หากเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะปกติ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างย่อมหวานชื่น เพราะฝ่ายหนึ่งคือผู้ลงทุนรับความเสี่ยงแต่ก็ได้ผลกำไรตอบแทน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งได้รับค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอจากตำแหน่งงานที่มั่นคง แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเดือนที่จ่ายออกจากกระเป๋ากลับกลายเป็นภาระที่นายจ้างต้องแบกรับ ขณะที่ลูกจ้างก็หวั่นไหวไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับจดหมายเชิญออก หรือเลวร้ายกว่านั้นคือโดนลอยแพโดยไม่ได้รับเงินชดเชย

หลายคนอาจสัมผัสภาวะดังกล่าวกับตนเองตั้งแต่เดือนเมษายนที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ บางคนต้องทนอยู่กับบ้านโดยไม่มีค่าจ้าง รอลุ้นว่าตัวเองจะผ่านการคัดกรองของระบบ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ของรัฐบาลเพื่อรับเงิน 5,000 บาทหรือไม่ ส่วนแรงงานกว่าครึ่งที่อยู่ในระบบก็แทบไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เพราะภาครัฐผลักการตัดสินใจไปให้ผู้ประกอบการ และปัดความรับผิดชอบในการดูแลช่วยเหลือไปให้กองทุนประกันสังคมจัดการซึ่งมีมาตรการคือ เงินทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยคือการระบาดของโควิด-19

สังเกตไหมครับว่า เงื่อนไขสำคัญก่อนได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับแรงงานในระบบคือต้อง ‘ว่างงาน’ เสียก่อน ขณะที่แรงงานนอกระบบกลับได้รับเงินโดยที่ไม่มีเงื่อนไข

อีกเรื่องที่น่าปวดใจคือฝั่งผู้ประกอบการเองก็ต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าจ่ายเงินเดือนทั้งที่บริษัทไม่มีรายได้ หรือตัดใจปิดกิจการที่สร้างมาจากน้ำพักน้ำแรง เพราะไม่อยากขอสินเชื่อ ‘ซอฟต์โลน’ มาตรการเรือธงที่รัฐบาลหยิบยื่นให้กับเหล่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

หากลองสวมหมวกผู้ประกอบการที่กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน และต้องเผชิญกับสองตัวเลือก หนึ่งคือเจ็บแล้วจบ ปิดกิจการแล้วเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่ หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สองคือ กระเสือกกระสนขอซอฟต์โลนที่อาจจะไม่ผ่าน และถึงต่อให้ได้รับการอนุมัติ แต่หากเศรษฐกิจซึมต่อเนื่องยาวนานจนเงินกู้ดังกล่าวสลายหายไปกับตา แทนที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ก็อาจจะต้องเริ่มต้นแบบติดลบแทน

หลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผู้ประกอบการไทยคิดอย่างไรต่อนโยบายซอฟต์โลนสะท้อนเห็นเด่นชัดจากยอดวงเงินสินเชื่อที่เหลืออยู่บานเบอะ จนรัฐบาลต้องแก้เงื่อนไขให้จูงใจผู้ประกอบการยิ่งขึ้นและขยายเวลาโปรโมชันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เราก็ยังเห็นธุรกิจค่อยๆ ทยอยปิดตัวหรือลดพนักงานลงทุกวัน 

ในมุมมองของผู้เขียน จุดอ่อนที่สุดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในไทย คือการลอยแพผู้ประกอบการ ไม่คุ้มครองการจ้างงาน ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกต่างโอบอุ้มแรงงานและกิจการเหล่านั้นไว้ เพราะทราบดีว่าบริษัทและบุคลากรเหล่านั้นคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในวันที่วิกฤตเริ่มคลี่คลายพร้อมเปิดทางให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

การระบาดระลอกใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ตั้งท่าจะล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลอยแพผู้ประกอบการเช่นเดิมโดยการ ‘กระจายความรับผิดชอบร่วมกัน’ ตามคำกล่าวของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ที่ฟังแล้วอยากตั้งคำถามดังๆ ว่า จะดีกว่าไหม ถ้านโยบายรัฐช่วยให้คนไม่ต้องตกงานจากการล็อกดาวน์

 

คนตกงานส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

การที่คนหนึ่งคนตกงาน ไม่ได้กระทบแค่กับตัวเขาหรือเธอเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเมื่อคนหนึ่งคนขาดรายได้ ย่อมลดระดับการจับจ่ายใช้สอยที่จะกลายเป็นรายได้เข้ากระเป๋าของอีกคน 

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. พนักงานบริษัท ที่หลังเลิกงานไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อแตงโมหวานฉ่ำจากซูเปอร์มาร์เกตในราคา 100 บาท ไปฝากลูกสาวที่บ้าน เงินที่จ่ายให้กับแคชเชียร์ไม่ได้นอนสงบอยู่ในลิ้นชัก แต่จะสะพัดไปเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ของห้างสรรพสินค้า เกษตรกรผู้ปลูกแตงโม เหล่าแรงงานในภาคการเกษตร และผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตอีกนับไม่ถ้วน

แต่หากนาย ก. ถูกเลิกจ้างจนต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย การเดินไปซื้อแตงโมก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เงินที่เคยสะพัดให้กับทุกคนก็จะหยุดชะงักลง ส่งผลเลวร้ายต่อตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลต้องกระโดดเข้ามาแจกเงินช่วยเหลือเพื่อหล่อลื่นเศรษฐกิจในภาพรวมซึ่งจะช่วยเสริมกำลังซื้อให้กับครัวเรือนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวอาจพยุงได้ในระยะสั้น แต่การที่พนักงานถูกเลิกจ้าง จะ ‘สร้างรอยแผล’ ที่จะแสดงอาการในวันที่เศรษฐกิจเปิดทำการตามปกติ เพราะทักษะที่จำเป็น ระบบการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละกิจการนั้นแตกต่างกัน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและแรงงานกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง บริษัทจะต้องเสียเวลากับกระบวนการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานหน้าใหม่ซึ่งถ่วงให้การฟื้นตัวล่าช้าลงไปอีก

 

นโยบายรัฐเพื่อป้องกันการตกงานในห้วงยามวิกฤต

ต้นแบบการพยุงธุรกิจเพื่อไม่ให้พนักงานต้องถูกเลิกจ้างอยู่ที่ประเทศเยอรมนี มีชื่อว่าระบบ ‘Kurzabeit’ (เคิทส์-อาห์-ไบท์) หรือแปลอย่างคร่าวๆ ว่า ‘การทำงานระยะสั้น’ นโยบายดังกล่าวมีการบังคับใช้มาอย่างยาวนาน ด้วยการเปิดโอกาสให้บริษัทที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเงิน สามารถมาขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อช่วยไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเมื่อบริษัทเผชิญกับความผันผวนระยะสั้น

หัวใจของเศรษฐกิจเยอรมนีคืออุตสาหกรรมการผลิตที่จำเป็นต้องใช้ทักษะพิเศษ การเลิกจ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมที่ออกแบบเฉพาะ และอยู่กับบริษัทมาอย่างเนิ่นนาน จึงเป็นต้นทุนราคาแพงในมุมมองของบริษัท ระบบ Kurzabeit จะเข้ามาช่วยพยุงพนักงานที่ต้องถูกลดเวลาทำงานลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รักษาความสัมพันธ์มูลค่าสูงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเอาไว้ โดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายค่าแรงส่วนที่หายไปราว 60 % และเพิ่มเป็น 67 % สำหรับแรงงานที่ต้องดูแลเด็กในครัวเรือน

ในช่วงเวลาปกติ บริษัทในภาคการผลิตได้ประโยชน์จากระบบ Kurzabeit เมื่อต้องเผชิญกับความผันผวนตามฤดูกาล เช่น ภัยธรรมชาติที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าตกต่ำ รวมถึงในช่วงฟื้นฟูกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

สำหรับห้วงยามวิกฤต ระบบ Kurzabeit ได้โอบอุ้มแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไปจนถึงวิกฤตซับไพรม์เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานของเยอรมนีเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนีก็ทำในสิ่งที่ควรจะทำ นั่นคือการลดเงื่อนไข Kurzabeit ให้ยืดหยุ่นและจูงใจให้เจ้าของกิจการเข้าร่วมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น สามารถช่วยบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจไม่ให้เลวร้ายอย่างที่หลายประเทศต้องเผชิญ

กราฟแสดงการเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศ G7 ภายหลังการเกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อ พ.ศ. 2552 จะเห็นว่าอัตราการจ้างงาน (สีเขียว) ของเยอรมนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ลดลงราว 2-4 เปอร์เซ็นต์ ภาพจาก IMF

 

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ก็มีระบบที่คล้ายคลึงกับ Kurzabeit โดยเปิดโอกาสให้บริษัทที่เงินขาดมือมาขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อจ่ายเงินเดือนในช่วงที่ไม่มีรายได้เพียงพอ นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวติดตลกว่า ระบบ Kurzabeit คือสินค้าส่งออกที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเยอรมนี

โครงการคุ้มครองเงินได้ (Paycheck Protection Program) วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา ก็มีกลิ่นอายของระบบ Kurzabeit โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กไปขอสินเชื่อจากธนาคารมาจ่ายค่าดำเนินการตามปกติธุรกิจ เช่น เงินเดือน ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และดอกเบี้ย หากผู้ประกอบการนำไปใช้จ่ายตามเงื่อนไข ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายคืนเพราะรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายคืนให้เอง งานวิจัยพบว่าโครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสรอดของกิจการขนาดเล็กราว 14 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

 

ข้อควรระวังของนโยบายสไตล์ Kurzabeit

คนจำนวนไม่น้อยมองว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐสไตล์ Kurzabeit ย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายราคาแพง แต่ อันเค แฮสเซล (Anke Hassel) นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายสาธารณะ มองว่านโยบายดังกล่าวอาจไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างที่เราคิด เพราะถึงอย่างไรถ้าบริษัทปิดกิจการ รัฐบาลก็จำเป็นต้องจ่ายเงินช่วยเหลืออดีตพนักงานในรูปแบบของประกันการว่างงานอยู่ดี แล้วไม่ดีกว่าหรือหากรัฐบาล ‘อุ้ม’ ธุรกิจและแรงงานตั้งแต่ก่อนจะเกิดการเลิกจ้าง

แต่นโยบายสไตล์ Kurzabeit ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อควรระวัง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยว่านโยบายดังกล่าวอาจยื้อชีวิตธุรกิจที่ประสิทธิผลต่ำและแข่งขันไม่ได้ ทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณ เศรษฐกิจในภาพรวมก็เสียทรัพยากรไปกับบางธุรกิจที่รู้อยู่แก่ใจว่าวันหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง

ปัญหาดังกล่าวจริงๆ แล้วแก้ไขได้ไม่ยาก โดยรัฐบาลต้องออกแบบการช่วยเหลือในลักษณะ ‘ร่วมจ่าย’ กล่าวคือผู้ประกอบการเองก็ต้องควักกระเป๋ามาร่วมจ่ายเงินกับภาครัฐด้วย ที่สำคัญคือการร่วมจ่ายดังกล่าวจะต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าการตัดสินใจเลิกกิจการ ผู้ประกอบการจึงต้องรับความเสี่ยงและตัดสินใจเองว่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ต้องควักกระเป๋าสตางค์ตนเองหรือตัดสินใจเลิกกิจการ หากคิดว่าทนยื้อไปก็ไม่มีอนาคต

น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงถูกเลิกจ้างจนทำให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวและยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัว สวนทางกับภาพความสำเร็จในการจำกัดการระบาดของโควิด-19 

สำหรับใครที่ไม่เคยตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง คงไม่อาจเข้าใจต้นทุนทางอารมณ์ ความเครียด ความรู้สึกเปราะบาง และความกังวลของพนักงานเหล่านั้น นโยบายที่โอบอุ้มความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและนายจ้างในวันที่ต้องเผชิญกับวิกฤต จึงเป็นทิศทางที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาในอนาคตของตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ในประเทศไทยที่นอกจากจะดีต่อใจแรงงาน ยังเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตอีกด้วย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Kurzarbeit: Germany’s scheme for avoiding unemployment

Explained: Germany’s Kurzarbeit scheme, for payment of staff hit by lost work hours

US job losses have reached Great Depression levels. Did it have to be that way?

Explaining Kurzarbeit, or Saving Jobs the German Way

Why Is America Choosing Mass Unemployment?

Are We Firing Too Many People In The U.S.?