไม่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงประชาชนบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ถึงมันไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นระบอบที่คนยังพอมีสิทธิมีเสียงเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรและโอกาสผ่านนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถตรวจสอบบุคคลหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ยื้อแย่งเอาทรัพยากรของรัฐไปสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง    

เราต้องสร้างสังคมที่ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวไหน ฐานะเป็นอย่างไร อยู่ในบริบทเศรษฐกิจแบบใด ทุกคนก็มีโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเอง และแข่งขันกับคนที่มีฐานะดีกว่าได้อย่างทัดเทียม

 

อ้างอิง 

วิทยานิพนธ์การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นของคนจนเมืองในกรุงเทพมหานคร: https://drive.google.com/file/d/18kyzcHWBBDJ2jck4UKEMPOfpz5sHTmI6

Tags: , , ,