ภาษาไทยยืมคำมาจากภาษาอังกฤษไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะคำที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่สมาร์ตโฟนที่เราถืออยู่ในมือไปจนถึงอาหารต่างๆ ที่เรากินอย่าง แซนด์วิช หรือ มายองเนส เป็นต้น

แต่ครั้นจะให้ออกเสียงคำเหล่านี้ตามภาษาต้นทาง ลิ้นคนไทยจำนวนมากก็ไม่อำนวยด้วยไม่ชินกับเสียงที่เขามีแต่เราไม่มี คำเหล่านี้จึงถูกปรับให้เข้ากับเสียงในภาษาไทย กลายเป็นคำอังกฤษเวอร์ชั่นไทยที่ออกเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของละติจูดลองติจูดนี้

คำอังกฤษเวอร์ชั่นไทยเหล่านี้เราใช้กันอย่างแพร่หลายคุ้นชิน จนบางครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในภาษาอังกฤษต้นทางไม่ได้ออกเสียงแบบนี้

สัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่า มีคำอะไรบ้างที่เราออกเสียงต่างคำต้นทางในภาษาอังกฤษ และแท้จริงแล้วเจ้าของภาษาเขาออกเสียงกันอย่างไร

Mocha

คำนี้คนไทยมักออกเสียงว่า ม็อคค่า แบบที่เสียงสระพยางค์แรกเหมือนกับในคำว่า mock แต่อันที่จริงแล้ว คนอเมริกันจะออกเสียงสระพยางค์แรกเป็น โอว คล้ายคำว่า mow ดังนั้น เราจะได้ยินเขาพูดว่า โมวเกอะ นั่นเอง

คำที่เรายืมมาคำอื่นในทำนองนี้ก็อย่างเช่น motor (ไม่ใช่ มอเตอร์ แต่เป็น โมวเทอะรฺ) และ cobra (ไม่ใช่ คอบร้า แต่เป็น โควเบรอะ)

Syrup

เรามักจะชินกับการออกเสียงคำนี้ว่า ไซรัป เพราะว่าหลายคำที่สะกดด้วยตัว y ออกเสียงเป็นสระ ไอ หรือ อาย เช่น my (มาย) หรือ style (สตายลฺ) แต่อันที่จริงแล้ว เสียงสระพยางค์แรกเป็นเสียง อิ คล้ายในคำว่า sin เมื่อออกเสียงทั้งคำจึงกลายเป็น ซิเริป

Serum

คำนี้หลายคนอาจเคยได้ยินทั้ง ซีรั่ม และ เซรุ่ม จนสับสนว่าจริงๆ แล้วเขาออกเสียงกันอย่างไร พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ถ่ายเสียงคำนี้ไว้ว่า เซรุ่ม ซึ่งใกล้กับการออกเสียงในภาษาละติน แต่อันที่จริงแล้ว ชาวอเมริกันจะออกเสียงว่า ซิเริม (ส่วนชาวอังกฤษมักจะออกเสียงเป็น เซียเริม)

Sponge

เวลาไปซื้อ sponge cake ที่ไหน บางครั้งเราก็ได้ยินคนขายออกเสียงว่า สป๊อนจ์ เค้ก แบบที่เสียงสระในคำว่า sponge เหมือนในคำว่า pond  ไม่ก็เป็น สป๊องจ์ เค้ก เพราะเห็นว่าในคำว่า sponge มีตัวสะกด ng อยู่ แต่ที่จริงแล้ว เสียงสระในคำว่า sponge นี้ เหมือนในคำว่า sun (ซัน) ดังนั้น คำนี้จึงออกเสียงว่า สปันจ์ นั่นเอง

อีกคำที่ออกเสียงคล้ายกับคำนี้และน่าจะเป็นที่คุ้นชินของผู้รักการออกกำลังกายก็คือ lunge (ท่าออกกำลังกายแบบหนึ่ง) ซึ่งไม่ได้ออกเสียงว่า ลังจ์ แต่เป็น ลันจ์ คล้ายคำว่า lunch เพียงแต่เสียงสุดท้ายเป็นเสียง จ หรือเสียงก้องนั่นเอง

Margarine

คนไทยไม่น้อยน่าจะคุ้นเคยกับเนยเทียมชนิดนี้เพราะร้านขายขนมปังปิ้งหรือรถเข็นขายโรตีมักนำมาใช้แทนเนย วัตถุดิบชนิดนี้คนไทยเรียกว่า มาการีน แต่แท้จริงแล้ว ตัว g ในคำนี้ โดยปกติแล้วชาวอเมริกันจะไม่ออกเสียงหนัก (หรือที่เรียก hard g) แบบในคำว่า game แต่จะออกเสียงเบา (หรือที่เรียก soft g) แบบในคำว่า gem  ดังนั้น ส่วนใหญ่เราจะได้ยินชาวอเมริกันออกเสียงคำนี้ว่า มาร์เจอะริน

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนออกเสียง g ในคำนี้เป็น hard g เลย เพราะชาวอังกฤษบางคนก็อาจออกเสียงคำนี้ว่า มาร์เกอะริน เพียงแต่พบเจอได้น้อยกว่า มาร์เจอะริน มาก

Magic

คำนี้คนไทยหลายคนออกเสียงว่า เมจิก เหมือนที่ใช้เรียกปากกาชนิดหมึกลบไม่ออก หรือที่ปรากฏในชื่อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เมจิกสกิน ที่เพิ่งโดนเปิดโปงกันไป อันที่จริงแล้ว เสียงสระพยางค์แรกไม่ใช่เสียง เอ อย่างในคำว่า May แต่เป็นเสียง แอ แบบในคำว่า mad ดังนั้น หากเราฟังเจ้าของภาษา จะได้ยินเขาพูดว่า แมจิค นั่นเอง

อีกคำที่ภาษาไทยยืมมาและออกเสียงเพี้ยนในลักษณะเดียวกัน คือ คำว่า cabin ซึ่งคนไทยออกเสียงเป็น เคบิน แต่จริงๆ แล้วเจ้าของภาษาออกเสียงว่า แคบิน

Suite

เรามักพบเจอคำนี้ในชื่อห้องตามโรงแรมต่างๆ หลายคนจะออกเสียงคำนี้เหมือนคำว่า suit แบบเสื้อสูท อาจเพราะเห็นว่าสะกดแทบจะเหมือนกัน มีตัว e โผล่มาแค่ตัวเดียวคงออกเสียงไม่ต่างกัน แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้พ้องเสียงกับคำว่า sweet ที่หมายถึง หวาน เลย สรุปก็คือ หากเจ้าของภาษาเรียกห้องนี้ เขาจะเรียกว่า สวีท

Ferry

คำนี้หมายถึงเรือข้ามฟาก คนไทยรู้จักกันในนาม เรือเฟอร์รี่ ออกเสียงพยางค์แรกเหมือนคำว่า fur (เฟอร์) ที่แปลว่า ขนสัตว์ อาจจะเพราะคำที่สะกดท้ายพยางค์ด้วย -er มักออกเสียงที่ฟังแล้วเหมือน เออร์ (เช่นกริยา transfer แทรนสเฟอร์) แต่ที่จริงแล้ว เสียงสระพยางค์แรกออกเสียงคล้าย เอะ เหมือนในคำว่า very ดังนั้น เรือชนิดนี้เราจะได้ยินเจ้าของภาษาเรียกว่า เฟะรี

ทั้งนี้ ยังมีคำอื่นๆ ที่อันที่จริงออกเสียง เอะ แต่คนไทยนิยมออกเสียง เออ เช่น berry หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี ซึ่งออกเสียง เบะรี พ้องกับคำว่า bury หรือคำว่า error ที่ปรากฏในชื่อภาพยนตร์ ATM เออรัก เออเร่อ อันที่จริงแล้วก็ออกเสียงว่า เอะเรอะรฺ

Hostel

คนไทยรู้จักที่พักราคาย่อมเยาประเภทนี้ในนาม โฮสเทล น่าจะอาจเป็นเพราะเห็นคำว่า host อยู่ในคำ แต่อันที่จริงแล้ว เสียงสระในพยางค์แรกไม่ได้ออกเสียง โอว เหมือนคำว่า host แต่เป็นเสียง อา ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน อย่างในคำว่า hot หรือ boss (เสียงนี้เหมือนกับเวลาที่เราไปโรงพยาบาลแล้วหมอให้เราอ้าปากแล้วส่งเสียง อา เพื่อดูคอเรา หลายคนอาจรู้สึกว่าก้ำกึ่งระหว่าง ออ กับ อา) ดังนั้น คำว่า hostel จริงๆ แล้วจึงออกเสียงว่า ฮาสเติล (หรือจะถ่ายเสียงว่า ฮอสเติล ก็คงไม่ผิด) พ้องเสียงกับคำว่า hostile ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน เป๊ะๆ

Pound

คำนี้คนไทยออกเสียงว่าปอนด์ ทั้งที่ใช้เรียกสกุลเงินของประเทศอังกฤษและที่เป็นหน่วยน้ำหนัก (ซึ่งนำไปใช้เรียกเป็นประเภทเค้กด้วย) แต่อันที่จริงแล้วคำนี้ไม่ได้ออกเสียงเหมือน pond ที่แปลว่า สระน้ำ แต่ออกเสียงว่า พาวนด์ คล้องจองกับคำอย่าง round และ sound

อีกคำที่คนไทยยืมมาแล้วเปลี่ยนเสียงสระเป็นเสียง ออ ก็คือคำว่า ounce ที่คนไทยอ่านว่า ออนซ์ ถ้าเราสังเกตเจ้าของภาษาออกเสียงคำนี้ จะได้ยินว่า เอานซ์ คล้องกับคำว่า bounce (เบานซ์)

Latex

หากใครชื่นชอบการประดิษฐ์ประดอยสมัยเด็กๆ ก็อาจจะเคยใช้กาวสีขาวเนื้อข้นที่เราเรียกกันว่ากาวลาเท็กซ์มาก่อน คำว่า latex นี้หมายถึงน้ำยาง เพราะกาวชนิดนี้มีน้ำยางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ ส่วนในเรื่องการออกเสียง เสียงสระพยางค์แรกไม่ได้ออกเสียง ลา อย่างในคำว่า lark แต่ออกเสียง เล เหมือนในคำว่า lay ดังนั้น กาวชนิดนี้เจ้าของภาษาจะเรียกว่า เลเท็กซ์

คำอีกคำที่ได้รับการปรุงรสแบบไทยๆ ในลักษณะเดียวกันคือคำว่า sadism ซึ่งคนไทยออกเสียงว่า ซาดิสม์ แต่อันที่จริงแล้ว เสียงสระพยางค์แรกเป็นเสียง เอ คำนี้จึงออกเสียงว่า เซดิสซึม (ส่วน sadist หรือผู้ที่นิยมเห็นผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด ออกเสียงว่า เซดิสต์)

Opera

แม้ว่าคำนี้จะมีผู้บัญญัติไว้ว่า อุปรากร แต่คนส่วนใหญ่ก็เรียกว่า โอเปร่า ออกเสียงเป็นสามพยางค์และออกเสียงสระพยางค์แรกคล้ายคำว่า Oh แต่อันที่จริงแล้ว เสียงสระพยางค์แรกเป็นเสียงกึ่ง อา กึ่ง ออ แบบคำว่า hostel ด้านบน อีกทั้งยังออกเสียงแค่สองพยางค์เท่านั้น ดังนั้น จริงๆ แล้วคำนี้เจ้าของภาษาจะพูดว่า อาป/ออปเพรอะ

อีกคำที่คล้ายๆ กันก็คือคำว่า modern ที่แปลว่า ทันสมัย คำนี้คนไทยชอบออกเสียงว่า โมเดิร์น แต่อันที่จริงแล้ว พยางค์แรกเป็นเสียงสระเดียวกับคำว่า opera และออกเสียงว่า มา/มอเดิร์น

 

บรรณานุกรม

  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Hill, L. A., and J. M. Ure. English Sounds and Spellings. OUP: London, 1962.
  • Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008
Tags: , ,