การขยับขึ้นของราคาสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาวิกฤตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก แม้ว่าคุณจะไม่ได้เรียนจบสาขาเศรษฐศาสตร์ก็คงพอคาดเดาได้ว่าในช่วงวิกฤตซึ่งสินค้าขาดแคลนหรือมีจำกัดในขณะที่ความต้องการซื้อพุ่งสูงขึ้น พ่อค้าแม่ขายก็ย่อมฉวยใช้โอกาสนี้เพิ่มราคาขายเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ตัวอย่างเช่น เมืองที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่นจนเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด ผู้ประสบภัยอาจต้องเจอกับราคาอาหารกระป๋องหรือวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่ม 2 ถึง 3 เท่าจากห้วงเวลาปกติ แต่พวกเขาและเธอก็ต้องกัดฟันซื้อเพราะไม่มีทางเลือก
เราคงเคยได้อ่านข่าวลักษณะดังกล่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบเมื่อการระบาดทำให้ราคาสินค้าจำเป็นอย่างหน้ากากอนามัยขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น หรือภายหลังการประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ความต้องการใช้บริการแอปลิเคชันสั่งอาหารที่พุ่งสูงทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มบางรายตัดสินใจขยับราคาและค่าธรรมเนียมตามจนก่อให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ (อ่านเพิ่มเติม ไทม์ไลน์ดราม่าแกร็บ: ในวิกฤตและโอกาสของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี)
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองการขยับของกลไกตลาดลักษณะนี้อย่างเฉยชาว่าเป็นเรื่องปกติ ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันอธิบายว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงกลไกตลาดซึ่งทำงานได้ดี ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นคือการป่าวประกาศว่า ‘เราต้องการสินค้าและบริการมากกว่านี้!’
ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยพยายามมองปรากฎการณ์ผ่านแว่นตาจริยศาสตร์ โดยตั้งคำถามว่าราคาสินค้าจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตนั้นเป็นการขยับของราคาที่ ‘เป็นธรรม’ หรือไม่ รวมถึงพยายามทำความเข้าใจหัวอกของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าการฉวยโอกาสขึ้นราคานั้นไม่เป็นธรรม
การถกเถียงของสองประเด็นนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุป เกิดเป็นวิวาทะต่อกฎหมายการห้ามค้ากำไรเกินควรในช่วงเวลาวิกฤตซึ่งบังคับใช้ในบางรัฐเท่านั้นในสหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าการตั้งเพดานราคาเป็นการขัดขวางการทำงานของกลไกตลาด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่ากฎหมายดังกล่าวสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนก่อนขึ้นราคาสินค้าหรือบริการในห้วงยามวิกฤต
ราคาที่พุ่งสูงไม่ใช่ปัญหาแต่คือหนทางแก้ไข
หลายคนอาจแปลกใจหากพบว่านักเศรษฐศาสตร์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกายกมือไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายตั้งเพดานราคาสินค้าในห้วงเวลาวิกฤต โดยพวกเขาและเธอมองว่าราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาแต่คือทางออกของปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรท่ามกลางวิกฤตต่างหาก
หัวใจของเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กล่าวคือการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ไปอยู่ในมือคนที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นในห้วงยามของการระบาด หน้ากากอนามัยควรจะอยู่ในมือกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั่นคือเหล่าแพทย์ พยาบาล และพนักงานในโรงพยาบาล ซึ่งทำงานอยู่แนวหน้า
การปล่อยราคาให้พุ่งสูงตามกลไกตลาดจะช่วยลดการกักตุนโดยสาธารณชนที่ตื่นตระหนก ราคาที่สูงขึ้นจะทำให้หน้ากากอนามัยถูกขายให้กับผู้ที่ต้องการมากที่สุดซึ่งมีความยินดีจะจ่ายสูงที่สุด หรือก็คือบุคลากรทางการแพทย์นั่นเอง ส่วนประชาชนที่เผชิญความเสี่ยงที่ต่ำกว่าก็จะใช้สินค้านั่นอย่างประหยัด หรือหาทางเลือกอื่นๆ ที่ต้นทุนถูกกว่าเพื่อใช้ทดแทน
นอกจากนี้ ราคาที่พุ่งสูงขึ้นยังกลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตคิดค้นหาวิธีทำกำไร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต การหาหนทางนำเข้าจากต่างประเทศ หรือกระทั่งการเก็บสินค้าสำรองไว้ในคลังเพื่อหวังว่าเมื่อเกิดวิกฤตจะนำมาขายทำกำไร การตั้งเพดานราคาด้วยการใช้กฎหมายจะบิดเบือนกลไกดังกล่าว นั่นคือผู้ผลิตขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงวิกฤต รวมถึงร้านค้าปลีกที่จะเก็บสินค้าสำรองไว้ในระดับที่ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ศรัทธาในกลไกตลาด ราคาที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงวิกฤตจึงไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการแก้ไขความขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นหากมีการตั้งเพดานราคา กล่าวคือการมีสินค้าจำเป็นวางขายในราคาสูง ก็ยังดีกว่าจำกัดราคาให้ต่ำแต่กลับหาซื้อสินค้าไม่ได้นั่นเอง
ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเป็นการทำร้ายคนจน
แน่นอนว่าข้อเสนอเรื่องการทำงานของกลไกตลาด และแบบจำลองว่าด้วยแรงจูงใจของฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อปรับราคาให้เข้าสู่สมดุลในสมการนั้นดูสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่กลไกดังกล่าวมองข้ามประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประสิทธิภาพในการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากร นั่นคือความยุติธรรมนั่นเอง
การปล่อยให้ราคาสินค้าจำเป็น เช่น น้ำ อาหาร หรือกระทั่งหน้ากากอนามัยให้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤต ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่ามูลค่าของชีวิตคนคนหนึ่งกำลังถูกตีค่าตามรายได้และความมั่งคั่งของเขาหรือเธอ ซึ่งเป็นมุมมองที่ขาดไร้มนุษยธรรม
ไม่น่าแปลกใจนัก ที่ผลการศึกษาชิ้นสำคัญของแดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะระบุอย่างชัดเจนว่าคนทั่วไปราว 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาของสินค้าเนื่องจากเกิดวิกฤต โดยมองว่าพฤติกรรมของผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรม ความรู้สึกของประชาชนในประเด็นนี้จึงผลักดันในเกิดเป็นกฎหมายในหลายรัฐที่ห้ามการค้ากำไรเกินควรในห้วงวิกฤต
หลายบริษัทเข้าใจหัวอกผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงเกิดเทรนด์ที่บางธุรกิจยักษ์ใหญ่ปรับราคาสวนทางกับคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์ เช่นคราววิกฤตเฮอร์ริเคนเออร์มาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2560 บริษัทสายการบินกลับตั้งเพดานราคารวมถึงเพิ่มที่นั่งเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารตกค้าง รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมพร้อมใจไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์ในส่วนที่เกินจากแพ็คเกจกระพือเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์
ในทางกลับกันบางสายการบินที่ขึ้นราคาตามกลไกตลาดกลับถูกถล่มเละในโซเชียลมีเดียว่าไร้มนุษยธรรม
บทเรียนดังกล่าวทำให้หลายบริษัทระมัดระวังอย่างยิ่งในการปรับราคาท่ามกลางวิกฤต เพราะต้นทุนที่ต้องจ่ายจากการแสวงหากำไรระยะสั้น คือผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทในระยะยาว อย่างไรก็ดี การตั้งราคาที่เอื้อมถึงในช่วงเวลาวิกฤตก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาความยุติธรรมในการกระจายสินค้าและบริการได้อย่างหมดจด เพราะระบบดังกล่าวก็จะกลายเป็น ‘ใครมาก่อนได้ก่อน’ ซึ่งกีดกันคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ให้ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้อยู่ดี
แล้วอะไรคือทางออกที่ดีที่สุด?
ในห้วงวิกฤต จะคงราคาสินค้าและบริการตามปกติไว้ก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลน แต่หากจะปรับขึ้นราคาก็จะกลายเป็นว่าไร้มนุษยธรรมหรือกระทั่งผิดกฎหมาย แล้วเราควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?
ผู้เขียนขอตอบตามตรงว่าข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีข้อสรุป และคงไม่มีใครบอกได้ว่านโยบายที่ดีที่สุดคืออะไร
ข้อเสนอหนึ่งคือการให้รัฐบาลเป็นผู้สร้างแรงจูงใจ กล่าวคือ แทนที่จะให้ผู้ประกอบการไปเก็งกำไรเอาจากประชาชน ภาครัฐควรเข้ามาอุดหนุนสร้างแรงจูงใจโดยเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง หรืองดเว้นภาษีในสินค้าบางประเภทเพื่อให้กลไกตลาดยังทำงานได้ดี ในขณะที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรับภาระเพิ่มเติมในห้วงยามวิกฤต
อีกแนวทางหนึ่งซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าสนใจไม่น้อย คือการตั้งราคาเพื่อป้องกันการกักตุน เช่นราคาแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือในตลาดโรธันเดน (Rotunden Market) ประเทศเดนมาร์ก สำหรับชิ้นแรกจะจำหน่ายในราคา 40 เดนนิชโครนหรือราว 190 บาท แต่หากต้องการซื้อชิ้นต่อไป ทางร้านก็ยินดีจำหน่ายให้ในราคาชิ้นละ 1,000 เดนนิชโครนหรือราว 4,800 บาท นับว่าเป็นกลยุทธ์การตั้งราคาอย่างสร้างสรรค์โดยการสะกิดให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมไปในทิศทางที่ต้องการ
แต่นี่ก็เป็นข้อเสนอที่ยังไม่เคยมีการปรับใช้ในวงกว้าง จึงยากจะบอกได้ว่านโยบายลักษณะดังกล่าวจะแก้ปัญหาได้จริง หรือนำพาไปสู่ปัญหาใหม่เพิ่มเติม นี่คือโจทย์ที่มนุษยชาติยังคิดไม่ตก และการเกิดวิกฤตครั้งหน้าผู้เขียนหวังว่าเราจะเรียนรู้และคิดค้นแนวทางจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เอกสารประกอบการเขียน
SUPPLY AND DEMAND OR PRICE GOUGING? AN ONGOING DEBATE
The Problem with Price Gouging Laws
Post-Sandy Price Gouging: Economically Sound, Ethically Dubious
Why Businesses Should Lower Prices During Natural Disasters
Economists don’t think price gouging is a problem. But what about our social values?
‘Price gouging’ during crisis a good thing
The Economics of Price Gouging
Hurricane Price Gouging Is Despicable, Right? Not to Some Economists
Price Gouging During Disasters Is Actually a Good Thing
Tags: หน้ากากอนามัย, โควิด-19, ราคาสินค้า