ระหว่างฤดูคลอดลูกแกะที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในยอร์กเชอร์ จอห์นนี (จอช โอคอนเนอร์) เป็นเพียงคนเดียวที่พอจะลงมือลงแรงกับงานในฟาร์มได้ พ่อของเขาป่วยเกินกว่าจะทำงานไหว ส่วนย่าก็แก่ชราเกินกว่าจะทำอะไรได้มากไปกว่างานในบ้านกับดูแลพ่อ พวกเขาจึงต้องว่าจ้างให้ กอร์กี้ (อเล็ก เซการานู) หนุ่มแรงงานต่างด้าวจากโรมาเนีย เข้ามาช่วยงาน

สองหนุ่มต้องพากันหอบเอาเสื้อผ้าไปค้างแรมกันบนเขาเพื่อดูแลฝูงแกะที่เตร่ไปไกลสุดขอบฟาร์ม และก็ตามที่เราคาดหวัง ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นท้องทุ่งอันเปลี่ยวเหงาหนาวเหน็บ ทั้งคู่ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์จากเหม็นขี้หน้ากัน สู่เซ็กซ์อันร้อนเร่า (และเลอะโคลน!) กระทั่งรักกันในที่สุด ไม่แปลกที่หลายคนจะเรียก God’s Own Country ว่า ‘Brokeback Mountain สาขายอร์กเชอร์’

อย่างไรก็ดี การถูกเรียกขานเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีตัวตนหรือไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแต่อย่างใด ผลงานแรกกำกับของ ฟรานซิส ลี เรื่องนี้ถือเป็นหนังน้ำดีอีกเรื่องของปี 2017 ที่ร่วมทัพหนังที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศเรื่องอื่นๆ ประจำปี อย่าง Call Me by Your Name, A Fantastic Woman, Beach Rats, Princess Cyd, BPM (Beats Per Minute) หรือ The Wound ด้วยการถ่ายทอดความอ่อนละมุนที่แฝงฝังอยู่ในความแข็งกร้าวดิบเถื่อนได้อย่างโดดเด่น รวมถึงจับจ้องชีวิตของคนทำฟาร์มในชนบทของอังกฤษด้วยสายตาของความเข้าอกเข้าใจ

มองผ่านๆ จอห์นนีอาจเป็นภาพแทนของชนชั้นแรงงานที่ถูกมองผ่านสโลแกน ‘จน – เครียด – กินเหล้า’ เพราะตั้งแต่ต้นเรื่อง เราเห็นเขาออกไปดื่มเหล้าจนเมาหมดสติทุกค่ำคืนหลังกรำงานหนักมาทั้งวัน บางครั้งบางคราวก็มีเซ็กซ์ไร้ความหมายกับผู้ชายแปลกหน้าที่ผ่านเข้ามา โดยไม่สนที่จะพัฒนาความแนบชิดทางใจต่อ ชีวิตของจอห์นนีจึงดูเหมือนจะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของการทำร้ายทำลายตัวเองซ้ำๆ

แน่นอนว่าหนังไม่ได้มองเข้าไปที่ชีวิตของจอห์นนีด้วยสายตาวิพากษ์ตัดสิน หากเผยให้เห็นเงื่อนไขชีวิตที่ทำให้เขาติดกับอยู่ในวังวนนี้อย่างช่วยไม่ได้ การต้องรับภาระงานฟาร์มของที่บ้านในวันที่พ่อป่วยและมีอาการทรุด ทำให้เขาแปลกแยกจากทุกสิ่งที่ชีวิตคนวัยเดียวกันกับเขามี ไม่มีโอกาสได้เที่ยวสนุกหรือได้ออกไปใช้ชีวิตนอกเมืองเหมือนหนุ่มสาวคนอื่นๆ เพราะ ‘ชีวิตจริง’ เข้ามาขัดขวางโอกาสนั้น

จอห์นนีจึงไม่เพียงแบกรับภาระหนักหนา หากยังมีความเปลี่ยวเหงามหาศาลพ่วงมาด้วย การเมาหัวราน้ำจึงดูจะเป็นทางเดียวในการหาความบันเทิงให้กับชีวิตที่ไม่เหลืออะไรให้บันเทิง พร้อมกับทำให้หัวใจชินชาจากความเหงาที่บาดลึก

หนังฉายให้เห็นภาพของชนบทในยุคปัจจุบันอันเป็นเสมือนพื้นที่แห่งความเหี่ยวเฉาที่มีแต่คนวัยโรยรา ส่วนคนหนุ่มสาวส่วนมากพากันออกไปหาโอกาสที่ดีกว่าที่อื่นและแวะเวียนกลับมาช่วงเทศกาลเท่านั้น ชนบทของจอห์นนีกลายมาเป็นพื้นที่ที่ชีวิตไม่ก้าวไปไหน ปริมณฑลชีวิตของเขาจึงดูจะมีเพียงฟาร์ม บ้าน และตัวเมืองเล็กๆ จนกระทั่งกอร์กี้เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าโลกใบเล็กของเขาไป

อาจกล่าวได้ว่ากอร์กี้เป็นเสมือนด้านกลับของจอห์นนี เพราะหากจอห์นนีคือคนที่เหลืออยู่ในชนบทที่ถูกละทิ้ง กอร์กี้ก็เป็นคนที่ละทิ้งชนบทในโรมาเนียมาหาโอกาสใหม่ แม้สภาวะชายขอบของการเป็นแรงงานต่างด้าวจะจำกัดให้ปริมณฑลชีวิตของกอร์กี้เป็นได้เพียงพื้นที่ชายขอบ (อย่างฟาร์มห่างไกลในยอร์กเชอร์หรือโรงงานมันฝรั่งกลางชนบทของสก็อตแลนด์) แต่กอร์กี้ก็เป็นผู้ที่มาเข้ามาเผยให้เห็นรายละเอียดที่แตกต่างในโลกอันดิบกร้าน ตั้งแต่การปฐมพยาบาลให้ลูกแกะที่อาการร่อแร่เมื่อแรกเกิดสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ จนทำให้จอห์นนียอมปล่อยใจให้รู้จักกับความรัก

หนังเล่นกับขั้วตรงข้ามระหว่างความแข็งกร้าว-ความอ่อนโยน และคนนอก-คนใน ในการขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า พร้อมๆ ไปกับความสัมพันธ์ของชายหนุ่มทั้งสองที่เริ่มต้นด้วยคำเหยียดหยามเชื้อชาติจนพัฒนามาสู่ความรัก อีกขั้วตรงข้ามที่สำคัญจึงหนีไม่พ้นบาดแผลของคนทั้งสองและการผลัดกันเยียวยาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งคือแผลของความเดียวดาย อีกคนคือแผลของการถูกชิงชังเชื้อชาติ

ในแง่นี้เราอาจอ่านหนังให้เป็นบทสนทนาต่อกรณี Brexit ได้ด้วยซ้ำ ว่าความเปลี่ยวเหงาของตัวจอห์นนีเป็นผลมาจากการปลีกวิเวกตัวเองออกมาจากสิ่งอื่น ซึ่งในขณะเดียวกันก็สร้างบาดแผลให้กับผู้ที่เป็นคนอื่นอย่างกอร์กี้ เพราะการเหยียดหยามสิ่งที่ต่างออกไปจากตนเป็นกลไกที่คงไว้ซึ่งเปลือกนอกที่แข็งกระด้าง จนเมื่อจอห์นนีได้ลองเปิดใจให้กับความอ่อนโยนที่กอร์กี้แนะนำให้รู้จักนั่นเอง ความเหงาหงอยในใจเขาจึงได้รับการบรรเทา และตัวกอร์กี้เองก็ได้พบพื้นที่ที่ตนได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ในประเทศที่เขาเคยเป็นได้เป็นแค่คนแปลกหน้า

ขณะที่คนทั้งสองซ่อมกำแพงที่ขีดกั้นอาณาเขตของฟาร์ม กำแพงในใจที่กั้นพวกเขาออกจากกันจึงค่อยๆ ถูกทลายลงทีละน้อย และหนังเองก็ราวกับชี้ว่าหากกำแพงที่กีดแบ่งสหราชอาณาจักรออกจากโลกภายนอกยังคงตั้งตระหง่าน ทั้งประเทศก็คงไม่ต่างอะไรไปจากภาพของชนบทที่หนังฉายให้เห็น อันเป็นพื้นที่ซึ่งชีวิตไม่อาจก้าวเดินต่อไปได้ เว้นเสียแต่จะเป็นการก้าวหนีออกไป หรือไม่ก็ก้าวไปสู่ความร่วงโรย

สำหรับ God’s Own Country การเปิดให้ปริมณฑลได้มีการปะทะสังสรรค์ ให้สิ่งใหม่ก้าวล้ำล่วงผ่านเส้นกั้นเข้ามา จึงไม่ใช่เรื่องของภยันตราย แต่เป็นการเปิดความเป็นไปได้ให้สิ่งใหม่ได้งอกงาม จริงอยู่ที่จอห์นนียังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับฟาร์มและรับภาระหนักต่อไป แต่การได้คนรักอย่างกอร์กี้มาเคียงข้างก็ได้ทำให้เขามีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า และมองเห็นหนทางใหม่ในการทำกิจการฟาร์มให้ดีขึ้นกว่าเก่า

แม้ปริมณฑลทางกายภาพจะไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่ปริมณฑลของความเหงาในใจได้ลดขนาดลงเพื่อให้ปริมณฑลของความรักได้ขยายใหญ่ขึ้น เปิดทางให้ชีวิตที่เคยติดแหง็กสามารถดำเนินต่อไปได้ในที่สุด

Fact Box

God’s Own Country ฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปี 2017 และชนะรางวัลกำกับยอดเยี่ยมมาได้ ก่อนจะตระเวนฉายและคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ลิน เอดินเบิร์ก สตอกโฮล์ม ซิดนีย์ ฯลฯ

แม้ไปไม่ถึงออสการ์ แต่หนังมีบทบาทบนเวที BAFTA (ชิงหนังอังกฤษยอดเยี่ยม และ โอคอนเนอร์ ได้เข้าชิงสาขานักแสดงดาวรุ่ง) รวมถึง British Independent Film Awards ที่กวาดไป 4 รางวัลจาก 11 รางวัลที่เข้าชิง (สาขาที่ชนะคือ หนังอังกฤษยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (โอคอนเนอร์), เขียนบทเรื่องแรกยอดเยี่ยม และกำกับเสียงยอดเยี่ยม)

หนังมีกำหนดเข้าฉายในไทยตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเพจ ดูหนังทุกวัน

Tags: , , , , , , ,