นอกจากสินค้าจำเป็นในภาวะระบาด เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ แอลกอฮอล์จะขาดแคลนในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ยังส่งผลถึงวิถีการผลิตในระบบเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเนื่องจากจีนซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักหรือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบของสินค้าได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง และหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการค้าขาย นำเข้า-ส่งออก ระหว่างประเทศ 

ความกังวลต่อระบบการผลิตนี้ถูกชี้ชัดมากขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จากการที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกมาเตือนว่าในวิกฤตโควิด–19 เช่นนี้ จะกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของโลก และนำมาสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารในอนาคต และในเดือนเดียวกันนี้เององค์การสหประชาชาติยังได้ออกมาเตือนผู้นำชาติต่างๆ แล้วว่าอาจเกิดวิกฤตอาหารโลก (โปรดดู ยูเอ็นเตือนนานาชาติเตรียมรับมือภาวะขาดแคลนอาหารร้ายแรงจากโควิด-19

สาเหตุสำคัญที่ปริมาณอาหารจะลดลงคือ การที่เกษตรกรไม่สามารถออกไปเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลิต ขนส่งผลผลิตได้ตามระบบ ทั้งการที่หลายประเทศในโลกมีมาตรการระงับการส่งออก–นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เวียดนาม จีน ปริมาณอาหารจึงอาจลดลงอันเนื่องมากจากมาตรการอันเข้มข้นของรัฐ ทั้งการทำงานที่บ้านและการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ หลายประเทศ ยังไม่รวมถึงการกักตุนสินค้าของประชาชนในหลายพื้นที่เมื่อได้ข่าวการประกาศล็อกดาวน์ และการกำหนดเคอร์ฟิวของรัฐบาลอีกด้วย

 กล่าวคือโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารไทยทั้งในระยะสั้น (การกักตุนอาหาร) ระยะกลาง (การผลิต การแปรรูป การขนส่งหรือการซื้อสินค้าได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์) และระยะยาว (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งจะส่งผลต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อย) ดังบทวิเคราะห์ พิษโควิดกับวิกฤตอาหาร โดย BioThai 

สำรวจห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย  

จากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในระดับโลก ในส่วนนี้ผู้เขียนจะพาไปสำรวจห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารเป็นอันดับที่ 52 จาก 113 ประเทศทั่วโลก (Global Food Security Index)  โดยประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่หลายประการ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกร และการมีแผนความมั่นคงทางอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสำรวจที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดวิกฤตโควิด 

การนำเข้าสินค้าอุปโภคของไทยในปี 2562–2563 ดังที่ปรากฏตามข้อมูลนั้นพบว่าสินค้าที่เป็นอาหารนั้นในส่วนของผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ไทยมีการนำเข้าจากจีนมากที่สุด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ นั้นนำเข้ามาจากสิงคโปร์มากที่สุด และในส่วนของเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคนั้นไทยนำเข้ามาจากนอร์เวย์มากที่สุด 

ซึ่งในจีนนั้นสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังคงน่ากังวลโดยมีผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับ 9 ของโลกและยังคงมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ ในขณะที่สิงคโปร์ก็กลับมาพบจำนวนผู้ป่วยอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่สามารถชะลอการระบาดได้กว่า 3 เดือน (ถอดบทเรียน ‘5 จุดอ่อน’ ต้นเหตุสิงคโปร์คุมโควิดไม่อยู่) ในขณะที่นอร์เวย์เองก็ประกาศปิดประเทศเพื่อคุมการระบาดอย่างเคร่งครัด

การที่ประเทศไทยได้ก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลักไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว การที่สินค้าบริโภค หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอาจจะไม่ใช่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอีกต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนักที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยเป็นสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมนั้นเป็นสินค้าที่มีการส่งออกแต่ไม่ได้อยู่ในหมวดสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หรือสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป น้ำตาลทราย หรือผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สัดส่วนที่ส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง) คิดเป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2562 และร้อยละ 8.1 ในปี 2563 (ม.ค. – มี.ค. 63) ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2562 และ 7.2 ในปี 2563 (ม.ค. – มี.ค. 63) (สำหรับข้อมูลส่วนนี้โปรดดู สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก

แม้สัดส่วนการส่งออกอาหารไทยอาจไม่ได้มีมากหากเทียบกับสินค้าอื่นแต่ทว่าการที่ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลกและอันดับ 2 ของเอเชีย (โปรดดู อีก 3 เดือนโลกขาดอาหารจี้ไทยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส)  และการที่ระบบห่วงโซ่อาหารโลกกระทบจากการโควิด 19 ก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและปริมาณอาหารในโลกไม่น้อย 

เนื่องจากหลังการเกิดโควิดปริมาณการส่งออกอาหารของไทยก็ลดลงอันเนื่องมาจากความต้องการในผลิตภัณฑ์การเกษตรอย่างเช่น มันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชที่เคยส่งออกไปยังจีนมากที่สุดลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีน (COVID-19 puts Southeast Asia’s food supply to the test) ในระยะสั้นนี้แม้ปริมาณอาหารจะยังมิได้ขาดแคลนแต่ทว่าการที่มีความต้องการอาหารลดลง หรือไม่สามารถส่งออกอาหารไปยังประเทศต่างๆ ดังเช่นภาวะปกติจากมาตรการของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ หากยังมีการดำเนินมาตรการห้ามนำเข้า ส่งออกสินค้ากันอย่างเคร่งครัดก็อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารโลกในไม่ช้า 

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในไทยกำลังเข้าสู่เดือนที่ 5 หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยเมื่อเดือนมกราคม ในขณะที่มาตรการให้ประชาชนทำงานที่บ้านของรัฐก็กำลังเข้าสู่เดือนที่ 2 ตอนนี้อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีปริมาณมากอยู่ และในส่วนของสินค้าเกษตรนั้นเริ่มมีผลผลิตออกมาและมีปริมาณสินค้าล้นตลาด เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้และมีปริมาณผู้รับซื้อลดลงจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดของรัฐ (โปรดดู รถผลไม้ทะลักตราดจนท.เกษตรเก็บประวัติเข้มทุกรายพร้อมแจงกฎเหล็ก และ ผลไม้ล้นตลาด! โอกาสที่ต้องทบทวน-รีบคว้าไว้

ประเทศไทยจึงอาจจะยังไม่ต้องกังวลต่อวิกฤตขาดแคลนอาหารในระยะสั้น เนื่องผลผลิตทางการเกษตรเพิ่งผลิดอกออกผล และไม่สามารถทำการส่งออกได้เช่นเดิม ซึ่งอาจทำให้ยังมีอาหารให้บริโภคอยู่ไปอีกระยะ ปัญหาคือการกระจายผลผลิตออกไปยังผู้บริโภคและอาหารดังกล่าวอาจเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ได้แปรรูป ในขณะที่โรงงานหรือระบบการผลิตหยุดชะงักลงก็อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของไทยได้ 

รวมถึงหากวิกฤตยังมีลักษณะรุนแรงและกินเวลานานแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของการผลิตอาหารในประเทศไทยที่จะเข้ามาซ้ำภาคการเกษตรก็คือเรื่องภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี (โปรดดู ภัยแล้ง : ปี 2563 ประเทศไทยจะแล้งรุนแรงและยาวนานถึงกลางปี) อันเป็นผลมาจากการที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ 3–5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลต่อการทำการเกษตรโดยตรง ดังนั้นแม้จะมีการชะลอการระบาดของไวรัส หรือมีมาตรการผ่อนปรนให้เกษตรกลับเข้าไปทำงานได้แล้ว ก็ยังมีปัญหาภัยแล้งที่รอภาคเกษตรของไทยอยู่ 

ทิ้งท้าย: การการจัดการที่ดีและการกระจายอาหารออกไปให้ถึงมือผู้บริโภค 

ปัญหาและผลกระทบที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของไทยอันเนื่องมาจากโควิด–19 นั้นจึงเป็นปัญหาตั้งแต่การที่แรงงานภาคเกษตรไม่สามารถเข้าไปดำเนินการผลิต เก็บเกี่ยวหรือขนส่งผลผลิตได้ดังเดิมอันเกิดจากมาตรการป้องกันโรคระบาดของรัฐบาลที่รณรงค์ให้ประชาชนทำงานที่บ้านปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในประเทศจึงมีแนวโน้มลดลงในอนาคต สำหรับสินค้าที่ได้เก็บเกี่ยวมาแล้วนั้นก็ได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ เนื่องมาจากมาตรการของประเทศคู่ค้าความต้องการในสินค้าบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่ลดลง ทั้งนี้ปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงในปีนี้เองก็อาจส่งผลให้ปริมาณอาหารที่ประเทศไทยจะผลิตได้ลดลงไปอีก

 แน่นอนว่าโควิด–19 นั้นอาจเป็นภัยคุกคามหนึ่งต่อห่วงโซ่อาหารไทย การส่งออกและนำเข้า ทว่าการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เองก็เป็นจุดแข็งที่อาจทำให้วิกฤตอาหารนั้นไม่รุนแรง  โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่มาตรการของรัฐที่ควรคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร คือการกระจายอาหารที่ยังมีอยู่รวมถึงผลผลิตที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปสู่ผู้บริโภคในประเทศให้มากที่สุด 

รวมถึงเร่งคลี่คลายมาตรการบางประการให้เกษตรกรสามารถกลับไปทำการเกษตรได้ โรงงานสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้โดยให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค และการรักษาระยะห่างทางสังคมแก่พวกเขา เพื่อที่จะลดความทุกข์ยากของประชาชนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตที่เสี่ยงต่อสุขภาพและปากท้องเช่นนี้

Tags: , , , , ,