เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI รายงานความคืบหน้าการสอบสวนคดีของบิลลี่ว่าพบชิ้นส่วนกระดูกจำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เหล็กเส้น และถ่านไม้ ก่อนผลการตรวจดีเอ็นเอระบุว่าหลักฐานที่พบตรงกับ นางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงวิธีการโหดเหี้ยมที่ภาครัฐเคยใช้ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 2510 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผู้เขียนหนังสือ ‘ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย’ โดยดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ เมื่อครั้งศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเธอลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นปัจจุบันเธอยังทำงานอยู่กับศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC) ที่ลงพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง เพื่อศึกษาและสร้างกระบวนการสันติภาพ
เราพูดคุยกับเธอตั้งแต่ความเป็นมาของเหตุการณ์ ‘ถังแดง’ ล่วงมาจนความคล้ายคลึงกันระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับกรณีของบิลลี่ และอดไม่ได้ที่จะถามถึงปัญหาความรุนแรงเรื้อรังในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดูไปแล้วอาจจะมีเส้นด้ายบางที่เกี่ยวพันกันอยู่
อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ ถังแดง เมื่อประมาณทศวรรษ 2510 ให้ฟังหน่อย
เราเคยได้ยินข่าวมาก่อนและได้ลงไปทำวิทยานิพนธ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พูดคุยกับชาวบ้านถึง เหตุการณ์ถังแดง ที่เคยเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2510
เราถามว่าเขาเคยเห็นกับตาหรือเปล่า? เขาตอบว่าเขาเคยได้ยินแต่เสียงและกลิ่น ส่วนใหญ่เล่าไปในทิศทางที่คล้ายๆ กันว่า คนที่ถูกจับจะถูกทำร้าย และใส่ลงไปในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ก่อนใส่น้ำมันและจุดไฟเผา ซึ่งก็จะมีทั้งผู้ที่เสียชีวิตแล้วและยังไม่เสียชีวิต บางรายถ้ายังไม่เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ก็จะใช้วิธีสตาร์ทรถ GMC (รถบรรทุกที่ทหารใช้) เพื่อกลบเสียงร้องของเหยื่อ
พอผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง ความร้อนก็ทำให้เหลือเพียงเถ้าถ่าน เจ้าหน้าที่รัฐก็จะนำเถ้าเหล่านั้นไปเทในลำคลองที่อยู่ข้างๆ เมื่อญาติมาถามถึงคนที่หายไป เจ้าหน้าที่ก็มักจะบอกว่า ‘ปล่อยกลับบ้านไปแล้ว’ (เช่นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่อุทยานบอกในกรณีของบิลลี่)
พื้นที่ที่เราลงไปเก็บข้อมูล มีรายชื่อคนหายอยู่ประมาณ 200 กว่าคน แต่ผู้เสียชีวิตโดยรวมทั้งหมดมี 3,008 คน ดังนั้น กรณีถังแดง จึงไม่ได้หมายถึงแค่วิธีการฆ่าเท่านั้น แต่หมายถึงผู้คนที่เสียชีวิตในช่วงเวลานั้นเช่นกัน
คนที่ถูกจับไปจะมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือ เป็นญาติของผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สองคือ กลุ่มคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ารายชื่อเหล่านี้มาจากไหน แต่ว่าในยุคนั้น ชื่อ-สกุล คนจำนวนมากยังซ้ำกันอยู่ มันจึงมีแนวโน้มว่าอาจจะจับผู้บริสุทธิ์ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบช่วงนั้นคือ กอ.ปค. (กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ – ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในปี 2516)
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ถังแดง เริ่มต้นขึ้นตอนไหน แต่มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังครั้งแรกในปี 2514 และมันก็ค่อยๆ หายไปหลังปี 2519
หลังจากนั้นมีการออกมาตรวจสอบ หรือเรียกร้องความเป็นธรรมเพิ่มหรือไม่
ช่วงหลังที่นักศึกษาเข้าป่ามากขึ้นหลังจากปี 2516 ศูนย์กลางนิสิตฯ นำโดย พินิจ จารุสมบัติ ก็ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ก่อนออกมาเปิดเผยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 การออกมาเรียกร้องของนิสิตก็ทำให้ เหตุการณ์ถังแดง เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จากที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครรู้มาก่อน
ภาครัฐเองก็ยอมรับว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ญาติของผู้เสียชีวิตที่ไปร้องเรียนกับ พล.ตรี สัณห์ จิตรปฎิมา (ยศในขณะนั้น) ได้รับเงินชดเชยรายละ 30,000 บาท แต่สำหรับกรณีอื่นๆ ถึงแม้มีการตั้งคณะกรรมการก็จริง แต่มันก็หายไปตามลม และไม่มีการสืบสวนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ทำหน้าที่แค่ในกรณีเดียวที่เป็นข่าว และเงียบก็หายไป ไม่มีการอธิบายต่อว่ากรรมการชุดนี้ทำอะไรบ้าง และไม่มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ในมุมของคุณการที่กรณีถังแดง ไม่ได้รับความเป็นธรรมสะท้อนอะไรบ้าง ในมิติของชาวบ้าน-รัฐ
เราคิดว่าการทำร้ายผู้คนแบบนี้ไม่ว่ายุคสมัยไหน ถ้ารัฐไม่สามารถทำให้ชาวบ้านวางใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นธรรม ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ความไว้วางใจที่มีต่อรัฐมันก็จะลดน้อยลง คุณมีอำนาจรัฐคุณก็ได้เปรียบเสมอ ไม่เคยแพ้ ไม่เคยถูกลงโทษ
แต่ถ้าเราเป็นชาวบ้านที่อ่อนแอ และถูกรังแก เราก็จะรู้สึกว่าเราสู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่มีวันชนะ แต่ถ้ารัฐสร้างความยุติธรรมให้เกิด นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ คนก็จะรู้สึกว่ารัฐพยายามมอบความเป็นธรรมให้แก่เรา
แต่ที่ผ่านมามันไม่เคยมี มีแต่ความพยายามให้รัฐสะอาดบริสุทธิ์ซึ่งมันไม่จริง เหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้ 15 ปี ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษเลย มีแต่ผู้ต้องสงสัย คนที่เป็นสมาชิกขบวนการถูกจับ เพราะฉะนั้นจะให้ชาวบ้านไว้ใจรัฐมันก็ตลก
เจ้าหน้าที่รัฐได้รับโมเดล เผาลงถังแดง มาจากที่ไหน
มีคนเคยบอกว่าเอามาจากสงครามเวียดนาม กรณีบ้านไม้ลาย (1968) แต่ว่าเมื่อไปค้นจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ เพราะกรณีดังกล่าว ภาครัฐนำเจ้าหน้าที่ลงไปฆ่าล้างหมู่บ้าน มีการยิงเป้า ซ้อม ข่มขืน แต่ไม่ได้พูดชัดเจนว่ามีการเผา
แต่มีบางคนเช่นกันที่บอกว่า ถังแดงโมเดล คือการทดลองของภาครัฐเพื่อจะทำลายหลักฐาน แต่เมื่อพบว่าถึงจุดหนึ่งที่มีผู้กระทำมากขึ้น มันก็เริ่มจัดการลำบาก เพราะว่าวิธีนี้ใช้ทรัพยากรและเวลามาก ส่วนตัวคิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้วิธีนี้เพราะเป็นการทำลายศพที่มีประสิทธิภาพ
ในช่วงเวลาดังกล่าง รัฐมองคนในพื้นที่ดังกล่าว หรือมอง พคท. อย่างไรบ้าง
ช่วงนั้นเป็นช่วงของรัฐบาลเด็จการทหาร (จอมพลถนอม กิตติขจร) กระแสคอมมิวนิสต์กำลังรุนแรง บวกกับที่ สหรัฐฯ ขอใช้ไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพในภูมิภาคก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องปราบปรามแนวคิดดังกล่าวอย่างหนัก ดังนั้น คนที่มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น จึงมักถูกมองว่าเป็นศัตรู และต้องอาศัยการจัดการแบบเด็ดขาด จนกระทั่งมาถึงช่วงเวลาหนึ่งถึงตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงอย่างเดียวมันไม่ได้ผล
ในสายตาของชาวบ้าน พวกเขามอง พคท. อย่างไรบ้าง
มันก็มีหลายมุมมอง อย่างบางกลุ่มก็มองว่ากลุ่ม พคท. ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่คอยมาป้วนเปี้ยนในชีวิตประจำวันของพวกเขา ส่วนอีกกลุ่มมอง พคท. เป็นที่พึ่ง ซึ่งมาจากแรงกดดันที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ตั้งใจทำอะไรเพื่อประชาชนจริงๆ อย่างเช่น การถูกปล้นสะดม ชิงตัวลูกสาว ปล้นวัว ทำให้ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งคนที่ช่วยเขาได้ เช่น สหาย พคท.
ดังนั้น การที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในป่าไม่ได้มีแรงผลักดันมาจากความต้องการทางการเมือง หรือความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มาจากการที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกของ พคท. และพวกเขาค่อยๆ ซึมซับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ภายหลังนั้น
ชาวบ้านกลุ่มนี้ค่อนข้างมีพอสมควร เพราะในเวลาที่รัฐปราบปรามและกวาดจับชาวบ้านในเวลานั้น เจ้าหน้าที่รัฐมีการตั้งด่าน เก็บบัตรประชาชนและบอกให้ไปเอาคืนในค่ายทหาร พวกเขาจึงตัดสิน เข้าป่าไปเลยดีกว่า เพราะไปเอาในค่ายก็คงไม่ได้กลับมา
เมื่อพ้นช่วงทศวรรษ 2510 มาแล้ว ภาครัฐยังมีการใช้วิธีแบบถังแดงอยู่อีกไหม
การเผานั่งยางหรือทำลายศพด้วยการเผาคงมีอยู่เรื่อยๆ เราต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นการเผาในรูปแบบ ถังแดง หรือการเผาทำลายศพในวิธีอื่นๆ ไม่ใช่วิธีที่ใหม่เสียทีเดียว หลายกรณีที่มีคนที่สูญหายไป เราอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเขาหายไปไหน ถูกทำลายศพด้วยวิธีการใด หรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ เพียงแต่อาจจะไม่เหมือนในกรณีถังแดง เมื่อช่วงทศวรรษ 2510 เสียทีเดียว แต่อาจจะมีความใกล้เคียง
อย่างกรณีทนายสมชาย ถ้าฟังจากที่ หมอพรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ก็มีความคล้ายคลึงกัน เพราะว่ามีการเจอชิ้นส่วนในถังน้ำมัน แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า คดีทนายสมชายก็หายไป
แต่กรณีของบิลลี่ มีการตรวจสอบโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ (DSI) และมีการพบกระดูกในถัง พบเหล็ก พบอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับกรณีของถังแดงมากที่สุด ทำให้สังคมไทยกลับมาให้ความสนใจถึงวิธีการฆ่าอย่างป่าเถื่อนอีกครั้งหนึ่ง แต่ที่ยังไม่แน่ใจคือ มีการฆ่าก่อนเผาหรือเผาเลยในขณะที่ยังมีชีวิต
แปลกไหมที่มีข่าวออกมาว่ามีชาวต่างชาติถ่ายรูปภาพถังที่เป็นหลักฐานได้ ซึ่งดูเป็นการกำจัดหลักฐานที่ไม่แนบเนียนเท่าไร
เวลาเราพูดถึงเจ้าหน้าที่รัฐมันก็มีหลายฝ่าย แต่เวลาที่เขาปฏิบัติการเช่นนี้มันก็ทิ้งร่องรอยได้เสมอ ซึ่งถ้ามันเหมือนหนังฆาตกรรม เขาก็ควรเอาถังไปทิ้งที่อื่น แต่นี่ถังก็ยังอยู่ในบริเวณนั้น แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่าความตั้งใจของคนที่ทำแบบนี้คืออะไร เราก็ดูได้เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏ
ในุมมมองของคุณ ทำไมคดีนี้เจ้าหน้าที่รัฐถึงให้ความสนใจในคดีของบิลลี่ ทั้งที่ผ่านมา คดีการหายตัวไปอื่นๆ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเหลียวมอง
อาจจะเกี่ยวกับเรื่องการขอขึ้นพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก การทำให้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นที่ชัดเจนจะทำให้ชื่อเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้น ทำให้การขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นไปได้มากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน การขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานก็อาจจะทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงที่บิลลี่เคยปกป้องต้องย้ายออกไป มันจึงค่อนข้างพูดยากว่าทำไม DSI ถึงรับคดีนี้ เพราะจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่คดีแรก ซึ่งถ้า DSI จะสอบจริงๆ คงมีอีกหลายคดีที่ทำได้ เช่น คดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ้า DSI ทำคดีอื่นๆ ด้วยก็จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย
ในฐานะที่คุณทำงานวิจัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยมีวิธีการแบบนี้เกิดขึ้นบ้างไหม
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้การเผาไม่มีแล้ว มีเพียงการยิงซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนยิง ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐไม่เคยยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นผู้กระทำ นอกจากกรณีของ อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่รัฐมองชาวบ้านอย่างไร และชาวบ้านมองเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร
คนนอกมองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ มีขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน และความเป็นมุสลิมยิ่งทำให้คนนอกมองว่าพื้นที่นี้มีความรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการฝึกฝนมาก็น่าจะมองด้วยสายตาเดียวกัน การไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหรือสัมผัส ก็ทำให้เรารู้สึกว่าคนเหล่านี้คือ ‘คนอื่น’ ที่เราต้องลงไปจัดการ
ส่วนชาวบ้านเองก็มองเจ้าหน้าที่ที่ใส่ชุดเขียว-ดำและถืออาวุธว่า ไม่ค่อยน่าเข้าใกล้เท่าไร
ภาพลักษณ์ที่คนนอกมองคนมุสลิมคลุมหน้า ใส่ชุดยาว ไปละหมาดพร้อมกันทีเยอะๆ บางทีก็ทำให้เกิดความกลัว และความกลัวแบบนี้แหละที่ทำให้คนพร้อมที่จะบอกว่า คนเหล่านี้ไม่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะคนเหล่านี้น่ากลัวและอาจเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน ทำลายความมั่นคงของชาติไทย
ในความคิดของคุณ บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับไหน
ในความเห็นส่วนตัว ความไม่คุ้นชินทำให้รู้สึกว่าเขาคือคนแปลกหน้า สมมติว่าเราเห็นคนมุสลิมปิดทั้งใบหน้าและเนื้อตัวเดินมาในกรุงเทพฯ เราก็จะมองเขาแบบแปลกๆ ทั้งที่เราไม่ได้เข้าไปถามเขาเลยว่าเขามาทำอะไร เขาเป็นใคร มันเป็นความแปลกที่อยู่ท่ามกลางฝูงชน อย่างตอนที่เราลงไปเก็บข้อมูลเขาก็มองเราแปลกๆ เพราะเราแต่งตัวแตกต่าง
15 ปีของความรุนแรงทำให้สายสัมพันธ์ระหว่าง คนพุทธ-มุสลิม แย่ลง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างการฆ่าพระ หรืออิหม่าม ก็ยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มสั่นคลอนยิ่งขึ้น มันเป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบางมาก ความสัมพันธ์ในระดับแนวราบระหว่าง ชาวบ้าน-ชาวบ้าน เอง มันก็มีปัญหา
ก่อนปี 2547 ชาวบ้านที่ปะนาเละเคยเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้าน พุทธ-อิสลาม ก็ไปมาหาสู่กัน เวลาคนพุทธจัดงานคนมุสลิมก็มาร่วมงาน หรือเวลาคนมุสลิมจัดงานคนพุทธก็มาช่วยงานที่บ้าน
โดยทั่วไปแล้ว ความไว้ใจระหว่างกลุ่มมันถดถอยลงไปเยอะ ยิ่งรุ่นคนหนุ่มสาวที่ผ่านเหตุการณ์ปี 2547 มา ยิ่งแล้วใหญ่ รวมไปถึงการเรียนในโรงเรียนที่แบ่งแยกกันชัดเจนก็ยิ่งทำให้คนสองกลุ่มไม่มีปฎิสัมพันธ์กันเหมือนแต่ก่อน เหมือนอยู่ในโลกของใครของมัน
สาเหตุของความไม่ไว้วางใจกันอย่างหนึ่งมาจาก ‘กำแพงภาษา’ หรือเปล่า
ปัจจุบันคนพุทธที่พูดมลายูได้ก็ยังมีเยอะอยู่ คนมุสลิมจำนวนมากก็ฟังและพูดภาษาไทยได้ เพราะฉะนั้น ภาษาไม่ใช่อุปสรรคขนาดนั้น
เรามักจะเข้าใจว่าการพูดมลายูทำให้เรารู้สึกแปลกแยก แต่ส่วนตัวคิดว่า ความคิดเหล่านี้มาทีหลัง มาจากการที่เรามีความไว้ใจระหว่างกันน้อยลง ทำไมเวลาเราไปอยู่ต่างประเทศ คนพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น เราไม่เห็นจะรู้สึกว่าเขาน่ากลัว แต่ทำไมท่ามกลางคนพูดมลายูเราจึงรู้สึกกลัว กังวลว่าเขานินทาเรา มันมาจากความไม่ไว้ใจตั้งแต่ต้น
ความกลัวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ คนบางกลุ่มในสังคมไม่เห็นด้วยกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม หรือการยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือเปล่า
เวลาคนมีความไม่มั่นคงก็มักจะมองคน ‘เป็นอื่น’ (Otherness) และความกลัวว่าจะสูญเสียสิ่งที่ตนเชื่อว่าดีงามก็จะยิ่งทำให้ความกลัวนั้นเพิ่มมากขึ้น อย่างช่วง คพท. คนก็มองว่าประเทศสูญเสียความมั่นคงเพราะคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่ นำไปสู่การหาทางออกด้วยความรุนแรง
หรือคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากเรา เราก็จะกลัวว่าการดำรงอยู่ของความคิดนั้นจะทำลายความดีงามที่เราเชื่อมั่น เพราะฉะนั้นก็เล่นงานซะ หรือจัดการกับความต่างด้วยการก่นด่า
ยิ่งโลกโซเชียลมีเดียทำให้คนไม่เห็นหน้ากัน ความเกลียดกลัวก็ยิ่งเผยตัวได้ง่ายขึ้น สังเกตว่าระบบของโซเชียลมีเดีย ก็จะคัดกรองคนที่มีความเห็นเหมือนกับเราเข้าไว้ด้วยกัน และพอส่งแนวคิดเหมือนๆ กันเข้าไป มันก็จะจุดติดง่ายมาก
อาการนี้มันเป็นโรคระบาด ถามว่าทำไมเราเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมา 87 ปีแล้ว อาการนี้ถึงยังอยู่ เพราะว่าเราไม่เคยเข้าไปแก้ไขมัน และเราก็โทษคนเหล่านั้นไม่ได้ เราโทษคนที่เกลียดจ่านิวไม่ได้ เราโทษคนที่รังเกียจคนเสื้อแดงไม่ได้ เพราะเขาเชื่อว่าคนเหล่านี้จะมาสั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตเขา โครงสร้างทางสังคมมันไม่เอื้อให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าแลกเปลี่ยน ถกเถียงได้ สังคมมันไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่เขาจะไม่ยอมรับคนที่เห็นต่าง
การที่จะจัดการกับปัญหาที่มันอยู่ตรงหน้า มันต้องมีวิธีที่ทำให้คนที่เผชิญกับปัญหาอยู่ได้พูดออกมาว่า ปัญหาที่มีมันคืออะไร ยกตัวอย่าง กรณีภาคใต้ คนไม่สามารถพูดได้ว่าสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องคืออะไร สิ่งที่เราเห็นคือปรากฏการณ์การออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเอง ซึ่งมันก็พูดไม่ได้ในที่สาธารณะ สาเหตุที่เขาต้องเรียกร้องเพราะอัตลักษณ์ของเขาถูกกลืนหรือทำลายไป แต่เรื่องแบบนี้กลับพูดไม่ได้ มันพูดไม่ได้ว่าทำไมต้องการเอกราช ทำไมต้องการเขตการปกครองพิเศษ
ถึงเราจะพูดว่าเราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่พื้นที่ที่เสรีให้คนถกเถียงกันจริงๆ มันก็ยังไม่มี แต่เราเห็นคนเถียง-ด่ากันบนโลกออนไลน์ แต่พื้นที่เหล่านี้ในโลกความเป็นจริงกลับมีน้อยมาก
ความเป็นอื่นที่พูดถึงมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไหม
ความเป็นอื่นมาจากวิธีคิด ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก อย่างความเชื่อที่มองว่าคนที่เป็นแขกไม่สะอาด อีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่เราได้รับจากชีวิตและการทำงาน
เราต้องทำอย่างไรให้ความเป็นอื่นเหล่านั้น ยังมีความเกี่ยวร่วมกันอยู่ อย่างน้อยให้เรามองว่าคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา อย่างเราเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงเลือกตั้ง บางคนก็จะบอกว่าไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่ชอบอภิสิทธิ์ แต่พอเขาออกไปเลี้ยงแมว คนที่เคยไม่ชอบก็เริ่มรู้สึกว่าน่าเอ็นดู
กรณีของการยกเลิกโทษประหาร คนกลุ่มหนึ่งอาจจะเถียงขึ้นมาว่าจะยกเลิกทำไม คนที่โดนโทษประหารล้วนทำเรื่องร้ายแรง แต่ถ้าพูดแบบนั้น แสดงว่าเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีทางพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง แต่ในความเห็นส่วนตัว เรามองว่ามนุษย์เปลี่ยนได้ ถึงเราจะเติบโตมาแบบหนึ่ง แต่ว่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับคนที่ต่างจากเราก็ทำให้เราเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนอื่นก็เปลี่ยนได้
ความเป็นอื่นสำหรับเรามันจึงไม่คงที่ถาวร วันนี้เราอาจจะชอบคนนี้ อีกวันนึงเราอาจจะเปลี่ยนแล้วก็ได้ ทำไมวันนี้เรากลับมาคุยกับเพื่อนที่เคยไปชุมนุมกับกปปส. ได้ ทั้งที่ก็เป็นคนๆ เดียวกัน บริบทมันเปลี่ยน สถานการณ์มันเปลี่ยน เพราะฉะนั้น เราต้องทำอย่างไรให้ความเป็นอื่นมันลื่นไหลไม่อยู่กับที่
การถกเถียงกันแบบที่กล่าวมาจะลดความเป็นอื่นในสังคมได้อย่างไรบ้าง
มันได้เห็นหน้า-ตัวกัน ทำไมเราถึงเห็นอกเห็นใจคนบางคนมากกว่าคนอื่น เพราะว่ามันได้รู้จัก ได้คุ้นเคย ได้คุยกัน แต่เราคงไม่สามารถเอาคนเป็นล้านคนมานั่งคุยกันได้ทั้งหมด มันอาจจะเริ่มจากเล็กๆ ก่อนก็ได้ ให้คนที่เห็นไม่ตรงกันในชุมชนเดียวกันมาคุยกับแบบเปิดเผย ตรงไปตรงมาทำได้หรือเปล่า การที่เราเห็นอกเห็นใจผู้คิดต่าง มันจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นหน้ากัน ปฏิสัมพันธ์กัน
ในมุมของภาครัฐ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอย่างบิลลี่ ทนายสมชาย ตลอดจนธนาธร ดูน่าหวาดกลัว
มันคงกลับไปที่เรื่องความกลัว กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นมาตลอดว่าดีจะถูกทำลาย อย่างกรณี ธนาธร ความนิยมในข้อเสนอหรืออุดมการณ์ของเขาได้ไปบั่นทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารจึงคิดว่าคนกลุ่มนี้อันตราย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่ได้คิดลงไปถึงรายละเอียดด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เขาเสนอ มันอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกก็ได้
แต่ทำไมไม่มองว่าเป็น ‘คู่คิด’ แต่กลับเห็นว่าเป็น ‘ฝั่งตรงข้าม’ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความเชื่อมั่นมั่นคง ต่อให้คิดแตกต่างกันมันก็ต้องพร้อมที่จะโต้แย้งใช่ไหม แต่สิ่งที่รัฐบาลทหารยึดถืออยู่มันอาจจะไม่มั่นคง ปลอดภัยมากพอ มันจึงสะเทือนง่าย
แต่อย่างเอ็นจีโอก็จะเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าตรงข้ามรัฐเสมอ เพราะรัฐกลัวว่ากลุ่มนี้จะไปเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่ทำให้รัฐเสียความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่รัฐจะไม่ชอบเอ็นจีโอเท่าไร โดยเฉพาะเอ็นจีโอ ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้ารัฐเปลี่ยนมุมมองว่าเอ็นจีโอเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบ รัฐก็คงมองเอ็นจีโออีกแบบนึง และก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อนโยบายของภาครัฐก็ได้
ยกตัวอย่างเอ็นจีโอในพื้นที่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่มีส่วนช่วยในเรื่องกระบวนการสันติภาพของภาครัฐมาก เพราะว่าเขาสามารถจะเป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านได้จริงๆ นำความต้องการของประชาชนมาให้รัฐรับทราบ เป็นผู้สื่อสารให้ชัดเจน
แต่ถ้าเอ็นจีโอเปิดมาก็จะเล่นรัฐฝ่ายเดียวมันก็มีปัญหา มันควรที่จะทำงานไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าทำงานเพื่อที่จะทำลายกันและกัน เราไม่สามารถปฎิเสธการมีอยู่ของรัฐได้ รัฐมีอำนาจมาก แต่รัฐเองก็ควรจะมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นหุ้นส่วนทางความคิดที่จะช่วยจัดการหรือทำงานกับปัญหาในสังคมได้เช่นกัน
Fact Box
- จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย’ โดยดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ เมื่อครั้งศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเธอลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
- ขณะนี้ จุฬารัตน์ ทำงานอยู่กับศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative - PRC) ที่ลงพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง เพื่อศึกษาและสร้างกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้น