ความเสน่หาในสตรีเพศของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่นั้นมากพอๆ กับที่เขามีให้กับดนตรี พวกเธอผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา มีเพียงบางคนเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยกันตราบถึงทุกวันนี้

เขาเป็นชายรูปร่างเล็ก และมีรอยฝีดาษประทับอยู่บนใบหน้า เป็นคนที่ไม่ค่อยใส่ใจดูแลตัวเอง ทั้งยังมักแสดงอารมณ์เกรี้ยวโกรธอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นภาพเหมือนของเขาที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน ผู้คนร่วมสมัยในยุคนั้นเคยเล่าขานเกี่ยวกับเขาด้วยว่า เขาแทบไม่มีมารยาททางสังคมเอาเสียเลย ยิ่งอาการสูญเสียการได้ยินและความป่วยไข้เริ่มคุกคาม เขาก็ยิ่งถอยห่างจากสังคม ซุ่มเก็บตัวเงียบอยู่ตามลำพัง

แต่ถึงกระนั้น ลุดวิก ฟาน เบโทเฟนก็มีเสน่ห์มากพอจะมัดใจสาวๆ ได้ จากคำบอกเล่าของฟรานซ์ แกร์ฮาร์ด เวเกเลอร์-เพื่อนสมัยวัยหนุ่มของเขา เบโทเฟนเป็นนักประพันธ์และนักดนตรีที่ ‘มีสัมพันธ์รักตลอดเวลา’ เขาชนะใจสาวๆ ในแบบที่หนุ่มนักรักคนไหนก็เทียบชั้นไม่ได้

พลังดึงดูดของเบโทเฟนอยู่ในดนตรีของเขา โดยเฉพาะในท่วงทำนองเพลงเปียโนที่อัศจรรย์ คนรักคนใคร่ของเขาหลายคนเป็นสตรีสูงศักดิ์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ตัวตนของเขาเอง เพราะเขามีความเชื่อว่า สายเลือดของเขานั้นมาจากตระกูลสูงศักดิ์ที่สามารถเทียบเคียงกับคนมียศฐาบรรดาศักดิ์ในสังคมได้ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ยศทางสังคมของเขานั่นแหละที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือแม้กระทั่งคู่ครองอย่างเป็นทางการก็ยังเป็นเหมือนอุปสรรค

ไม่ว่า โยฮันนา ฟอน ฮอนราต หญิงสาวที่เขาใฝ่ปองในวัยหนุ่ม หรือขุนนางหญิงมารี ฟอน แอร์เดอดี ที่เล่าลือกันว่าเคยมีสัมพันธ์ลับกับเขา จากจดหมาย 3 ฉบับที่เบโทเฟนเคยเขียนเปิดความในใจ หรือใครต่อใครอีกหลายคนที่เขามีความเกี่ยวโยง ไม่ว่าด้วยความเสน่หา หรือความใกล้ชิดฉันเพื่อน และผู้หญิงหลายคนในจำนวนเหล่านั้นล้วนเคยเรียนเปียโนกับเขามาก่อน

แต่สัมพันธ์รักที่หลากหลายของเบโทเฟนอาจถูกมองเป็นอย่างอื่นได้เช่นกัน เพราะกับบางคนดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลทางสถานภาพทางสังคม หรือผู้หญิงบางคนก็แต่งงานแล้ว กับผู้หญิงบางคนจึงเป็นแค่เพียง ‘ความสัมพันธ์ธรรมดา’ ที่นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ไม่อาจเอื้อมถึง

ผู้หญิงของลุดวิก ฟาน เบโทเฟนเป็นใครบ้างนั้น ลองมาทำความรู้จักกัน…

มาเรีย มักดาเลนา ฟาน เบโทเฟน

รักแรกในชีวิตของหนุ่มน้อยคือแม่ของตนเอง มาเรีย มักดาเลนา ฟาน เบโทเฟนเคยเป็นนักร้องประสานเสียง ก่อนจะมาเป็นภรรยาคนที่ 2 ของโยฮันน์-บิดาของลุดวิก เธอมีลูกให้เขา 7 คน แต่เหลือเพียง 3 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตจนเติบใหญ่ ชีวิตของเธอไม่ได้สุขสบายเท่าที่ควร สามีติดเหล้า แถมยังชอบใช้ความรุนแรง มาเรียเสียชีวิตจากวัณโรคในปี 1787 ด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น

มาเรีย อันนา วิลเฮลมีเน ฟอน & ซู เวสเตอร์โฮลต์-กือเซนแบร์ก

ฟรานซ์ แกร์ฮาร์ด เวเกเลอร์-เพื่อนวัยหนุ่มของเบโทเฟน แม้จะเคยอ้างถึง ‘ความพิศวาส’ ของเบโทเฟนที่มีต่อ ‘นางสาว เฟา. เว. (ฟอน เวสเตอร์โฮลต์-กือเซนแบร์ก) ผู้งดงามและแสนดี’ แต่ก็เปรียบเปรยคล้าย ‘ความรักของแวร์เธอร์’ จากนิยายรูปแบบจดหมายเรื่อง Die Leiden des jungen Werthers (ความทุกข์เศร้าของหนุ่มแวร์เธอร์ หรือ แวร์เธอร์ระทม) ของเกอเธ ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม ถึงกระนั้นก็ไม่เคยปรากฏร่องรอยของสาวสูงศักดิ์ผู้งดงามและแสนดีในอัตชีวประวัติของคีตกวีผู้นี้เลย

ขุนนางหญิงโยเซฟีเน บรุนสวิค

 

เบโทเฟนเขียนจดหมายรักถึงเธอระหว่างปี 1804-1809 จำนวน 14 ฉบับ และเรียกขานหญิงม่ายผู้นี้ว่า ‘เธอผู้เป็นทั้งหมดของฉัน’ และ ‘รักเดียวของฉัน’ ขณะเดียวกันความสิ้นหวังก็ยังเผยให้เห็นในถ้อยความที่สื่อสารถึงกัน เพราะช่วงที่บรุนสวิคแยกทางกับสามีนั้น เธอเกือบเสียสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตรธิดา และแม้น้องสาวของบรุนสวิคจะมีความเห็นว่า เบโทเฟนและขุนนางหญิงเกิดมาเพื่อกันและกัน แต่สุดท้ายแล้วเบโทเฟนไม่ใช่คนที่ขุนนางหญิงเลือก

เทเรเซ มาลฟัตติ


หลังจากสิ้นหวังจากโยเซฟีเน บรุนสวิค เบโทเฟนวางแผนจะแต่งงานอีกครั้งกับเทเรเซ มาลฟัตติ โดยขอสำเนาสูติบัตรจากเจ้าหน้าที่รัฐในบ้านเกิดที่เมืองบอนน์ แต่เนื่องจากสถานภาพที่แตกต่างกัน ตระกูลมาลฟัตติจึงขอยกเลิกการแต่งงาน เบโทเฟนดูจะทำใจกับความผิดหวังได้เร็ว แล้วกลับไปคบหาเธอฉันเพื่อนอีกครั้ง

ขุนนางหญิงจูเลียตตา จุยกีอาร์ดิ

ระหว่างปี 1801-1802 พี่น้องสองสาวบรุนสวิคแนะนำญาติคนหนึ่งให้เบโทเฟนรู้จัก เธอคนนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางหญิง ความรักลุกโชนอย่างรวดเร็ว ทว่าทั้งสองต่างรู้ดีว่าความเป็นไปไม่ได้รออยู่ข้างหน้า เพราะจูเลียตตามีคู่หมั้นหมายอยู่แล้ว แต่เธอก็ได้รับของขวัญอันล้ำค่าจากเบโทเฟน นั่นคือบทเพลงดังที่เขาเอ่ยถึงเธอ ‘Mondscheinsonate’ (Moonlight Sonata = Sonata No.14)

มารี บิโกต์


กับสาวผู้นี้ เบโทเฟนก็มีความรู้สึกตอบสนองรุนแรงเช่นกัน ถึงกับเซ็นมอบบทเพลงเปียโนให้เธอในชื่อ ‘Appassionata’ เมื่อครั้งที่เบโทเฟนชวนบิโกต์ไปเที่ยวปิกนิกในเดือนมีนาคม 1807 สามีของเธอแสดงท่าทีหึงหวงออกหน้าอย่างชัดเจน กระทั่งในภายหลัง เบโทเฟนได้เขียนจดหมายถึงทั้งสอง มีใจความสำคัญบอกว่า ในความสัมพันธ์แบบเพื่อนนั้น เขาไม่เคยคิดมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับใครเลย

เอลิซาเบ็ธ เริกเคล


สำหรับเอลิซาเบ็ธแล้ว เธอเป็นที่รู้จักในชื่อเล่น ‘เอลีเซ’ ของคนทั้งประเทศ เพราะทุกคนจะนึกถึงผลงานเพลงเปียโน ‘Für Elise’ ซึ่งเป็นผลงานเพลงที่มีชื่อเสียงเพลงหนึ่ง ก่อนเสียชีวิต เบโทเฟนขอให้เธอไปพบเขา เพื่อมอบมวนผมและปากกาขนนกด้ามสุดท้ายของเขาแด่เธอ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีเชื่อว่า เริกเคลคือ ‘เอลีเซ’ ที่เป็นปริศนาผู้นั้น

อันโตนี เบรนตาโน

น้องสามีของกวี-เบ็ตทีนา เบรนตาโน เขียนบันทึกในปี 1811 ว่า เบโทเฟนกลายเป็น ‘คนที่น่ารักที่สุดคนหนึ่ง’ ของเธอ เขาไปเยี่ยมเยียนเธอแทบทุกวัน อีกทั้งคีตกวียังมอบบทเพลง ‘An die Geliebt’ ที่เขียนด้วยลายมือแด่อันโตนี เป็นที่รับรู้กันว่า ในช่วงเวลานั้นอันโตนีเดินทางจากกรุงปรากไปถึงเมืองคาร์ลสรูห์ และเข้าสู่วงจรความสัมพันธ์กับเบโทเฟนซึ่งอยู่ในกลุ่มนักคิดนักเขียนของพี่สะใภ้

รักที่ไม่มีวันตาย

จดหมาย ‘ถึงคนรักที่ไม่มีวันตาย’ ลงวันที่ 6 และ 7 กรกฎาคม 1812 เผยถึงการพบปะกันเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าในกรุงปราก หลังจากนั้นหญิงสาวปริศนาก็เดินทางต่อไปยัง K (ซึ่งบางทีอาจจะเป็น ‘คาร์ลสรูห์’) นั่นคือ แอนโตนี เบรนตาโน หรืออาจหมายถึง โยเซฟีเน บรุนสวิค ที่เบโทเฟนพบเจอก่อนหน้าเช่นกัน และ 9 เดือนต่อมาเธอก็ให้กำเนิดบุตรสาว

แต่ทั้งหมดนี้ นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นไม่พ้องกัน

Tags: , , , , ,