ตลอดปี 2562 การเมืองไทยสุดแสนจะเต็มไปด้วยความคึกคักและวุ่นวาย โดยตัวละครหลักนอกจากจะเป็นพรรคการเมืองหรือกองทัพแล้ว ‘องค์กรอิสระ’ คืออีกส่วนหนึ่งของต้นตอความอลเวงของการเมืองไทยในรอบปีที่ผ่านมา
ก่อนการเลือกตั้ง องค์กรอิสระถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้ต่างได้รับความเห็นชอบจากกระบวนการของ คสช. ต่อมา หลังการเลือกตั้ง องค์กรอิสระได้แสดงบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะคดีความต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าจะมีผลคำตัดสินเป็นคุณกับฟากรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่าฟากตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ดูเหมือนคนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด
เหตุการณ์ต่อไปนี้ คือผลงานเด่นในรอบปี 2562 ขององค์กรอิสระต่างๆ อันได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(หมายเหตุ: – คำว่า องค์กรอิสระ ในที่นี่หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 อันได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลปกครอง)
1. โต๊ะจีนพลังประชารัฐ ผู้ระดมทุนไม่ใช่ใคร คนไทยด้วยกันทั้งน้านนน…
การจัดงานโต๊ะจีนระดมทุนโต๊ะละ 3 ล้านบาทก่อนการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ถูกนำไปสู่การร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยุบพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปรากฏรายชื่อผู้บริจาคมีชื่อย่อคล้ายชื่อหน่วยงานรัฐ เช่น ‘คลัง’, ‘ททท’ และ ‘กทม.’ ที่ซื้อโต๊ะจีนรวมกัน 33 โต๊ะ มูลค่า 99 ล้านบาท ซึ่งนำมาสู่การตรวจสอบของ กกต. ว่ามีหน่วยงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่
ในที่สุดผลการตรวจสอบก็สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ “ไม่พบการบริจาคจากต่างชาติ” จึงถือว่าไม่มีความผิดเข้าข่ายยุบพรรค อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำตอบที่ตรงประเด็นจาก กกต. ว่าหน่วยงานรัฐตามรายชื่อที่ปรากฏ เข้าไปร่วมบริจาคให้พรรคพลังประชารัฐด้วยหรือไม่
2. สูตรคูณหัวใจ คำนวณอย่างไรก็ได้เป็นรัฐบาล
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้เวลา 4 วันหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จึงค่อยประกาศผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งประเทศได้ครบ 100%
อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลังจากนั้น คือการคำนวณที่นั่ง ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรคที่ควรจะได้ ซึ่งทั้งนักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่คำนวณออกมาแล้ว สรุปว่า ส.ส. 1 คน ควรมาจาก 71,000 คะแนนโดยประมาณ ซึ่งจะทำให้มี 16 พรรคการเมืองมี ส.ส. เข้าไปในสภา
แม้การคำนวณดังกล่าวจะมีฐานมาจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็มีการเสนอวิธีคำนวณแบบใหม่ ที่จะทำให้มีพรรคการเมืองเข้าสู่สภามากถึง 26 พรรค ท่ามกลางข้อถกเถียงดุเดือด กกต. ตอบได้เพียงว่า “ไม่สามารถสรุปได้ว่า จะคำนวณแบบใด จะต้องรอหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง”
จากนั้น เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนเศษหลังการเลือกตั้ง กกต. จึงสามารถประกาศจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) อย่างเป็นทางการได้ โดย กกต. เลือกใช้สูตรคำนวนพิสดาร ทำให้มีพรรคการเมืองเล็กจำนวน 11 พรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน หรือไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.พึงมี ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภาพรรคละ 1 คน ขณะที่พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ที่จำนวน ส.ส. ลดลงไป 7 คน
ผลของการคำนวณเช่นนี้ทำให้พรรคแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีที่นั่ง ส.ส. ลดลง จากสูตรเดิมที่พวกเขาได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ในทางตรงข้าม ทำให้ฝ่ายสนับสนุน คสช. สามารถรวมเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภา และรวมกับ ส.ว. แต่งตั้ง โหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้สำเร็จ
3. เป็นทุกอย่างให้เธอได้ แต่ที่เป็นไม่ได้คือเจ้าหน้าที่รัฐ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ถือเป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ หรือไม่?
นี่เป็นคำถามสำคัญ เมื่อพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ‘ว่าที่นายกฯ’ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) กำหนดลักษณะต้องห้ามของการเป็นนายกรัฐมนตรี คือ ต้องไม่ “เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แต่ข้อกังวลนี้หมดสิ้นไปก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เมื่อ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัดสินตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างไรก็ตามประเด็น ‘ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ หนที่สอง และพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติอีกครั้ง โดยมีการยกหลักฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่สั่งลงโทษ สมบัติ บุญงามอนงค์ จากกรณีไม่มารายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าหัวหน้า คสช. เป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’
แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยืนยันอีกครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาอธิบายขยายความต่อว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็น ‘ตำแหน่งพิสดาร’ เนื่องจากมีอำนาจพิเศษไม่เหมือนกฎหมายทั่วไป ตั้งมาจากไหนไม่รู้ พ้นจากอำนาจเมื่อไรก็ไม่รู้
4. อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่า…ถวายสัตย์ครบ
เมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่เปิดประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ นำ ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 หลังจากนั้นไมค์จากสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ก็จ่อไปยังฟากฝั่งรัฐบาลทันที แต่การตอบคำถามแต่ละครั้งของรัฐบาลดูเหมือนจงใจเลี่ยงไม่ตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบจากวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ที่กล่าวว่า “แล้วสักวันจะรู้ว่าทำไมไม่ควรพูด”
แม้จะชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถวายสัตย์ฯ ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลคือศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ
5. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ…คนที่ไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคอนาคตใหม่ มีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. โดยยังไม่เคยปฏิบัติหน้าที่เลยแม้แต่ครั้งเดียว จากการถือหุ้นสื่อบริษัทวี-ลัค มีเดีย โดย กกต. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ ธนาธร ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งที่เหนือความคาดหมายของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พวกเขาได้เก้าอี้ ส.ส. เกิน 80 คน เป็นพรรคการเมืองลำดับที่สามในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่ธนาธรจะมีโอกาสได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภา ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ในทางตรงข้าม หลังจากธนาธรถูกแขวนไม่ให้เข้าสภาชั่วคราว ก็มี ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอีก 64 คน ที่อยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติจากการถือหุ้นสื่อเช่นกัน แต่ ส.ส. ที่เหลือยังคงเข้าไปทำงานในสภาได้ตามปกติ
แม้ธนาธรจะชี้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า หุ้นสื่อของเขาเป็นเพียงบริษัทรับจ้างทำสื่อเท่านั้น และได้ยุติกิจการไปก่อนหน้ามีการสมัครรับเลือกตั้ง และบริษัทสื่อที่เข้าถือหุ้นขณะนั้นเองก็ไม่ได้มีพฤติกรรมให้คุณให้โทษใครในทางการเมือง
สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้เขาพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ขณะสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 42 (3) ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”
Tags: องค์กรอิสระ, ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ, กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, 2019