เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรงจากค่า PM 2.5 ที่ทะลุถึงขั้นที่เป็นพิษต่อร่างกาย คล้ายเป็นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ต้องใส่ผ้าปิดปากกันทั้งเมือง นอกจากนี้ปัญหาไฟป่าในแอมะซอน และข่าวการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็เป็นสัญญาณเตือนให้คนทั้งโลกตระหนักแล้วว่า ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันดูแลรักษาโลกบ้างแล้ว

ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งกระแสที่มาแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้นปัญหาที่พบในประเทศไทยก็คือขาดความพร้อม ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หัวจ่ายหรือสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ (ประมาณ 340 แห่งทั่วประเทศ) บุคลากรที่มีความรู้ ตลอดจนราคายานยนต์ที่เกินเอื้อมถึงสำหรับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 มีการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) มากถึง 15,366 คัน ซึ่งคิดเป็น 75 เปอร์เซนต์ของยอดจดทะเบียนทั้งปี 2561 ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มในระดับก้าวกระโดด และเป็นสัญญาณที่ดีของอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT จึงได้ออกมาแถลงถึง 8 ข้อเสนอถึงภาครัฐ สำหรับการผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว 

ข้อเสนอที่หนึ่ง จัดทำ EV Roadmap 

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยจะได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในปัจจุบันยังมีความทับซ้อนและไม่มีการแบ่งงานที่ชัดเจน ทำให้บางครั้งข้อเสนอบางข้อเกิดการเกี่ยงกันว่าอยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของหน่วยใด

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีนั่งในตำแหน่งประธาน เพื่อบูรณาการทิศทางการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน 

และเสนอให้ภาครัฐจัดทำ EV Roadmap เพื่อกำหนดเป้าหมายของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนให้ความรู้และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมองว่าการจัดทำ EV Roadmap เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและรัฐควรเร่งให้เกิดโดยไวที่สุด

ข้อเสนอที่สอง การปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้ามองว่าข้อกฎหมายบางข้อในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเท่าที่ควร ซึ่งรวมถึงรถประจำทางสาธารณะด้วย จึงเสนอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 9 พ.ศ. 2535 ข้อ 2 วรรค 1 เพื่อเปิดทางให้สามารถจดทะเบียนรถสามล้อไฟฟ้าและรถรับจ้างไฟฟ้าได้อย่างเสรี 

ทั้งนี้ สามล้อนับว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมให้มีการใช้รถสามล้อไฟฟ้านำเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เกาะสมุย เขตเมืองเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปในตัวด้วย

ในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบกจดทะเบียนยานยนต์ประเภทไฮบริด โดยรวมยานยนต์ไฟฟ้า PHEV และยานยนต์ไฟฟ้า HEV เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าชนิด PHEV เป็นประเภทที่ต้องการประจุไฟฟ้าจากภายนอก จึงอาจมีปัญหาเรื่องปริมาณพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงเสนอให้ แยกการจดทะเบียนยานยนต์ PHEV และ HEV จากกันให้ชัดเจน เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่แม่นยำและการประเมินความต้องการไฟฟ้าในอนาคต

ข้อเสนอที่สาม การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ในปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในด้านอุปทาน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC แต่ยังขาดการสนับสนุนด้านอุปสงค์ 

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมประชาชนให้หันมาสนใจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตราการทางการเงินหรือภาษี อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล หรือภาษีนิติบุคคล หรือการให้สิทธิทางภาษีในการต่อทะเบียนประจำปี รวมถึงมาตรการส่งเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน เช่น จัดทำโครงการนำร่อง เร่งจัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้าในที่จอดสาธารณะ เช่น หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่พักอาศัย และสิทธิในการวิ่งช่องทางพิเศษ เช่น ทางด่วนพิเศษ

ทั้งนี้ ภาครัฐควรเป็นเสาหลักที่เริ่มต้นหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะทดลองใช้และศึกษาถึงข้อดี-เสียในการใช้งาน ก่อนนำไปขยายผลต่อถึงส่วนอื่น และจากแผนเช่า-ซื้อรถโดยสารของขสมก. สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมองว่า ขสมก. ควรที่จะเปลี่ยนมาจัดหารถโดยสารไฟฟ้าทั้งหมด

ภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ให้บริการรถสาธารณะทุกรูปแบบหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนที่รถยนต์แบบเครื่องยนต์ ควรสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการที่พร้อมจัดหารถยนต์ไฟฟ้ามาทดแทนรถยนต์แบบเครื่องยนต์ และสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์แท็กซี่เพื่อลดต้นทุนของแท็กซี่ไฟฟ้า 

นอกจากนี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้ายังเสนอให้ภาครัฐออกป้ายทะเบียนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV และ BEV โดยเฉพาะ เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงตัวผู้ขับขี่และสาธารณะ ตลอดจนเพื่อการแยกแยะประเภทของรถในการเก็บข้อมูลและช่วยเหลือในกรณีเกิดอุบัติเหตุ

ข้อเสนอที่สี่ การส่งเสริมผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

เนื่องจากในปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่มีมาตรการส่งเสริมการผลิตสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถสามล้อไฟฟ้า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงมองว่า ภาครัฐควรผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการหันมาผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถสามล้อไฟฟ้า ผ่านสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

ข้อเสนอที่ห้า การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อมในหลายด้านๆ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้ายังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะภาคเอกชนไทยยังไม่กล้าลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเท่าไรนัก 

ภาครัฐจึงควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจัดทำร่างแผนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ ทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. ชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ระบบควบคุมต่างๆ

  2. ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีตลาดเฉพาะ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า 

  3. อุปกรณ์ประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

  4. เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 

ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงจำกัดอยู่แค่ในวงของผู้ประกอบการรายใหญ๋ เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่สูง รัฐจึงควรจัดให้มีการพัฒนาและผลิตแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ให้มีการใช้ชิ้นส่วนบางอย่างร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบช่วงล่าง เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางสามารถเข้าแข่งขัน หรือนำนวัตกรรมและความรู้ไปต่อยอด

ข้อเสนอที่หก การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่มาตรฐานยังคงไม่ครอบคลุมและล่าช้า การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ก็ยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงเน้นให้เร่งผลักดันมาตรฐานบังคับในด้านความปลอดภัย และต้องพิจารณามาตรฐานให้เหมาะสมสอดรับกับบริทบทของประเทศ และควรเพิ่มหน่วยงานทดสอบและรับรองให้มากขึ้น โดยรัฐยังคงต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไป

ในด้านสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรให้ความสนใจกับการกำจัดขยะจากยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจมีผลกับสภาพแวดล้อมในอนาคต จึงควรมีการจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ โดยยึดตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ 

ข้อเสนอที่เจ็ด การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

อย่างที่ทราบกันดีถึงปัญหาความขาดแคลนสถานีอัดประจุไฟฟ้า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงเสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณปั๊มน้ำมัน จุดบริการทางหลวง รวมถึงหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ภาครัฐยังต้องควบคุมอัตราค่าไฟฟ้าในอัตราพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้มีการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ข้อเสนอที่แปด การส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า 

ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการจัดหลักสูตรในรูปแบบของการฝึกอบรมและหลักสูตรมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงวิทยาลัยเทคนิค ทั้งในด้านการออกแบบ การบำรุงรักษา ความปลอดภัย ตลอดจนการจัดการยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ 

นอกจากนี้ ยังควรสนับสนุนให้มีการแข่งขันการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความสามารถได้มีพื้นที่แสดงทักษะและฝีมือ

Tags: ,