หลายคนอาจคุ้นหูกับ ‘รูปร่าง’ เส้นกราฟการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปตัว V รูปตัว U รูปตัว K หรือรูปตัว L ซึ่งเป็นศัพท์แสงที่เหล่านักวิเคราะห์ใช้คาดการณ์ตั้งแต่เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักเพราะมาตรการจำกัดการระบาดอย่างเข้มข้น หรือการล็อกดาวน์
ปีที่ผ่านมาคือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยธนาคารโลกประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเหล่าประเทศร่ำรวยที่โดนผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานการค้าโลกที่ต้องหยุดชะงักทำให้เศรษฐกิจหดตัวสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ภาครัฐทั่วโลกต่างต้องงัด ‘บาซูก้าทางการคลัง’ หวังต่อลมหายใจเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในหลายประเทศรวมถึงไทยที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นประวัติการณ์
สภาวะอึมครึมดังกล่าวเริ่มดีขึ้น นับตั้งแต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ประกาศการค้นพบวัคซีนโควิด-19 และหน่วยงานกำกับดูแลให้การรับรองในการใช้วัคซีนดังกล่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ต่างจับตาว่าแต่ละประเทศจะ ‘ฟื้นตัว’ ในรูปแบบใด โดยปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าการฟื้นตัวจะช้าหรือเร็วนั้นก็คือความสามารถในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
จีนและสหรัฐอเมริกา – ฟื้นตัวแบบ V
การฟื้นตัวรูปตัว V หมายถึง สภาวะเศรษฐกิจหดตัวในช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับมาเติบโตเสมือนหนึ่งก่อนเกิดวิกฤติโดยใช้เวลาไม่นานซึ่งตัวอย่างของการฟื้นตัวแบบดังกล่าวคือประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา
แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด แต่จีนกลับสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างดีเยี่ยมโดยจวบจนปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100,000 คน การฟื้นตัวของจีนรวดเร็วแค่ไหนนั้นก็ดูได้จากคลิปวีดีโอปาร์ตี้สวนน้ำในเมืองอู่ฮั่น จุดกำเนิดของโควิด-19 ที่สามารถฟื้นตัวกลับมาครื้นเครงได้ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปี
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของจีดีพีประเทศจีนซึ่งเป็นการฟื้นตัวแบบรูปตัว V ภาพจาก statista
จีนสามารถฟื้นตัวแบบ V โดยการจัดการการระบาดอย่างเด็ดขาดในช่วงแรก และผ่อนปรนมาตรการจำกัดการระบาดโดยหลงเหลือข้อกำหนดเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงงาน ร้านอาหารและสถานประกอบการต่างๆ ในขณะที่บรรยากาศทั่วโลกยังคงอึมครึม เศรษฐกิจของจีนก็กลับมาเดินหน้าได้โดยได้รับผลกระทบไม่มากนัก
ไม่ว่าประเทศไหนเห็นตัวเลขจีดีพีของจีนก็คงต้องนึกอิจฉา เพราะในไตรมาสที่ 4 เมื่อปีที่ผ่านมา จีนก็กลับมาผงาดโดยเติบโตสูงถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีดีพีทั้งปีเติบโต 2.3 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหนึ่งเดียวในโลกที่เศรษฐกิจยังขยายตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ส่วนสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เจ็บหนักที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้นกว่า 32 ล้านคนหรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และครองอันดับหนึ่งของโลกจนถึงปัจจุบัน
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเจ็บหนักไม่แพ้จีน แต่ผลกระทบกลับแสดงตัวช้ากว่าเพราะเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมา โดยลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับจีน แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วเช่นกันภายในหนึ่งไตรมาสด้วยบาซูก้าทางการคลังซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี นับว่าสูงที่สุดเป็นอันดับในเหล่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
อนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐนับว่าสดใส ด้วยอัตราการรับวัคซีนเข็มแรกของประชากรอายุมากกว่า 18 ปีที่สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถกลับมาเติบโตได้ในอัตราเร็วเสมือนช่วงเวลาก่อนเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจภายในปีนี้
สหภาพยุโรป – ฟื้นตัวแบบ K
การฟื้นตัวรูปตัว K หมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมกันในแต่ละอุตสาหกรรม ภูมิภาค หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดซึ่งกระทบต่อแต่ละภาคส่วนอย่างไม่เท่าเทียมกัน
สหภาพยุโรปเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวจากหลายประเทศ หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่าเศรษฐกิจของสภาพยุโรปเจ็บตัวไม่ต่างจากเขตเศรษฐกิจใหญ่แห่งอื่นๆ ในไตรมาสที่สอง และฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วภายในไตรมาสที่สาม ส่งผลให้เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาหดตัวเพียงเล็กน้อย
ดูเผินๆ การฟื้นตัวของสหภาพยุโรปน่าจะเป็นรูปตัว V เช่นเดียวกับจีนหรือสหรัฐอเมริกา แต่หากพิจารณาถึงภาวะที่ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ หลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า โดยมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีผู้รับวัคซีนครบถ้วนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เราจึงอาจมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปนั้นเป็นแบบ K
ความแตกต่างประการแรกอยู่ในตลาดแรงงาน แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศในสหภาพยุโรปจะมีระบบป้องกันการเลิกจ้าง เช่น Kurzabeit ในประเทศเยอรมัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ จะดีกว่าไหม? หากนโยบายรัฐช่วยให้คนไม่ต้องตกงานจากการล็อกดาวน์) แต่ระบบดังกล่าวได้สร้างความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น ระหว่างผู้ใหญ่ที่เป็นพนักงาน กับกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวและไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะต้องตกงานและหางานใหม่ได้ยากแม้ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว
ความแตกต่างประการที่สองเกิดขึ้นในระดับอุตสาหกรรม เพราะโควิด-19 กระทบกับแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน บางภาคธุรกิจเช่นการท่องเที่ยวหรือการบินอาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ค้าปลีกหรืออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
ความแตกต่างประการสุดท้ายคือระดับประเทศ แม้สหภาพยุโรปจะถูกนับรวมเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกันก็จริง แต่ประเทศสมาชิกย่อมมีโครงสร้างในภาคเอกชนที่แตกต่างกันออกไป ผลกระทบจากโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาด รวมถึงความ ‘ใจป้ำ’ ของรัฐบาลแต่ละประเทศอีกด้วย
ตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ชัดหากเทียบระหว่างประเทศเยอรมันซึ่งมีภาคการผลิตเข้มแข็ง ที่แม้จะต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนสำคัญ แต่ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนักหากเทียบกับประเทศอย่างอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ที่ต้องพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและสันทนาการเป็นหลัก
ประเทศไทย – ฟื้นตัวแบบ U หรือ L?
เมื่อหันกลับมามองภาพเศรษฐกิจไทย ผู้เขียนเห็นว่ารูปแบบการฟื้นตัวของเราไม่เป็นตัว U ก็น่าจะเป็นตัว L
(ซ้าย) กราฟแสดงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรูปตัว U (ขวา) กราฟแสดงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรูปตัว L
ภาพจาก The ABCs of the post-COVID economic recovery
การฟื้นตัวรูปตัว U หมายถึงสภาวะเศรษฐกิจหดตัวเป็นระยะเวลานานเนื่องจากเผชิญกับการระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลง หรือสามารถจำกัดการระบาดได้โดยการใช้วัคซีน ส่วนการฟื้นตัวรูปตัว L คือ สภาวะเศรษฐกิจหดตัวแล้วไม่อาจฟื้นกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดวิกฤติได้โดยอาจมีหลายสาเหตุ เช่น เงินลงทุนที่หดหาย หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่
สาเหตุที่อนาคตของเศรษฐกิจไทยดูไม่สดใสนักก็เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสองภาคหลักคือภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก สองอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจังๆ จากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าไทยจะควบคุมการระบาดในปี พ.ศ. 2563 ได้อย่างดีเยี่ยม และกลายเป็นกรณีศึกษาในระดับโลก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจกลับติดลบสูงถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์ นับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 22 ปี หรือหากเทียบเป็นตัวเลขก็คือ เศรษฐกิจได้เดินถอยหลังกลับไปใกล้เคียงกับปีพ.ศ. 2559
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อเราต้องเจอกับการระบาดอีกสองระลอกในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับมาบวกเพียง 1.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับโลกก่อนการระบาดเสียด้วยซ้ำ
หากมองโลกในแง่ดี การฟื้นตัวของไทยอาจเป็นรูปตัว U ที่แม้จะฟื้นอย่างเชื่องช้าแต่ก็เศรษฐกิจก็จะกลับมาเติบโตได้เสมือนก่อนเกิดวิกฤติ แต่จากหลากหลายปัจจัยทำให้ผู้เขียนมองว่า การฟื้นตัวของไทยอาจเป็นรูปตัว L กล่าวคือการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยมีเหตุผลสองประการ ดังนี้
1. การฉีดวัคซีน รัฐบาลไทยชะล่าใจเพราะประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ดี จึงตัดสินใจคลอดแผนฉีดวัคซีนที่นอกจากคนไทยจะได้วัคซีนแล้ว ภาคเอกชนยังได้รับความรู้และเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมาด้วย โดยเน้นวัคซีนชนิดเดียวคือของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งแผนการเดิมจะเริ่มฉีดล็อตแรกในเดือนมิถุนายนปีนี้ ก่อนที่การระบาดระลอกใหม่จะบีบบังคับรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนชนิดอื่นเพิ่มเติม
ตัวเลขจีดีพีที่หดตัวอย่างหนักและไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงการตัดสินใจผิดพลาดเรื่องวัคซีนของรัฐที่ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนราคาแพง เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีขนาดใหญ่มาก และรองรับแรงงานจำนวนมหาศาล นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือแม้กระทั่งคนไทยเองคงไม่มีความเชื่อมั่นที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยได้เลย ตราบใดที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังต้วมเตี้ยมอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์และยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน
2. มาตรการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่เสมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แน่นอนว่าโครงการแจกเงินให้ถึงมือประชาชนนั้นมีความจำเป็นในช่วงเวลาวิกฤติ แต่งบประมาณ 400,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมกลับเป็นเพียงโครงการปกติของหน่วยงานราชการที่ถูก ‘เร่งรัด’ ให้เร็วขึ้น เพราะมีงบประมาณที่หยิบยืมมาจากภาษีประชาชนในอนาคต
ผลลัพธ์ที่ได้คือความสะเปะสะปะ ทั้งโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ (3,550 ล้านบาท) โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล (4,787 ล้านบาท) โครงการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (154 ล้านบาท) รวมถึงสารพัดโครงการจิปาถะอย่างปลูกปะการัง สร้างถนน ติดตั้งไฟฟ้า ซ่อมแซมสะพาน และสร้างห้องน้ำสาธารณะ แน่นอนว่าโครงการดังกล่าวอาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งที่เราใช้เงินมูลค่ามหาศาลโดยไม่ได้ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่ต่างประเทศอย่างจีนจะเน้นเงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ส่วนสหภาพยุโรปถือโอกาสผลักดันสัญญาเขียวแห่งสภาพยุโรป (European Green Deal) เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) โดยเร็วที่สุด
ประเทศไทยกำลังเสียโอกาสครั้งสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือปรับโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมเพื่อลดการพึ่งพาการท่องเที่ยว เพราะเราต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์แต่กลับมีผู้นำที่ด้อยวิสัยทัศน์และไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน
ที่มา
Alphabet Soup: Understanding the Shape of a COVID-19 Recession
In a world mired in recession, China manages a V-shaped recovery
Are we experiencing a K shaped recovery from COVID-19?
Tags: เศรษฐกิจไทย, โควิด, Economic Crunch, VKUL