นอกจากเรื่องฝุ่น PM 2.5 และการจับคนร้ายคดีปล้นร้านทองในลพบุรีแล้ว อีกข่าวหนึ่งที่มาแรงและสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนไม่น้อยในช่วงสัปดาห์นี้ก็คือ ไข้หวัดปริศนาจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (ทำให้ได้รับชื่อว่า หวัดอู่ฮั่น ไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าเกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และติดต่อจากคนสู่คนได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว
ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะเพิ่งค้นพบไวรัสในต้นศตวรรษที่ 20 แต่คำว่า virus กลับปรากฏในภาษาอังกฤษก่อนที่มนุษย์จะรู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดนี้อย่างน้อย 600 ปีเลยทีเดียว ชวนให้คิดว่าก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องเจอสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วนี้ คนแต่ก่อนใช้คำว่า virus หมายถึงอะไรมาก่อนบ้าง (อ่านเรื่องที่มาชื่อโรคต่างๆ ได้ที่นี่)
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกกันว่าไวรัสมีที่มาที่ไปอย่างไร เคยแปลว่าอะไรมาบ้าง แล้วปัจจุบันใช้ในความหมายอะไรบ้าง
ไวรัสเปล่งรัศมี?
ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโรคปอดอักเสบปริศนาที่มาจากเมืองอู่ฮั่นนี้เกิดจากไวรัสที่จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส (coronavirus) ลักษณะพิเศษของไวรัสกลุ่มนี้คือผิวโดยรอบมีก้านยื่นออกมา ดูแล้วคล้ายรัศมีของดวงอาทิตย์หรือแฉกของมงกุฎเมื่อมองจากด้านบน ซึ่งในภาษาละตินเรียกว่า corona และเป็นที่มาของคำว่า crown ที่แปลว่า มงกุฎ ในภาษาอังกฤษด้วย
ไวรัสมาจากไหน?
หากเราสืบสาวที่มาของคำว่า virus แล้ว จะพบว่ามีต้นตอมาจากภาษาละติน หมายถึง สารคัดหลั่งที่เป็นพิษ พิษงู เมือก ของเหลวที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ที่น่าสนใจก็คือแม้คนในสมัยนั้นจะไม่รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่ทำให้เกิดโรคได้ แต่ก็รู้ว่าสารคัดหลั่งจากร่างกายของมนุษย์เป็นตัวการแพร่เชื้อโรคได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ คำว่า virus ในภาษาละตินนี้สามารถสืบสาวกลับไปได้ถึงรากโปรโตอินโดยูโรเปียน *weis อันเป็นที่มาของคำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการไหลและเชื่อกันว่าเป็นที่มาของคำว่า viṣá (विष) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง พิษ ซึ่งนอกจากจะกลายมาเป็นคำว่า พิษ ในภาษาไทยปัจจุบัน ยังเป็นที่มาของคำว่า วิสา ซึ่งเป็นคำที่หนังสือวิทยาศาสตร์ของไทยในยุคก่อนใช้เรียกไวรัสอีกด้วย (อย่างวิชา virology หรือวิทยาไวรัส ก็เรียกว่า วิสาวิทยา)
ไวรัสในภาษาอังกฤษ
คำว่า virus ปรากฏในภาษาอังกฤษครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 14 (ซึ่งแน่นอนว่าคนในยุคนั้นยังไม่น่าจะทราบว่าในโลกมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเกินกว่าที่จะเห็นด้วยตาเปล่าและก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้) พบใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับในภาษาละติน แต่เจาะจงมากขึ้น คือหมายถึง หนองหรือสารคัดหลั่งจากฝีหรือแผลต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรค ตัวอย่างเช่นในปี 1392 พบการใช้คำว่า virus ในหนังสือเกี่ยวกับกายวิภาคมนุษย์และการผ่าตัด ระบุว่า Vlcus is an old wounde or a stynkynge, castynge out quytture or oþer vnclennesse, as virus, which ys seid sutil quytture or þinne. (ฝีคือแผลเก่าหรือแผลส่งกลิ่นเหม็นที่หลั่งหนองหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ เรียกว่า ไวรัส ซึ่งมีลักษณะซ่อนในหรือเหลวใส)
อย่างไรก็ตาม คำว่า virus ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายที่อาจจะผิดคาดสำหรับหลายๆ คนด้วย นั่นก็คือ น้ำอสุจิ เช่นในปี 1398 พบตัวบทที่เขียนไว้ว่าของเหลวที่ออกมาจากเพศชาย (þe humour þat comeþ out of mankynde) เรียกว่า ไวรัส! (ซึ่งน่าจะใช้คำนี้เพราะน้ำอสุจิมีลักษณะคล้ายเมือก ไม่ใช่เพราะก่อให้เกิดโรค)
แต่ทั้งนี้ ความหมายของ virus ที่ปรากฏในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับพิษและการเกิดโรคเป็นหลัก ดังนั้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จึงเริ่มพบการใช้คำว่า virus ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง เชื้อร้ายที่แพร่กระจายและสร้างความเสื่อมโทรมด้านศีลธรรม เช่น ตัวอย่างประโยคจากปี 1912 The virus of corruption runs through the party. คือ เชื้อการฉ้อราษฎร์แผ่ทั่วพรรคการเมืองนั้น
ไวรัสในโลกยุคใหม่
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียเสียอีก คือเล็กจนสามารถเล็ดลอดผ่านแผ่นกรองที่ใช้กรองแบคทีเรียได้ อีกทั้งสิ่งมีชีวิตนี้ยังเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด จึงเรียกสิ่งมีชีวิตที่พบใหม่นี้ว่า filterable virus หรือ ไวรัสที่ผ่านแผ่นกรองได้
ต่อมาในศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนี้เพิ่มมากขึ้น คือพบว่าสิ่งมีชีวิตนี้ต้องอาศัยในเซลล์ของโฮสต์จึงจะมีชีวิตอยู่ได้และสามารถเพิ่มจำนวนแบบทวีคูณได้ ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมโยงไวรัสชนิดต่างๆ กับโรคที่ไวรัสชนิดนั้นๆ ก่อขึ้น (เช่น ไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือไวรัสเริม ด้วยเหตุนี้ คำว่า virus ที่เคยมีความหมายคลุมเครือ หมายถึงของเหลวต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจงหมายถึงสิ่งมีชีวิตประเภทนี้เป็นครั้งแรก
ไวรัสนอกห้องทดลอง
ในช่วงตอนปลายของศตวรรษที่ 20 คอมพิวเตอร์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้น ผู้ไม่ประสงค์ดีหลายคนก็ได้คิดค้นโปรแกรมที่มุ่งสร้างความปั่นป่วนขึ้น เนื่องจากโปรแกรมพวกนี้มักทำให้คอมพิวเตอร์ ‘ป่วย’ หรือทำงานผิดปกติในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังมักถูกออกแบบให้แพร่กระจายได้โดยง่าย จึงเริ่มมีการนำคำว่า virus มาเรียกโปรแกรมเหล่านี้ และกลายมาเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ (computer virus) แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน รวมถึงทำให้เกิดคำว่า antivirus software ที่หมายถึง โปรแกรมป้องกันไวรัส
นอกจากนั้น ความสามารถในการแพร่พันธุ์แบบทวีคูณของไวรัสยังทำให้เกิดคำที่นำมาใช้เรียกสิ่งที่ถูกส่งต่อเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ในเวลาอันสั้นด้วย นั่นก็คือคำว่า viral เช่น วิดีโอในอินเทอร์เน็ตที่ดังขึ้นมาในชั่วข้ามคืน ก็เรียกว่า viral video หรือหากสิ่งๆ หนึ่งดังพลุแตกขึ้นมา คนพากันส่งต่อจนขยายวงกว้างในชั่วพริบตา แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า สิ่งนั้นได้ go viral ไปแล้ว นั่นเอง
บรรณานุกรม
https://quod.lib.umich.edu/m/middle-english-dictionary
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Dobson, Mary. Murderous Contagion: A Human History of Disease. Quercus: London, 2015.
Hayes, Justin Cord. The Unexpected Evolution of Language: Discover the Surprising Etymology of Everyday Words. F+W Media: Avon, 2012.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
OED Online. Oxford University Press. December 2019. Web.
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.
Tags: หวัดอู๋ฮั่น, โควิด-19, ศัพท์ภาษาอังกฤษ, ไวรัส, โคโรนา, ไวรัสโคโรนา