*บทความนี้มีการอ้างอิงข้อความและเปิดเผยเนื้อหาในวรรณกรรมบางส่วน
‘ขัปปะ’ เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว เขียนโดย ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น (ค.ศ. 1892 – 1927) ผู้เขียน ‘ราโชมอน’ ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี อะคุตะงาวะมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสมัยไทโช เรื่องนี้เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารคะอิโซเมื่อปี ค.ศ.1927 ก่อนที่อะคุตะงาวะจะเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเพียง 4 เดือน
เนื้อเรื่องเล่าถึงสภาพสังคมของขัปปะผ่านสายตาของ ‘ผม’ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ป่วยหมายเลข 23 ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง และเคยพลัดหลงเข้าไปในเมืองขัปปะโดยบังเอิญ ในดินแดนขัปปะ ผู้อ่านจะได้พบกับขัปปะที่มีอาชีพต่างๆ ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์ ทั้งนักศึกษา แพทย์ ผู้พิพากษา นักธุรกิจ นักการเมือง ตำรวจ นักปรัชญา กวี ร่างทรง นักดนตรี และท่านผู้เฒ่าผู้นำทางจิตวิญญาณ
ขัปปะเป็นสัตว์ในจินตนาการของชาวญี่ปุ่น มักปรากฎตัวในนิทานพื้นบ้าน ตำนานต่างๆ คำพังเพย รวมถึงการ์ตูนและอนิเมชั่นยุคใหม่ ขับปปะมีนิสัยซุกซน ขี้แกล้ง หรืออาจมีภาพลักษณ์โหดร้ายในบางตำนาน แม้ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักกันดี แต่ก่อนที่อะคุตะงาวะจะตีพิมพ์เรื่องนี้ ยังไม่เคยมีผลงานหรือวรรณกรรมเรื่องใดที่หยิบยกขัปปะมาเป็นตัวละครเอกและมีบทบาทมากเท่าเรื่องนี้ นักวิชาการในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นมักนิยามว่าเรื่องนี้เป็นแนว ‘เสียดสีสังคม’ อะคุตะงาวะเคยเล่าว่าเขาเขียนเรื่องนี้ในสไตล์ ‘กัลลิเวอร์ผจญภัย’ ของโจนาธาน สวิฟท์ แต่ฉันขอสรุปแก่นของเรื่องนี้ด้วยคำว่า ‘เสียดสีสังคมมนุษย์’
จากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันผูกพันกับงานเขียนเรื่องนี้มายาวนาน เริ่มตั้งแต่สมัยเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ฉันได้รู้จักเรื่องขัปปะโดยบังเอิญระหว่างที่ไล่สายตาไปตามชั้นหนังสือในห้องสมุด หยิบมาอ่านในตอนนั้นโดยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่กลับประทับใจในสำนวนภาษาที่เรียบง่ายและเนื้อเรื่องที่ลึกซึ้งระดับที่ยกให้เป็นหนังสือเล่มโปรดอันดับต้นๆ จากนั้นเมื่อต้องเลือกหัวข้อวิจัยอิสระในชั้นเรียนปี 4 ฉันจึงขลุกอยู่กับขัปปะตัวเดิมอีกครั้ง และลากยาวถึงปริญญาโท แม้จะหยิบผลงานเรื่องอื่นๆ มาประกอบการทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวรรณกรรมญี่ปุ่นด้วย แต่เรื่องขัปปะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย
วันนี้ เมื่อได้มีโอกาสกลับมาอ่านอย่างละเอียดอีกครั้งเมื่ออายุใกล้เคียงกับผู้เขียน ฉันพูดได้เต็มปากว่า เสน่ห์ของเรื่องยังเต็มเปี่ยม และยังทำให้ต้องหยุดคิดระหว่างบรรทัดเหมือนเคย
…..
อะไรในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ติดค้างอยู่ในความทรงจำ ประเด็นแรกคงหนีไม่พ้น การบรรยาย ‘สังคมขัปปะ’ โดยแฝงน้ำเสียงเชิงเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานต่างๆ ในสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว กรรมพันธุ์ การเซ็นเซอร์งานศิลปะโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เบื้องหลังกลยุทธ์การทำธุรกิจ ความเจริญของเทคโนโลยีและเครื่องจักร และความน่าเชื่อถือของสถาบันศาสนา ฯลฯ สังคมขัปปะของอะคุตะงาวะทำให้ไม่อาจตอบได้เต็มปากว่า แบบไหนคือสิ่งถูก แบบไหนคือสิ่งผิด และอะไรกันที่เรียกว่าบรรทัดฐานของสังคม
บางประเด็นนั้นเกี่ยวพันกับประวัติส่วนตัวของอะคุตะงาวะอย่างลึกซึ้ง แม่ของเขามีอาการของโรคจิตเภท เขาจึงกังวลอยู่ตลอดว่าตนเองจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน ประเด็นเรื่องระบบครอบครัวและกรรมพันธุ์จึงสะท้อนออกมาในผลงานซึ่งถือเป็นคำถามเชิงขบถในสังคมเอเชียที่เทิดทูนและให้ความสำคัญกับครอบครัวเหนือสิ่งใด อะคุตะงาวะแฝงความคิดเรื่องนี้ไว้ในเนื้อหาของหนังสือ ‘คำของคนโง่’โดยขัปปะนักปรัชญามัค ว่า “สิ่งที่กำหนดโชคชะตาชีวิตของเรา ก็มีความเชื่อ สิ่งแวดล้อม และโอกาสเท่านั้นเอง (ท่านทั้งหลายน่ะอยากจะเพิ่มกรรมพันธุ์เข้ามาเป็นอย่างที่ 4 ใช่ไหมเล่า)”
สำหรับประเด็นเรื่องสังคม เมื่อแรงงานขัปปะถูกไล่ออกเพราะนายทุนนำเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ กฎหมายขัปปะอนุญาตให้ ‘กินเนื้อกันเอง’ เพื่อลดจำนวนประชากร และตัดปัญหาเรื่องความเครียดที่ตกงานจนต้องฆ่าตัวตาย ประเด็นนี้ทำให้ฉันหยุดชะงัก เรื่องนี้ฟังดูโหดร้าย แต่ใครกันที่มีสิทธิตัดสินความถูกผิดในเรื่องนี้
อะคุตะงาวะไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละประเด็นมากนัก และไม่ได้นำเสนอวิธีแก้ไขใดๆ อีกทั้งเรื่องราวยังขมวดจบอย่างรวดเร็วโดยไม่มีทางออก แนวเขียนแบบนี้อาจเป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเป็นผู้ต้องหาในการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมยุคนั้นซึ่งญี่ปุ่นประสบปัญหามากมาย เช่น การเข้าร่วมสงครามโลก ภาวะยากจน และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตามแนวคิดเสรีนิยม อย่างไรก็ตาม บรรยากาศคลุมเครือในสไตล์อะคุตะงาวะเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นบรรยากาศแห่งยุคสมัยได้ดี ตัวละครต่างหวาดหวั่นและไม่มั่นใจกับอนาคตของระบบหรือโครงสร้างให้สังคม นั่นทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับยุคปัจจุบัน และยังมีความเป็นสากลแม้จะผ่านไปเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม
นอกจากประเด็นเรื่องบรรทัดฐานทางสังคมแล้ว คำว่า ‘คนชายขอบ’ ก็น่าจะเป็นอีกคีย์เวิร์ดหนึ่งที่สำคัญในเรื่องนี้ เมื่อมองจากสายตาของ ‘คนไข้หมายเลข 23’ ซึ่งไม่ใช่คนกลุ่มหลักของสังคม รวมทั้งการเสียดสีสถานะ ‘ผู้ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ’ ซึ่งตัวเอกของเรื่องได้รับในดินแดนขัปปะ (เนื่องจากเป็นคนต่างถิ่น) กลับเสียดสีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นได้อย่างเจ็บแสบ
อะคุตะงาวะแต่งเรื่องนี้ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในขณะนั้นรัฐบาลในประเทศต่างๆ พยายามบัญญัติบทกฎหมายเพื่อควบคุมชนกลุ่มน้อย และในญี่ปุ่นเองก็เกิดกฎหมายคุ้มครองชาวพื้นเมืองเก่าแก่ในฮอกไกโด หรือชาวไอนุขึ้นมา สถานะ ‘ผู้ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ’ ในเรื่องขัปปะไม่ต้องทำงาน และได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยม จึงเป็นการล้อเลียนกฎหมายคุ้มครองชนกลุ่มน้อยที่มักลดทอนสิทธิพื้นฐานของคนชายขอบ ไม่อาจได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองทั่วไป เนื่องด้วยกฎหมายต้องเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของรัฐ
เนื่องในโอกาสที่ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ฉันขอกล่าวยกย่องว่า นี่คือผลงานสุดคลาสสิคเรื่องหนึ่งที่จะเปิดโลกนักอ่านสู่วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้ไม่ยาก หากยังลังเลใจว่าเนื้อเรื่องจะถูกใจหรือไม่ ขอแนะนำให้เปิดข้ามไปอ่านบทกวีของขัปปะชื่อทคในช่วงท้ายเล่ม
“มาเถอะ ลุกขึ้นแล้วพากันไป
สู่หุบเขาที่แบ่งโลกนี้
ดินแดนที่โขดหินตระหง่าน
น้ำในลำธารใสไหลเย็น
และสมุนไพรชูดอกส่งกลิ่นจขร”
Fact Box
- ‘ขัปปะ’ / ผู้เขียน : ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ / ผู้แปล : กัลยาณี สีตสุวรรณ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม