อาชญากรรมและการลงทัณฑ์
เมื่อหลายปีก่อน หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ความพยาบาทเป็นของหวาน’ จากละครเรื่อง ‘ล่า’ โดยเป็นคำพูดที่ครูชาวญี่ปุ่นที่สอนตัวละคร ‘มธุสร’ แต่งหน้าไปฆ่าล้างแค้นทรชนที่ข่มขืนลูกของเธอจนเป็นบ้า ว่าเป็น ‘คติแบบญี่ปุ่น’ ที่ต้องแก้แค้น และหลายคนเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘revenge better served cold’ ซึ่งเป็นพังเพยฝรั่ง ความหมายว่า ‘การล้างแค้นจะดีกว่าเมื่อมันถูกกระทำในภาวะที่ผู้ถูกล้างแค้นตายใจ หรือไม่รู้แล้วว่าถูกล้างแค้นด้วยเรื่องอะไร’ served cold คือการเก็บความแค้นไว้ชำระทีหลัง เพื่อหากลเม็ดเด็ดพรายให้ผู้ถูกล้างแค้นเจ็บปวดที่สุดจนถึงตาย ไม่ใช่การล้างแค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ที่พุ่งเข้าห้ำหั่นกันทันที
มนุษย์ หรือสัตว์บางชนิดมีสัญชาตญาณในการตอบโต้เอาคืนเมื่อถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกกระทำให้เกิดความคุมแค้น ทั้งกระทำตอบโต้เองหรือพรรคพวกเพื่อนพ้องเป็นฝ่ายกระทำการล้างแค้น ซึ่งในความมีอารยธรรมของมนุษย์ ทำให้มีการคิดค้นระบบยุติธรรม โดยใช้ตัวกลางคือศาล กระบวนการยุติธรรมมาเป็นผู้กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม แทนการใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้การชำระแค้นนั้นมีโอกาสกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วขยายความรุนแรงออกไปอย่างไม่จบสิ้น กระบวนการยุติธรรมถูกพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยในช่วงหลัง ๆ มีการนำเอาแนวคิดแบบมนุษยนิยมเข้ามากำกับ
แนวคิดแบบมนุษยนิยมคือการเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่หากคนทำผิดเข้ารับกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ดี ก็จะมีโอกาสปรับตัวและเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อสังคม ได้ไถ่บาป และในความเป็นสัตว์สังคม มนุษย์ย่อมมีความเกี่ยวพันกับคนรอบตัวทั้งระดับสายเลือดและระดับสังคม การล้างแค้นที่รุนแรงถึงความตาย อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่อาชญากรนั้นเกี่ยวข้องด้วย เช่นเราอาจรู้ว่า อาชญากรสักคนหนึ่งวางแผนก่อเหตุรุนแรงและทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีเหตุผลทางอารมณ์เพราะถูกกระทำมาอย่างยาวนาน แต่ขณะเดียวกัน อาชญากรคนนั้นก็มีลูกเล็ก หรือพ่อแม่แก่เฒ่าที่ต้องดูแล ซึ่งเมื่อเทียบสิ่งที่เขาโดนมากับสิ่งที่เขาก่อ เขาอาจเป็นคนน่าสงสารคนหนึ่ง
ประเด็นหนึ่งที่มุ่งหวังเรียกร้องให้การลงโทษใช้การขัดเกลาทางสังคมแทนการประหารให้สิ้นชีวิต คือเพื่อป้องกันการประหารผิดตัวและไม่สามารถชดใช้ชีวิตให้ผู้ถูกประหารได้แล้ว ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่นำเสนอภาพนี้แบบค่อนข้างสุดโต่ง คือเรื่อง The Life of David Gale (ฉาย พ.ศ.2546) ตัวเดวิด เกล แสดงโดยเควิน สเปซี่ย์ เป็นผู้ที่ต่อต้านโทษประหาร และทุ่มชีวิตกับอุดมการณ์ของตัวเองจนกระทั่งวางแผนจัดฉากฆาตกรรมและโดนโทษประหาร ก่อนที่นักสืบหญิง (เคท วินสเลท) จะมาพบหลักฐานจากสิ่งที่เดวิด เกล ทิ้งไว้ว่า มันคือการจัดฉากให้ตัวเองถูกประหาร โดยคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันพร้อมจะตกเป็นเหยื่อเพื่อส่งเสียงตะโกนก้องไปยังสังคม
ทั้งแนวคิดมนุษยนิยมและแนวคิดชดใช้ด้วยชีวิต ยังเป็นแนวคิดที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ว่าอะไรดีกว่ากัน บางคดีอาชญากรรมที่โหดเหี้ยม สะเทือนขวัญมาก ประชาชนในสังคมอาจเชื่อว่า ผู้ก่อเหตุมีสภาพจิตของความเป็นอาชญากรเต็มรูปแบบ ซึ่งกระบวนการขัดเกลาทางสังคมไม่สามารถใช้ได้นอกจากประหารให้ตายตกไปตามกัน เพราะออกมาก็มีโอกาสก่อเหตุซ้ำเรื่อยๆ เราต่างก็คงเคยทราบว่ามีหลายคดีที่ผู้ก่อเหตุออกจากคุกแล้วมาก่อเหตุซ้ำอีก เช่น กรณีนายหนุ่ย หรือติ๊งต่าง ซึ่งเป็น ‘ประชากรตกขอบ’ ไม่เคยอยู่ในการสำรวจของสำมะโนประชากร ก่อเหตุฆ่าข่มขืนเด็กวัย 6 ขวบในปี พ.ศ.2556 เมื่อสู่กระบวนการศาลก็พบความจริงน่าตื่นตะลึงว่า อาชญากรรายนี้สารภาพว่าเคยข่มขืนเด็กมาแล้วกว่า 10 ครั้งและฆ่าเหยื่อ 4 ครั้ง และก่อนจะเกิดคดีในปี 2556 ก็เพิ่งพ้นโทษจากคดีอื่นมา
เป้าหมายของการลงโทษที่สำคัญที่สุด คือการเยียวยาจิตใจเหยื่อหรือครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อ แต่วิธีใดเล่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว บาดแผลทางกายหรือใจก็ยังอยู่กับเหยื่อและครอบครัวตลอดไป แม้อาชญากรถูกประหารแต่ความทรงจำจะหวนกลับมาทำร้ายเหยื่อและผู้เกี่ยวข้องกับเหยื่อได้เป็นระยะ เหยื่อและครอบครัวอาจเจ็บปวดเมื่อเห็นว่า อาชญากรได้รับการลดโทษจนสามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีก แต่ความตายของอาชญากรคือการ ‘รับประกันความพึงพอใจของเหยื่อและครอบครัว’ ได้เสมอไปจริงหรือ ? อย่างในประเทศไทย เราถูกสอนด้วยคติพุทธว่า ‘เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร’ ก็อาจทำให้เหยื่อและครอบครัวเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจว่า เรา ‘พอ’ หรือไม่กับการชดใช้ที่ได้รับแบบชีวิตแลกชีวิต โดยกระบวนการยุติธรรมที่ให้คนกลางมาจัดการ
ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป
แก่นหลักของนิยายเรื่องนี้คือการทำความเข้าใจกับสิ่งที่กล่าวมาว่า ‘แล้วการชดใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสม’ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนวนิยาย เรื่องเปิดด้วยการเล่าถึงซาโอริเด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไปแอบคบกับฟูมิยะ เด็กหนุ่มรุ่นพี่ และเปิดปมนั้นทิ้งค้างไว้ ก่อนจะเปิดฉากใหม่ เล่าถึงครอบครัวๆ หนึ่งคือครอบครัวของนากาฮาระกับซาโยโกะ มีลูกสาววัยแปดขวบชื่อมานามิ วันหนึ่ง เด็กหญิงถูกฆาตกรรมโดยพบศพถูกเทปกาวมัดมืดมัดเท้า และเอาลูกบอลอุดปากไว้ในห้องน้ำ จากการสืบสวนแกะรอยของตำรวจพบว่า มีขโมยบุกเข้ามาในบ้านในช่วงที่ซาโยโกะออกไปธุระข้างนอกชั่วครู่ และต่อมาขโมยคนนั้นคือฮิรูคาวะถูกจับได้ ซึ่งฮิรูคาวะเป็นคนที่ต้องทัณฑ์บนในคดีอื่นอยู่ด้วยซ้ำ เขาเพิ่งออกจากเรือนจำ ใช้ชีวิตแบบคนเร่ร่อน ชอบเสี่ยงดวงตามร้านปาจิงโกะ
เมื่อบุกเข้าไปขโมยของก็พบว่ามีเด็กหญิงอยู่ในบ้าน ฮิรูคาวะอ้างว่าตัวเองไม่ได้มีเจตนาจะทำให้มานามิถึงตาย เพียงแค่ให้เงียบ และพยายามอ้างการสำนึกผิดต่างๆ นานา โดยฮิราอิ ทนายจำเลยพยายามสู้คดีให้ฮิรูคาวะ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องโดนโทษประหารชีวิตเนื่องจากเป็นการก่อคดีซ้ำซาก แต่ความตายของฮิรูคาวะไม่ได้ทำให้ครอบครัวนากาฮาระรู้สึกถึงการได้รับการชดใช้ ครอบครัวเขาแตกสลายไปแล้วเพราะ ‘จุดร่วมแห่งการมีชีวิตครอบครัว’ ของพวกเขาสูญเสียไปแล้ว ซาโยโกะขอหย่าขาดจากฮิรูคาวะหลังจากนั้น โดยที่เขาก็ไม่ได้ติดตามชีวิตของอดีตภรรยามากนัก
หลายปีต่อมา นากาฮาระได้รับการติดต่อจากตำรวจว่า ซาโยโกะถูกฆ่าตาย โดยชายสูงอายุคนหนึ่งที่มีประวัติแทบจะคล้ายคลึงกับฮิรูคาวะ ความสงสัยในคดีนี้ทำให้เขาต้องพยายามแกะรอยว่าเกิดอะไรขึ้น และพบว่าช่วงที่ซาโยโกะหายไป เธอเบนเข็มชีวิตตัวเองไปเป็นนักเขียนนักรณรงค์ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องระบบการลงทัณฑ์ที่ชีวิตต้องชดใช้ด้วยชีวิต การสืบสาวคดีของซาโยโกะ ทำให้นากาฮาระเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของซาโอริและฟูมิยะที่เรื่องเปิดไว้ข้างต้น ซึ่งต่อมา ทั้งคู่ต่างแยกย้ายกันไปมีชีวิตคนละทาง ฟูมิยะมีชีวิตที่เฟื่องฟูในฐานะแพทย์ มีภรรยาและลูก ขณะที่ซาโอริชีวิตดูเหมือนจะดิ่งลงฝั่งตรงข้าม ที่ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นคนทำงานอาชีพกลางคืน การเข้าไปรับรู้เรื่องราวที่ถูกปกปิดของทั้งคู่ ทำให้นากาฮาระต้องตั้งคำถามกับระบบการลงโทษว่า ‘จริงหรือที่การประหารให้ตายตกไปตามกันจะชดใช้ทุกอย่างได้’
ย้อนกลับไปที่ชื่อของนวนิยาย ชื่อที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นคือ ‘ไม้กางเขนกลวง’ ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ เราอาจเห็นจินตนาการเห็นภาพผู้แบกไม้กางเขนคือผู้ที่ต้องทนแบกรับสิ่งแสนหนัก แต่ขณะเดียวกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นั่นคือการแบกรับความหนักหน่วงของความผิดแห่งตนจริงๆ มันอาจเป็นเพียงไม้กางเขนกลวงวางเปล่าที่น้ำหนักเบา เพื่อหลอกตาให้สังคมรู้ว่า ‘ฉันยอมชดใช้ความผิดนี้แล้ว’ เท่านั้น แต่ผู้ที่แบกมันไว้ไม่ได้มีความทุกข์ ความกดดันทรมานจากน้ำหนักที่ทิ้งตัวลงมาจากไม้กางเขนก็ได้ …ไม่ได้มีความทุกข์อะไรเพราะแค่อาศัยการเล่นละครตบตากระบวนการยุติธรรมว่า ‘ไม่ได้ตั้งใจ’ ‘สำนึกผิดจากหัวใจ’ ก็ได้รับการลดหย่อนโทษ และแค่ยอมรับการตีตราที่ไม่ได้มีความหมายอะไรกับเจ้าตัว ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ‘ไม้กางเขน’ก็เป็นแค่อุปมาที่ไม่มีใครมองเห็นจริงๆ เสียด้วยซ้ำ
ผู้ที่ไม่ยอมรับไม้กางเขนกลวงอย่างซาโยโกะ จึงต้องลุกมาสู้เพื่อให้การลงทัณฑ์นั้นกลายเป็นความแสนสาหัสของผู้ที่ต้องแบกรับอย่างแท้จริงให้เหมือนไม้กางเขนไม้ตันหนัก และต้องถูกทิ่มแทงทรมานเช่นเดียวกับพระเยซู
บทชดใช้บาป
การค้นพบว่าซาโยโกะไปเป็นนักรณรงค์เรื่องระบบยุติธรรม ทำให้นากาฮาระรู้ว่า อดีตภรรยาทุ่มเทกับการเก็บข้อมูลถึงขนาดเข้าพบฮิราอิ ทนายจำเลยในคดีที่ลูกสาวของเขาโดนฆ่า เพื่อขอสัมภาษณ์บันทึกความเห็น สำหรับฮิราอิ การประหารให้ตายตกไปตามกันไม่ใช่วิธีคิดแบบมนุษย์นิยมที่ควรต้องให้โอกาสอาชญากรกลับใจมาแก้ตัว แต่เขามองว่า ‘สุดท้ายความตายมันก็คือความว่างเปล่าเพราะเป็นแค่การจบปัญหาง่ายๆ’ แม้กระทั่งตัวฮิรูคาวะที่ฆ่าลูกของนากาฮาระ ก็ไม่ยื่นอุทธรณ์คดี เพราะไม่สนใจในสิ่งที่ตัวเองทำมาแล้วแค่ขอให้เรื่องนี้มันจบๆ ไป เขาไม่ได้คิดสำนึกผิดที่จะชดใช้ เพียงแต่เห็นว่ามันยุ่งยาก ประกอบกับเจ้าตัวเองก็เป็นคนอายุมากแล้ว ออกจากคุกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร
ฮิราอิมองว่า การลงโทษด้วยความตายไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา แต่ละคดีไม่ได้ต้องการการเยียวยาหรือการรับผิดชอบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งบางครั้งเหยื่อหรือครอบครัวเองก็ยังไม่รู้ชัดว่าตัวเองต้องการการเยียวยาแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเฉพาะหน้าที่ความแค้นเข้ามาควบคุมอารมณ์ไว้ทั้งหมด เมื่อเวลาทิ้งช่วงไป อารมณ์ที่เปลี่ยนไปอาจต้องการการชดใช้ในอีกแบบหนึ่ง อาจไม่ใช่การตัดปัญหาด้วยความตายแต่ต้องการให้อาชญากรรับผิดชอบชั่วชีวิต
‘ปลายทาง’ ของความแค้นเป็นอย่างไร ภาพยนตร์ทางฝั่งเอเชียหลายๆ เรื่องพูดถึงการล้างแค้น ผู้กำกับหนังที่ขึ้นชื่อมากเรื่องการเล่าเรื่องการล้างแค้นคือพักชานวุค ซึ่งเขาได้ทำหนังไตรภาคความแค้นขึ้นมา 3 เรื่องที่มีปลายทางความแค้นไม่เหมือนกัน เรื่องแรกคือ Sympathy for Mr Vengeance เรื่องที่สอง คือ Old Boy และเรื่องที่สามคือ Sympathy for Lady Vengeance แต่สำหรับ ‘ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป’ การชำระแค้นก็เป็นไปตามที่ฮิราอิพูดคือ “ทุกคนไม่ได้ต้องการการชำระแค้นด้วยการฆ่าให้ตายตกไปตามกันอย่างเดียว” ในความเชื่อสายพุทธศาสนา เรามีความเชื่อเรื่องกรรม ที่ทำหน้าที่ของมันเอง การสืบเสาะเรื่องคนฆ่าซายาโกะของนากาฮาระโยงไปถึงเหตุการณ์ในอดีตคือเรื่องของซาโอริและฟูมิยะ ทำให้เขาเห็น ‘กลไกการจัดการของกรรม’ ที่ชีวิตของซาโอริตกต่ำลงหลังทำ ‘กรรมหนัก’ ร่วมกับฟูมิยะ จนซาโอริเองไม่รู้สึกว่าตัวเองเหลือคุณค่าในชีวิต ดำดิ่งลงสู่เหวแห่งหายนะครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากความผิดบาปที่โหมไหม้ในรู้สึก
ขณะเดียวกันฟูมิยะเองแม้จะมีชีวิตที่ดี เป็นหมอ มีครอบครัว แต่กรรมหนักในครั้งนั้นมันก็คือ ‘โหมไหม้ในรู้สึก’ ของเขาไปตลอดชีวิตเช่นกัน เขาเฝ้าเพียรชดใช้ไถ่บาปด้วยวิธีของเขาเอง แม้ว่า ‘เจ้ากรรมนายเวร’ จะไม่มีโอกาสรับรู้ได้ว่า ได้ทิ้งอิทธิพลอันรุนแรงต่อชีวิตของคนทั้งสองไว้เพียงใด แต่ทั้งสองคือคนที่ต้องแบกไม้กางเขนตันหนักและบาดแผลฉกรรจ์อันเกิดจากมโนสำนึกของตัวเองอยู่ชั่วชีวิต
ท้ายที่สุดแล้ว ฮิงาชิโนะ เคโงะ ก็ชี้ทางไว้กลายๆ ถึงบทสรุปของอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ไว้ว่า ไม่มีโทษใดที่หนักเทียบเท่ากับโทษที่เกิดจากมโนธรรมของคนกระทำบาปผิดนั้นลงโทษตัวเอง เพราะมันคือการจองจำคนๆ นั้นไว้กับความรู้สึกอันเลวร้ายอย่างยาวนาน ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ในทุกลมหายใจ และเมื่อเขาไม่มีความสุขกับสิ่งแสนหนักที่ต้องแบก เขามีทางเลือกที่จะพยายามถ่ายถอนมันด้วยสองวิธีคือการทำให้ชีวิตตัวเองพินาศเพื่อชดใช้ หรือสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มาถ่ายถอนให้น้ำหนักไม้กางเขนมันบางเบาลงไปบ้าง และวันหนึ่ง ‘เจ้ากรรมนายเวร’ จะเป็นผู้ตัดสินเองว่าควรจะปลดปล่อยเขาออกจากความแค้นได้หรือยัง
นิยายเรื่องนี้คือนิยายที่สะท้อนแนวความคิดเรื่องมนุษยนิยม ที่เชื่อในเรื่อง ‘จริยธรรมสากล’ เชื่อในเรื่องจิตสำนึกของตัวมนุษย์เอง เมื่อเกิดปัญหา เปิดโอกาสให้คนนั้นได้เรียนรู้ถึงผลกระทบจากสิ่งที่เขาทำ เขาจะใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขมันให้ดีที่สุด เพื่อชดเชยความผิดพลาดได้ แต่เบื้องต้นคงต้องขึ้นกับกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ดีก่อน
Tags: สำนักพิมพ์เจคลาส, ฮิงาชิโนะ เคโงะ, ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป