สำหรับหลายๆ คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำแล้ว หากยังไม่ได้ดื่มกาแฟสักแก้วยามเช้า ก็คงจะรู้สึกไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า สติสัมปชัญญะยังไม่ค่อยครบถ้วน ยังไม่พร้อมจะเริ่มต้นวันใหม่

แต่สำหรับคนอีกหลายๆ คน กาแฟหาใช่เพียงแค่เครื่องดื่มที่มอบกำลังวังชาให้แก่เราและปลุกเร้าให้เราหายสะลึมสะลือ แต่เป็นศาสตร์ที่มีความละเมียดละไม เป็นศิลปะที่ชวนค้นหา และเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลกและมีความเป็นสากล

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่จะมีคอกาแฟจำนวนมากเลือกเฟ้นและใส่ใจว่ากาแฟแต่ละแก้วที่ตัวเองจะลองลิ้มชิมรสทำจากเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไหน ปลูกที่ใด และมีกรรมวิธีการชงอย่างไร เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรสชาติ กลิ่น รสสัมผัสของกาแฟ

และจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอีกเช่นเดียวกันที่กาแฟที่มีส่วนผสมต่างกันจะมีชื่อเฉพาะตัวต่างกัน แต่ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือชื่อเหล่านี้มีที่มาจากไหนและมีความหมายว่าอะไร

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าชื่อกาแฟแต่ละประเภทที่เราดื่มกันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

Espresso

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟรสเข้มหรือกำลังหาคาเฟอีนเข้ากระแสเลือดเพื่อให้หายง่วงแล้ว กาแฟประเภทที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งก็เห็นจะต้องเป็นเอสเปรสโซ เพราะกาแฟชนิดนี้ชงด้วยการอัดไอน้ำผ่านเมล็ดกาแฟคั่วบดละเอียด ไม่ผสมนมหรือครีมให้เจือจางลงแต่อย่างใด จึงทำให้ได้รสกาแฟเข้มสะใจ ที่สำคัญ กาแฟเอสเปรสโซยังเป็นส่วนผสมพื้นฐานของกาแฟประเภทอื่นๆ ด้วย

คำว่า espresso นี้มาจากคำว่า exprimere ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า ex- ที่แปลว่า ออก รวมกับ primere ที่แปลว่า กด ได้ความหมายรวมว่า กดหรือบีบให้ออกมา ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงการอัดไอน้ำผ่านเมล็ดกาแฟบดเพื่อให้ออกมาเป็นกาแฟนั่นเอง

ทั้งนี้ หากเห็นชื่อกาแฟชนิดนี้แล้วนึกถึงคำว่า express ในภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะอันที่จริงแล้วทั้งคำว่า espresso และ express มาจากคำว่า exprimere ในภาษาละตินทั้งคู่ เพียงแต่ในภาษาอังกฤษ สิ่งที่กดหรือเค้นออกมาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นของเหลว (เช่น She expressed milk for her baby. คือ เธอปั๊มนมไว้ให้ลูก) แต่อาจเป็นความรู้สึกนึกคิด (เช่น express your feelings หรือ express your dissatisfaction) ก็ได้

Latte

หากเรานำเอสเปรสโซมาเติมนมร้อนเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าเพื่อให้รสนุ่มขึ้นและลดความเข้มข้นลง โปะด้านบนด้วยฟองครีมละเอียด สิ่งที่เราจะได้ก็คือกาแฟที่มีชื่อ ลาเต้ (ในภาษาอังกฤษอ่านลงเสียงหนักพยางค์แรก ออกเสียงว่า ลาเท หรือ แลตเท ก็ได้)

ที่กาแฟใส่นมชนิดนี้ได้ชื่อว่า latte ก็เพราะคำว่า latte ในภาษาอิตาเลียน หมายถึง นม มาจากคำว่า lactis ในภาษาละติน แปลว่า นม อีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ชื่อกาแฟประเภทนี้จึงเป็นญาติกับคำที่เกี่ยวกับนมหลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น lactose (น้ำตาลแลกโตสที่พบได้ในน้ำนม) lactation (การหลั่งน้ำนม) lettuce (ผักกาดเมื่อถูกตัดจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นคล้ายนมออกมา) และหากสืบสาวกลับไปอีก ก็จะพบว่า lactis นี้มีรากเดียวกับคำว่า galaktos ในภาษากรีก ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า galaxy ซึ่งเดิมหมายถึง ทางช้างเผือก (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียก the Milky Way เพราะมีลักษณะเป็นแถบสีขาวชวนให้นึกถึงน้ำนม) และ galactose ที่เป็นชื่อน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่เป็นองค์ประกอบของน้ำตาลแลกโตสอีกที

อีกคำที่เป็นญาติเกี่ยวดองกับคำว่า latte คือคำว่า lait ที่แปลว่า นม ในภาษาฝรั่งเศส พบได้ในกาแฟอีกประเภทที่มีชื่อว่า café au lait ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสหมายถึง กาแฟใส่นม ว่ากันว่ากาแฟประเภทนี้ต่างจากลาเต้ตรงที่ตามสูตรดั้งเดิมแล้วจะใช้กาแฟที่ชงด้วยเครื่องชงแบบฝรั่งเศส ไม่ได้ใช้เอสเปรสโซ นอกจากนั้นยังไม่ใส่ฟองนมด้านบนอีกด้วย

Cappuccino

ทั้งนี้ หากเรานำเอสเปรสโซมาเติมนมร้อนและฟองนมให้ส่วนผสมทั้งสามมีสัดส่วนพอๆ กัน ก็จะได้เป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า คาปูชิโน

ชื่อกาแฟประเภทนี้มีที่มาที่ไปน่าสนใจเพราะเกี่ยวโยงกับนักบวชด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีบาทหลวงคนหนึ่งนามว่า มัตเตโอ ดา บาสซิโอ (Matteo da Bascio) บาทหลวงองค์นี้รู้สึกว่าคณะสงฆ์ของตนเริ่มออกนอกลู่นอกทาง ผิดไปจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งคณะ จึงพยายามปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ทำให้บรรดาสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงกว่าหลายองค์ไม่พอใจ ถึงขนาดที่บาทหลวงมัตเตโอและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องไปหลบซ่อนจากคริสตจักร ผู้ที่ให้ที่พักพิงแก่บาทหลวงในยามยากนี้คือบรรดาคณะสงฆ์คามาลโดลีส

ต่อมาภายหลัง เมื่อคริสตจักรให้อภัยโทษแล้ว บาทหลวงมัตเตโอจึงรวมตัวกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพื่อก่อตั้งคณะนักบวชของตนเอง และสวมหมวกคลุมปลายแหลมสีน้ำตาลแบบที่บาทหลวงคณะนี้ใส่กันทั้งเพื่อแสดงความซาบซึ้งที่คณะสงฆ์คามาลโดลีสได้ช่วยเหลือพวกตนไว้และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าตนเองประสงค์ดำรงชีวิตอย่างสันโดษ

ทั้งนี้ หมวกประเภทนี้ในภาษาอิตาเลียนเรียกว่า capuccino ซึ่งมาจากคำว่า cappa ที่แปลว่า หมวกคลุมหรือผ้าคลุมในภาษาละตินอีกที คณะสงฆ์นี้เลยได้ชื่อว่า คณะภราดรน้อยกาปูชิน (The Order of Friars Minor Capuchin)

ด้วยความที่กาแฟประเภทนี้มีสีน้ำตาลชวนให้นึกถึงหมวกของนักบวชในคณะภราดรนี้ คนจึงเรียกกาแฟประเภทนี้ว่าคาปูชิโน

ทั้งนี้ ในสมัยศตวรรษที่ 16 นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่เดินทางไปยังทวีปอเมริกาได้พบลิงประเภทหนึ่งซึ่งมีสีขนเป็นสีเดียวกับชุดของนักบวชคณะนี้ ด้วยเหตุนี้ ลิงชนิดนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า ลิงคาปูชิน

Macchiato

หากเรานำกาแฟเอสเปรสโซมาเติมฟองนมลงไปด้านบน เราก็จะได้กาแฟรสเข้มที่แฝงความละมุนที่มีชื่อว่า มักคีอาโต

ชื่อของกาแฟชนิดนี้มาจากคำว่า macchiato ในภาษาอิตาเลียน หมายถึง เปื้อน ซึ่งในที่นี้หมายถึง กาแฟที่เปื้อนหรือมีรอยแต้มของฟองนม นั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า macchiato มาจากคำว่า macula ที่หมายถึง รอยเปื้อน ในภาษาละติน ด้วยเหตุนี้ ชื่อกาแฟชนิดนี้จึงเป็นญาติกับคำว่า immaculate ที่แปลว่า ไร้มลทิน สะอาดหมดจด นอกจากนั้น ยังว่ากันว่าคำว่า macula เป็นที่มาของชื่อปลา mackerel หรือปลาทู เนื่องจากปลาชนิดนี้มีรอยแต้มสีเข้มข้างลำตัวนั่นเอง

Mocha

สำหรับคนที่อยากก้าวเข้าสู่โลกแห่งกาแฟแต่ก็กลัวยังความขมอยู่ ก็อาจจะลองเริ่มต้นด้วยมอคค่า (อันที่จริงชาวอเมริกันออกเสียงว่า โมวเกอะ กันเป็นส่วนใหญ่) เพราะกาแฟชนิดนี้ชงด้วยการนำเอสเปรสโซมาผสมนมและเติมช็อกโกแลตเพื่อให้มีความหวานและรับประทานง่าย

ส่วนชื่อของกาแฟชนิดนี้มาจากชื่อเมืองท่าในประเทศเยเมน ในช่วงศตวรรษที่ 15-18 คนขายกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งออกไปก็จะขนเมล็ดกาแฟมาที่เมืองท่าแห่งนี้เพื่อส่งออกไปยังที่อื่นๆ ในโลก ทำให้เมืองมอคค่าเฟื่องฟูขึ้นมาจากธุรกิจส่งออกกาแฟ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ชื่อเมืองท่านี้จะถูกนำมาทำเป็นชื่อกาแฟ

Americano

กาแฟประเภทนี้ชงด้วยการนำเอสเปรสโซมาเติมน้ำร้อนให้เจือจางลง เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบกาแฟแต่ดื่มขมจัดอย่างเอสเปรสโซไม่ไหว ส่วนที่กาแฟชนิดนี้ถูกเรียกว่าเป็นกาแฟแบบอเมริกันก็เพราะว่ากันว่าทหารอเมริกันสมัยสงครามโลกที่ต้องไปประจำการในอิตาลีไม่ชินกับความเข้มของเอสเปรสโซ เนื่องจากกาแฟที่บ้านไม่ได้ชงแบบเอสเปรสโซและมีรสอ่อนกว่า จึงแก้ไขด้วยการเติมน้ำร้อนให้เจือจางลงและรสชาติใกล้เคียงแบบที่คุ้นลิ้น

Affogato

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรานำเอสเปรสโซของเราไปราดลงบนไอศกรีมวานิลลา เราก็จะได้ของหวานที่ทั้งหอมกาแฟและได้ความหวานมันจากไอศกรีม ซึ่งของหวานชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า affogato คำนี้เป็นคำในภาษาอิตาเลียน แปลว่า จมน้ำ (เพราะเหมือนไอศกรีมจมอยู่ในกาแฟ)

คำว่า affogato นี้มาจากคำว่า affocare ในภาษาละติน แปลว่า บีบคอให้หายใจไม่ออก มาจากส่วนเติมหน้า ad- ที่แปลว่า ไปยัง และ fauces ที่แปลว่า คอ (ในปัจจุบันนี้ใช้เป็นศัพท์การแพทย์ หมายถึง ช่องปากด้านในจากโคนลิ้นลงไปถึงคอหอย) พอรู้ที่มาที่ไปแล้วรู้สึกเหมือนกำลังฆาตกรรมไอศกรีมอยู่อย่างไรก็ไม่รู้

คำว่า affogato มีญาติอีกหนึ่งคำในภาษาอังกฤษคือคำว่า suffocate ที่แปลว่า ทำให้หายใจไม่ออก (เช่น We’re all being suffocated by PM 2.5. คือ พวกเราหายใจหายคอกันไม่ค่อยจะออกเพราะฝุ่น PM 2.5) หรือ ทำให้อึดอัดเหมือนไม่มีอากาศหายใจ (เช่น The current political climate has left many Thais feeling suffocated. คือ สภาวะการเมืองในปัจจุบันทำให้คนไทยหลายคนรู้สึกอึดอัด)

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jack, Albert. What Caesar did for My Salad: The Curious Stories Behind Our Favourite Foods. Albert Jack Publishing: Cape Town, 2017.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Fact Box

  • หากพูดถึงที่มาของชื่อประเภทกาแฟโดยไม่พูดถึงที่มาของคำว่า coffee เลยก็คงจะกระไรอยู่ คำว่า coffee นี้เริ่มพบในภาษาอังกฤษตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 16 ว่ากันว่าภาษาอังกฤษรับคำนี้มาจากคำว่า koffie ในภาษาดัตช์อีกทอด แต่หากสืบสาวกลับไปจริงๆ จะพบว่ามาจากคำว่า qahwah ในภาษาอารบิก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเมล็ดกาแฟมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศเอธิโอเปียและแผ่ขยายไปสู่คาบสมุทรอาหรับและตะวันออกกลางก่อนจะมาถึงยุโรปนั่นเอง
Tags: , ,