ช่วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เราอาจมองความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์เทียบเท่ากับอำนาจในการหักร้างถางพง เอาชนะธรรมชาติที่โหดร้ายเพื่อเปิดพรมแดนพร้อมสร้างชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง ปัจจุบัน ความเป็นเมืองเริ่มเบียดขับธรรมชาติให้อยู่ชายขอบ สัตว์ป่าถูกกดทับให้อยู่ในพื้นที่ป่าเว้าแหว่งผืนเล็กๆ ภัยคุกคามทางธรรมชาติที่รุมเร้านำไปสู่กระแสและค่านิยมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่าที่เหลืออยู่ รวมถึงฟื้นฟูให้ฟื้นคืนเท่าที่เป็นไปได้

การระบาดของโควิด-19 ที่บังคับให้มนุษย์แทบทั่วโลกต้องอาศัยอยู่ในบ้าน หลายคนคงได้ผ่านตาวิดีโอคลิปบนโลกออนไลน์ซึ่งนำเสนอภาพสัตว์ป่ามาปรากฏกายในเมืองใหญ่ที่เคยพลุกพล่านแต่พลันเงียบสงบเพราะโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นหมูป่าที่ตะลุยไปตามท้องถนนในอิตาลี ครอบครัวห่านอียิปต์ที่เดินเล่นบนรันเวย์ของสนามบินเมืองเทลอาวีฟ ฝูงแพะป่าที่เที่ยวไปตามท้องถนนของนอร์ธเวลส์ กวางแห่งเมืองนาราที่ถือโอกาสออกมาเดินสำรวจเมือง และอีกสารพัดคลิปที่มีผู้ชมหลักล้าน หลายคนมองว่านี่คือการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ของธรรมชาติจากมนุษย์

คำกล่าวข้างต้นคงไม่เกินจริงนัก หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางผืนใหญ่ตั้งแต่บริเวณกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไปจนถึงจังหวัดสุพรรณบุรีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสมัน กวางเขางามซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทยแต่ถูกล่าจนสูญพันธุ์เหลือเพียงซากและภาพถ่ายไว้ให้ดูต่างหน้า เสือโคร่งเองก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน จากครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นอยู่ทั่วทั้งทวีปเอเชีย แต่ปัจจุบันพื้นที่อยู่อาศัยถูกจำกัดเหลือเพียงราว 6 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับพื้นที่ในอดีต

‘ไม่มีใครอยากอยู่ในป่ารกหรือภูเขาชันๆ หรอก’ นักอนุรักษ์รุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยบอกผมเมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขาเล่าว่าสัตว์เหล่านั้นไม่มีทางเลือก แต่จำต้องอยู่ในพื้นที่ที่มนุษย์ ‘จัดหาไว้ให้’ การอนุรักษ์ป่าพื้นราบติดแม่น้ำรวมถึงผืนป่าที่เชื่อมต่อขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เหล่าสัตว์ป่าจะมาสำรวจพื้นที่เมืองในช่วงที่เงียบสงบ แต่ปรากฎการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีมนุษย์ หรือเป็นเพียงความฝันแสนโรแมนติกของคนเมือง

พื้นที่ของสัตว์ พื้นที่ของคน

การมองเห็นสัตว์ป่าโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาในเมืองใหญ่หรือใกล้ในระยะสายตาย่อมนำพามาซึ่งความสุขใจจากโอกาสที่ได้ใกล้ชิดและสังเกตธรรมชาติในระยะใกล้ แต่ความใกล้นั้นก็ยังจำเป็นต้องมีระยะห่างหรือกำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างสัตว์ป่ากับคน

เพราะมองใกล้ๆ สัตว์ป่าเหล่านี้ก็ดูน่ารักดี แต่หากใกล้เกินไปก็อาจกลายเป็นน่าหวั่นเกรง

ผู้เขียนเพิ่งมีประสบการณ์ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก เมื่อเช้าวันหนึ่งพบเจ้ากระรอกตัวน้อยที่ซุกซนหลุดเข้ามาในบ้านแล้วหาทางออกเองไม่ได้ มันตะกุยตะกายมุ้งลวดและมองไปข้างนอกอย่างกระวนกระวาย ส่วนผมเองก็เก้ๆ กังๆ ไม่กล้าจะเข้าใกล้เพราะกลัวเจ้าตัวน้อยตื่นตกใจแล้วกระโจนใส่ สุดท้ายผมเลยไล่เปิดหน้าต่างรอบบ้าน พอหันกลับมาอีกทีเจ้ากระรอกน้อยก็หายตัวไปเสียแล้ว

ภาวะอิหลักอิเหลื่อเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับสัตว์เป็นเรื่องที่แสนจะปกติ เกษตรกรซึ่งอยู่อาศัยใกล้ชายป่าคงไม่สบายใจนักหากต้องปะทะกับช้างที่เข้ามากินพืชผลทางการเกษตร ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยคือเหล่านักวิ่งที่บางครั้งต้องเจอกับตัวเงินตัวทองตามสวนสาธารณะจนต้องหลีกทาง หากหันมองไปรอบตัวภายในบ้านก็มีเหล่า ‘สัตว์เมือง’ ทั้งจิ้งจก ตุ๊กแก แมงมุม รวมถึงแมลงสาบที่หากเป็นไปได้ก็รู้สึกว่าต่างคนต่างอยู่คงจะดีที่สุด

คลิปสัตว์ป่าตระเวนเที่ยวในเมืองเป็นเรื่องราวที่ถูกดึงออกจากบริบท ในหลายเมืองของยุโรปสามารถพบเห็นหมูป่าได้ไม่ยากจนบางพื้นที่ต้องมีมาตรการกำจัดเพื่อควบคุมจำนวนประชากร ฝูงไก่งวงป่าก็เป็นปัญหาคาราคาซังในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาเนิ่นนาน หรือกระทั่งฝูงลิงแห่งเมืองลพบุรีที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวแต่เป็นเรื่องชวนปวดหัวสำหรับผู้อยู่อาศัย

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยระหว่างคนเมืองกับสัตว์ป่ากลับนำพาซึ่งปัญหาในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะสัตว์ป่าซึ่งเอาชีวิตรอดโดยการรับอาหารจากนักท่องเที่ยว เช่น เหล่ากวางในเมืองนาราที่หิวโหยเพราะขาดแคลนอาหาร เช่นเดียวกับลิงเมืองลพบุรีที่อยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากนักท่องเที่ยวหดหาย 

สำหรับผู้เขียน การปรากฏกายของสัตว์ป่าในเมืองแปลได้สองความหมาย อย่างแรกคือสัตว์เหล่านั้นเผชิญภาวะอาหารไม่เพียงพอจนต้อง ‘เสี่ยงชีวิต’ มาร่อนเร่อาหารในเมืองใหญ่ หรือพื้นที่ป่าซึ่งมนุษย์จัดหาไว้ให้นั้นอัตคัดจนต้องเดินทางเสี่ยงโชคเผื่อเจอโอกาสที่จะตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่ 

ทั้งสองความหมายไม่ใช่ประกายแห่งความหวังแต่อย่างใด แต่เป็นสัญญาณที่ชวนให้เราทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียมากกว่า

ปีทองของสัตว์ป่า?

นักอนุรักษ์ทางทะเลท่านหนึ่งโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าปีนี้คือปีทองของธรรมชาติเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้พื้นที่อนุรักษ์ซึ่งเคยพลุกพล่านด้วยนักท่องเที่ยวกลับกลายเป็นสวรรค์ของสัตว์ป่าอีกครั้ง บางสำนักข่าวต่างประเทศก็นำเสนอว่าการระบาดเปิดโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว เพราะกิจกรรมของมนุษย์ที่ลดลงทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลดลงอย่างฮวบฮาบ หรือปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่ลดจำนวนลงทำให้อุบัติเหตุต่อสัตว์ป่าลดลง

นี่คือมุมมองจากกลุ่มคนที่มีทรัพยากรเพียงพอในการรับมือและฝ่าวิกฤตโควิด-19 แต่หากพิจารณาอย่างรอบด้าน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักอาจกลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาทำร้ายธรรมชาติในชุมชนหรือประเทศที่ยากจน

สำหรับครอบครัวรายได้ต่ำซึ่งมีเงินแทบไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครัวเรือน โรคระบาดทำให้พวกเขาและเธอไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากจะหันหน้ากลับเข้าป่าเพื่อใช้ทรัพยากรสาธารณะในการดำรงชีพ เกษตรกรที่เผชิญภัยแล้งหรือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอาจหันหลังจากตลาดแล้วเข้าป่าล่าสัตว์ ตัดไม้ทำถ่าน หรือเผาไร่เพื่อขยายพื้นที่การเกษตร บางรายอาจหาทางรอดจากวิกฤตโดยการทำประมงทำลายล้างตามแหล่งน้ำต่างๆ

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศแคเมอรูน (Cameroon) หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ที่ทำให้ความต้องการซื้อไม้ลดลงทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าไม้ต้องปลดพนักงานทำให้เหล่าอดีตลูกจ้างไม่มีทางเลือกนอกจากต้องหาเลี้ยงชีพโดยการล่าสัตว์ ค้าเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงการแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำกิน ราวสามปีให้หลังคุณภาพชีวิตของพวกเขาและเธอค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ธรรมชาติที่ถูกทำลายไปแล้วไม่อาจฟื้นคืนได้ในระยะเวลาอันสั้น

ในฝั่งของการปราบปรามและเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ก็อ่อนแอลงเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาโรคระบาดที่อยู่ตรงหน้า การท่องเที่ยวที่หยุดชะงักยังเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยรายได้เหล่านั้นในการจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพื่อเฝ้าระวังเหล่านายพรานที่พร้อมจะฉวยโอกาสเข้ามาล่าสัตว์ป่า

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงในระยะยาว ชุมชนชายป่าซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่านในการอนุรักษ์ซึ่งเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามจากสัตว์ป่าเป็นครั้งคราวแต่ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้เนื่องจากมีรายได้จากการท่องเที่ยวมาจุนเจือ ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจไปไม่รอดเพราะชุมชนไม่หลงเหลือแรงจูงใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติอีกต่อไป

“คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” นี่คือคติที่เราควรท่องจำให้ขึ้นใจ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างไกลกว่าวิกฤติซับไพรม์ เมื่อคนส่วนใหญ่ ‘อยู่ไม่ได้’ คงน่าขันขื่นไม่น้อยหากเหล่านักอนุรักษ์จะมาชื่นชมยินดีว่าธรรมชาติมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เพราะความสำเร็จในการอนุรักษ์คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยชั่วครั้งชั่วคราว

Did You Know?

หากตัดมนุษย์ออกจากสมการ ธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจนน่าตื่นตะลึง ข้อค้นพบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) เมืองรกร้างที่ปัจจุบันปกครองโดยสัตว์ป่าและต้นไม้ พื้นที่ดังกล่าวโดดเด่นด้วยสุนัขป่าซึ่งมีประชากรหนาแน่นราว 7 เท่าหากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในยุโรปตะวันออก สัตว์นักล่าเป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าพื้นที่ดังกล่าวอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง อีกทั้งยังพบม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski’s horses) หนึ่งในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมเรื่องราวฉบับเต็มได้ในซีรีย์ Our Planet ตอนป่าไม้ (Forests)

เอกสารประกอบการเขียน

Animals Are Rewilding Our Cities. On YouTube, at Least.

Nature’s comeback? No, the coronavirus pandemic threatens the world’s wildlife

Climate crisis: in coronavirus lockdown, nature bounces back – but for how long?

These locked-down cities are being reclaimed by animals

As coronavirus restrictions empty streets around the world, wildlife roam further into cities

Coronavirus: Is wildlife the big beneficiary of the COVID-19 lockdown?

As humans stay indoors, wild animals take back what was once theirs

Tags: , ,