เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ชายไทยทุกคนที่ไม่ผ่านการเรียนรักษาดินแดน มีหน้าที่ต้องสวมเสื้อลายพรางเข้ารับการฝึกจากกองทัพ หากมีใบปริญญาขั้นต่ำคือครึ่งปี แต่ถ้าไม่มีก็การันตีระยะเวลา 2 ปี

คนที่ตัดสินใจเรียนรักษาดินแดนก็นับว่าโชคดี แต่สำหรับคนที่เหลือแล้วอาจพูดได้ว่าไม่น่าอภิรมย์ แต่ก็ไม่ถึงขั้นขาดสีสันหากหยิบยกมาเล่าในวงเพื่อน เพราะนอกจากการฝึกที่ขึ้นชื่อว่าเหน็ดเหนื่อยจนเหงื่อแห้งแล้ว การลุ้นจับใบดำ-แดง หรือภาพหลุดของเพื่อนทหารเกณฑ์ที่ถูกใช้พาสุนัขเดินเล่น หรือตัดหญ้าหน้าบ้านก็ชวนหัวได้อยู่ไม่ใช่น้อย 

แต่ที่ยกมาข้างต้น เป็นเพียงแค่มุมที่สนุกสนานสำหรับแค่บางคนเท่านั้น …..

ปลายเดือนมกราคม 2563 ทหารเกณฑ์หนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตภายในค่าย สภาพขาบวม ตาปูด หมอชันสูตรว่าปอดติดเชื้อ ในปี 2554 ทหารเกณฑ์อีกคนเสียชีวิตหลังจากการฝึก ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส นำไปสู่การฟ้องร้องต่อสู้ยาวนานเพื่อน้าชายของ เมย์-นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ 

ยังมีเรื่องราวคล้ายคลึงกันนี้อีกมากที่อยู่ตามหน้าสื่อ และ ‘น่าจะ’ อีกมาก ที่ไม่เคยเล็ดรอดออกมาจากรั้วลวดเหล็กของวงในกองทัพ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงาน ‘We were just toys to them – เราเป็นได้แค่ของเล่นเขา’ โดยทำการสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์ ครูฝึก ทหารชั้นสัญญาบัตรรวม 26 คนเกี่ยวกับการฝึกทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร พูดคุยกับเอ็นจีโอและผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังได้ส่งจดหมายร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางกองทัพไทย ซึ่งก็ได้รับการตอบกลับจาก รองเสนาธิการทหาร พล.อ.อ. เฉลิมชัย ศรีสายหยุด ว่า “กองทัพไทยดูแลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ดุจญาติมิตรในครอบครัว” ซึ่งก็ใกล้เคียงกับคำกล่าวของ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “รักทหารเหมือนลูกหลาน”

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวกลับพบว่า ระบบการฝึกทหารเกณฑ์ของไทยเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงทางเพศ และไม่มีความรักหรือเอื้ออาทรต่อทหารเกณฑ์อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นเลย

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกรายงานฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีเนื้อความ ดังนี้

ความรุนแรงทางร่างกายโดยตรง

ในด้านความรุนแรงต่อร่างกายโดยตรง ‘แดง’ หนึ่งในอดีตทหารเกณฑ์เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า 

“ครั้งหนึ่ง ทหารเกณฑ์สามหรือสี่คนหนีค่ายแล้วถูกจับได้ มีจ่าห้าหรือน่าจะหกคน กับ ผู้บ้งคับบัญชาคนอื่น เรียกพวกนี้ไปตอนกลางคืนแล้วก็ซ้อมเละเลย เช้าวันต่อมา พวกนี้มีรอยเต็มตัวตรง หน้าอก หลัง แต่ไม่มีตรงหน้า เหตการณ์นเี้กิดขึ้นช่วงเริ่มฝึกใหม่ๆ ….ไม่ได้ส่งใครไปโรงพยาบาลเลย แค่ไปห้องพยาบาลที่ค่าย เขาพยายามให้เรื่องมันเงียบ  พอเช้าวันต่อมา เขาจะบอกว่า “ทหารคนนี้มีไข้เกิน 37 องศา” หรือ “ทหารคนนี้ ล้ม” ….. ” 

ทั้งนี้ ครูฝึกในระบบทหารเกณฑ์ในไทยส่วนใหญ่จะมาจากรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ที่ได้รับการฝึกเพิ่มอีก 1 เดือน โดยจะได้รับการสอนเพิ่มเติมในวิชา อาทิ จิตวิทยา จิตวิทยาสังคม รวมถึงวินัย อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาการฝึกเพิ่มเพียงแค่ 1 เดือน น้อยคนนักจึงกลายเป็น ‘ครู’ ของทหารเกณฑ์โดยแท้จริง และส่วนใหญ่เพียงแค่ส่งต่อการฝึกแบบที่ตนเองเคยได้รับมาสู่รุ่นน้องทหารเกณฑ์

การล่วงละเมิดทางเพศ

รายงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบ่งบอกว่า จากการสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์ 19 คน มี 17 คนที่บอกว่าพวกเขาประสบหรือพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ และที่สำคัญการล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จับพลัดจับผลูมาเป็นทหารเกณฑ์

‘ฟง’ หนึ่งในผู้เปิดเผยตัวตนว่ามีความหลากหลายทางเพศระหว่างเข้าเกณฑ์ทหารเล่าให้ฟังว่า 

“คืนหนึ่งผมนอนอยู่ที่เตียง แล้วครูฝึกห้าถึงหกคนก็มุด เข้ามาในมุ้งแล้วก็นอนข้างๆ ผม อีกคนเอา อวัยวะเพศออกมาแล้วพยายามจะยัดใส่ปากผม คนที่นอนอยู่ข้างๆ ผม… [พูดว่า] “เป็นไงน้องน้ำหวาน”

‘แดง’ เล่าให้ฟังว่าเขาเคยเห็นประสบการณ์ที่นายทหารข่มขืนทหารเกณฑ์หลายครั้ง โดยนายทหารคนหนึ่งมักจะบอกให้ทหารเกณฑ์อาบน้ำให้เสร็จก่อน 18.30 น. ก่อนที่จะบังคับให้ทหารเกณฑ์คนหนึ่งมีอะไรกับเขาในห้องน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งและเกิดกับทุกผลัดที่เข้ามาเปลี่ยน แดงเล่าต่อว่า ตอนแรกนายทหารจะเลือกทหารเกณฑ์ที่เขาชอบมาก่อน และบังคับให้นวด ก่อนจะเพิ่มดีกรีมากขึ้นเป็นการใช้ปาก หรือออรัลเซ็กซ์ และในท้ายสุดจะกลายเป็นการสอดใส่ 

‘รักษ์’ ผู้เคยเห็นเหตการณ์การข่มขืนทางเพศทหารเกณฑ์เช่นกันเล่าว่า ภายในค่ายจะมีการแจกถุงยางอนามัยให้กับทหารเกณฑ์ทุกคน กระทั่งวันหนึ่งมีรุ่นพี่ทหารเกณฑ์คนหนึ่งมาเอาถุงยางของเขาไป เพื่อนำไปมีเพศสัมพันธ์ทหารเพศทางเลือกคนหนึ่ง เขากล่าวต่อว่า มันชัดเจนว่า ‘อำนาจไม่เท่ากัน’ ถ้าใครที่ยศสูงกว่ามาขอให้มีเซ็กซ์ด้วย ทหารเกณฑ์ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้

อิทธิ์’ เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า เขาเคยถูกบังคับให้ชักว่าวหรือช่วยตัวเอง ใส่ลงในขัน และถ้าไม่ทำหรือทำแล้วไม่มีน้ำอสุจิออกมาจะไม่ได้ออกจากห้องน้ำ 

‘ปิยะ’ เล่าถึงประสบการณ์คล้ายคลึงกันว่า ประมาณสัปดาห์ละครั้ง ผู้ฝึกหรือรุ่นพี่ทหารเกณฑ์จะแบ่งทหารเกณฑ์ออกเป็นกลุ่ม และให้เลือกตัวแทนหนึ่งคนออกมาช่วยตัวเองต่อหน้าทุกคน แล้วถ้าใครเสร็จก่อนกลุ่มนั้นก็ได้อาบน้ำก่อน 

นอกจากนี้ ยังมีการล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ อีก อาทิ บังคับให้หมอบทับกันขณะที่ไม่ใส่เสื้อผ้า สั่งให้สูดดมบั้นท้ายของเพื่อนทหารเกณฑ์ขณะที่หมอบ รวมถึง ‘รถไฟ’ หรือการสั่งให้ทหารเกณฑ์จับอวัยวะเพศของเพื่อน และยืนหรือเดินแถวเป็นวงกลมรอบอ่างอาบน้ำ 

อย่างไรก็ตาม ‘สิน’ หนึ่งในครูฝึกที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องสนุกธรรมดา ไม่ใช่การลงโทษ และไม่จำเป็นต้องอับอายหรือทรมาน

การลงโทษโดยการออกกำลังกายที่เป็นอันตรายหรือเกินกำลัง

“ครูฝึกเขามีเหตุผลจะซ่อมเราทุกครั้ง บางทีก็บอกว่าตอบไม่ดังพอ อาบน้ำช้าเกินไป ไม่ทำ ตามคำสั่งเป๊ะๆ สูบบุหรี่ เคยโดนสั่งซ่อมเพราะกอดคนที่มาเยี่ยมแน่นเกินไปคือ เขาอนุญาตแค่กอดกันหลวมๆ แป๊ปเดียว” – กร

ถึงแม้ว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตี้ส่วนใหญ่จะเล่าว่า บทลงโทษระหว่างการเกณฑ์ทหารจะเป็นการออกกำลังกาย อาทิ วิดพื้น ลุกนั่ง หรือกระโดดตบ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ผู้ฝึกทหารเกณฑ์ก็ได้สั่งทำโทษทหารเกณฑ์อย่างรุนแรงและหนักหน่วงเกินไป จนนำไปสู่ความเจ็บปวด บาดแผล รวมถึงหมดสติ

ท่าออกกำลังกายเบสิกอย่างหนึ่งที่ทหารเกณฑ์มักถูกสั่งให้ทำคือ ‘พุ่งหลัง’ โดยเป็นท่าที่ผู้ถูกทำโทษจะต้องเปลี่ยนจากท่ายืนลงไปย่อนั่งลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งยืดขาไปข้างหลังในท่าที่เหมือนกับท่าวิดพื้น ก่อนลุกขึ้นมายืนตัวตรงอีกครั้ง นับเป็นหนึ่งเซ็ต 

อย่างไรก็ตาม ทหารเกณฑ์หลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็เห็นพ้องต้องกันว่า บางครั้งครูฝึกสั่งทำโทษให้พุ่งหลังมากเกินไป จนร่างกายบาดเจ็บ หรือบางคนถึงขั้นหมดสติ

นอกจากท่าพุ่งหลังแล้ว ทหารเกณฑ์ 10 คน ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า พวกเขาเคยถูกบังคับให้ทำท่า ‘ปักหัว’ ซึ่งผู้ถูกลงโทษจะต้องเอามือไพล่ไว้ที่หลัง ตั้งขาสองข้างเป็นมุมสามเหลี่ยมกับพื้น ขณะที่ใช้หัวเป็นส่วนที่ค้ำยันน้ำหนัก ท่าปักหัวอาจทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกสั่งเพียงไหน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาถูกลงโทษในพื้นผิวแบบใด สนามหญ้า พื้นคอนกรีต หรือถนนลาดยาง

เจ้าหน้าที่ทหาร ‘ยุทธ’ ยอมรับว่า เขาเคยตักเตือนไม่ให้มีการลงโทษในลักษณะดังกล่าวแล้ว ถึงแม้ว่าท่าดังกล่าวอาจทำให้ผู้ถูกลงโทษเข็ดหลาบจำจริง แต่อาจส่งผลเสียต่อสมองส่วนเซเลบรัม ซึ่งทำหน้าที่ในการสื่อสาร ประสานงาน และทำความเข้าใจ

อีกท่าหนึ่งที่มักถูกเอามาใช้ลงโทษคือ ‘กำปั้น/หมัดเหล็ก’ โดยจะต้องอยู่ในท่าเดียวกับวิดพื้น แต่ต้องใช้กำปั้นแทนฝ่ามือ นอกจากนี้ยังมีท่าพิสดารอย่าง ‘ท่ากบ’ ที่ต้องกระโดดขณะนั่งยองๆ บางครั้งอาจต้องเกาะไหล่เพื่อนทหารเกณฑ์ไปด้วยหรืออาจถือตุ้มน้ำหนัก และ ‘ท่าปลาไหล’ หรือการคลานไปบนพื้นดินโดยใช้หน้าท้องเป็นหลัก และมือไขว้หลังไว้ นอกจากนี้ ยังมีท่าลงโทษอีกมากที่ผู้บังคับบัญชาแต่ละคนคิดขึ้นมาเอง 

ถึงแม้ว่า การลงโทษด้วยท่าออกกำลังกายเหล่านี้จะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิโดยเนื้อตัวของคำสั่ง และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ทหารเกณฑ์ 10 คนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าพวกเขาเคยพบเห็นกรณีที่ทหารเกณฑ์ถูกลงโทษหนักเกินไป จนหมดสติอยู่หลายครั้ง

การทำให้อับอายและละเมิดทางจิตใจ

นอกจากการละเมิดสิทธิของทหารเกณฑ์ทางร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศแล้ว อีกบทลงโทษหนึ่งที่มักพบเจอคือ การทำให้รู้สึกอับอายหรือทำร้ายจิตใจ ปฏิบัติโดยไม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โดยนอกจากการด่าผรุสวาทด้วยถ้อยคำหยาบคายแล้ว หลายครั้งบทลงโทษก็อาจเกิดระหว่างมื้ออาหาร เช่น ถ้าเสียงดังต้องหยุดกินอาหารทันที ต้องเทอาหารทุกอย่างที่มีลงในหม้อเดียวกันแล้วกิน และที่อาจจะเรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดคือ ‘ให้รับประทานอาหารเหมือนหมา’

นอกจากนี้ ยังมีการลงโทษที่ทั้งทำร้ายจิตใจและส่งผลเสียต่อสุขภาพชัดเจนคือ การลงบ่อเกรอะ หรือบ่อบำบัดน้ำเสีย 

“ช่วงฝึกตีระฆังเวลามีเหตุฉุกเฉิน มีทหารสองคน คนหนึ่งเป็นมุสลิม ตีไม่ดี เขาเลยซ่อมด้วยการให้ลง บ่อเกรอะ ……. พวกนี้ต้องแก้ผ้าจนเหลือแต่กางเกงในตอนลง และหลังจากขึ้นมาจากบ่อ ต้องยืนตากแดด ประมาณสามสิบนาทีถึงหนึ่งชั่วโมงจนแห้ง คนที่เป็นมุสลิมเขาร้องไห้เลยตอนจะลง เขาบอกว่า เขากลัวว่าจะมีหมูอยู่ในบ่อ แต่เขาก็ต้องลง” – กฤษณ์ 

นอกจากนี้ ทหารเกณฑ์ที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพูดถึงประเด็นการทุจริต บีบบังคับ และทุจริตในกองทัพอย่างกว้างขวาง บ้างพวกเขาถูกบังคับให้ทำในงานที่ไม่ใช่หน้าที่ อาทิ พาหมาเจ้านายเดินเล่น ดูแลญาติของผู้บังคับบัญชา หรือตัดหญ้าในสนาม บางครั้งพวกเขาก็ต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย อาทิ เครื่องแบบ การซักผ้า อาหาร หรือการยืมโทรศัพท์เพื่อโทรออก นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติสองมาตรฐานเกิดขึ้น หากทหารเกณฑ์บางคนมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายทหารระดับสูงอาจจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า หรืออาจได้อยู่ในหน่วยที่มีการลงโทษน้อยกว่า

ถึงแม้กองทัพไทยจะยืนยันว่ามีนโยบายห้ามไม่ให้มีการลงโทษทหารเกณฑ์เกินกว่าเหตุ ทั้งห้ามไม่ให้มีการถูกเนื้อต้องตัวหรือทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็ชี้ว่า แนวนโยบายดังกล่าวไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ทหารระดับผู้บังคับบัญชาบางคนเห็นด้วยและกำชับเรื่องดังกล่าว ขณะที่ทหารบางคนเมินเฉยและจงใจที่ฝ่าฝืนนโยบายดังกล่าว

ประเทศไทยในฐานะประเทศที่ลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษชนหลายฉบับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเสนอให้ รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และเปิดให้มีการร้องเรียนอย่างลับๆ หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกองทัพ 

ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส เป็นกลาง คณะกรรมการต้องมาจากทุกฝ่ายภาคประชาสังคม เอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย และกองทัพเอง คณะกรรมการควรมีมีอำนาจในการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนทุกระดับชั้น รวมถึงสามารถร้องขอให้เปิดเผยเอกสารได้ และที่สำคัญผู้ฟ้องร้องต้องได้รับการปกป้องจากทั้งทางกายภาพและกฎหมาย ไม่ว่าด้วยมาตราใดๆ 

ยังมีข้อเสนออื่นๆ อีก เช่น อนุญาตให้ทหารเกณฑ์สามารถพกโทรศัพท์มือถือและติดต่อกับที่บ้านได้ ไม่ให้ครูฝึกสั่งทหารเกณฑ์ถ้าไม่มีทหารชั้นสัญญาบัตรอยู่ใกล้ๆ รวมถึงทบทวน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหายว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลแล้วหรือไม่

ดร.ยูวาล กินบาร์ – การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่หนทางสู่กองทัพอาชีพ

ดร.ยูวาล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และหนึ่งในทีมวิจัย ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่าในฐานะที่เป็นนักวิจัยต่างประเทศ เขาค่อนข้างประหลาดใจในช่วงแรกว่ากองทัพไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับนี้ แต่เมื่อศึกษามากขึ้นก็พบว่าสังคมไทยรับรู้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารเกณฑ์ในกองทัพดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการละเมิดจะรุนแรงและแพร่หลายแบบนี้ ซึ่งในสายตาของเขาการละเมิดที่รุนแรงที่สุดคือ การละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะการบังคับให้ทหารช่วยตัวเองและต้องนำน้ำอสุจิให้ครูฝึกดู มันเป็นเรื่องน่าขยะแขยงที่เกิดขึ้นไปทั่ว

เขาเล่าให้ฟังว่า ในสายตาของครูฝึกทหารเกณฑ์ที่ให้สัมภาษณ์ 2 นาย การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดามากเป็นการฝึกวินัย เพื่อความอดทน แต่ถึงแม้ว่าในทางการทหาร วินัย เป็นเรื่องสำคัญ แต่การฝึกวินัยต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ไม่ใช่ให้พวกเขาช่วยตัวเอง ให้กินข้าวเหมือนหมา หรือซ้อมพวกเขา 

เขากล่าวต่อว่า รองเสนาธิการทหาร พลอากาศเอก เฉลิมชัย ศรีสายหยุด เคยชี้แจงในจดหมายที่เขียนตอบแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอข้อมูลไปว่า “กองทัพไทยดูแลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ดุจญาติมิตรในครอบครัว” แต่ข้อมูลที่เขาได้รับจากการสัมภาษณ์ไม่ใช่แบบนั้นเลย ตามปกติธรรมดาแล้วคงไม่มีใครปฏิบัติกับลูกหลานแบบนี้ ยกเว้นในกรณีที่เป็นผู้ป่วยทางจิต นอกจากนี้ข้อมูลที่เขาได้รับจากการสัมภาษณ์ยังชี้ว่า ภายในกองทัพไทยมีการทุจริตภายใน มีระบบการฝึกครูฝึกที่ไม่ได้มาตรฐาน เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้พัฒนาต่อกองทัพ รวมถึงเรื่องวัฒนธรรมอำนาจอันไร้ที่สิ้นสุด ภายในระบบบังคับบัญชาของทหาร 

ประเทศไทยในฐานะที่ลงนามในอนุสัญญาหลายฉบับ เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน กองทัพไทยเองจึงควรให้ความเคารพอนุสัญญาและนำข้อตกลงไปปฏิบัติ มิใช่ลงนาม แต่ละเว้นสถาบันใดสถาบันหนึ่งไว้

ในสายตาของดร.ยูวาลเสนอว่า กองทัพไทยควรสนับสนุนนโยบายการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ แทนการบังคับภายใต้กฎหมายอย่างในปัจจุบัน รวมถึง ในระยะสั้นที่สุดอาจให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวี ในจุดที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าง หน้าห้องน้ำ หรือโรงเลี้ยง ให้มีนายทหารระดับสูงเดินตรวจตราความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง ทำร้าย นอกจากนี้ กองทัพควรแสดงความจริงใจด้วยการออกคำสั่งห้ามลงโทษเกินสมควร และติดปิดประกาศรณรงค์ไว้ตามสถานที่เห็นได้ชัด เพื่อให้ทั้งครูฝึกและทหารเกณฑ์ตระหนักว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ดร.ยูวาลทิ้งท้ายถึงข้อถกเถียงเรื่องความเป็นทหารอาชีพและกองทัพสมัยใหม่ในไทยว่า มันยากที่เราจะตัดสินว่ากองทัพไหนคือกองทัพที่ดี แต่จากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร 3 คน ล้วนเห็นตรงกันว่า การทำให้อับอายหรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หนทางในการสร้างกองทัพที่ดี โดยเฉพาะการลงโทษด้วยกำลังมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำอีกแล้ว 

ปัจจุบันกองทัพต้องการทหารที่คิดได้ ไม่ใช่ ‘ม้า’ ที่ต้องใช้แส้ฟาดเพื่อให้ควบเร็วขึ้น ดังนั้น กองทัพต้องหันมารับหลักการสิทธิมนุษยชนผสมลงไปในนโยบาย ในการจัดการและควบคุมกองทัพ โดยหวังว่าในวันหนึ่งกองทัพไทยจะยกระดับตัวเองและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ภาพวาดประกอบบทความทั้งหมดจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

Fact Box

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำรายงาน ‘We were just toys to them - เราเป็นได้แค่ของเล่นเขา’ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี 2562 โดยได้ทำการสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์ ครูฝึก ทหารชั้นสัญญาบัตรจำนวน 26 นาย พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เอ็นจีโอ ในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงมีการยื่นขอข้อมูลจากกองทัพไทย ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 

สามารถดาวโหลดน์รายงานฉบับเต็มได้ที่  mega.nz/#F!KNsnRKRZ!pUSXLGLvYk3kPM2tOyvqnA

Tags: , ,