ประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นผ่านตาบ่อยครั้งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 คือ “โรคระบาดไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือว่าคุณรวยหรือจน” ซึ่งต้องการสื่อความว่าทุกคนต่างก็มีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้เช่นกัน ดังนั้นจงอย่าใช้ชีวิตอย่างประมาท และควรป้องกันตัวเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ผู้มีชื่อเสียงบางคนถึงกับมองการระบาดของโควิด-19 ว่าเป็น “การสร้างความเท่าเทียมครั้งใหญ่ (the great equalizer)” 

ฟังเผินๆ ก็ดูสมเหตุสมผลดี แต่หากมองผ่านแว่นตาที่ฟิลเตอร์ด้วยความเหลื่อมล้ำ ผลลัพธ์ที่ได้กลับผิดแผกแตกต่างเพราะสถานะทางสังคมกลับมีผลอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากการระบาด

ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มเมื่อมีข่าวของโรคร้าย นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่ากลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าย่อมได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มชนชั้นนำและคนที่ร่ำรวย เพราะนอกจากคนเหล่านั้นจะได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังมี ‘สายป่านยาว’ เพียงพอที่จะทนพิษเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลางได้

ทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฎีและการคาดการณ์ แต่ปัจจุบันเรามีข้อมูลผลกระทบต่อคนจนและคนผิวดำจำนวนมากขึ้นซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่เลวร้ายเกินกว่าที่หลายคนจะจินตนาการออก

เพราะผิวดำทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า?

รายงาน “สีของโคโรนาไวรัส (The Color of Coronavirus) ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่โดย APM Research Lab พบว่าอัตราการเสียชีวิตของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน (61.6 คนต่อประชากร 100,000 คน) สูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาว (26.2 คนต่อประชากร 100,000 คน) ราว 2.3 เท่าตัว โดยในบางเขตของรัฐโคลัมเบีย ความแตกต่างดังกล่าวอาจสูงไปแตะระดับ 6 เท่าตัว

จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากร 100,000 คนแบ่งตามเชื้อชาติ ข้อมูลการเสียชีวิตถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2563
ภาพจากรายงาน “สีของโคโรนาไวรัส (The Color of Coronavirus)

นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าประหลาดใจว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดช่องว่างขนาดยักษ์ในอัตราการเสียชีวิตของคนสองเชื้อชาติทั้งที่อยู่ในประเทศเดียวกัน

คำตอบของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ คือสุขภาพที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วของคนผิวสี ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งเป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโคโรนาไวรัส แม้ว่าคำตอบดังกล่าวจะดูเป็นวิทยาศาสตร์และสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่มันก็ไม่ต่างจากโยนความผิดให้กับผู้เสียชีวิตซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกควร แถมยังไม่ได้เจาะไปถึงรากที่แท้จริงของปัญหา

หากพิจารณาผ่านแว่นตาของประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าต้นเหตุที่แท้จริงคือโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำระหว่างเชื้อชาติซึ่งก่อร่างสร้างตัวมายาวนานตั้งแต่สมัยการค้าทาส การแบ่งแย่งตามสีผิว แม้แต่ภายหลังที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ชาวแอฟริกัน-อเมริกันจำนวนมากก็ยังต้องทำงานที่มีค่าแรงต่ำกว่าและสะสมความมั่งคั่งน้อยกว่าครอบครัวชาวผิวขาว การต้องอยู่ในชุมชนที่รายได้น้อยย่อมทำให้ชายและหญิงผิวสีมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ดีและระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างจำกัด เช่นเดียวกับการต้องซื้อประกันสุขภาพที่ราคาถูกกว่าหรืออาจไม่มีเลยด้วยซ้ำ

จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันจะมีสัดส่วนเป็นโรคอ้วนที่มากกว่าคนผิวขาวราวสองเท่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอย่างเบาหวานและความดันโลหิตสูง ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก็พบว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่ผ่านมา คนผิวสีที่มีอาการของโรคโควิด-19 มีโอกาสได้รับการตรวจโรคและเข้ารับการรักษาน้อยกว่าคนผิวขาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ‘ความไม่เท่าเทียม’ ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพของคนแต่ละเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา

งานที่เลือกไม่ได้

วิบากกรรมของคนผิวสียังไม่ได้มีแค่อัตราการเสียชีวิตแต่ยังรวมถึงอัตราการว่างงาน ในภาวะปกติชาวแอฟริกัน-อเมริกันจะมีอัตราการว่างงานสูงกว่าคนผิวขาวราว 2 เท่าตัว แต่ตัวเลขเดือนพฤษภาคมจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า อัตราว่างงานของคนผิวขาวอยู่ที่ร้อยละ 12.1 แต่คนผิวดำอยู่ที่ร้อยละ 16.6

มองเผินๆ อาจจะกลายเป็นว่าช่องว่างของการไม่มีงานทำระหว่างคนสองเชื้อชาติหดแคบลง แต่ในความเป็นจริงแล้วตัวเลขดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสัดส่วนคนผิวดำที่มากกว่าคนผิวขาวในกลุ่มแรงงานที่เรียกว่า ‘แรงงานสำคัญ (essential workers)’ ที่ส่วนใหญ่คือแรงงานค่าแรงต่ำที่ต้องเสี่ยงออกมาผจญโรคระบาด เช่น พนักงานในร้านสะดวกซื้อ พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานส่งของ 

พวกเขาและเธอต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดน้อยลงเนื่องจากเวลาทำงานน้อยลง แถมยังอาจไม่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยจากการติดเชื้อหรือหากได้รับก็เป็นเพียงมูลค่าเล็กน้อยเท่านั้น ที่น่าเศร้าที่สุดคือคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือผู้ว่างงานจากรัฐบาลเนื่องจากอยู่ในสถานะ ‘มีงานทำ’ ทั้งที่เงินช่วยเหลือเหล่านั้นอาจมากกว่ารายได้จากการทำงานเสียด้วยซ้ำ

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมถึงยังเลือกที่จะออกมาทำงาน สู้ลาออกแล้วรอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลไม่ดีกว่าหรือ?

ความกังวลในใจของผู้มีรายได้ต่ำคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ต้องกอดไว้ให้มั่น พวกเขารู้ดีว่าโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลมีกรอบระยะเวลาจำกัดและคงเป็นหายนะสำหรับครอบครัวหากเงินช่วยเหลือหมดลงแล้วยังกลับไปหางานทำใหม่ไม่ได้ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยด้านสุขภาพ พวกเขาและเธอจึงต้องจำใจเลือกทางแรกแม้จะรู้ว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ตาม

ความยากจนที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

การขจัดความยากจนคือเป้าหมายระดับโลกที่รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต่างให้ความสนใจ นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 สัดส่วนของคนจนทั่วโลกก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปีปัจจุบัน แบบจำลองของธนาคารโลกฉบับล่าสุดต่างระบุว่าคนจนจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกฉากทัศน์ โดยจะมีประชาชนอย่างน้อย 71 ล้านคนที่ถูกผลักสู่ภาวะยากจนสุดขั้วหรือมีรายได้น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ขณะที่อนาคตในปีหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ผลกระทบต่อความยากจนสุดขั้วทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลถึงเดือนมิถุนายนคนจนทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นราว 71 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ภาพจาก World Bank Blogs

ปัญหาหลักของคนยากจนคือไม่สามารถทำงานทางไกลได้เหมือนแรงงานคอปกขาว แม้ว่าแรงงานค่าแรงต่ำส่วนหนึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถทำงานได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ก็นับว่าเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับคนจนส่วนใหญ่ที่มักทำงานในภาคบริการหรืออยู่กลุ่มแรงงานนอกระบบอย่างผู้ประกอบการรายย่อย เช่นในประเทศอินเดียซึ่งคาดว่าจะมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคนจากการระบาดก็มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบสูงถึงราว 52 เปอร์เซ็นต์

นอกจากคนจนจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนรายได้แล้ว แหล่งซื้อหาอาหารราคาประหยัดอย่างตลาดสดในหลายประเทศก็ต้องถูกสั่งปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ มีการศึกษาพบว่าคนจนโดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมืองเช่นในกรุงฮานอย ต้องพึ่งพาอาหารจากตลาดท้องถิ่นในสัดส่วนที่สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ซื้อหาอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเพราะอาหารที่วางขายส่วนใหญ่จะมีกลุ่มเป้าหมายคือชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูง

การศึกษาโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่รวบรวมผลกระทบจากการระบาด 5 ครั้งใหญ่คือ ซาร์ส (พ.ศ. 2546) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (พ.ศ. 2552) เมอร์ส (พ.ศ. 2555) อีโบลา (พ.ศ. 2557) และซิกา (พ.ศ. 2559) พบว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีหลังจากการระบาด ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำจากโควิด-19 จึงน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันเพียงแต่ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับโรค ไม่ได้จำกัดแค่บางประเทศหรือภูมิภาคเฉกเช่นการระบาดในอดีต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 กระทบทุกคนในสังคม แต่เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แฝงฝังอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ทั้งระหว่างคนรวยและคนจนหรือคนผิวดำและคนผิวขาว กลุ่มผู้ที่มีสถานะทางสังคมด้อยกว่าต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ผู้ออกแบบนโยบายต้องตระหนักเพราะคนบางกลุ่มย่อมต้องการความช่วยเหลือที่มากกว่า

เอกสารประกอบการเขียน

Black Americans dying of Covid-19 at three times the rate of white people

Black and minority Americans more likely to get Covid-19, House panel hears

Coronavirus Is Making the Case for Black Reparations Clearer Than Ever

How The Crisis Is Making Racial Inequality Worse

Why COVID-19 Will Worsen Inequality in Thailand

How Pandemics Leave the Poor Even Farther Behind

Turning back the Poverty Clock: How will COVID-19 impact the world’s poorest people?

Tags: , ,