ครั้งหนึ่ง สตีเฟน ยอนเคยเปรยไว้ว่า “วงการหนังอเมริกันนี่มันควรจะต้องมีนักแสดงชาวเอเชีย-อเมริกันให้มากกว่านี้ได้แล้ว” หลังจากถูกจำผิดๆ ว่าเขารับบทบาทเป็นคนเอเชียในหนังทุกเรื่องของฮอลลีวูด แม้ว่าจะเป็นหนังเก่าตั้งแต่ยุค 80 อย่าง Raiders of the Lost Ark (1981) ที่ดันมีคนเข้าใจว่าเขาน่าจะรับบทเป็น ‘ตัวละครเอเชีย’ ในหนังทั้งที่ตอนหนังเรื่องนี้ออกฉาย ยอนเพิ่งอายุได้สองขวบ
ไม่กี่ปีต่อมา ออสการ์ประกาศผู้เข้าชิงรางวัลสาขานำชายยอดเยี่ยม หนึ่งในนั้นคือ สตีเฟน ยอน นักแสดงเชื้อสายเกาหลี-อเมริกันจากหนัง Minari (2020) ที่พูดถึงครอบครัวชาวเกาหลีที่อพยพมาอยู่ในรัฐเล็กๆ ของอเมริกา กำกับโดย อี ไอแซก จอง ผู้กำกับสัญชาติเกาหลี-อเมริกันเช่นกัน ท่ามกลางบรรยากาศตื่นตระหนักเมื่อเกิดเหตุกราดยิงในแอตแลนตาจนมีผู้เสียชีวิตมากถึงแปดคน ในจำนวนนั้น หกคนเป็นชาวเอเชีย ที่แม้ทางการจะบอกว่ายังไม่ทราบแรงจูงใจของฆาตกรวัย 21 ปี แต่ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่า คงหนีไม่พ้นความเกลียดชังต่อความเป็นอื่นของคนเอเชียในอเมริกาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคนเอเชียถูกมองเป็นแพะรับบาปที่ต้องรับผิดชอบต่อความพินาศที่ตามมาหลังจากนั้น
หลายคนอาจจดจำยอนได้จากซีรีส์ The Walking Dead เด็กส่งพิซซ่าหนีตายจากกองทัพซอมบี้ ก่อนหน้านั้นเขาวนเวียนอยู่ในงานหนังสั้น และเคยไปร่วมแสดงรับเชิญในซีรีส์มหาชน The Big Bang Theory ก่อนจะมาถึง Okja (2017, บอง จุนโฮ) และ Burning (2018, อี ชางดง) ที่ทำให้เขาได้กลับไปพูดภาษาเกาหลีหลังจากที่แทบไม่ได้ใช้เลยเพราะสภาพแวดล้อม ยอนเกิดในเกาหลีใต้ก็จริง แต่ครอบครัวของเขาย้ายออกมายังแคนาดาตั้งแต่เขายังเด็กมากจนแทบจะจำความใดๆ ไม่ได้เลย ก่อนจะลงหลักปักฐานอีกทีในมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
“ผมเลยเรียกตัวเองว่าเป็นคนเอเชีย-อเมริกันรุ่น 1.5 เพราะถึงยังไงก็เกิดในเกาหลี แต่อพยพมายังที่นี่ (สหรัฐอเมริกา)” เขาบอก “แล้วคนเกาหลีก็ชอบคิดว่าทางลัดที่จะทำให้นักแสดงเกาหลี-อเมริกันประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุดคือต้องไปทำงานในเกาหลี ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่ มันอาจมีคนพยายามทำแบบนั้นหลายคน แต่ผมเป็นคนอเมริกัน ผมรู้สึกกับที่นี่ แต่ถามว่าผมเป็นคนเกาหลีไหม ก็ใช่ พูดภาษาเกาหลีหรือเปล่า นั่นก็แน่นอน เข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีหรือไม่ ใช่อีกเหมือนกัน แต่ผมอยู่ที่นี่ไง ผมอยากมีตัวตนที่นี่”
ชีวิตวัยเด็กของยอนตัดสลับระหว่างการใช้ชีวิตในโบสถ์และโรงเรียน เขาเล่าว่าที่โบสถ์ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่คนเอเชียอาศัยอยู่ เขาจะเป็นเด็กแจ่มใสพูดจาฉะฉาน ขณะที่ในโรงเรียน เขาจะเป็นเด็กเงียบๆ อัธยาศัยดี “ลงเอยที่ผมมีคนรู้จักเยอะแต่ไม่ค่อยสนิทสนมกับใครเท่าไหร่” เขาเล่า ยอนใช้ชีวิตอย่างเป็นเด็กกลางห้องเรียบๆ ที่ไม่มีอะไรโดดเด่นนักเรื่อยมาจนจบการศึกษา
“ผมเป็นเด็กที่น่าเบื่อเอามากๆ ผมไม่มีความเห็นอะไรเลยไม่ว่าจะต่อเรื่องใดก็ตาม เลยเลือกสิ่งที่คิดว่าควรจะเลือก อย่างเช่น เวลามีคนถามว่าชอบฟังเพลงแบบไหนก็จะตอบว่าเพลงคลาสสิกทั้งที่ก็ไม่ได้ชอบ ผมเป็นเด็กแบบนั้นแหละ ไม่มีโปสเตอร์แปะที่ผนังห้อง คงมีไม้กางเขนสักอันสองอันแล้วก็รูปครอบครัว
“พ่อผมเป็นสถาปนิกในเกาหลี หน้าที่การงานก็ดีเลยแหละ แต่ตอนที่เขาต้องบินมาทำงานในมินนิโซตาแล้วเขาไปเห็นที่อยู่แถบหนึ่ง เขาก็คิดขึ้นว่าต้องย้ายมาลงรากที่นี่ และเริ่มชีวิตใหม่ทุกอย่างนับแต่นั้น
“ผมทำพ่อแม่ผิดหวังตั้งแต่อายุยังน้อยๆ อาจไม่ได้ไปทำให้เขาผิดหวังด้วยการตั้งเป้าว่าจะเป็นหมอหรืออะไร มันแค่ว่าพอผมลงเรียนวิชาชีววิทยาแล้วเอาคะแนนให้พวกเขาดูก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าอาชีพแพทย์นี่ไม่ใช่อาชีพสำหรับผมแน่ๆ”
และแม้ชีวิตในรั้วมัธยมจะเรียบง่ายและลุ่มๆ ดอนๆ บ้างเมื่อต้องเจอวิชาที่ไม่ถนัด แต่ก็ยังนับว่าเป็นช่วงเวลาแสนสุขของยอนเพราะเขายังได้อยู่ติดบ้านและคบหาสมาคมกับผู้คนในโบสถ์แถวบ้าน ก่อนจะมาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สาขาจิตวิทยาที่เขาบอกว่า “เบิกเนตรผมสุดๆ เพราะผมเป็นคนเอเชียคนเดียวในนั้นเลย จนต้องใช้เวลาหาที่ทางให้ตัวเองอยู่พักหนึ่ง”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาสำรวจความเป็นตัวเองอย่างถี่ถ้วนกว่าที่เคย โดยเฉพาะภายหลังจากการลงเรียนคลาสการแสดง จนเมื่อเรียนจบ เขาก็ยังเข้าร่วมชมรมการแสดงในชิคาโกต่อ ท่ามกลางสายตาวิตกกังวลของผู้เป็นพ่อแม่ที่เริ่มไม่เข้าใจว่าลูกชายกำลังทำอะไรอยู่
“พ่อแม่กับลุงๆ ป้าๆ ถึงกับไปบอกให้ลูกพี่ลูกน้องผมที่ชื่อมิกกีมาโน้มน้าวให้ผมเลิกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ ซึ่งเขาก็โทรศัพท์มาหาผมจริงๆ แต่แค่โทรมาบอกว่า ‘พวกพ่อแม่เขาสั่งให้ฉันโทรมาหานาย บอกให้นายหยุดทำเรื่องพวกนี้ซะ แต่ฉันแค่อยากบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ’ ”
อาจจะด้วยแรงหนุนของมิกกีผู้เป็นญาติ หรือความมั่นใจสิ่งที่เขากำลังทำท่ามกลางสายตากังขาของคนในครอบครัว ยอนก็ตัดสินใจมุ่งหน้าย้ายมาอยู่ในฮอลลีวูดด้วยวัยราวๆ 26 ปี
“ผมไม่ได้กลัวอะไรด้วยนะ พูดจริงๆ เหมือนว่าตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแล้วก็คิดว่า ‘ไปดีกว่า’ แล้วเดินไปบอกทุกคนว่าจะย้ายออกไปแล้วนะ แค่นั้นเอง
“ตอนที่บอกพ่อแม่ว่าอยากไปเป็นนักแสดง พวกเขาไม่ได้ว่าอะไรเลยนอกจากทำหน้าประหลาดใจแต่ก็ยังสนับสนุนผมอยู่แหละ ด้านหนึ่งอาจเพราะผมทำพวกเขาผิดหวังตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จากการที่ไม่เคยทำสิ่งที่พวกเขาขอร้องให้ได้เลย”
เช่นเดียวกับนักแสดงหน้าใหม่คนอื่นๆ เขาเข้ารับการออดิชันนับสิบๆ หน ลงเอยด้วยการไปปรากฏอยู่ในหนังสั้นฟอร์มเล็กเพื่อลองฝีมือหลายต่อหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ทำให้เขาต่างไปจากนักแสดงหน้าใหม่คนอื่นๆ จนอาจจะเรียกได้ว่า ‘ถูกหวย’ คือ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในฮอลลีวูดได้เพียงหกเดือน ออดิชันบทหนังทั้งใหญ่ทั้งเล็กด้วยความประหม่าจนพลาดหลุดมือก็หลายหน เขากลับคว้าบท ‘เกล็น’ เด็กส่งพิซซ่าใน The Walking Dead มาครอง “ใช่แล้ว อะไรแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรอก ผมจึงรู้สึกขอบคุณมากเหลือเกิน”
The Walking Dead กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของยอน เขากลายเป็นที่รักของแฟนๆ ซีรีส์ถึงขนาดที่ภายหลังซีซั่นที่ 7 ออกฉายรอบปฐมทัศน์ แฟนๆ หลายคนผิดหวังต่อบทลงเอยที่ตัวละครต้องเผชิญและกลายเป็นไวรัลไปอยู่พักใหญ่ “ผมรู้ฉากที่ตัวละครต้องตายมาพักใหญ่ๆ แล้ว และพูดจริงๆ นะ ผมเฝ้ารอฉากนั้นมาตลอดเลย ตื่นเต้นที่จะได้โดนหวดกะโหลกเข้าให้สักป้าบ” เขาบอก “แต่ว่าการไม่ได้แสดงใน The Walking Dead ก็ทำให้ผมตั้งคำถามถึงตัวตนของตัวเองอย่างหนักเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะร่วมแสดงมานานนะ แต่เพราะผมต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่เกือบตลอดเวลาต่างหาก (การสวมบทเป็นเกล็น) ทำให้สิ่งนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แล้วพอออกจากซีรีส์ ผมก็มีลูกและเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาดื้อๆ ตอนนั้นแหละที่รู้สึกว่า ‘เอาแล้ว ต้องรับผิดชอบชีวิตอย่างจริงๆ จังๆ แล้วสิ’ ”
การออกมาจากจักรวาล The Walking Dead ทำให้เขาควานหาบทบาทที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม และนั่นผูกโยงมาถึงเรื่องความหลากหลายของบทตัวละครเอเชีย-อเมริกันด้วย
“เวลาเขาคัดนักแสดง เขาก็ควานหาคนที่เหมาะสมสำหนับบทนั่นแหละ แม้ว่าในบทนั้นจะไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นคนเอเชีย แต่ระหว่างที่คัดเลือกนักแสดง มันก็อาจมีเหตุผลบางประการที่เจือเข้ามาก็ได้ว่าทำไมนักแสดงที่รับบทนี้ต้องเป็นคนเอเชีย อาจเพราะคนเอเชียเหมาะกับบทจริงๆ หรือไม่ก็เพราะคนที่คัดเลือกเขามีมายาคติบางอย่างต่อคนเอเชียและเลือกเอาคนเอเชียมารับบทบางอย่าง”
และนั่นเป็นจังหวะที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดสองคนในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ Okja ของ บอง จุนโฮ กับ Burning ของ อี ชางดง ที่แม้ตัวละครที่เขารับบทจะเป็นชาวเกาหลีใต้เหมือนกัน แต่ก็ต่างกันสุดขั้ว เพราะในหนังของบองนั้นเขารับบทเป็น ‘เค’ นักเคลื่อนไหวเพื่อนสิทธิสัตว์บุคลิกโผงผาง พูดภาษาเกาหลีแบบหยาบๆ และในหนังของอี ชางดง เขารับบทเป็น ‘เบน’ หนุ่มชนชั้นสูงผู้สุภาพแต่เปล่งรังสีคุกคามทุกลมหายใจ และมันกลายเป็นการแสดงที่ถูกพูดถึงเป็นลำดับต้นๆ ของเขาทั้งในเกาหลีและในอเมริกาเอง “ผมเกือบไม่ได้รับบทนี้ด้วยซ้ำ คุณลองเอาบทเบนวางไว้ในเกาหลีสิ ไม่มีใครนึกถึงผมหรอก มีนักแสดงอีกมากหมายที่เหมาะสมกับบทนี้” ยอนเล่า แต่อาจเพราะสายตาอันแหลมคมของอี ชางดงที่เห็นสภาวะ ‘เป็นอื่น’ ที่ติดตัวมากับยอน ทำให้เขาถูกเรียกไปคัดเลือกบทนี้ในเวลาต่อมา
“ผมคิดว่าเขาคงเห็นว่าผมเป็น ‘ไอ้หนุ่มเกาหลี-อเมริกันที่หากฉันทำให้เขาดูเป็นคนเกาหลีตามบทเบนอย่างเต็มตัวได้ ความเป็นอเมริกันในตัวเขาน่าจะไปสร้างความรู้สึกเป็นอื่นให้คนดูในเกาหลีใต้ได้ดีเหมือนกัน’ นั่นเพราะว่าเบนเป็นคนเกาหลีใต้ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเขาก็ไม่ได้มีความเป็นเกาหลีขนาดนั้นด้วย”
ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อี ชางดงเลือกเขามารับบทนี้จริงๆ เพราะตัวละครเบนคือชายที่กำหางเสือความคลุมเครือ มืดมิดและอำมหิตของหนังไว้ทั้งเรื่อง “ผมว่าสตีเฟน ยอนมีสิ่งนี้อยู่ในตัว” อีบอก “ถ้าคุณเคยดูเขาใน The Walking Dead ซึ่งตัวละครที่เขารับบทนั้นเป็นคนจิตใจดีมากๆ และผมอยากลองสร้างตัวละครที่ลึกลับ คาดเดาไม่ได้ขึ้นมาจากสตีเฟน ยอนที่รับบทนี้มาตลอดดู”
“มันกลายเป็นว่าผมรู้สึกถึงความเป็นอื่นของตัวเองในทุกสถานการณ์เลย ตอนไปถ่ายทำในเกาหลี มันก็มีความรู้สึกเหมือนถูกย้ำเสมอว่าผมไม่ใช่คนเกาหลีเต็มตัว ผมพูดเกาหลีได้ก็จริงแต่ยังมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ที่ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้โตที่นั่น”
และ Minari ภาพยนตร์ที่ส่งเขาเข้าชิงนำชายยอดเยี่ยมก็ได้สร้างแรงสะเทือนในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดจากบท ‘เจคอบ’ ชายชาวเกาหลีที่อพยพครอบครัวมายังสหรัฐฯ ในยุค 80s ตลอดจนการตั้งคำถามต่อสังคมอเมริกันอย่างลึกล้ำ ทั้งในแง่เนื้อหาของหนังหรือแม้แต่จากตัวหนังเอง เมื่อมันเข้าชิงและคว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของเวทีลูกโลกทองคำ แต่ไม่อาจเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมได้ นำมาสู่คำถามว่าเงื่อนไขในการสร้างกฎนี้ของเวทีคืออะไร เหตุผลใดที่ทำให้หนังซึ่งพูดภาษาอังกฤษ-เกาหลีแต่มีสถานะเป็นหนังสัญชาติอเมริกันกลับไม่ได้เข้าชิงในสายนี้อย่างหนังภาษาอังกฤษเรื่องอื่นๆ
“ผมโกรธมาก กฎพวกนี้ไม่มีทางเข้าใจหรือให้ภาพความซับซ้อนของชีวิตจริงได้เลย ความรู้สึกที่มีต่อหนังที่ว่าด้วยประสบการณ์การเป็นคนเอเชีย-อเมริกันที่ด้านหนึ่งมันแบกเอาความ ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ ติดตัวเสมอ เป็นคนนอกของสังคม เป็นคนที่จะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา และไม่ว่ากฎนั้นมันจะมีพื้นมาจากอะไร มันก็มีส่วนหนึ่งที่มาจากฐานความคิดแบบนี้แหละ ผมภูมิใจมากๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์หนัง (นอกจากแสดงนำแล้ว เขาร่วมโปรดิวซ์หนังด้วย) ที่พูดถึงความรู้สึกที่ว่านี้อย่างตรงไปตรงมา และท้าทายต่อระบบที่มันทำลายเราอยู่เสมอ” ยอนพูดถึงการที่ Minari ไม่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมและถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศของเวทีลูกโลกทองคำ
และในช่วงเวลาที่ความเกลียดชังแพร่สะพัดไปทั่วอเมริกา อุตสาหกรรมฮอลลีวูดและออสการ์ก็ส่งสัญญาณยืนหยัดต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติผ่านการฉายแสงไปยัง Minari หนังจากผู้กำกับชาวเกาหลี-อเมริกัน และพูดถึงเรื่องราวคนเกาหลี-อเมริกันในยุคเปลี่ยนผ่าน หนังเข้าชิงหกสาขารวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับ-เขียนบทยอดเยี่ยม ท้าทายและตั้งคำถามต่อความเคียดแค้นชิงชังและความรุนแรงอันไร้เหตุผลที่มีต่อชาวเอเชีย-อเมริกันในศตวรรษนี้
ภาพ: Reuters
Tags: Academy Awards, ออสการ์, Screen and Sound, Minari