จบไปสดๆ ร้อนๆ กับการเลือกตั้งที่ทั่วโลกจับตามอง แถมยังสูสีด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างกันหลักหมื่น เล่นเอาคนดูใจหายใจคว่ำนอนหลับไม่สนิทไปหลายคืน วันนี้ชัดเจนแล้วว่า ผู้คว้าชัยในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีลำดับที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา คือโจเซฟ อาร์. ไบเดน จูเนียร์ จากพรรคเดโมแครต ที่เฉือนชนะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไปอย่างฉิวเฉียด
หากใครเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในวันเลือกตั้งก็คงจะพอทราบนะครับว่าแค่ไบเดนคะแนนนำก็ทำเอานักลงทุนไทยดีใจจนเนื้อเต้น เพราะที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ทำตัว ‘ไม่น่ารัก’ กับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมางเมินการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ทั้งใส่ชื่อมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามเข้าบัญชีเฝ้าระวังของกลุ่มประเทศ ‘ปั่นค่าเงิน’ ประกาศถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก แถมก่อนวันเลือกตั้งไม่นานยังแผลงฤทธิ์ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของไทยโดยจะเริ่มมีผลสิ้นปีนี้
แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่กลุ่มประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายแบบ ‘ฟาดงวงฟาดงา’ ของทรัมป์ เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างก็หวาดหวั่น ว่าเมื่อไหร่ทรัมป์จะแผลงฤทธิ์ตั้งกำแพงภาษีด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติหรือองค์การอนามัยโลก ก็หนีไม่พ้นความไม่พอใจของท่านอดีตประธานาธิบดี
แม้ทั่วโลกจะระส่ำระสาย แต่ผลงานด้านเศรษฐกิจของทรัมป์กลับโดดเด่นเป็นประวัติการณ์ ทรัมป์เปิดทางให้ภาคธุรกิจแสดงฝีมือเต็มที่ โดยการลดภาษีและกระบวนการภาครัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากซึมยาวนานเพราะวิกฤติซับไพรม์ ภายใต้การนำของทรัมป์ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ราคาหุ้นพุ่งทะลุเพดาน ค่าจ้างแรงงานกลุ่มที่ยากจนที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์แรกเพิ่มสูงถึง 4.7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่อเมริกันชนจำนวนไม่น้อยยังคงลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
แต่สิ่งที่ทรัมป์คาดไม่ถึง คือการระบาดของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนอเมริกันจำนวนมหาศาล รัฐบาลทรัมป์ตั้งรับกับวิกฤติดังกล่าวอย่างโกลาหล กระทั่งชื่อตนเอง ภรรยา และทีมงานอีกจำนวนไม่น้อยอยู่ในลิสต์ของผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ทรัมป์นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังต่อประเทศจีน โดยการกล่าวถึงโควิด-19 ว่าเป็น ‘Chinese Virus’ อย่างสม่ำเสมอ สร้างรอยแผลร้าวลึกในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ย่ำแย่ลงอยู่แล้วจากสงครามการค้า
คนจำนวนไม่น้อย (รวมถึงตัวผมเอง) อดไม่ได้ที่จะถอนหายใจอย่างโล่งอก เมื่อไบเดนคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่นโยบายเศรษฐกิจของไบเดนเป็นอย่างไร สงครามการค้ากับจีนยังจะมีต่อหรือไม่ และนโยบายดังกล่าวจะกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ
สหรัฐฯ-จีน ความสัมพันธ์ที่ยังคงคุกรุ่น
บางคนมองว่าการคว้าชัยของไบเดน อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจดีขึ้นทันตา แต่ความฝันนั้นอาจยากที่จะเป็นความจริง เพราะเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เริ่มเบียดเข้าใกล้มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างสองประเทศจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ที่ตัวผู้นำอย่างที่หลายคนเข้าใจ
หากเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ โลกหนึ่งใบก็คงไม่พอสำหรับสองประเทศมหาอำนาจ
ความพยายามกีดกันจีนนั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา แม้ว่าจะไม่โฉ่งฉ่างโดยการตั้งกำแพงภาษีแบบประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ความพยายามก่อร่างสร้างกลุ่มการค้าตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกโดยไม่มีจีนเข้าร่วม ก็เป็นท่าทีชัดเจนของความไม่ลงรอยกัน วันนี้ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจได้ล่วงผ่านจุดที่จะถอยหลังกลับ เพราะเสียงในสภาไม่ว่าจะเป็นฝั่งรีพับลิกันหรือฝั่งเดโมแครตต่างก็มองว่าจีนคือภัยคุกคามสำคัญต่อโลกใบที่อเมริกาเป็นผู้กำหนดกระแสและค่านิยมที่ทั่วโลกยึดถือ
ท่าทีของไบเดนต่อจีนนับว่าแข็งกร้าวสำหรับนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการค้าเสรี โดยเขาให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมจะใช้มาตรการทางภาษีเช่นเดียวกับยุคทรัมป์ แต่จะเป็นการดำเนินการเชิง ‘กลยุทธ์’ มากกว่าใช้เป็นนโยบายหลักในการตอบโต้ ไบเดนชูนโยบาย “ซื้อของอเมริกัน (Buy American)” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน เขาก็พร้อมจะจับมือกับเหล่าประเทศ ‘มหามิตร’ ที่ยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยเพื่อตอบโต้วิธีปฏิบัติทางธุรกิจที่เลวร้าย ซึ่งในที่นี้ก็คือประเทศจีนนั่นเอง
ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างสองประเทศก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม แต่วิธีการจะเปลี่ยนจาก ‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ’ แบบทรัมป์ สู่การใช้การทูตสร้างพันธมิตรแบบพหุภาคีเพื่อกดดันให้จีนดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระเบียบโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนด
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหามิตรที่ขาดไม่ได้ในการต่อกรจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีแข็งกระด้างของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยหันหน้าไปซบอกมหาอำนาจกำเนิดใหม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกอย่างเต็มที่ ทำตัวเป็นนายทุนใหญ่ใจกว้างปล่อยสินเชื่อแบบทวิภาคีกับหลากหลายประเทศทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกาเพื่อสานฝันโครงการแถบและทาง (Belt and Road Initiative) ทุ่มเงินลงทุนมูลค่ามหาศาลเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์จนประเทศปลายทางต้องเกรงใจ แถมยังมีเงื่อนไขไม่มากนัก โดยเฉพาะจุดยืนของจีนว่าด้วยการ ‘ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศของลูกหนี้’ ทำให้เหล่าประเทศภายใต้การนำของเผด็จการทหารตาลุกวาว
แต่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นค่อนข้างนุ่มนวล โดยมีการระบุว่าจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในลักษณะพหุภาคี หลายคนมองว่าสหรัฐฯ อาจพิจารณาที่จะกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งเป็นความตกลงฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าประธานาธิบดีไบเดนจะเดินหน้าทางการทูตในแถบเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มพิกัด เพื่อหวังคานอำนาจกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง โดยที่ปรึกษาคนสำคัญยังระบุอีกว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะเข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มประเทศอาเซียนในประเด็นที่มีความสำคัญด้วยตนเอง แม้ว่าคำสัญญาดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงประสิทธิผลจากการประชุมที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสัญญะทางการเมืองว่าสหรัฐฯ จะไม่มองอาเซียนอย่างหมางเมินเฉกเช่นในยุคของทรัมป์
แน่นอนว่าท่าทีดังกล่าว ย่อมทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจกับทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ปัญหาสำคัญระหว่างอเมริกากับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจอยู่ที่คุณค่าและบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน รัฐบาลทรัมป์เคยพยายามฉายภาพความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าคือการปะทะระหว่างโลกเสรีและโลกเผด็จการ แต่การเปรียบเปรยดังกล่าวอาจไม่กินใจเหล่าผู้นำในแถบอาเซียนสักเท่าไหร่
หากสหรัฐฯ ต้องการจะซื้อใจเหล่าประเทศอาเซียนเพื่อร่วมจำกัดอิทธิพลของจีน อาจต้องเริ่มต้นหนุนเสริมค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ รวมถึงประชาธิปไตยให้หนักแน่น ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่มั่นใจว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ
ประเทศไทยเดินหน้าอย่างไรดี?
ท่าทีที่แข็งกร้าวน้อยลงของสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางนโยบายที่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อประเทศขนาดเล็กที่เน้นการส่งออกอย่างไทย ส่วนความสัมพันธ์ที่คุกรุ่นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็อาจสร้างประโยชน์ให้กับไทยเพราะสามารถส่งออกสินค้าทดแทนไปยังทั้งสองประเทศซึ่งเป็นผลดีในระยะสั้น
หากสงครามการค้ายืดเยื้อ จนเหล่านายทุนเลือกย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ไทยเองก็อาจได้รับผลประโยชน์เช่นกันในฐานะฐานการผลิต แต่ปัจจุบัน ไทยยังไม่ได้รับประโยชน์ในจุดนี้มากนัก เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่กลับไหลไปที่ประเทศเวียดนามซึ่งได้เปรียบกว่าไทยหลายด้าน ทั้งประชากร ศักยภาพในการเติบโต ต้นทุนค่าแรง และข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนมากที่เวียดนามทำกับประเทศคู่ค้า การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติจึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลไทยต้องตีให้แตก เพื่อรับประโยชน์จากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนรัฐบาลไทยควรเข้าข้างใครนั้น ผู้เขียนมองว่าอย่างเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ ให้จินตนาการว่าตัวเองเป็นหนุ่มสาวเนื้อหอมที่สองมหาอำนาจอยากจะมาจีบ ไทยต้องแต่งตัว แต่งหน้า รักษาความเนื้อหอมเอาไว้ คอยรับ ‘ความช่วยเหลือ’ พิเศษต่างๆ จากทั้งสองฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเหล่าประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมฉกฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการปะทะกันของสองขั้วอำนาจ
เอกสารประกอบการเขียน
What Would a Biden Administration Mean for Southeast Asia?
What would a Biden presidency mean for Asia?
The Very Strong Case for Bidenomics
Bidenomics: the good the bad and the unknown
สหรัฐฯ VS จีน: สองมหาอำนาจ หนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ และสิ่งที่ไทยควรทำ
Tags: เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020