ถ้าให้ลองยกตัวอย่าง เหตุการณ์หรือประเด็นที่ทำให้คนในสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือด คุณจะนึกถึงอะไร?

คำตอบคงเป็นไปได้หลายเรื่อง แต่หนึ่งในเรื่องที่เถียงเท่าไรก็ไม่มีวันจบ หาทางลงกันไม่ได้เสียที ก็เช่นเรื่องที่ว่า ประเทศไทยควรมีโทษประหารชีวิตหรือไม่

ข่าวการประหารชีวิตนักโทษชายรายหนึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2018 ในคดีฆ่าชิงทรัพย์เพราะอยากได้โทรศัพท์และเงินสองพันบาท เป็นตัวจุดประเด็นว่าด้วยการมีอยู่ของโทษประหารชีวิต

“ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต” ผู้คนจำนวนไม่น้อยแสดงคิดเห็นเช่นนั้น เพราะมองว่าการประหารคือการทวงความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเหยื่อ บ้างก็ว่าการประหารคือการกำจัดอาชญากร ลดภัยสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง

อาจจะมีผิดแผกแตกต่างจากคนอื่นมาหน่อย คือ คนกลุ่มหนึ่งออกมายืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด พร้อมกับความมุ่งมั่นว่าจะเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับ ‘ผู้ร้าย’ อย่างถึงที่สุด

คนกลุ่มนั้นที่เราพูดถึงคือ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย’ (Amnesty International – เอไอ) องค์กรสิทธิมนุษยชน ‘โลกสวย’ ในความคิดของคนในสังคมส่วนใหญ่ และเป็นองค์กรที่ถูกประณามว่าเป็นองค์กรนางงาม ที่หวังจะเกาะกระแสไปกับฆาตกร

ท่ามกลางความรุนแรง และความเกลียดชังที่เรามองเห็นจากแฮชแท็กในทวิตเตอร์ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ไม่ต่างกันกับสะเก็ดระเบิดของความรุนแรงขนาดย่อมๆ ที่พร้อมจะแผดเผาหากใครมีอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่กลุ่มแอมเนสตี้ก็ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิต่อไป มันพานให้เรานึกสงสัยขึ้นมาเหมือนกันว่า อะไรคือแรงจูงใจในการเคลื่อนไหว เพื่อไขข้อข้องใจเหล่านี้ เราจึงไปคุยกับ ‘ปิยนุช โคตรสาร’ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในประเทศไทย

ทาสฝรั่ง นักสิทธิคลั่งอุดมคติโลกสวย หรือแค่คนธรรมดาที่อยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสิทธิมนุษยชนแค่นั้น

แอมเนสตี้ฯ มีเป้าหมายอะไร ทำไมถึงต้องทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราก็คือคนทั่วๆ ไปที่ไม่ยอมรับอำนาจความอยุติธรรม กิจกรรมในประเทศไทยของเราเริ่มตั้งแต่ตอนที่นักศึกษาโดนจับในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะไปชุมนุมทางการเมือง เราก็เริ่มมาเขียนจดหมายขอปล่อยตัวนักศึกษา มันเริ่มเป็นตัวจุดประกายว่าคนธรรมดาอย่างเราสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้ เราสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อสิทธิได้ 

แอมเนสตี้ฯ รับเงินใครมาเคลื่อนไหว

เราไม่ได้รับเงินจากองค์กรหรือหน่วยงาน คือต้องบอกก่อนว่าเรามีระบบสมาชิกทั่วโลก เป็นองค์กรที่ใช้ระบบสมาชิก บุคคลที่สนใจก็จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิก รวมทั้งอาสาสมัครและนักกิจกรรม ไม่ได้รับเงินองค์กรหรือหน่วยงานรัฐ

ตอนช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็มีคนมาช่วยเขียนโปสการ์ด รับเงินจากสมาชิกรายย่อย เพราะฉะนั้นเงินส่วนใหญ่มาจากผู้บริจาค เราไม่สามารถรับเงินจากภาคเอกชนหรือภาครัฐได้ ต่อให้เขามีเงินมากน้อยแค่ไหน เราก็รับไม่ได้ สมมติมีบริษัทน้ำมันติดต่อมาว่าจะให้เงินเรา แต่เราตรวจสอบว่าเค้ามีประวัติฉ้อโกง เคยทำน้ำมันรั่วแล้วทำให้คนตาย บ้านเรือนชาวบ้านได้รับผลกระทบ อันนี้เราก็รับไม่ได้ จากรัฐบาลยิ่งไม่ได้เข้าไปใหญ่ ยกเว้นว่าจะเป็นโครงการต่างๆ อย่างโครงการอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษา เราถึงจะทำได้

ระบบของเรามีความเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น สามารถตรวจสอบได้ เรามีรายได้จากผู้บริจาคและสมาชิกในองค์กร คนที่สมัครเป็นสมาชิกจะจ่ายเงินค่าสมัครและมีสิทธิลงเลือกเป็นกรรมการที่มาทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ ใหญ่สุดก็คือสมาชิก รองลงมาคือคณะกรรมการซึ่งก็เป็นตัวแทนของสมาชิกอีกที ซึ่งเป็นสมาชิกจากประเทศไทย ส่วนของต่างประเทศก็จะมีตัวแทนประธานแยกกันไป เสร็จแล้วเราก็จะมารวมกันเลือกตัวแทนใหญ่ระดับองค์กรกันอีก

ยอมรับว่าในตอนแรก ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ใหม่สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรเล็กๆ ถ้าจะเทียบกับที่อื่น ประชากรของบางประเทศประมาณร้อยละ 80 ก็เป็นสมาชิกของเอไอ ส่วนในประเทศไทย ผู้บริจาคหรือสมาชิกจะมีไม่ค่อยเยอะ ประเทศใหญ่ๆ เขาก็จะส่งเงินมาช่วยสนับสนุนเราอยู่เรื่อยๆ ช่วยๆ กันกับทางผู้บริจาคของเรา แต่เราก็ต้องมีการส่งรายงานไปให้เขาดูตลอดนะ ว่าทำอะไรไปถึงไหนบ้าง

นอกจากเรื่องนักโทษประหาร แอมเนสตี้ฯ เคลื่อนไหวเรื่องอื่นๆ ด้วยไหม

ทำสิคะ เรื่องหลักตอนนี้ที่เราทำคือเรื่องปกป้องนักสิทธิฯ เรื่องสิทธิที่จะออกความคิดเห็น แล้วก็เรื่องผู้ลี้ภัย ที่เราส่งเสริมให้เข้าใจและยอมรับในความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัย อีกเรื่องก็คือเรื่องต่อต้านการซ้อมทรมาน

เรื่องโทษประหาร แอมเนสตี้ทำมานานมากแล้ว ช่วงหลังอาจจะไม่ได้เด่นมากมาย เพราะเราสื่อสารเชิงนโยบายกับภาครัฐอยู่ ตอนที่คุยกันกับรัฐ เราทราบว่ามีแผนเรื่องผลักดันสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งแผนนี้ก็มีโรดแมปวางไว้อยู่ว่าจะลดโทษเรื่องการประหารชีวิต เราก็มองว่าในเมื่อเขามีแผนตรงนี้อยู่แล้ว เราน่าจะไปทางเดียวกัน น่าจะมาทำงานด้วยกันได้ ตามเอกสารที่คุยกันไว้คือจะยุติโทษประหารภายในปี ’61 ด้วยซ้ำ แต่เราก็รู้ล่ะว่ามันอาจจะยากและอีกยาวไกล ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เราก็พูดคุยกันตลอด เวลามีเวทีโลกมาคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐไทยก็พยายามแสดงความจำนงว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ พยายามจะทำตามโรดแมป เราเข้าใจกันอย่างนั้น

ส่วนเรื่องการให้ความรู้ความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิ เราก็ทำกันอยู่เป็นระยะๆ นะคะ เช่น เรามีกิจกรรมในวันยกโทษประหารสากล แต่เราไม่รู้เลยว่าจะมีเคสประหารกลางคันหลุดออกมาแบบนี้ เพราะเราไม่ได้ประหารกันมา 8-9 ปีแล้ว มันน่าจะเป็นพัฒนาการที่ดี ก็ทำงานกันด้วยดีมาโดยตลอด จนมาวันที่ 18 มิถุนายน นี่แหละ

เราค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐถึงมีท่าทีแบบนี้ แต่เราไม่ทราบคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร

จุดยืนเรื่องยกเลิกโทษประหาร เป็นเพียงวาทกรรมแบบนามธรรมอุดมคติหรือเปล่า

เราเข้าใจนะว่า ทุกครั้งที่เราออกมาทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่เรื่องกระแสหลักในสังคม มันอาจจะฟังดูกระด้างกระเดื่อง เราเจอวาทกรรมองค์กรฟอกเงิน อะไรแบบนี้มาโดยตลอด เราเข้าใจนะ เราสามารถอธิบายเรื่องเงิน เรื่องอะไรต่างๆ ได้ และก็ต้องขอบคุณผู้บริจาคด้วย อย่างที่เรารู้กันว่า เวลาไปบริจาคเงินให้องค์กรใด เราก็จะรู้ว่าเราเอาเงินไปให้เขาเพื่อทำอะไร จะดูแลเด็ก หรือสร้างห้องน้ำ แต่ของเรามันคือการรณรงค์ มันจับต้องไม่ได้ แต่คนก็ยังบริจาคกัน เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันคือการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจริงๆ

ในความคิดของคุณ ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารสำเร็จไปแล้ว เขามีความคิด ความเชื่อ หรือแรงจูงใจอะไร ถึงทำสำเร็จ

เขาคงจะมองในแง่ที่ว่า กฎหมายมีหน้าที่ป้องปรามไม่ให้คนกระทำความผิด แต่การมีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้เป็นคำตอบว่าจะลดอาชญากรรมในสังคมได้ อย่างที่สองคือ ตามมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนสากล เรื่องประหารนี่มันผิดหลักมนุษยชนอยู่แล้ว เขาคิดว่ามันต้องทำให้เป็นมาตรฐานตามๆ กันไป เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ

กฎหมายต่างๆ ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน แล้วโทษประหารมันไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่จะแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรรม ควรจะต้องมาดูที่การเคารพความเป็นมนุษย์ การให้โอกาสคน หรือทำอย่างไรไม่ให้เขากลับไปทำผิด มันจะมีระบบอะไรที่ปกป้องคุ้มครองไม่ให้ประชาชนถูกทำอันตราย มีสังคมที่ปลอดภัย

หลักสิทธิมนุษยชนข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘สิทธิที่จะมีชีวิต’  มันเป็นเรื่องสำคัญ การมีชีวิตอยู่รอดมันไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อย ถ้าเชื่อในข้อนี้ก็จะไม่มีใครโดนฆ่า จะไม่มีเหยื่อ ไม่โดนทำร้าย ที่สำคัญคือ เราไม่ควรที่จะไปฆ่าคนที่เขาทำผิด พอมีหลักข้อนี้อยู่มันก็จะแย้งกันเอง

เราไม่ได้บอกว่าเราจะยืนข้างคนผิด ถ้ามีการกระทำความผิด อย่างเช่นการฆ่าที่ร้ายแรง มันก็ควรจะมีการดำเนินคดี เพียงแต่เราไม่เห็นด้วยที่จะใช้การประหารชีวิต

นอกจากเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องคัดค้านโทษประหารชีวิต

การประหารชีวิตมันคือการให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เพื่อจัดการกับความรุนแรง ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นหรอก ไม่มีใครอีกเหมือนกันที่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว หรือเกิดขึ้นกับเรา แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่จัดการเรื่องนี้คือ รัฐ มันไม่ใช่การแก้ปัญหา ที่ผ่านมาเราก็ยังเห็นอาชญากรรมเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ามันจะลดลง

ที่สำคัญ คุณลองคิดดูสิว่าถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นเพชฌฆาต ที่ต้องมาทำหน้าที่เป็นคนฉีดยา คุณทำให้เขาต้องอยู่ในสถานะฆ่าคน มันก็เป็นหน้าที่เขา แต่ลองถามตัวเองดูสิว่า ถ้าเป็นเรา เราจะอยากทำหน้าที่นี้รึเปล่า จะอยากทำจริงๆ เหรอ หน้าที่พรากชีวิตคนอื่น มันสูญเสีย แต่ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

ถ้าจะตั้งคำถามว่า แล้วความชอบธรรมของเหยื่อล่ะ นี่เป็นคำถามที่คนถามเยอะมาก ถ้าให้ตอบตามจริงก็คือ เราไม่สามารถบอกได้หรอกว่ามันเป็นความรู้สึกที่แย่แค่ไหน ต่อให้เราจะแสดงความเสียใจแค่ไหนก็ตาม เราเสียใจนะกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเราก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเหยื่อ จริงๆ แล้วเราอยู่ฝ่ายเดียวกันด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้ ถ้าให้ถามกันตรงๆ ต่อให้คุณฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งไปแล้ว แผลในใจตรงนั้นมันจะเยียวยาได้จริงไหม

แล้วความชอบธรรมของเหยื่อล่ะ นี่เป็นคำถามที่คนถามเยอะมาก เราก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเหยื่อ จริงๆ แล้วเราอยู่ฝ่ายเดียวกันด้วยซ้ำ

ถ้าเราเป็นเหยื่อ เราต้องการให้ผู้ที่ทำผิดโดนจับให้ได้ และต้องเป็นตัวจริงด้วยนะ มันต้องเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ มันไม่ใช่แค่จับมาให้มีผลงาน จับคนผิดให้ได้ แต่เราไม่สนับสนุนให้ประหารชีวิต ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าข้างนักโทษ เราอยากให้ลดโทษประหารชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยากให้ปล่อยนักโทษออกมา  เราไม่ได้อ่อนข้อให้ผู้กระทำผิด คนที่ทำผิดก็ควรจะได้รับโทษ แต่เขาควรจะอยู่ในกระบวนการที่ยุติธรรมที่เป็นธรรม

เคสที่เราเจอมา อย่างกรณีของคุณโทชิที่เป็นช่างภาพ คอยตระเวนถ่ายรูปนักโทษประหาร เขาเองก็เคยเป็นเหยื่อ เคยโดนทำร้ายปางตาย แต่แทนที่เขาจะเอาโทษให้มากที่สุด ให้มันตายตกไปตามกัน เขาดันสงสัยมากกว่าว่า สาเหตุที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นแบบนี้มันเป็นเพราะอะไร อะไรเป็นที่มาที่ไป เขาก็ลงไปศึกษาดูว่า นักโทษประหารเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เป็นแรงจูงใจ อะไรที่จะทำให้นักโทษเหล่านั้นไม่ทำสิ่งที่ผิด

อีกสิ่งหนึ่งที่สงสัยคือ ในช่วงที่เรากำลังอยู่ในภาวะสูญเสีย ภาครัฐมีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเหยื่อมากแค่ไหน หรือที่จริงแล้วพวกเขาต้องสู้คนเดียว ในระบบรัฐไทยมันมีระบบอะไรตรงนี้ไหมที่มาช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย

แรงต้านที่มีต่อแอมเนสตี้ น่าจะมาจากอะไร

ดูฟีดแบ็กจากทางเพจเฟซบุ๊ก ก็ทำให้เราเข้าใจอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนในสังคมรู้สึกโกรธ อะไรที่ทำให้เขาโมโห อาจเพราะคนกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในสังคม พอเขาเห็นว่าเราลุกขึ้นมาต่อต้านโทษประหารก็อาจรู้สึกว่าจะยิ่งส่งเสริมให้คนผิดออกมา

ลึกๆ คนอาจจะรู้สึกว่าสังคมตอนนี้มันไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว เพราะพวกเราเองก็ไม่ได้เชื่อมั่นว่าสังคมนี้จะมีระบบอะไรที่ทำให้คนปลอดภัยได้ ฉะนั้น โทษประหารอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขู่ให้คนกลัวแล้วก็จะได้ไม่ทำ เพราะเรานึกถึงระบบอื่นไม่ได้เลยว่าจะมีอะไรที่ช่วยให้เราปลอดภัย

แต่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงในสังคม เราอยากให้สังคมปลอดภัย เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสมาคุยมาสื่อสาร ทำความเข้าใจกันว่าอะไรคือสิ่งที่จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

แอมเนสตี้ฯ ได้รับผลกระทบอะไรจากการออกมาเคลื่อนไหว

มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และก็น่าตกใจ น่าสนใจตรงที่ว่า ในความหวาดกลัวและความโกรธของคนที่ไม่อยากให้เกิดคดีร้ายแรง คนคงสะเทือนใจไปกับเหยื่อจึงมีความโกรธเกิดขึ้น แต่มันแปลกตรงที่ว่า เราไม่อยากให้มีความรุนแรง แต่คำพูดที่ใช้มันคือประกายของความรุนแรง มีถ้อยคำหยาบคาย มีการใช้ hate speech มีการขู่ทำร้าย มีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ เช่น มีมาวางพวงหรีดที่หน้าออฟฟิศของแอมเนสตี้ฯ แต่มันก็จะมาในรูปแบบเดิมๆ เช่น คำพูดที่ว่า เอานักโทษไปอยู่ที่บ้านไหม เวลาที่เราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องโรฮิงญา เราก็จะโดนต่อว่าว่า แอมเนสตี้ก็รับไปอยู่เลยสิ

รูปแบบใหม่ที่เราเจอ นอกจาก ‘เอาไปอยู่ที่บ้านไหม’ ก็คือ “ต้องโดนเอง ถึงจะรู้” “ขอให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นกับตัวคุณ” ลองมาโดนข่มขืนเองบ้างสิ ถ้าโดนนะจะเอาให้เจ็บๆ หนักๆ มันเป็นสิ่งใหม่ สำหรับเราเอง เรากังวลเหมือนกันว่า ถ้อยคำพวกนี้ก็ส่งเสริมความรุนแรงเหมือนกัน ถ้าเขาจะทำเพื่อระบายอารมณ์หรือเพื่อความสะใจแล้วมันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น

คนคงสะเทือนใจไปกับเหยื่อจึงมีความโกรธเกิดขึ้น แต่มันแปลกตรงที่ว่า เราไม่อยากให้มีความรุนแรง แต่คำพูดที่ใช้มันคือประกายของความรุนแรง

เรายังยืนยันในจุดเดิมว่าเราไม่ได้เข้าข้าง เราไม่ได้อยากให้เกิดความรุนแรง เพียงแต่ว่าเราคิดว่าการประหารชีวิตมันไม่ใช่คำตอบ คุณกลัวความรุนแรง เราก็กลัวเหมือนกัน งั้นเราก็ไม่ควรมาส่งเสริมความรุนแรงไหม มาหาทางแก้ปัญหา แล้วสังคมก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่า สุดท้ายแล้วเราต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้

เราคิดว่าเราไม่ควร return hate ด้วย hate มันเป็นแบบทดสอบที่ดีนะ ว่าพอกระแสเป็นแบบนี้ เราจะต้องทำอย่างไร มันเป็นพื้นที่ที่ดีที่เราจะได้รู้ว่า สังคมภายนอกมองเราอย่างไร เราต้องสื่อสารออกไปอย่างไร

แล้วอะไรคือการแก้ปัญหาที่แท้จริงล่ะ

เราไม่สามารถให้คำตอบได้หรอก มันอาจจะเริ่มจากจุดที่เราผ่อนคลายความโกรธลงแล้วหันหน้าเข้ามาคุยกันว่าจะมีวิธีไหนที่จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าการประหาร ใครเป็นตัวสำคัญบ้างในเรื่องนี้ เช่น รัฐควรจะมีระบบปกป้องคุ้มครองแค่ไหน ระบบของรัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะปลอดภัย หรือแม้กระทั่งตอนดำเนินคดี มันมีจุดโหว่หรือช่องว่างอะไรในกระบวนการยุติธรรมไหม มันควรจะมีสิ่งที่ช่วยทั้งสองฝ่ายไหมเพื่อให้เข้าหากระบวนการยุติธรรมมากที่สุด

กระบวนการที่เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ผู้ร้ายที่กระทำผิดโดนจับเป็นตัวจริงหรือเปล่า ในช่วงที่โดนดำเนินคดี ผู้สูญเสียต้องเจออะไรบ้าง แล้วเขาได้รับการเยียวยาไหม หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นผู้ต้องหา เขาได้รับการช่วยเหลือทางด้านทนายไหม แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เขากลับไปทำสิ่งที่ผิดอีก คือไทยเรายังไม่มีอะไรตรงนี้ที่จะมารองรับจริงๆ

แต่บางคนยกสถิติมาว่า ปล่อยไปเดี๋ยวก็ทำผิดซ้ำซากอีก

แล้วฝ่ายรัฐมีมาตรการอะไรตรงนี้ไหม ที่จะทำให้นักโทษไม่กลับไปทำผิดอีก ในต่างประเทศ เขาจะต้องดูก่อนว่าชุมชนพร้อมที่จะรับบุคคลเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าออกมาแล้วชุมชนจะรับได้ไหม มันต้องพูดคุยในเชิงระบบ แต่ไทยเรายังไม่มี พอเขากลับมาแล้วไม่มีที่ยืน เขาป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษา เขาก็กลับไปทำใหม่ เพราะมันไม่มีที่ให้เขายืนไง สังคมและสื่อให้โอกาสเขามากน้อยแค่ไหน เราจะเอาความรุนแรงมาพูดต่อขยายต่อออกไปเหรอ

ทำไมถึงคาดหวังให้รัฐเข้ามาดูแล ทั้งที่เป็นเรื่องที่ผลักดันยาก

เราไม่ได้ผลักภาระให้รัฐอย่างเดียว แต่ทั้งสังคมแม้แต่สื่อเองก็ต้องเข้ามาช่วยกัน แต่ที่พูดถึงรัฐก็เพราะว่าคนชอบพูดถึงการขังคนไว้ในคุกจนเต็ม แล้วเขาไม่อยากจะเสียเงินเสียภาษีเพื่อให้รัฐไปจ่ายเงินดูแลนักโทษ แต่ถามว่า ในฐานะของคนที่ต้องจ่ายภาษี เราไม่อยากจะรู้จริงๆ เหรอ ว่ารัฐเอาเงินไปจัดการภายในคุกอย่างไร มันมีกระบวนในเรื่องของอาชีพ การรักษาอะไรอย่างอื่นมั้ย

มันอยู่ที่การพูดคุยกันนะ ถ้าทุกคนเคารพกัน เคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ก็ไม่น่าจะมีเหตุร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น เราอาจจะต้องคุยกันแล้วมาแตกอีกทีว่า ระบบอะไรที่จะช่วยเราได้จริงๆ อาจฟังดูยูโทเปียไปสักหน่อย แต่ถ้าไม่มีคนเริ่ม ก็คงจะไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอน

คิดยังไงกับคำว่า “นักสิทธิฯ เป็นพวกโลกสวย”

มีคนบอกว่าเราโลกสวย แต่เรามองโลกตามความเป็นจริง เราเห็นกันอยู่ว่าโทษประหารไม่ได้ช่วยอะไร มันก็ยังมีคดีต่อมาเรื่อยๆ แล้วเราจะเรียกร้องให้มันมีโทษประหารไปทำไม ในเมื่อมีแล้วไม่ได้ช่วยอะไร มีประหารไปเมื่อวันจันทร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าอีกสองสามวันจะไม่มีการก่ออาชญากรรมขึ้นมา แล้วทำไมเราไม่มองหาทางอื่นที่อาจจะแก้ปัญหานี้ได้ล่ะ

แล้วเราจะได้อะไรจากการเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหาร

มันไม่ใช่เรื่องของการได้หน้าหรือได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ แต่มันแสดงถึงความตั้งใจจริงของรัฐมากกว่า ว่าจะพัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม เราจะต้องสร้างระบบที่ทำให้ไม่มีเคสออกมาแบบนี้อีก มันเป็นการบ้านที่ต้องไปคิดร่วมกันว่าในทางปฏิบัติควรจะเป็นอย่างไร

Fact Box

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีสมาชิก 7 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก ทำงานเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ฯ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
  • สำหรับสำนักงานในประเทศไทย เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2538 เน้นดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกราว 1,000 คน
Tags: , , , , ,