นับแต่การระบาดของโควิด-19 ชาวประมงพื้นบ้านเป็นคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เล่าว่า หลังมีมาตรการระยะห่างทางกายภาพ ไม่มีรถทัวร์วิ่งข้ามจังหวัดเพื่อฝากสินค้า และการส่งออกที่ปกติจะส่งไปมาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่นทำไม่ได้ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีตลาดขาย บางส่วนที่ยังซื้อขายกันได้อยู่ ก็มีการรับซื้อในราคาที่ต่ำลงด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น เช่น กั้ง จากเดิมกิโลกรัมละ 1,000 บาท เหลือเพียง 350-400 บาท

“ในแง่ความเป็นอยู่ ทุกคนยังออกไปจับปลามาเป็นอาหารได้ เรียกว่ามีกิน แต่ไม่มีเงินเดือน” วิโชคศักดิ์บอก

เขาเล่าว่า ในระยะยาวคงไม่ไหว เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องกิน ไม่ว่าค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หนี้ต่างๆ 

สำหรับทางออกเบื้องต้น วิโชคศักดิ์ บอกว่าทางสมาคมได้รวบรวมข้อมูลแหล่งชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำมาบอกต่อทางช่องทางออนไลน์ ที่เพจของสมาคมฯ https://www.facebook.com/thaiseawatch/ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อติดต่อกันได้โดยตรง ส่วนในอนาคต ก็ลุ้นให้มีการพัฒนาระบบขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังขาดเรื่องโลจิสติกส์ โดยมองว่าในระยะยาว ชาวบ้านก็พร้อมจ่ายค่าขนส่ง แต่ยังมองหารถห้องเย็นที่จะมาร่วมเป็นพันธมิตรกัน โดยตอนนี้จังหวัดที่มีการรวมตัวของคนขายแล้ว คือ นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนภาคตะวันออก มีจันทบุรี 

นอกจากนี้ ทางสมาคมได้ร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทำโครงการ “ทูตอาหารทะเล: ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” ภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19”  โดยทางโครงการจะเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไป และรับซื้ออาหารจากชาวประมงพื้นบ้านเพื่อนำไปส่งให้กลุ่มเป้าหมายที่แบ่งเป็นสองส่วน คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ขาดแคลนอาหาร เดือดร้อนเพราะขาดรายได้รายวัน เช่น คนจนเมือง คนไร้บ้าน ผู้พิการ เรียกว่าเป็น “กำลังใจที่กินได้” และเป็นการช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายด้วยการจ่ายเงินในครั้งเดียว  

 

Fact Box

สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ทูตอาหารทะเล: ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” จัดขึ้นภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19” สามารถโอนเงินมาที่บัญชี สมาคมรักษ์ทะเลไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 691-235-323-6

Tags: ,