ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบรถยนต์ของโลก จนได้รับฉายาว่า ดีทรอยต์แห่งเอเชีย แต่ในวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยน จากรถยนต์สันดาปภายในสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า คำถามคือ แล้วประเทศไทยเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร และเราจะปรับตัวสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตได้ดีแค่ไหน

ส่วนหนึ่งจากงานสัมนา EVolution of Automotive มีตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันยานยนต์ มาพูดถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ และอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ต้องมุ่งไป

 

ลงทุน-เข้าถึง-พัฒนา

ศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 1. การลงทุนการผลิตชิ้นส่วน ถือเป็นเทคโนโลยีหลักซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 2. ประชาชนเข้าถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด และ 3. รถยนต์ที่ชาร์จไฟฟ้าทำให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า

ไทยเป็นศูนย์กลางประกอบรถยนต์ของโลก ทำอย่างไรเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง (ด้านพลังงานและเทคโนโลยี) แต่เรายังเป็นฐานการประกอบรถยนต์ต่อไป” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต ที่เวลานี้ ภาครัฐจะเน้นมาตรการการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี (Electronic Vehicle – EV) เช่น แบตเตอรี ที่ไม่ใช่แค่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว แต่รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ สิ่งที่ตามมาคือการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ของรถยนต์

“เราส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า โดยบีโอไอและหน่วยงานอื่นของรัฐ อย่างที่บอกว่าภาครัฐเปิดกว้างเรื่องการลงทุน ขณะเดียวกันตอนนี้หน่วยงานรัฐเองสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ ทำให้เกิดดีมานต์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”

นอกจากนี้ กระทรวงยังมีหน้าที่ออกมาตรการเรื่องแบตเตอรีและปลั๊กชาร์จต่างๆ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ประกอบการแบตเตอรีให้ได้มาตรฐาน

ที่ลอนดอนก็เริ่มแล้ว รถแท็กซี่ไฟฟ้า ของ LEVC หรือ London EV Company จอดอยู่ที่ลานทราฟัลการ์สแควร์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 5 กุมภาพันธุ์ 2019 โดย Tolga AKMEN / AFP

ส่งเสริมและสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ดร. เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสายงานกิจการพิเศษ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พูดถึงเทรนด์ของระบบขนส่งมวลชนโลกว่าประกอบด้วย 6 เทรนด์ ได้แก่

  1. ผู้ผลิตรถยนต์เอาเซนเซอร์ต่างๆ มาใส่มากขึ้น เพื่อช่วยเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่
  2. Mobility as a Service หรือ Maas การเดินทางที่หลากหลาย เพราะคนมีแนวโน้มที่จะใช้บริการขนส่งหลายแบบจากต้นทางไปยังปลายทาง
  3. รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแล้ว และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
  4. เกิดการเชื่อมต่อระหว่างรถกับรถ รถกับคน และรถกับโครสร้างพื้นฐาน
  5. ดาต้าหรือข้อมูลที่เกิดจากรถ อาจเป็นช่องทางสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น ถ้าเราชอบขับรถเข้าห้างไปดูหนัง อนาคตข้อมูลตรงนี้อาจเกิดเหตุการณ์ที่เราขับรถผ่านป้ายบิลบอร์ด แล้วจะแสดงหนังใหม่ที่กำลังจะเข้าฉายให้เราโดยเฉพาะ
  6. คาร์แชร์ริงมาแน่นอน จากเดิมเรามีรถยนต์ขับไปทำงาน กลับบ้าน คนเดียว แต่อนาคตจะใช้ประโยชน์จากการใช้รถยนต์ร่วมกันมากขึ้น

“หน้าที่ของสวทช. คือสร้างขีดความสามารถและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในแง่ของการวิจัย เพื่อดูว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหนให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก เตรียมคนและองค์ความรู้ต่างๆ ที่สอดรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา รวมทั้งการทดสอบให้ตรงตามมาตรฐาน หรือแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน”

ดร. เจนกฤษณ์กล่าวถึงบทบาทของ สวทช. ว่าต้องทำหน้าที่ศึกษาวิจัย โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรีรถ EV และโครงสร้างตัวรถที่อาจจะมีน้ำหนักเบาขึ้น ขณะเดียวกันก็มองยาวๆ ไปถึงรถยนต์ไร้คนขับที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะยาว รวมถึงแนวทางกำกับดูแล ในกรณีที่ต่อไปจะต้องมีการจัดการข้อมูลที่ได้มาจากการขับขี่

เขาเล่าว่า ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีศูนย์ทดสอบแบตเตอรีและระบบการชาร์จ รวมทั้งทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า และยังมี EECi หรือเขตนวัตกรรม ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป้าหมายคือเพื่อการพัฒนาแบตเตอรีคุณภาพสูงสำหรับยานยนต์ยุคใหม่ และการทดสอบแบตเตอรีให้ได้มาตรฐาน

ดร. เจนกฤษณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของคน ก็ได้มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech) ประเทศญี่ปุ่น เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านวิศวกรรมยานยนต์ และมีคอร์สอบระยะสั้นและยาว สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสายนี้ และอีวีแคมป์ เพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคยมากขึ้น เป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการส่งเสริมสำหรับเอกชนที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ในการต่อยอดงานวิจัยและเทคโนโลยี โดยจูงใจในเรื่องงานด้านวิจัยเพื่อยกเว้นภาษี 300% และการร่วมกับภาคธนาคารบริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับโรงงานที่ต้องการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย

รถยนต์ไฟฟ้าจากสตาร์ตอัปจีน ที่ชื่อ Byton มาพร้อมจุดเด่นที่จอแสดงผลขนาด 48 นิ้ว เปิดตัวที่ลาสเวกัสเมื่อ 6 มกราคม 2019 คาดว่าจะวางขายสิ้นปีนี้ ภาพโดย Robert LEVER / AFP

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2030

อดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทน ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า วิวัฒนาการของยานยนต์กำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันยานยนต์มีหน้าที่เตรียมรับมือกับวิวัฒนาการใหม่ๆ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยเขาย้ำว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตจะไม่ได้สู้ในเรื่องการผลิต แต่สู้กันด้วยเทคโนโลยี เพราะถ้าไทยผลิตเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแข่งขันในอนาคตได้แน่นอน

เขากล่าวว่า ปัจจุบัน โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นแบบพีระมิด คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นฐานต่างๆ โดยมีค่ายผู้ผลิตรถยนต์อยู่บนยอดของพีระมิด แต่ในปี 2030 จะเกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ นอกจากมีผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนแล้ว มีผู้ให้บริการเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ผู้สร้างซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ต้องเชื่อมโยงผู้ผลิตในทุกด้านเข้าด้วยกัน

เขาคาดการณ์ถึงประเทศไทยในปี 2030 ว่า เมืองไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 2 ล้าน 5 แสนคัน โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของทรัพยากรคนที่จะสร้างเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลง 2 ส่วน คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอีวี และกระบวนการผลิต เนื่องจากสังคมไทยเริ่มขาดแคลนแรงงานมากขึ้น หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

“สิ่งที่เราพยายามทำคือเมื่อทุกอย่างเป็นหุ่นยนต์ แล้วคนจะทำอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องของซอฟต์สกิลที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราวางแผนอยู่ เพราะปัจจุบันเราทำไปแล้วเรื่องเทรนด์ เทคโนโลยี แบตเตอรีต่างๆ เรามีศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีด้านอีวีอยู่ที่บางปู เป็นฐานข้อมูลที่จะให้ผู้ผลิตหรือผู้ที่สนใจสามมารถมาหาความรู้ได้”

“ระบบขนส่งมวลชนจะเป็นสมาร์ตโมบิลิตี้ที่มีการเชื่อมโยง สะดวกสบาย เข้าถึงได้ด้วยราคา ปลอดภัย สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามองว่า สิ่งที่จะมารองรับความคาดหวังตรงนั้น มาจาก 3 ปัจจัย คือ E เรื่องระบบไฟฟ้า A ออโตโนมัส และ C คือการเชื่อมโยง เพราะพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนจะเป็นการแบ่งปันมากขึ้น”

“นอกจากนี้เรายังสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ ที่ฉะเชิงเทรา มีแล็บทดลองแบตเตอรี ทดสอบคุณภาพแบตเตอรีสำหรับรถอีวี นั่นคือสิ่งสถาบันยานยนต์เตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของยานยนต์ที่มุ่งไปยังพลังงานไฟฟ้า”

Tags: , ,