การระบาดของโรคปอดอักเสบลึกลับที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนราวกลางเดือนธันวาคม 2019 จนถึงขณะนี้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ 2020 ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ไม่สดใสนัก เพราะเมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้า และมีเที่ยวบินตรงไปยังหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ตของประเทศเราด้วย แต่อย่างน้อยตอนนี้เราก็ทราบสาเหตุของโรคนี้แล้วว่าเกิดจาก ‘โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่’ (Novel Coronavirus) 

ชื่อนี้เหมือนกับตอนที่เราตรวจเจอเชื้อก่อโรคเมอร์ส (MERS: Middle East respiratory syndrome) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ครั้งแรกในปี 2012 หรือถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อยในปี 2002 เชื้อก่อโรคซาร์ส (SARS: severe acute respiratory syndrome) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงก็เคยถูกเรียกชื่อเดียวกันนี้มาก่อน ในขณะที่ตัวใหม่นี้มีตัวเลขห้อยท้ายว่า ‘2019’

สายพันธุ์ของโคโรนาไวรัส

โคโรนาไวรัส (Coronavirus: CoV) เป็นไวรัสกลุ่มใหญ่ที่พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ ถูกแยกเชื้อออกมาได้ครั้งแรกเมื่อ 55 ปีก่อน โดยนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษในปี 1965 หน้าตาของไวรัสกลุ่มนี้เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (รูปที่ 1) จะเห็นเป็นรูปวงกลมที่มีก้านยื่นออกมารอบตัวเหมือนมงกุฎ (crown) หรือรัศมีของดวงอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของชื่อ Corona

รูป 1 โคโรนาไวรัสภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (ที่มา: CDC

ปกติแล้วอาการไอ เจ็บคอ หรือโรคหวัดธรรมดามีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งโคโรนาไวรัสก็เป็นหนึ่งในนั้น ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยทั้งหมด มี 4 สายพันธุ์ที่พบบ่อยในคน ได้แก่ 229E, NL63, OC43 และ HKU1 (โดยทั่วไปแพทย์จะไม่ได้ส่งตรวจละเอียดถึงขนาดนี้ หรือแม้แต่ตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสในคนไข้ที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง เพราะถึงทราบว่าเป็นโคโรนาไวรัสก็รักษาตามอาการอยู่ดี หรือพูดอีกอย่างว่าตรวจไปก็เสียเงินเปล่า) 

แต่จะมีอีก 2 สายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อข้ามจากสัตว์มาสู่คน และทำให้เกิดอาการรุนแรงคือ โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส โดย SARS-CoV มีจุดเริ่มต้นจากผู้ป่วยในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน สันนิษฐานว่าติดมาจากชะมด (palm civet) ซึ่งน่าจะติดมาจากค้างคาวอีกที ครั้งนั้นมีแพทย์จากกวางตุ้งเข้าพักโรงแรมในฮ่องกงแล้วแพร่เชื้อให้กับแขกคนอื่นจนเกิดการระบาดไปทั่วโลก มีอัตราตาย 15% แต่ปัจจุบันไม่พบการระบาดแล้ว

ส่วน MERS-CoV ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยคาดว่ามีการแพร่เชื้อจากค้างคาว (อีกแล้ว!) มาที่อูฐอยู่ก่อน จากนั้นไวรัสก็พัฒนาจนสามารถติดต่อสู่คนได้ เพราะตรวจพบเชื้อเดียวกันนี้จากค้างคาวในพื้นที่เดียวกับผู้ป่วย ในขณะที่อูฐก็ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นี้เช่นกัน มีอัตราตาย 35% ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยติดเชื้อนี้ได้อยู่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ผ่านมาที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019

ในฤดูหนาวของเมืองอู่ฮั่น ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2019 เริ่มมีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ซึ่งมีอาการไข้สูง ไอแห้งๆ อ่อนเพลียเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหลายราย ในจำนวนนี้มี 7 รายที่มีอาการรุนแรง ผลการตรวจเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ ต้องรอผลการถอดรหัสพันธุกรรม ในขณะนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกโรคนี้ว่า ‘โรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ’ (pneumonia of unknown cause)

รูปที่ 2 ตำแหน่งเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน (ที่มา: CDC)

ต่อมา มีข่าวลือว่านี่อาจเป็นโรคซาร์สที่เคยระบาดในจีนเมื่อสิบกว่าปีก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเจ้าของร้าน ลูกจ้าง หรือลูกค้าที่เคยมาซื้อของที่ตลาดอาหารทะเล Huanan ใจกลางเมืองอู่ฮั่น ซึ่งถึงแม้จะชื่อว่าขาย ‘อาหารทะเล’ แต่ความจริงแล้วยังมีการขายเนื้อสัตว์อื่นด้วย (แน่นอนว่าสัตว์ป่าย่อมถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะมักเป็นแหล่งเชื้ออุบัติใหม่) จนกระทั่งวันที่ 7 มกราคม 2020 ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเชื้อ ‘โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่’

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย 8 มกราคม 2020 ผู้ป่วยที่ท่าน รมต.อนุทิน ชาญวีรกูล แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ได้เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น แต่ตรวจพบที่สนามบินสุวรรณภูมิว่ามีไข้สูง ร่วมกับอาการเจ็บคอและมีน้ำมูก จึงถูกแยกมาสังเกตอาการที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อส่งตรวจแล็บกลับไม่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ทั่วไป จึงต้องมีการถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มเติมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย

และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมที่ทางการจีนเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2020 ก็พบว่าตรงกัน นับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย และเป็นรายแรกที่มีการยืนยันนอกประเทศจีนด้วย แต่เนื่องจากผู้ป่วยถูกแยกมารักษาตั้งแต่แรกจึงไม่มีการแพร่เชื้อให้กับคนอื่นภายในประเทศ ส่วนผู้ที่เดินทางมาในกรุ๊ปทัวร์เดียวกันก็ได้รับการติดตามอาการและตรวจแล็บแล้วว่าไม่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้

สถานการณ์ที่ประเทศจีนล่าสุด ณ วันที่ 16 ม.ค. 2020 พบผู้ป่วยทั้งหมด 41 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและผู้สูงอายุ สามารถกลับบ้านได้ 12 ราย แต่อาการหนัก 5 รายและเสียชีวิต 2 ราย โดยรายแรกเสียชีวิตเมื่อ 9 มกราคม เป็นชายอายุ 61 ปีมีโรคประจำตัวเป็นโรคตับแข็ง ส่วนรายที่ 2 เป็นชายอายุ 69 ปีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มกราคม จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อวัยวะภายในล้มเหลว และตรวจพบวัณโรคปอด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ (ซึ่งตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในต่างประเทศที่ตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น!)

การรับมือกับสายพันธุ์อุบัติใหม่

ในขณะนี้คาดว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อจากสัตว์สู่คน เหมือนกรณีโรคซาร์สและเมอร์สที่ผ่านมา แต่ก็มีบทเรียนในอดีตว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่าน Superspreader เช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง เพราะมีเชื้ออยู่ในร่างกายเยอะ จึงมักเป็นการระบาดในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยที่เป็น 2 สามีภรรยาอาจเกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน เพราะสามีทำงานที่ตลาดอาหารทะเล ในขณะที่ภรรยาไม่เคยไปจ่ายตลาดที่ตลาดแห่งนี้ 

และมีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยรายแรกที่ไทยและญี่ปุ่นต่างก็ไม่มีประวัติเดินทางไปที่ตลาดที่ต้องสงสัยมาก่อน

สำหรับประเทศไทยได้มีเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นอย่างเข้มข้น นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับบัตรเฝ้าระวังสุขภาพ (Health Beware Card) ให้สังเกตอาการและยื่นให้กับโรงพยาบาลทราบเวลาไปตรวจรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายได้รับโรคจะถูกแยกกักจนกว่าจะตรวจยืนยันเชื้อก่อโรคได้ ส่วนถ้ายืนยันว่าติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จริงก็จะมีการติดตามญาติที่เดินทางมาด้วยกันมาตรวจหาเชื้อด้วย

สำหรับคนทั่วไปควรดูแลสุขอนามัยตามปกติ แต่สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น จะต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือซากสัตว์ หลีกเลี่ยงการไปตลาดสด ไม่ควรสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการทางทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล อีกทั้งเมื่อเดินทางกลับมาแล้วหากมีอาการผิดปกติภายใน 14 วัน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมา

 

 

Tags: , , ,