การเมืองไทยไม่ใช่ปรากฏการณ์เดียวในโลกที่สาแหรกอำนาจและความพัวพันไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ด้วยภาพสองมิติ ชนิดขีดสาแหรกซ้ายขวาได้เป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แบบที่เรียนกันมา
ในสายตาของศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ แนวคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ (deep state) ของ เออเชนี เมริโอ (Eugénie Mérieau) จึงถือเป็นการค้นพบทางวิชาการแห่งปี 2559 เพราะช่วยเพิ่มมิติในการมองการเมืองไทยให้เห็นภูมิทัศน์ที่ชัดเจนขึ้น ดังที่เขานำเสนอในเวทีเสวนาวิชาการ Direk’s Talk เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง’
แนวคิด ‘รัฐพันลึก’ เสนอว่าในรัฐสมัยใหม่บางรัฐอย่างตุรกี อเมริกา หรือไทย ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ยังมีองค์กรรัฐราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง-ข่าวกรอง ตุลาการบางหน่วย หรือในกรณีของไทยก็รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง หรือแม้แต่ผู้บริหารบางมหาวิทยาลัย ที่เป็นรัฐส่วนลึกหรือเร้นลึก ซ้อนทับอยู่ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐหรือรัฐในรัฐ
รัฐพันลึกที่ว่ามีตรรกะและผลประโยชน์ต่างหากของตัวเอง สามารถดำเนินการอิสระจากรัฐบาลเลือกตั้ง หรืออาจแข็งขืน หรือกระทั่งโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งได้ ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน
เกษียรระบุว่าข่าวสารบ้านเมืองอันแปลกพิสดารในระยะหลังนั้นสมกับที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวไว้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ซึ่งสำหรับเขา “มันสะท้อนว่าแนวคิด ‘รัฐพันลึก’ หรือ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ (a state within a state) อาจจะไม่พอเพียงเสียแล้วที่จะทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไปในปี 2560”
เขาคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเหมือนกับตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย (Matryoshka Doll) คือดูเสมือนหนึ่ง a state within a state within a state within a state, etc. หลายต่อหลายชั้นซ้อนทับกัน
ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
0 0 0
ก่อนจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ไปในปี 2560 สภาพการเมืองไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร
เกษียรพาเราย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่’ ซึ่งเป็นกระบวนการสืบเนื่องมาจากปรัชญายุครู้แจ้งของยุโรป-อเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 17-18 แล้วแผ่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งสยาม ผ่านระบอบอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19-20
กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ ประกอบด้วยการปฏิวัติใหญ่สามด้าน
1. การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (ด้านปัญญาความรู้/วัฒนธรรม โดยเฉพาะกระแสเหตุผลนิยม ประสบการณ์นิยม วิธีการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คติโลกวิสัย)
2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ด้านเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะระบบตลาด เศรษฐกิจทุนนิยม การแบ่งงานกันทำ การผลิตแบบอุตสาหกรรม)
3. การปฏิวัติกระฎุมพี (ด้านการเมือง โดยเฉพาะระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีนิยม ประชาธิปไตย ชาตินิยม)
จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ การปฏิวัติทั้งสามด้านมีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน รุนแรงนองเลือด และทิ้งบาดแผลทางความคิดจิตใจไว้ในสังคม แต่ในกรณีประสบการณ์ของสยาม/ไทยนั้นต่างออกไป คือ “มีลักษณะไปครึ่งทาง กึ่งๆ กลางๆ มีการประนีประนอมรอมชอมกันมาก หรือจะมองในทางกลับกันก็ได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในเมืองไทยนั้นไม่เสร็จสิ้น ค้างเติ่ง เปลี่ยนผ่านเท่าไรก็ไม่ถึงจุดหมาย ไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียที”
ศาสตราจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) รวมทั้งนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยแบบทวนกระแสหลายคน เสนอไว้ว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียอาคเนย์ ถึงแม้สยามไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกเต็มตัว แต่ก็อยู่ในสภาพอาณานิคมทางอ้อมหรืออาณานิคมอำพราง (crypto-colonialism) ที่ผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมของอาณานิคมตะวันตกทั่วโลกในทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และการทูตการเมือง ภายใต้อำนาจอำนวยการของเจ้านายขุนนางท้องถิ่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ดังนั้น สยามจึงมีลักษณะเป็นอัตตาณานิคม/อาณานิคมภายใน (autocolony/internal colonialism) ของ ‘คนไทย’ ด้วยกันเอง ฉะนั้นจึงไม่มีขบวนการชาตินิยมของประชาชนเพื่อกู้ชาติจากต่างชาติ มีแต่กบฏลี้ลับครึ่งๆ กลางๆ (the partial, mystified revolt) ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ซึ่งสมาชิกของคณะราษฎรผู้ก่อการล้วนแต่เป็นชนชั้นนำตัวแทนกลไกปกครองในระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
และฉะนั้น สยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยังไม่ได้เป็นรัฐชาติสมบูรณ์เต็มตัว เป็นแค่รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีปัญหาความชอบธรรมเรื้อรังอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมบ้าง เสนาชาตินิยมบ้าง สลับกันไป
หากพูดในภาษาของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คือ สยาม “กลายเป็นรัฐที่ไม่มีชาติ (แท้จริง) ในความหมายชุมชนในจินตนากรรมของคนพลเมืองที่เสมอภาคและเป็นภราดรภาพต่อกัน และที่กุมอำนาจอธิปไตยร่วมกัน (imagined community of equal citizens) หากแต่ตกอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่เป็นชุมชนในจินตนากรรมของคนไทยและคนไม่ไทยที่ไม่เท่าเทียมกัน (imagined uncommunity of unequal Thais and un-Thais)”
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดกรณีเหยื่อของรัฐที่ไม่มีชาติดังกล่าวอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็น สมชาย นีละไพจิตร, พอละจี รักจงเจริญ, ชัยภูมิ ป่าแส ไปจนถึง ไผ่ ดาวดิน
0 0 0
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สังคมไทยผ่านการเดินทางแสวงหาสลับพลิกผันไปมาระหว่างแรงผลักดันต่อสู้ขัดแย้งของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ เช่น โครงการเสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยมประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์ โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์และคึกฤทธิ์ ปราโมช โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และโครงการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของขบวนการคอมมิวนิสต์
เหล่านี้คือโครงการมุ่งสู่ความทันสมัยในรูปแบบความเชื่อที่แตกต่างกันไป
สำหรับเกษียร จวบจนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) สังคมไทยจึงบรรลุฉันทามติของการประนีประนอมระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมที่ลงตัวในระดับหนึ่ง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา
สาระโดยสังเขปในด้านต่างๆ ของฉันทามติดังกล่าว มีดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล (เมืองโต ชนบทลีบ อุตสาหกรรมและบริการโต เกษตรกรรมลีบ) โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านการเมือง: ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้านอุดมการณ์: ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ
ด้านศาสนา: พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก (ทางเลือกที่ไม่ใช่รัฐทางโลกที่เป็นกลางกับทุกศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รัฐที่เป็นพุทธเต็มตัว)
“อาจกล่าวได้ว่าฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (The Bhumibol Consensus) เป็นแบบวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยแบบไทยๆ ผ่านการประนีประนอมต่อรองที่ไม่หักรานจนเหี้ยน ไม่ใหม่หมด คนข้างล่างได้บ้าง แม้จะได้ไม่มากเท่าคนข้างบน คนชั้นกลางได้มากกว่า และเติบใหญ่ขยายตัวออกไป ส่วนคนข้างบนได้มากที่สุด มันช่วยให้หลีกเลี่ยงการแตกหักกวาดล้างรุนแรงของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่มาได้ และมีฐานรองรับสนับสนุนจากคนชั้นต่างๆ ตามสมควร ทั้งคนชั้นบน คนชั้นกลาง และรากหญ้า
“ขณะเดียวกันก็มีเส้นอำนาจ (power boundaries) และการแบ่งเขตอำนาจ (jurisdiction) เชิงปฏิบัติ/เสมือนจริงที่ใช้การได้ เส้นและเขตที่ว่าอาจไม่ต้องตรงกับเส้นอำนาจและการแบ่งเขตอำนาจตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเสียเลยทีเดียว แต่ก็เป็นที่ยอมรับเคารพกันว่าอำนาจของฝ่ายหนึ่งหยุดตรงนี้ อำนาจของอีกฝ่ายเริ่มตรงนั้น ไม่ก้าวก่ายกัน ยอมรับเคารพกัน โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้าย (final arbiter) ในยามเกิดความแตกต่างขัดแย้ง”
นอกจากนี้ ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ยังกดปรามให้โครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ทางเลือกอื่นๆ หยุดชะงักชั่วคราว ด้วยบารมีแห่งพระราชอำนาจนำ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม ชุมชนนิยม ทหารนิยม สมบูรณาญาสิทธิ์ ฟาสซิสต์ และคอมมิวนิสต์
“จวบจนการปรากฏขึ้นของโครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยมบวกประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยในราว พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา”
0 0 0
เกษียรระบุว่าสภาพ “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” เกิดขึ้นได้เพราะผู้สนับสนุนโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ นั้นฟื้นโผล่ออกมาแย่งชิงพื้นที่เพื่อผลักดันแนวทางของตัวเอง ในภาวะเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม ไม่มีกรอบกติกาปกติของการดำเนินหรือแก้ไขยุติความขัดแย้ง มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่มิอาจแก้ไขข้อขัดแย้งได้
ฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่แนวทางต่างๆ พยายามหวนหาช่วงอดีตหรือบ้านเก่าที่สอดรับกับอุดมคติของกลุ่มตนมากที่สุด จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มอาการการเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีต ขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจและสถาบันต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย ต่างก็อาศัยช่วงที่เส้นอำนาจเดิมคลอนแคลนคลี่คลาย และฐานรองรับแนวทางปฏิบัติตามประเพณีเดิมขยับขยายเปลี่ยนแปลง พากันหาวิธีปรับเส้นอำนาจและเขตอำนาจกันใหม่ โดยผลักดันเส้นอำนาจใหม่ของตนออกไปให้กว้างไกลที่สุด ให้เขตอำนาจของตนแผ่ขยายไปมากที่สุด และกินพื้นที่อำนาจเก่า-ใหม่ให้ใหญ่ที่สุด
“ด้วยความหวังว่าเส้นอำนาจไกลที่สุดของตนซึ่งอยากให้อยู่ตรงนี้นั้น ฝ่ายอื่นจะยอมรับโดยดุษณี ได้ข้อยุติกันตรงนี้ ทุกฝ่ายคิดแบบนี้ หวังแบบนี้ และทำแบบนี้ ดังเช่นที่ คสช. และสถาบันอำนาจในเครือข่ายเร่งรีบผลักดันกฎหมายใหม่ๆ สารพัดออกมาแผ่ขยายเขตอำนาจของฝ่ายความมั่นคงในหน่วยราชการไปสุดเอื้อม ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งและมีสภากับรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทน”
จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เกษียรแสดงความวิตกว่าเส้นเขตอำนาจที่แต่ละกลุ่มลากขึ้นมาอาจพาดเกยกัน เบียดเสียดกัน หรือกระทั่งปะทะชนกัน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะหาข้อยุติอย่างไร จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน และจะบรรลุฉันทามติใหม่ที่ลงตัวและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ได้หรือไม่
“อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็จะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”
จึงเป็นภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
Tags: Eugénie Mérieau, Direk’s Talk, ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, รัฐซ้อนรัฐ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาณานิคมทางอ้อม, รัฐพันลึก, อาณานิคมอำพราง, เกษียร เตชะพีระ, crypto-colonialism, ตุ๊กตาแม่ลูกดก, อัตตาณานิคม, deep state, อาณานิคมภายใน, เออเชนี เมริโอ, The Bhumibol Consensus