วิศวกรชายร่างเล็กยังแสดงท่าทีให้เห็นถึงการมองโลกในแง่ดี เมื่อผลงานของเขาเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 1937 คนงานก่อสร้างเพิ่งวางคอนกรีตแท่งสุดท้ายลงบนพื้นสะพานโกลเดนเกตไปหมาดๆ นักข่าวก็รีบประกบหัวหน้าทีมออกแบบทันที พร้อมยิงคำถาม เขาไม่กลัวว่าสะพานของเขาจะถูกพวกเบื่อหน่ายชีวิตคิดมายึดครองหรอกหรือ

โจเซฟ แบร์มันน์ สเตราส์ (Joseph Baermann Strauss) วิศวกรให้คำตอบด้วยรอยยิ้ม เขายังนึกไม่ออกว่าใครกันที่คิดจะมากระโดดสะพานโกลเดนเกต ทว่าหลังจากสะพานเปิดใช้ยังไม่ถึงสามเดือน ผู้อาสาฆ่าตัวตายคนแรกก็ปรากฏขึ้น ล้มล้างความคิดแบบมองโลกในแง่ดีของเขาจนได้ แฮโรลด์ ว็อบเบอร์ (Harold Wobber) ทหารอเมริกันซึ่งเคยผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปีนขึ้นไปบนขอบสะพานความสูง 120 เซนติเมตร และทิ้งตัวดิ่งลงสู่ความตาย ต่อจากนั้นยังมีอีกหกรายที่กระโดดตามเขาไปในปีเดียวกัน

ทุกปีนับตั้งแต่นั้นมา มักจะมีผู้คนนับสิบกระโดดปลิดชีวิตตัวเองจากสะพานที่สูง 67 เมตร นับรวมถึงปี 1995 มีจำนวนกว่าพันคน หลังจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ยุติการบันทึกจำนวนอย่างเป็นทางการ ความเป็นไปได้ในการรอดชีวิตจากการกระโดดจากสะพานมีน้อยมาก เนื่องจากร่างจะร่วงลงกระแทกพื้นผิวน้ำด้วยความเร็วในอัตรา 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สะพานแขวนอันมีชื่อเสียงโด่งดังของโลกที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ 82 ปีก่อน กลายเป็นแม่เหล็กสำหรับคนคิดฆ่าตัวตาย เหนือความคาดหมายของโจเซฟ สเตราส์-ผู้ออกแบบสร้าง

ก่อนหน้านั้น การสร้างสะพานข้ามทางเข้าอ่าวซานฟรานซิสโกดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังไม่เคยมีใครสร้างสะพานยาวขนาดนั้นได้ ‘โกลเดนเกต’ เป็นชื่อเรียกช่องแคบระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวซานฟรานซิสโก ซึ่งมีความกว้าง 1,600 เมตร และน้ำทะเลลึก 90 เมตร เหนือสิ่งอื่นใด มันห่างจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหวซานฟรานซิสโกที่ร้ายแรงในปี 1906 เพียง 13 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 1,300 คน และนับเป็นภัยธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ความเร็วลมยังสูงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมอกลงจัดและบ่อย อีกทั้งกระแสน้ำขึ้นลงความแรงถึง 7.5 น็อตยังเป็นอุปสรรคสำหรับการก่อสร้าง และเป็นที่หวั่นเกรงของสมาคมวิศวกรของอเมริกา แต่โจเซฟ สเตราส์ วิศวกรจากซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ คิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนกลัวกันไปเอง

ชายผู้นี้หลงใหลในเสน่ห์ของสะพานตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษา ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมฟุตบอลจนต้องไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ และทุกวันเขาเฝ้ามองสะพานโควิงตันที่อลังการจากเตียงคนไข้จนเกิดเป็นความประทับใจ

ลูกชายนักฝันของครอบครัวศิลปิน-แม่เป็นนักเปียโน พ่อเป็นนักเขียนและจิตรกร-ได้ออกแบบสะพานรถไฟข้ามช่องแคบเบริงระยะทางกว่า 85 กิโลเมตรระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยานิพนธ์ชิ้นสุดท้ายก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย การออกแบบสร้างสะพานโกลเดนเกตจึงดูเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก และด้วยคำกล่าวที่ว่า “ซานฟรานซิสโกได้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้บ่อยครั้ง” เขาจึงลบล้างความกังวลทั้งหมดไป และได้งานชิ้นนี้มา

โจเซฟ สเตราส์ไม่เพียงแต่อ่อนน้อมต่อผู้ประกอบการเรือข้ามฟาก ที่กลัวจะสูญเสียประโยชน์ในธุรกิจและฟ้องร้องให้ระงับโครงการก่อสร้างสะพาน หากเขายังเพียบพร้อมทางด้านการเงินอีกด้วย ปี 1932 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อันมีผลจากภาวะหุ้นล้มละลายในปี 1929 ธนาคารซานฟรานซิสโกยอมให้เงินลงทุน 35 ล้านดอลลาร์ ตามเงื่อนไขที่สเตราส์เสนอว่า ธนาคารจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนจากค่าธรรมเนียมการใช้สะพาน

แต่การก่อสร้างก็ยืดเยื้อออกไปนานนับทศวรรษกว่าจะแล้วเสร็จ เหตุเพราะอุปสรรคต่างๆ นานา นับแต่ไม่ทันได้เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อต้นปี 1933 ที่จู่ๆ หัวหน้าโครงการสเตราส์ก็หายตัวไป ไม่มีใครพบเห็นหน้าอยู่นานถึงครึ่งปี มีข่าวลือออกมาว่า เขาหายตัวเพราะไปบำบัดรักษาอาการทางประสาทในคลินิก กระทั่งเดือนมิถุนายน 1933 เขาโผล่กลับมาซานฟรานซิสโกอีกครั้ง สมรสใหม่กับผู้หญิงวัยอ่อนกว่า 16 ปีชื่อ แอนเน็ตต์ ที่เรียกสามีด้วยชื่อเล่นว่า “จี.จี.” เป็นคำย่อจากชื่อสะพาน ‘โกลเดนเกต’

แผนการเดิมของเขาจากปี 1921 ซึ่งเป็นแบบร่างเก่าใช้เทคนิคสมัยศตวรรษที่ 19 ถึงตอนนั้นได้กลายเป็นโครงสร้างสะพานแขวนที่สง่างาม กอปรกับมีทีมงานระดับยอดฝีมือ ทั้งสถาปนิกและนักวิชาการ โดยเฉพาะศาสตราจารย์ชาร์ลส์ แอลตัน เอลลิส (Charles Alton Ellis) ซึ่งมีส่วนร่วมในการออกแบบสร้าง

ทีมนักวิชาการใช้เพียงเข็มทิศและเครื่องคิดเลขในการคำนวณสำหรับการก่อสร้างสะพาน สมุดโน้ตที่สเตราส์บันทึกข้อความและภาพสเก็ตช์มีมากกว่าสิบเล่ม แต่ระหว่างการก่อสร้าง วิศวกรกลับใช้เวลาส่วนใหญ่พาแอนเน็ตต์-ภรรยา กับสุนัขพันธุ์เดนิชสีครีมไปเดินเล่น เขาแทบไม่เคยโผล่หน้าไปไซต์ก่อสร้างที่ทีมงานของเขากำลังต่อสู้อยู่กับความยากลำบากนานาประการ

เสาหลักทางทิศใต้จะต้องฝังในระดับความลึกของน้ำ 33 เมตร เฉพาะตรงจุดนั้นมีนั่งร้านพังทลายลงถึงสองครั้ง ครั้งหนึ่งถูกเรือสินค้าฝ่าหมอกพุ่งเข้าชน อีกครั้งหนึ่งถูกพายุฝนซัดถล่ม นอกจากนั้นกระแสน้ำบริเวณช่องแคบยังเชี่ยวกราก ทำให้การทำงานใต้น้ำต้องอาศัยจังหวะเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ สี่ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งมีเวลาทำงานได้ราวยี่สิบนาทีเท่านั้น

ในการสร้างรากฐานที่มั่นคงบนพื้นผิวดินโคลนใต้น้ำ พวกเขาจำต้องสร้างห้องเหล็กขนาดใหญ่ไว้ในทะเลและสูบเอาน้ำออก เพื่อให้สามารถลงไปทำงานใต้น้ำได้ ทีมงานซึ่งมีหน้าที่ลงไปปฏิบัติงานใต้น้ำต้องรับมือกับความกดอากาศที่เพิ่มขึ้น บางครั้งหากนำตัวพวกเขากลับขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ก็จะมีปัญหากับระบบการหายใจ เลือดออก หมดสติ และถึงขั้นเป็นอัมพาตได้

ครั้งหนึ่งที่กระแสคลื่นรุนแรง ทำให้ห้องเหล็กถึงกับแกว่งไปมา ทว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ก่อนเทศกาลคริสต์มาสปี 1934 ฐานของเสาหลักสูง 227 เมตรทั้งสองก็เหยียดสูงขึ้นฟ้าเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา

แม้ว่าผู้สร้างสะพานในครั้งนั้นจะนับการเสียชีวิตหนึ่งครั้งต่อการลงทุนหนึ่งล้านดอลลาร์ แต่ก็มีเพียงสิบคนที่เสียชีวิตไม่นานก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับทีมงานแม้ตอนที่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน 1934 ซึ่งทำให้หอคอยฟากทิศเหนือแกว่งไปมาประมาณเก้าเมตร

“สะพานนี้มีชีวิต มีลมหายใจ” วิศวกรอธิบายถึงความยืดหยุ่นมหาศาลของโครงสร้างสะพานในช่วงเวลานั้น แม้ว่าทีมงานช่างจะต้องอาเจียนทุกครั้งที่มีลมแรง อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุครั้งใหญ่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างเลย นั่นเป็นเพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีของโจเซฟ สเตราส์

เขาเป็นคนเริ่มตั้งกฎการสวมหมวกนิรภัยระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น อีกทั้งยังกำหนดให้ขึงตาข่ายขนาดใหญ่ไว้ตลอดแนวใต้สะพาน ระหว่างสี่ปีของการก่อสร้างมีคนงานพลัดตกลงจากสะพานลงในตาข่ายทั้งสิ้น 19 คน พวกเขาก่อตั้งกลุ่มกันขึ้นมาในหมู่คนพลัดตกสะพาน เรียกว่า ‘คลับครึ่งทางไปนรก’

ความตายเกิดขึ้นจริงก็เมื่อตอนเช้าของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1937 สองเดือนก่อนสะพานแล้วเสร็จ เมื่อโครงนั่งร้านใกล้เสาหลักทางทิศเหนือน้ำหนักห้าตันโค่นล้มลงบนตาข่าย ทับคนงานสิบคนเสียชีวิต ก่อนที่นั่งร้านและตาข่ายจะร่วงลงสู่พื้นน้ำ

มีเพียงสลิม แลมเบิร์ต (Slim Lambert) คนงานวัย 26 ปี เพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้น เรือกู้ภัยนำร่างหนุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสขึ้นจากน้ำ กระดูกของเขาหักหลายจุด หมอต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายของเขา กระทั่งแลมเบิร์ตผละออกจากโรงพยาบาล ปรากฏว่าตัวเขาเตี้ยลงกว่าเดิมสี่เซนติเมตร และสะพานโกลเดนเกตแล้วเสร็จสมบูรณ์

มันเป็นสะพานยาว 2.7 กิโลเมตร สีส้มสดใส พาดอยู่เหนือช่องแคบ ดูคล้ายไร้น้ำหนัก แม้จะใช้เหล็กและคอนกรีตเกือบหนึ่งล้านตันก็ตาม และพิธีเปิดสะพานกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สุดยอด

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 1937 เป็นวันหยุดของโรงเรียน สถานที่ราชการ และสำนักงานในพื้นที่ซานฟรานซิสโก เวลาหกโมงเช้ามีเสียงแตรหมอกเป็นสัญญาณการขึ้นสะพาน ผู้คนราวสองแสนคนพากันเดิน เต้นรำ เล่นสเกต ขี่จักรยานข้ามสะพานโกลเดนเกต

เครื่องบินนับร้อยลำบินขึ้นเหนือสิ่งก่อสร้างใหม่ กองทัพเรือสหรัฐฯ รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินมุ่งหน้าไปที่อ่าว มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ร่วมงานเฉลิมฉลอง นั่นคือ โจเซฟ สเตราส์ ที่ภายหลังเสร็จงานเขาก็หมดเรี่ยวแรง

หนึ่งปีถัดมา วิศวกรเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ ขณะอายุ 68 ปี

 

อ้างอิง:

  • John van der Zee, The Gate: The True Story of the Design and Construction of the Golden Gate Bridge, iUniverse (2000)
Tags: ,