*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
นี่คือหนังบูชาความรัก อาจจะเป็นรักที่ปากแข็งกันสักหน่อยพอไม่ให้เลี่ยน เราอาจเห็นตัวละครตะคอกหรือผลักไสกันไปเกือบตลอดทั้งเรื่อง แต่ที่สุดแล้วแก่นหลักของ Dear Ex ก็คงไม่พ้นไปจากประโยคคลาสสิกสีรุ้งอย่าง “love wins” ที่ใส่ความเมโลดราม่าเข้ามาไม่ยั้งมือ
ตอนเห็นหน้าหนัง เราแอบคาดหวังความเรียลมากกว่านี้ แม้หนังจะไม่ได้ไปสุดขนาดนั้นสำหรับเรา แต่ก็นำเสนอความรักที่พ่วงมากับประเด็นทางเพศสภาพได้อย่างงดงาม ดูเพลิน หากอินๆ หน่อยก็จะมีน้ำตาคลออยู่บ้างในบางฉาก
หลังจากที่พ่อตายไปได้ 95 วัน ‘ซ่งเฉิงซี’ เด็กชายวัยรุ่นก็หนีจากแม่ไปอยู่กับชายชู้ของพ่อ หนำซ้ำชายชู้อย่าง ‘เกาอวี้เจี๋ย’ กลับเป็นฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินประกันของพ่อเสียอีก ฝ่าย ‘หลิวซานเหลียน’ แม่ที่ทำอะไรไม่ได้ก็เลยต้องมาแอบคอยดูแลลูกที่ปักหลักอยู่บ้านของอีกฝ่ายไม่ยอมกลับ จนแล้วจนรอดบางทีก็กลายเป็นพ่วงมาดูแลชายชู้ผู้ใช้ชีวิตอีเหละเขละขละไปด้วย ในวังวนโศกนาฏกรรมนี้ ดูเหมือนว่าผู้หญิงกับเกย์ที่ล้วนแต่เป็นเหยื่อ จะโอบกอดกันและกันได้ในที่สุด
หนังเสนอภาพเควียร์ผ่าน ‘ชายชู้’ ผู้กำกับละครเวทีสุดคูล ผู้เป็นมนุษย์สามัญคนหนึ่งที่มีความรักลึกซึ้งกับผู้ชายอีกคน และ ‘ลูกชาย’ ที่เป็นความหวังของแม่ เด็กชายที่กลายเป็นเด็กมีปัญหาหลังจากที่พ่อแยกทางกับแม่มากว่า 3 ปี แล้วพ่อก็ตายไปโดยที่ไม่แม้แต่จะร่ำลา เด็กที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าพ่อตัวเองเป็นเกย์และอยากรู้จักชีวิตด้านนั้นของพ่อให้มากขึ้น
ท่ามกลางความวุ่นวายต่างๆ ในเรื่อง เราไม่พบเห็นใครสักคนที่มีลักษณะบ่งบอกชัดเจนว่าเป็น ‘ชายแท้’ หากจะมีก็น่าจะเป็นนักเลงสองคนที่มาทวงหนี้นอกระบบด้วยวิธีแมนๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามัน toxic และแม้เราแทบไม่เห็นตัวละครชายแท้ แต่ทั้งเรื่องกลับเต็มไปด้วยผลพวงของสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งหลายครั้งผู้หญิงก็เป็นฝ่ายสืบทอดวิธีคิดอย่างนี้มากดทับพวกเดียวกันเองไปเรื่อยๆ
หนังสื่ออย่างชัดเจนว่าการพยายามฝืนธรรมชาติและบังคับใครให้ทำตามกรอบจารีตสังคมนั้นนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม ไม่ใช่แค่ชีวิตตัวเองแต่ส่งผลไปที่คนอื่นอีกเป็นทอดๆ แม้ที่สุดแล้วความรักจะเยียวยาทุกสิ่งได้ก็ตาม แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องผ่านความทุกข์ระทมไปไม่รู้กี่ระลอก
มันสวยงามอย่างที่น่าจะเป็น แต่ส่วนที่ทำให้รู้สึกตะขิดตะขวง กลับเป็นภาพของผู้หญิงในเรื่อง หนังเสนอภาพความเป็นหญิงที่พ่วงมากับความเป็นแม่ และนั่นก็กลายเป็นพื้นที่ที่ง่ายต่อการรำคาญ หากไม่ขุดค้นลงไปในตัวพวกเธอมากๆ อย่างที่หนังทำในภายหลัง เราจะเห็นว่าผู้หญิงนั้นน่าเบื่อเหลือแสน ผู้หญิงจู้จี้จุกจิก ขี้บ่น เจ้ากี้เจ้าการ งมงาย เอะอะร้องไห้ แถมยังเห็นแก่เงิน ในตอนท้ายหนังจึงได้ค่อยๆ คลี่ฉายภาพผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความรัก ไม่ว่าจะต่อลูกหรือต่อสามี แถมลึกๆ แล้วยังเคารพความรักของสามีที่มีให้ผู้ชายอีกคนอีกต่างหาก แต่เมื่อย้อนกลับมาที่ชีวิตประจำวัน พวกเธอยังคงน่าเบื่ออยู่ดี
และไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ หนังได้ผลักภาระบางประการให้กับผู้หญิง โดยที่ผู้ชายแท้ยืนอยู่บนยอดพีระมิดและไม่ต้องมาช่วยแก้ปัญหาใดๆ ในเรื่องนี้ ราวกับว่าปล่อยให้พวกเหยื่อดีลกับปัญหากันไปเอง ผู้หญิงในหนังรับบทบาทหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจผู้ชายในชีวิตของพวกเธอ สำหรับผู้หญิงที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนเกย์ได้ ปรากฏว่า love doesn’t win เขาไม่สามารถรักผู้หญิงมากกว่าผู้ชายไปได้ และผู้หญิงก็จำเป็นต้องเข้าใจ
ใช่ นั่นคือความจริงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธข้อนั้น บางครั้งผู้หญิงบางคนก็ดูเหมือนจะไม่ยอมทำความเข้าใจอะไรเลยจริงๆ แต่มันติดที่ว่าตัวปัญหาจริงๆ เป็นพ่อที่ตายไปแล้วต่างหาก เขาคือต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด แต่ก็กลับได้รับปีกเทวดา ลอยตัวเหนือปัญหาและกลายเป็น dear ex เป็นชายผู้มีความรักที่ซาบซึ้งกับชายอีกคนหนึ่งไปโดยปริยาย แม้ว่าเขาจะถูกกดทับมาอีกทางจากครอบครัวหรือใดๆ ก็ตาม ตัวระบบนั้นเป็นปัญหา แต่ตัวเขาก็เลือกจะรับสืบทอดปัญหานั้นมาส่งต่ออีกทอด ผู้หญิงเองจึงเป็นเหยื่อเช่นกัน ต้องเจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าเกย์ แต่หนังก็เลือกจะให้พวกเธอมีที่ทางเพียงเท่านั้น
พวกเขาได้พบรักกันในพื้นที่ทางศิลปะ สวยงาม เสรี ขณะที่เธอถูกกันให้อยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยงานบ้านภายใต้หน้าต่างลูกกรง เมื่อลูกชายชักจะพยศมากไป ก็เป็นชายชู้อีกเหมือนกันที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีแบบผู้ชาย ฝ่ายแม่ก็ยังคงทำได้แต่ก่นด่าและคร่ำครวญ เราจึงอดจะรู้สึกไม่ได้ว่าตัวละครหญิงที่เหมือนจะได้รับแอร์ไทม์เยอะมาก แต่กลับถูกกันออกมาจากพื้นที่ของเควียร์ฐานที่เธอก็เป็นได้แค่พวก straight ไม่เปิดหูเปิดตา
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เราพบว่าจริตออกสาวแทบไม่ปรากฏในตัวของชายทั้งคู่ที่รักกันเลย (หากไม่นับห้องสวยเก๋ของอาเจี๋ย) ความเควียร์ในเรื่องเป็นความรักล้วนๆ และเราไม่ได้เห็นตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศรายอื่นๆ แต่อย่างใด
ดูเหมือน Dear Ex จะเป็นหนังที่เสนอภาพเควียร์แบบ ชายรักชาย การเสนอภาพ เกย์=ออกสาว นั้นกดทับแน่ๆ แต่ในทางกลับกัน การเสนอภาพเกย์แมนๆ ไร้จริตสาวซึ่งแง่หนึ่งเป็นการโต้กลับภาพข้างต้น แต่เมื่อมันถูกผลิตออกมามากๆ จะกลับกลายเป็นการกดทับเกย์ออกสาวหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่เราสงสัยตามมา และยังพยายามหาคำตอบอยู่เหมือนกัน
Tags: Taiwan, LGBTQ, Dear Ex