ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อยครั้งการจะเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อหย่อนตัวบนโซฟาแล้วเลือกภาพยนตร์สักเรื่องก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่เสมอไป เพราะปัญหาหยุมหยิมเล็กน้อยอย่างเรื่องเสียงรบกวนของคนพูดคุยกัน ไปจนถึงปัญหาของภาพยนตร์ทางเลือกที่จำกัดรอบ จำกัดโรง จนเวลาของเราไม่ตรงกัน ทำให้การตัดสินใจของคนดูเบี่ยงเบนไปสู่สิ่งอื่นที่สะดวกกว่า การคว้าแผ่นซีดีหรือเข้าสตรีมมิ่งจึงแทบจะกลายเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะดูภาพยนตร์เก่าๆ สักเรื่องในโรงนั้นแทบจะเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้น เมื่อโอกาสในบางครั้งมาถึง เราจึงไม่ลังเลที่จะฝ่าดงรถติดไปไกลถึงใจกลางเมืองเพื่อชมความยิ่งใหญ่ในระบบที่ดีกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจและชื่นชมบางค่ายมากๆ ที่เปิดโอกาสให้กับคนดู แต่อย่างว่าโอกาสเหล่านี้คงไม่ได้มีกันบ่อยนัก ถ้าอยากดูเรื่องอื่นๆ เราคงไม่แคล้วต้องไขว่คว้าไปตามมีตามเกิดเพื่อหาภาพยนตร์เก่าเรื่องอื่นๆ มาดู เพื่อไม่ให้มากความไปกว่านี้ สุดสัปดาห์นี้เราขอชวนมาดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นจากฝีมือผู้กำกับชั้นครูทั้ง 5 คน ซึ่งมีน้ำเสียงแตกต่างกัน และสร้างประสบการณ์ให้กับคนดูได้ไม่ซ้ำความรู้สึก

The Life of Oharu (1952)

หากจะกล่าวว่าโอสุหรือคุโรซาวา มีความรอบด้านทางด้านการเมืองจากเนื้อหาที่เลือกหยิบมาใช้ เคนจิ มิโซงุจิก็คงไม่มีทางรู้สึกผิดกับสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ ซึ่งก็คือ ความไม่เสมอภาคที่ผู้หญิงในญี่ปุ่นต้องเผชิญในแต่ละยุคสมัย ตลอดระยะเวลาการทำงานยาวนานกว่าสามทศวรรษ มิโซงุจิได้กำกับภาพยนตร์เกือบ 90 เรื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 1923 (4 ปีก่อนโอสุ และ 20 ปีก่อนคุโรซาวา)

งานของมิโซงุจิมีชื่อเสียงในด้านการถ่ายลองเทค (Long take) และการวางองค์ประกอบภาพ (Mise-en-scène) เพื่อสื่ออารมณ์และความหมายที่แตกต่างออกไป “ภาพยนตร์ของเขามีพลังและความบริสุทธิ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งสามารถสั่นคลอนและเข้าถึงผู้ชมได้ด้วยอำนาจและความประณีต รวมถึงความเห็นอกเห็นใจที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากของมนุษย์” อ้างอิงจากคำกล่าวถึงของมาร์คเลอฟา (Mark Le Fanu)

The Life of Oharu ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายในสมัยศตวรรษที่ 17 เรื่อง The Woman Who Loved Love ของอิฮาระ ไซคาคุ โดยเนื้อหาในหนังสือนั้นจะติดตามชีวิตของผู้หญิง 5 คน เกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ และเรื่องราวในชีวิต

ส่วนเรื่องราวในภาพยนตร์นั้นจะมุ่งเน้นไปที่โอฮารุ โดยเปิดมาที่ตัวเธอในวัยที่ชราแล้ว จากนั้นก็จะค่อยๆ ย้อนกลับไปในอดีตว่าเธอผ่านอะไรมาบ้างในชีวิต ในวัยสาว โอฮารุอยู่ในสังคมชนชั้นสูง เธอมีความรักดั่งเด็กสาวทั่วไป แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าจนเธอพยายามฆ่าตัวตาย เมื่อรอดมาได้ โอฮารุก็ถูกครอบครัวขายให้กับคนอื่น แล้วชีวิตของเธอจากนั้นก็ถูกลดสถานะทางสังคมลงเรื่อยๆ เธอกลายเป็นโสเภณี เป็นผู้หญิงที่ถูกขับไล่ไสส่ง เป็นคนที่ผ่านความลำบากมามากจนยากที่จะนับ และจบลงกับความตกต่ำในบั้นปลายชีวิตอย่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้ นั่นแหละคือชีวิตทั้งหมดของโอฮารุ

Tokyo Story (1953)

ยาสึจิโร โอสุ ผู้กำกับที่ได้รับการยกย่องเคียงคู่กับอากิระ คุโรซาวา โอสุเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพ และต่อมาโอกาสก็ตกมาถึงมือเขาในปี 1927 เขาได้รับมอบหมายให้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ซึ่งไม่ใช่ผลงานที่เขาพอใจเท่าไรนัก เพราะโอสุถูกเกณฑ์ทหารไปก่อนที่ภาพยนตร์จะสร้างเสร็จ จึงมีคนมารับช่วงต่อ

ภาพยนตร์ของโอสุวนเวียนอยู่กับประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อกับลูก เพราะตอนเป็นเด็กเขาใช้เวลากับแม่มากกว่า

Tokyo Story ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Make Way for Tomorrow (1937) ของลีโอ แม็คคารีย์ แม้ว่าเขาจะไม่เคยได้ดูมันก็ตาม แต่มีมือเขียนบทร่วมอย่างโนดะเป็นคนเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องราวนั้นแสดงให้เห็นถึงคู่สามีภรรยาสูงอายุ และปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขา

สามีภรรยาวัยชราคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในชนบท พวกเขามีลูกด้วยกันถึง 5 คน แต่บรรดาลูกๆ ต่างก็ออกไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ทิ้งให้ทั้งสองคนอยู่กันตามลำพัง วันดีคืนดีพวกเขาก็ตัดสินใจเดินทางสู่โตเกียว เพื่อแวะมาเยี่ยมลูกๆ หลานๆ เมื่อมาถึงเมืองใหญ่แทนที่จะได้รับการต้อนรับด้วยความคิดถึง แต่ลูกสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่างก็ยุ่งจนไม่มีเวลามาดูแลพ่อแม่ มีเพียงนาริโกะ ลูกสะใภ้ของลูกชายคนกลาง (สันนิษฐานว่าเสียชีวิตในช่วงสงครามแปซิฟิก) เท่านั้นที่มาคอยเอาใจใส่ เมื่อพอมีเวลาว่าง โนริโกะก็พาทั้งสองไปชมเมือง และพร้อมช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ขณะที่ลูกแท้ๆ ทำเพียงส่งทั้งคู่ไปบ้านพักบ่อน้ำพุร้อน

ในสายตาของลูกๆ การที่พ่อแม่มาถึงโตเกียวนั้นรังแต่จะเป็นภาระ พวกเขาแสดงออกทั้งจากแววตา คำพูด และการกระทำ แม้จะไม่ได้ขับไสไล่ส่งอย่างโจ่งแจ้ง แต่ทุกอย่างล้วนแฝงไปด้วยความเหินห่างและหมางเมิน ผิดกับลูกสะใภ้ที่แม้ว่าสามีของเธอจะเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ทั้งยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ทางสายเลือดกับสองสามีภรรยา เธอกลับเต็มใจที่สุดที่จะดูแลพวกเขา ซึ่งบ่อยครั้งกว่าที่ลูกๆ จะรู้ตัวว่าพ่อแม่ของตนมีเวลาอีกไม่มาก มันก็มักจะสายเกินไปเสียแล้ว

ภาพยนตร์ของโอสุตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย การตัดภาพในเรื่องมีจังหวะสม่ำเสมอ ไม่เร่งเร้าอารมณ์ เดินเรื่องไปเรื่อยๆ ถ่ายโดยแช่กล้องไว้นิ่งๆ แต่กลับไม่น่าเบื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นที่โอสุได้ถ่ายทอดออกมานั้นยังคงจริงและพบเห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งมันคงจะยังเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นกับมนุษย์

Onibaba (1964)

คาเนโตะ ชินโด ผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์อิสระในประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Kindai Eiga Kyokai ในปี 1950 แม้บริษัทจะไม่ได้มีรายรับที่ดีนัก แต่เขาก็ยังทำงานเป็นผู้กำกับ นักเขียนบท และนักประพันธ์ จนกระทั่งเสียชีวิต

ชินโดเกิดในจังหวัดฮิโรชิมา และเคยสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องเกี่ยวกับที่นี่ รวมถึงระเบิดปรมาณูด้วย ชินโดเริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้กำกับครั้งแรกในปี 1951 ซึ่งนำแสดงโดยโนบุโกะ โอโตวะ ผู้ที่กลายมาเป็นภรรยาเขาในเวลาต่อมา และแสดงบทบาทในภาพยนตร์ของเขาเกิอบทุกเรื่องตลอดชีวิต

Onibaba แปลตามความหมายตรงตัวคือ Demon Hag หรือปีศาจยายเฒ่า เป็นภาพยนตร์สยองขวัญเก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งหน้ากากที่ใช้ในเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้วิลเลียม เฟรดกิน ออกแบบการแต่งหน้าที่คล้ายกันในเรื่อง The Exorcist (1973) ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังต้องรับมือกับสงครามกลางเมือง ทหารบาดเจ็บสองคนหนีจากการไล่ล่ามาถึงทุ่งหญ้าหนาทึบที่สูงท่วมหัว ทันใดนั้นทหารก็ถูกสังหารจากการโจมตี แล้วผู้หญิงสองคนก็ปรากฏตัวขึ้น พวกเธอถอดชุดเกราะและอาวุธจากศพ เพื่อนำไปขายหาอาหารมายังชีพ ความสัมพันธ์ของหญิงสองคนนี้คือแม่ผัว กับลูกสะใภ้ พวกเธอดิ้นรนเพื่อจะอยู่รอดไปด้วยกัน จนกระทั่งชายคนหนึ่งปรากฎตัว

ฮาจิ เป็นเพื่อนของลูกชายหญิงแก่ เขาเล่าเรื่องสงครามและความน่ากลัวของมันให้กับทั้งสองฟัง และบอกว่าลูกชายของเธอตายไปแล้ว ส่วนตนก็จะไม่กลับไปเพื่อสู้อีก แต่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ฮาจิมีความปรารถนาในตัวผู้หญิงและกำลังเรียกร้องสิ่งเหล่านั้นจากพวกหล่อนที่เขาเจอ

ฮาจิจึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับลูกสะใภ้อย่างลับๆ แต่ใช่ว่าแม่ผัวจะนิ่งดูดายและปล่อยให้พวกเขามีความสุข เพราะเธอเกรงว่าลูกสะใภ้จะทิ้งไป และปล่อยให้เธอพบความลำบากอยู่คนเดียว หญิงแก่จึงนำหน้ากากปีศาจที่ตนถอดจากศพมาใส่เพื่อหลอกให้ทั้งคู่กลัว เธอสวมบทปีศาจร้าย และหวังชิงทุกอย่างคืนมา แต่ทว่าในตอนท้ายหน้ากากนั้นกลับติดหล่อนจนถอดไม่ออก

ในช่วงเวลาแห่งสงคราม ไม่ว่าใครก็พยายามหาทางเอาชีวิตรอด มันจึงผลักดันให้มนุษย์เผยสัญชาตญาณดิบออกมา แต่ถึงไม่ใส่หน้ากาก ทุกคนก็เป็นปีศาจในคราบมนุษย์อยู่แล้ว เราต่างมองหาช่องทางในการมีชีวิต แม้จะต้องชั่วร้ายเพียงใดก็ตาม ชินโดยังกล่าวเสริมเอาไว้ด้วยว่า ผลกระทบของหน้ากากต่อผู้ที่สวมใส่ เป็นสัญลักษณ์ของการเสียโฉมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณู ภาพยนตร์สะท้อนถึงผลกระทบที่กระเทือนจิตใจต่อการเข้าสังคมหลังสงครามของญี่ปุ่น

Merry Christmas Mr. Lawrence (1983)

นางิสะ โอชิมะ เจ้าของผลงานที่น่าจดจำมากมาย ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของเขามีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง และวิพากษ์ประเด็นต่างๆ ในสังคมอย่างหลักแหลม ผลงานที่เป็นที่กล่าวขานกันในวงกว้างคือ In the Realm of the Senses (1976) ซึ่งหยิบยกเหตุการณ์จริงในปี 1930 มาดัดแปลง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโสเภณีกับนายจ้างของเธอ

Merry Christmas Mr. Lawrence นับเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของโอชิมะที่ได้เข้าชิงรางวัลสูงสุดของเมืองคานส์ ทั้งยังเป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนในปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ เดวิด โบวี่, ริวอิจิ ซากาโมโตะ และทาเคชิ คิตาโน่ รวมถึงยังเป็นผลงานการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ครั้งแรกของริวอิจิ ซากาโมโตะ ด้วย

Merry Christmas Mr. Lawrence ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ The Seed and the Sower ของลอเรนส์ แวน เดอร์ โพสต์ โดยเนื้อหานั้นมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์จริงครั้งที่เขาตกอยู่ในฐานะเชลยศึกของชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างชายสี่คนในค่ายเชลยศึกชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  ได้แก่  ผู้พันแจ็ค เซลเลียส เชลยทหารอังกฤษรูปงามและมีความขบถอยู่ในตัว, ผู้กองโยโนอิ ผู้บังคับบัญชาการค่ายทหาร, ผู้พันจอห์น ลอว์เรนส์ เชลยทหารอังกฤษอีกคนที่มีหน้าที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น และจ่าสิบเอกฮาระ ผู้ที่ภายนอกดูโหดเหี้ยม แต่ก็มีมนุษยธรรมในแบบของตัวเอง

ฉากแรกที่เราจะได้เห็นคือการเผยให้เห็นนิสัยใจคอของสองตัวละคร อันได้แก่ จ่าสิบเอกฮาระ และผู้พันลอว์เรนซ์ โดยฮาระไปเรียกลอว์เรนซ์มาเพื่อให้เป็นพยานในการลงโทษทหารชาวญี่ปุ่น ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเชลยชาวอังกฤษ ในขณะที่นายทหารชั้นผู้น้อยกำลังจะทำฮาราคีรีตัวเอง ผู้กองโยโนอิก็มาพบเข้า และบอกให้ยกการพิจารณาไปก่อน เพราะตนมีสิ่งสำคัญกว่าต้องไปทำ

ไม่นานต่อมาผู้กองโยโนอิก็ได้ประจันหน้ากับเชลยอีกคนที่เพิ่งถูกจับมา นั่นคือผู้พันเซลเลียส โยโนอิมีความสนใจในตัวเซลเลียสอย่างเห็นได้ชัด และรับเขาเข้ามาดูแลในค่ายของตน ท่าทีของโยโนอินั้นแสดงความสับสนอกมาแทบจะตลอดเวลาเมื่อเขาอยู่ต่อหน้าเซลเลียส ปมความรู้สึกภายในบวกกับปมขัดแย้งทางวัฒนธรรมจึงนำโยโนอิและเซลเลียสไปสู่จุดจบอันน่าเศร้า ท่ามกลางสงครามที่น่าสยดสยองนี้แทบไม่มีสิ่งใดเลยที่งอกงาม…

ภาพยนตร์แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ในหลายมิติ ทั้งทางความคิด การแสดงออก และความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งถูกแสดงออกมาผ่านตัวละครหลักทั้ง 4 คน ได้อย่างชัดเจน บางประเด็นก็ถูกเล่าออกมาอย่างเด่นชัด แต่บางประเด็นก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างเสียทั้งหมด ซึ่งผู้ชมจะต้องไปตีความต่อเอาเอง ส่วนฉากจบนั้นน่าจะเป็นฉากตราตรึงที่หลายคนคงเห็นพ้องต้องกัน ถ้อยคำง่ายๆ อย่าง “Merry Christmas Mr.Lawrence” กลับกลายเป็นถ้อยคำที่ทั้งเศร้าและอบอุ่นไปในคราเดียว

Dreams (1990)

อากิระ คุโรซาวะ ผู้กำกับที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ อาทิ มาร์ติน สกอร์เซซี, สตีเว่น สปีลเบิร์ก และโรมัน โปลันสกี คุโรซาวะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับและนักเขียนบท หลังจากทำงานมาหลายปีเขาก็ก้าวเข้าสู่งานผู้กำกับ และมีผลงานเรื่องแรกในวัย 33 ปี ภาพยนตร์ที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้แก่ Rashomon (1950) เอกลักษณ์ของเขาอยู่ที่งานด้านภาพ คุโรซาวะสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกมาได้อย่างน่าติดตาม รวมถึงมีความงดงามอยู่ในที

Dream เดิมมีชื่อว่า ‘Such Dreams I have Dreamed.’ เป็นภาพยนตร์แนวเมจิกคัลเรียลลิสม์ ประกอบด้วยความฝัน 8 ความฝันที่ไม่ต่อเนื่องกัน ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คุโรซาวะต้องประสบปัญหากับทุนสร้าง เพราะการวิพากษ์สิ่งต่างๆ รอบตัว เขาจึงส่งสำเนาบทไปให้กับสตีเว่น สปีลเบิร์ก ผลที่ตามมาคือเขาได้รับการช่วยเหลือจากวอร์เนอส์บราเธอส์

ความฝันแต่ละความฝันนั้นถูกเล่าในรูปแบบต่างๆ กัน โดยมีประเด็นและนัยยะถึงหลากหลายเรื่องตามที่คุโรซาวะต้องการจะกล่าวถึง อาทิ Sunshine Through The Rain เด็กชายที่ขัดคำสั่ง เพื่อแอบเข้าป่าไปดูบวนแต่งงานของสุนัขจิ้งจอก เขาโดยไล่ออกจากบ้าน ให้สังหารตัวเองเสีย หรือไม่ก็ไปขอโทษสุนัขจิ้งจอกที่ปลายสายรุ้ง — ในความฝันนี้ คุโรซาวะสร้างบ้านจำลองในวัยเด็กของตัวเอง และหญิงสาวที่เตือนเด็กชายก็อาจหมายถึงแม่ของเขา, The Peach Orchard เทศกาลตุ๊กตาจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ครอบครัวของเด็กชายคนหนึ่งกลับตัดต้นไม้ในสวนทิ้งเสียหมด ภายในบ้านเด็กชายพบกับเด็กสาวที่ตนคิดว่าเป็นเพื่อนพี่สาว แต่เมื่อติดตามเธอไปกลับพบว่าเธอคือวิญญาณของต้นพีช —เด็กสาวลึกลับอาจอ้างอิงถึงพี่สาวของคุโรซาวะที่เสียชีวิตจากความเจ็บป่วยเมื่อเขาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ และ The Blizzard กลุ่มนักปีนเขาสี่คนที่พยายามจะฝ่าพายุหิมะอันน่าสยดสยองไปให้ได้ หิมะนั้นตกมาสามวันแล้ว พวกเขากำลังหมดกำลังใจและพร้อมจะยอมแพ้ทุกขณะ — ความฝันนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากความชอบในการปีนเขาของคุโรซาวะ

ความฝันทั้ง 8 นี้ปะปนไปด้วยความรุนแรงของสงคราม ผลกระทบของพลังงานนิวเคลียร์ การเผชิญหน้ากับความตาย และการอยู่ร่วมกับระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มันงดงาม ทรงพลัง สะท้อนความจริง และปลุกให้เราตื่นจากภวังค์

Tags: , , , , ,