กลายเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง สำหรับกรณีการให้บริการของ UBER ที่แม้จะมีการถกเถียงกันมาหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายรถโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายนี้จากรัฐบาลไทย

แน่นอนว่า UBER ยังคงเป็นการให้บริการที่ไม่มีกฎหมายข้อไหนมารองรับ และจุดยืนของกรมการขนส่งทางบกก็ยืนยันชัดเจนว่าบริการนี้ ‘ผิดกฎหมาย’ แต่ถึงอย่างนั้นผู้ใช้บริการจำนวนมากก็พึงพอใจที่จะใช้ UBER ต่อไป เพราะมองว่านี่คือมาตรฐานใหม่ที่แท็กซี่ไทยยังให้ไม่ได้

ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้นอกจากผู้ให้บริการอย่าง UBER และผู้โดยสารที่หมายถึงประชาชนทั่วไปแล้ว หน่วยงานภาครัฐเองก็เป็นตัวแปรสำคัญที่จะฟันธงได้ว่าบริการนี้ควรจะอยู่หรือไปในประเทศไทย ที่ระบบการขนส่งมวลชนยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

The Momentum ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อสะท้อนถึงจุดยืน ความพยายามที่จะแก้ปัญหา และหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นนี้

นี่คือบทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำที่ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็จำเป็นต้องรับฟัง

รถที่เป็นรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผิดหมดแหละ
ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์

ความชัดเจน และจุดยืนของกรมขนส่งทางบกต่อกรณีของ UBER เป็นอย่างไร

จุดยืนของกรมการขนส่งทางบก คือการให้บริการผ่านเครื่องมือ เทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชัน ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีข้อห้าม แต่การให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน หรือการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะต้องเป็นรถรับจ้างสาธารณะที่ถูกกฎหมาย คือสรุปแล้วแอปพลิเคชันไม่ได้ผิดกฎหมาย การให้บริการโดยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ไม่ผิดกฎหมาย แต่การให้บริการผ่านช่องทางไหนก็ตาม จะต้องให้บริการที่ถูกกฎหมาย คือต้องเป็นรถที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะหรือป้ายเหลือง ผู้ขับขี่ที่จะต้องเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ และอัตราค่าโดยสารก็ต้องให้ค่าโดยสารเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

คือผมเรียนไว้ว่านอกจากไม่ห้ามในเรื่องของแอปพลิเคชันแล้ว เรายังสนับสนุนให้บริการโดยแอปพลิเคชันด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวก เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ผมยกตัวอย่างตอนนี้ก็มีหลายแอปพลิเคชันที่ให้บริการแล้วถูกกฎหมาย เช่น All Thai Taxi หรือ Smart Taxi ซึ่งถูกกฎหมาย คือสามารถเรียกผ่านแอปพลิเคชัน แล้วรถที่มาอยู่ในเครือข่ายก็เป็นรถที่จดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง หรือรถสาธารณะ คนขับก็มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นก็คือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสาร ประชาชน เพราะว่ารถที่จดทะเบียนกับรถที่มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะจะมีบันทึกประวัติอยู่ที่กรมการขนส่งทางบกทุกคันและทุกคน เวลาที่มีการให้บริการที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะปฏิเสธผู้โดยสาร ใช้วาจาไม่สุภาพ ข่มขู่ กระทำอนาจาร เราจะสามารถติดตามได้ทันที เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ แล้วรถที่ถูกต้องตามกฎหมายนี่นะครับ จะต้องมีประกันภัยตามกฎหมาย มีประกันภาคสมัครใจ เพราะเวลาเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ ประชาชน ผู้โดยสารก็จะมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองทางกรมธรรม์

แล้วรถโดยสารสาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้อง กรมการขนส่งทางบกมีเงื่อนไขว่ารถทุกคันจะต้องมาตรวจมาตรฐานปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้โดยสาร แล้วคนขับที่ต้องมีใบอนุญาต ไม่ใช่แค่ขับรถเป็นแล้วจะสามารถใช้รถส่วนตัวรับจ้างได้ เพราะเขาจะต้องเป็นคนคอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร ที่สำคัญอย่าลืมว่าคนที่ต้องการประกอบอาชีพสุจริต ประกอบอาชีพรับจ้างสาธารณะมีมากมาย ทั้งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ดี รถแท็กซี่ก็ดี ที่ให้บริการดีๆ อยู่ในระบบ และเขาตั้งใจที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นเราจะต้องคุ้มครองคนที่ประกอบอาชีพถูกกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการแย่งลูกค้า ระบบให้บริการก็จะบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไป

เพราะฉะนั้นโดยข้อสรุปแล้วยืนยันว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเทคโนโลยี เราไม่ได้ปิดกั้นแอปพลิเคชัน แต่ใช้แอปพลิเคชันแล้วจะต้องให้บริการที่ถูกกฎหมาย เหมือนที่ผมเรียนว่านอกจากไม่ปิดกั้นแล้วเรายังสนับสนุนด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมา ที่ได้พูดคุยกับผู้ให้บริการอย่าง UBER มาหลายครั้งมีข้อสรุปอย่างไร

เรายินดี เราก็บอกว่าแอปพลิเคชันเป็นธุรกิจ แต่การเรียกใช้ควรจะใช้เครือข่ายของรถที่มีให้บริการอยู่แล้ว ถ้าจะสะดวกก็คือใช้เครือข่ายของรถที่จดทะเบียนถูกต้องอยู่แล้ว ก็คือแท็กซี่ เรายินดีเลย แต่ถ้าใช้แอปพลิเคชันแล้วใช้รถส่วนบุคคลมันผิดทุกกรณีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น UBER เป็น Grab หรือเป็น GoBike หรือแอปพลิเคชันอะไรก็ตาม ถ้าใช้บริการแล้วใช้รถถูก ใช้คนถูก ให้บริการเป็นไปตามเงื่อนไขการประกอบการตรงนี้เราสนับสนุนเลย

การให้บริการโดยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ไม่ผิดกฎหมาย
แต่การให้บริการผ่านช่องทางไหนก็ตาม
จะต้องให้บริการที่ถูกกฎหมาย
คือต้องเป็นรถที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะหรือป้ายเหลือง

ท่าทีของ UBER จากการเจรจากันเป็นอย่างไร

ในการหารือกันที่กระทรวงคมนาคม เราไม่ได้คุยกันเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กับ UBER หรือ Grab เท่านั้น แต่เราคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุยกับทหาร คุยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และเราก็บอกข้อกฎหมายไว้อย่างชัดเจน

ทุกอย่างกฎหมายคือกติกา ปัจจุบันก็ต้องทำตามกติกา แล้วเราก็ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะที่กรุงเทพฯ แต่ดำเนินการเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ เรื่องนี้ผมอยากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะจริงๆ แล้วการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะอยากให้เรียกใช้รถที่ถูกกฎหมาย ทั้งแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์

แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ารถให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างแท็กซี่ก็ค่อนข้างมีปัญหา เช่น การปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร ปัญหาเหล่านี้จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

แม้การให้บริการอย่าง UBER จะสะดวก และเข้าถึงการให้บริการได้ง่าย แต่เป็นการบริการที่ผิดกฎหมาย เราก็ต้องไปดำเนินการจับ ปรับ และดำเนินการขั้นเด็ดขาด แต่กรมการขนส่งทางบกซึ่งดูแลกำกับควบคุมบริการที่ถูกกฎหมายเองก็มีหน้าที่พัฒนาการให้บริการควบคู่ไปด้วย ผมเรียนว่าตอนนี้กรมการขนส่งทางบกได้ทำโครงการแท็กซี่ VIP และ Taxi OK คือรถแท็กซี่ที่มีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นอุปกรณ์ส่วนควบในการติดตั้ง รถเหล่านี้จะต้องติดตั้ง GPS ต้องติดตั้งเครื่องรูดบัตรแสดงตัวตนคนขับ และจะต้องมีกล้อง CCTV อยู่ในรถเพื่อให้เห็นภาพในการให้บริการ รวมถึงมีปุ่มเตือนภัย เพื่อเวลาที่มีการให้บริการที่ไม่พึงประสงค์ ผู้โดยสารจะสามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือได้ แล้วก็มีแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้โดยสารหรือประชาชนเรียกผ่านแอปฯ ได้ โดยใช้แท็กซี่ที่อยู่ในระบบ ตรงนี้ไม่ใช่โครงการในความฝัน โครงการนี้ได้นำเสนอปรับแก้ ปรับปรุงกฎกระทรวง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็อยู่ในชั้นกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อกฤษฎีกาพิจารณาแล้วก็จะส่งกลับมาที่กระทรวงเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็จะมีผลบังคับใช้

บริการที่ว่ามานี้จะช่วยแก้ปัญหาอะไรบ้าง

หนึ่ง ตอบโจทย์ในเรื่องของการเข้าถึงการให้บริการ ตอบโจทย์ในการเพิ่มความสะดวกกับประชาชนให้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนเรียกแท็กซี่ได้เลย ก็จะไม่เจอแท็กซี่ประเภทที่ไม่รับผู้โดยสาร หรือแท็กซี่ไม่เปิดมิเตอร์

ส่วน Taxi VIP ก็จะเป็นลักษณะของแท็กซี่พรีเมียม คือใช้รถชนิดพิเศษ ขนาดพิเศษ เพิ่มความสะดวกสบาย เป็นอีกทางเลือกของผู้ที่อยากใช้ระบบสาธารณะ แต่ใช้อีกเกรดหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความสนใจ และมีความพร้อมก็มีหลายนิติบุคคล ซึ่งตอนนี้ก็มีความก้าวหน้าและผ่าน ครม. เรียบร้อยแล้ว

ราชการเวลาทำอะไรก็ต้องมีตัวบทกฎหมายมาเป็นกรอบของการกำหนดเงื่อนไข ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารที่ภาครัฐจำเป็นต้องดูแล

ช่วงนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการดักจับ UBER แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับไม่มีการดักจับแท็กซี่ที่ไม่รับผู้โดยสาร มีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร

หนึ่ง รถที่เป็นรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผิดหมดแหละ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ แต่อยู่ดีๆ กรมการขนส่งทางบกเห็นคนซ้อนมอเตอร์ไซค์กันอยู่ เราจะไปเรียกตรวจจับก็ไม่น่าจะใช่ เพราะบางทีมันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นอยากจะสร้างความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า ถ้าใช้รถที่ไม่ถูกกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิ์หรือการให้บริการที่ไม่พึงประสงค์ หากเจอเหตุอะไรมา การคุ้มครองต่างๆ หรือการติดตามตัวเพื่อมาดำเนินคดีทางกฎหมายมันจะมีปัญหามากกว่ารถที่ถูกกฎหมาย ตรงนี้เราอยากให้ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ

แล้วเราไม่ได้ไปจ้องจับรถ UBER อย่างเดียวนะ แท็กซี่ที่อยู่ในระบบ ถ้าไม่ผ่านการตรวจสภาพ ถ้าไม่ต่อภาษี หรือใบอนุญาตไม่ถูกต้อง ตรงนี้เราก็จับเหมือนกัน

ยืนยันอีกครั้งครับว่าไม่มีการปิดกั้นเทคโนโลยี
เพียงแต่ใช้แล้วจะต้องเป็นรถที่ให้บริการอย่างถูกกฎหมายในทุกกรณี

มีการดักจับแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารไหม

เราจับเลย ถ้าสนใจ หรือจะไปทำสกู๊ป ตอนนี้ในทุกชั่วโมงเร่งด่วนเรามีชุดตรวจการณ์ของเราประจำอยู่ในจุดสำคัญๆ หลายพื้นที่เลย ที่ราชประสงค์เราก็จะมีชุดตรวจการณ์อยู่ที่ดอนเมือง สุวรรณภูมิ หมอชิต อนุสาวรีย์ชัย เราจะมีชุดปฏิบัติการลงพื้นที่อยู่ตลอด แล้วเราทำงานร่วมกันนะครับ ไม่ใช่กรมการขนส่งทางบกอย่างเดียว แต่ทั้งตำรวจ ทหาร ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ในกรอบของการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะที่เราทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2557

ทำไมปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสารถึงแก้ยากนัก

ผมถึงเรียนไว้ว่าในทางคู่ขนานกันเราก็ต้องพัฒนาระบบอื่นไปด้วย เพราะฉะนั้นอะไรที่ผ่านมาถ้ามันยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเห็นปัญหาแล้วเราก็ต้องแก้ไข เหมือนที่เรียนไว้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะต้องมาดูแลระบบนี้เพื่อยกระดับพัฒนาแท็กซี่ พอเรามีเครื่องมือในการติดตามการให้บริการ มีเครื่องมืออย่างกล้อง หรือ GPS ตรงนี้มันจะช่วยติดตามพฤติกรรมแท็กซี่ที่ไม่พึงประสงค์ได้

ถ้าเจอแท็กซี่ไม่พึงประสงค์เราควรทำอย่างไร

แจ้ง 1584 ตลอด 24 ชั่วโมงเลย แล้วถ้าเราอยู่บนแท็กซี่ตัวคนเดียวไม่ต้องไปโต้เถียงเขา แค่จำทะเบียนอย่างเดียว มองด้านข้าง ด้านหลังเบาะจะเห็นชัดเจน จดจำไว้เลย หรือถ่ายรูปไว้ก็ได้ พอออกมาก็โทรแจ้งได้ 24 ชั่วโมง แล้วยืนยันว่าทุกสาย ทุกข้อร้องเรียนเราดำเนินการทันที แค่เอาเปรียบผู้โดยสาร พูดไม่สุภาพ กิริยาวาจาไม่พึงประสงค์ หรือแต่งตัวไม่เรียบร้อยตรงนี้ร้องเรียนได้ทุกกรณีเลย

ยืนยันว่าทุกเรื่องร้องเรียนถ้ามีเบาะแสคือ มีเลขทะเบียนรถ เราดำเนินการ 100% ก็จะช่วยคัดกรองแท็กซี่ไม่พึงประสงค์ให้ออกจากระบบไปได้ แล้วเวลาเราดำเนินการ เราดำเนินการขั้นเด็ดขาดของความผิดเลยนะครับ ไม่มีแล้วการปรับทีละ 100-200 บาท กฎหมายให้ปรับไม่เกิน 1,000 เราจะปรับ 1,000 ไม่เกิน 2,000 ปรับ 2,000 แล้ว พอเรียกตัวมาจะต้องมาอบรมที่กรมการขนส่งทางบกอีก 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นความผิดร้ายแรงก็อาจจะถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาตได้เลย

ยืนยันอีกครั้งครับว่าไม่มีการปิดกั้นเทคโนโลยี เพียงแต่ใช้แล้วจะต้องเป็นรถที่ให้บริการอย่างถูกกฎหมายในทุกกรณี แล้วก็ไม่เลือกปฏิบัติในการจับปรับลงโทษ ไม่ใช่โฟกัสเฉพาะ UBER หรือ Grab แม้แต่แท็กซี่ที่อยู่ในระบบ หรือรถโดยสารที่อยู่ในระบบถ้าทำไม่ถูกเงื่อนไขเราก็ดำเนินการจับปรับ ถ้าผิดกฎหมาย

จะเห็นได้ว่ามุมมองของภาครัฐคือการให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายเหนือสิ่งอื่นใด ขณะที่วิสัยทัศน์ต่อเทคโนโลยียังค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ยังไร้วี่แววที่จะหาทางออกซึ่งทุกฝ่ายจะพึงพอใจได้

ด้าน UBER ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดโดยผู้บริหาร UBER ระบุว่า

“ตั้งแต่ UBER เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 UBER ได้เข้าหารือและชี้แจงกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่องตลอดมาว่า UBER ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่า บริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการขนส่งทางบกจะรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง เพื่อสร้างกฎระเบียบใหม่ ที่จะกลายเป็นอีกทางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่เชื่อถือได้และอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทย

“UBER ขอเชิญชวนสาธารณชนร่วมสนับสนุนการร่วมเดินทาง ผ่านการเรียกร้องเเละลงชื่อสนับสนุน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่เปิดรับนวัตกรรม ลิงก์สำหรับลงชื่อสนับสนุนaction.uber.org/th

น่าสนใจว่าประเด็นนี้จะมีข้อสรุปเช่นไรในอนาคต

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

Tags: ,