ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto 1952-ปัจจุบัน) ถือได้ว่าเป็นคอมโพสเซอร์ดนตรีร่วมสมัยคนสำคัญคนหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ซากาโมโตะสร้างงานดนตรีหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่ซิมโฟนีออร์เคสตรา แจ๊ส เทคโนป๊อป อิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีแนวทดลอง หรือแม้กระทั่งผลงานแบบศิลปะจัดวาง ที่อยู่ตามห้องแสดงผลงานศิลปะ ที่น้อยคนนักจะมีผลงานหลากหลายเช่นเขาคนนี้

จะว่าไป ซากาโมโตะก็คือผลพวงของดนตรีสมัยใหม่ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจวบจนปัจจุบัน (และต่อไปในอนาคต) ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงที่ยกระดับความบริสุทธิ์แห่งจิตใจของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach 1685-1720) ดนตรีที่มีแต่เสียง (แต่ไม่มีท่วงทำนองที่แน่ชัด) อย่างงานประพันธ์ของ โคลด เดอบูว์ซี (Claude Debussy 1862-1918) การเคาะถ้วย ไห ชาม กะละมัง อย่างซีเรียสและจริงจังของ จอห์น เคจ (John Cage 1912-1992) เสียงสังเคราะห์จากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหลายจากผลงานของ คาร์ลไฮนซ์ สต็อกเฮาเซน (Karlheinz Stockhausen 1928-2007) สรรพเสียงที่มาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากแนวคิดของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ (R. Murray Schafer 1933- ) ความชื่นชอบในดนตรีพื้นเมืองบนเกาะโอกินาวา หรือแม้กระทั่งเพลงร็อกของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ด้วยก็ตามที

ปัจจุบัน แม้ซากาโมโตะจะอายุเลยวัยเกษียณมาแล้ว ถ้านับรวมๆ ทั้งผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ ทั้งอัลบั้มส่วนตัว ผลงานศิลปะจัดวาง รวมถึงคอนเสิร์ตแสดงสดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ

ซากาโมโตะและเพื่อนร่วมวง Yellow Magic Orchestra

ในช่วงปี 2007-2011 ซากาโมโตะและเพื่อนร่วมวง Yellow Magic Orchestra หรือที่เรียกย่อๆ ว่า YMO คือ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) และ ยูกิฮิโร ทากาฮาชิ (Yukihiro Takahashi) กลับมารียูเนียนแสดงดนตรีร่วมกันอีกหลายครั้งตามเทศกาลดนตรีต่างๆ รวมถึงคอนเสิร์ตใหญ่ ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2008 และที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2011

และในปี 2011 เองเช่นกัน ซากาโมโตะแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวเปียโน (เล่นเอง 1 ตัวและใช้โปรแกรมเล่นอีก 1 ตัว คู่กัน) ประกอบด้วยภาพงานศิลป์ในแนวแอ็บสแตรก ฉายขึ้นจอสกรีนด้านหลัง

ในปี 2013 เขาออกแสดงคอนเสิร์ตสไตล์ป๊อปแจ๊สกับเพื่อน ฮารุโอมิ โฮโซโนะ จาก YMO แน่นอนที่ต้องเชิญ ยูกิฮิโร ทากาฮาชิ สมาชิก YMO อีกคนมาเป็นแขกรับเชิญด้วย

เพลงหลายๆ เพลงของวง YMO ได้นำมาบรรเลงใหม่ในแบบอะคูสติกได้อย่างสนุกสนาน (ในบรรยากาศแบบเป็นกันเองและออกจะขำๆ)

โฮโซโนะและซากาโมโตะ แสดงสด ณ Ex Theater Roppongi 2013

และในคอนเสิร์ตใหญ่ ซึ่งก็คือการบรรเลงเปียโนร่วมกับวง Tokyo Philharmonic Orchestra (2013-2014) ที่นำบทเพลงต่างๆ จากอัลบั้มเดี่ยวและดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องสำคัญๆ มาจัดแสดง ในงานนี้ผู้ชมจะเห็นซากาโมโตะในฐานะนักดนตรีคลาสสิก และถ้าเพลงไหนที่ไม่มีคิวบรรเลงเปียโน ซากาโมโตะก็จะก้าวขึ้นมาเป็นคอนดักเตอร์ (ผู้อำนวยเพลง) เองด้วยเช่นกัน

การแสดงคอนเสิร์ตในบทเพลงที่ชื่อ Blu ที่ซากาโมโตะได้รับการสนับสนุนจาก Aoyama แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของญี่ปุ่น  หรือลองรับชมคลิปโฆษณาแบรนด์ Aoyama ที่ซากาโมโตะเป็นพรีเซ็นเตอร์

 

LIFE (1999)

นอกเหนือไปจากคอนเสิร์ตกระแสหลักทั้งในวงการเพลงป๊อปและคลาสสิกแล้ว งานดนตรีทดลองก็เป็นสิ่งที่ซากาโมโตะให้ความสำคัญตลอดมา เขาร่วมงานกับ ‘ชิโระ ทาคาทานิ’ (Shiro Takatani) ศิลปินแนวสื่อผสมมาตั้งแต่ช่วงปี 1999

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ (และอาจจะเป็นที่สุด) คือ โอเปร่าเรื่อง LIFE (1999) อันเป็นการแสดงนาฏลีลาร่วมกับสื่อวิดีโอ รวมถึงการผสมผสานดนตรีหลากหลายสไตล์ ทั้งดนตรีออร์เคสตรา ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีพื้นบ้าน เสียงสังเคราะห์ เสียงธรรมชาติ บทกวี เสียงพูดปาฐกถาจากบุคคลสำคัญของโลก (อาทิ วินสตัน เชอร์ชิล, โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ -ผู้สร้างระเบิดปรมาณู, องค์ทะไลลามะ, แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี่ ฯลฯ) เข้าไว้ด้วยกัน เป็นการแสดง 3 องก์ ความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง

 

ช่วงทศวรรษสุดท้ายก่อนปี 2000 ริวอิจิ ซากาโมโตะ พัฒนาศักยภาพของตนเองมาจนเกือบสูงสุด ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์คุณภาพระดับโลกให้กับสุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญคือ แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี่ ด้วยนั่นเอง

ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องคือ The Last Emperor (1987) The Sheltering Sky (1990) และ Little Buddha (1993) มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ซากาโมโตะสั่งสมประสบการณ์การทำงานกับวงออร์เคสตรา ทั้งเขียนสกอร์ การบรรเลงเปียโน และการทำหน้าที่เป็นวาทยากรในการบันทึกเสียง ผนวกกับความสามารถใช้ซินธิไซเซอร์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ในงานสตูดิโอ ล้วนทำให้ซากาโมโตะมีฝีมือในการประพันธ์ดนตรีในระดับแถวหน้าของวงการ

(นอกจากนี้ซากาโมโตะได้แต่งดนตรีประกอบให้กับทั้งวงการแอนิเมชั่น เกม ภาพยนตร์ญี่ปุ่นและภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด รวมถึงบทเพลงจากอัลบั้มต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์อีกหลายสิบเรื่องด้วยเช่นกัน)

ดังนั้นผลงานโอเปร่าเรื่องแรกและเรื่องเดียวอย่าง LIFE จึงเปี่ยมไปด้วยพลังและปรัชญา ตลอดจนความท้ายทายในฐานะศิลปะร่วมสมัยอย่างเข้มข้นที่สุดในฐานะคีตกวี

LIFE ไม่ใช่โอเปร่าแบบมีเนื้อเรื่องมีตัวละครเหมือนแบบแผนที่มีมา แต่งานของซากาโมโตะชิ้นนี้เหมือนการแสดงดนตรีผนวกกับวิธีการแบบ Sound Collage ซึ่งก็คล้ายๆ เทคนิคการใช้เส้นเทป open reel ที่บันทึกเสียงแล้ว ทั้งดนตรี ซาวด์เอฟเฟค เสียงพูด มาตัด-ต่อ เรียงสลับกันไป วิธีการเช่นนี้ก็คือรูปแบบหนึ่งของงานดนตรีแนวทดลองนั่นเอง

ปกซีดีเพลงบันทึกการแสดงสดโอเปร่าเรื่อง Life (1999)

ซากาโมโตะใช้วิธีการเดียวกันกับดนตรีของโอเปร่าชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งแปลได้ว่า ซากาโมโตะไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีในโอเปร่าเรื่องนี้) แต่ใช้วิธีการหยิบ (quote) ท่อนเพลงของคอมโพสเซอร์ที่เขาชื่นชอบ มาเรียบเรียงต่อๆ กันให้เป็นบทเพลงที่มีความยาวและสามารถเล่าเรื่องได้

ผลงานของคอมโพสเซอร์ที่ซากาโมโตะนำมาใช้ก็ได้แก่ กลุ่มผู้ประพันธ์ดนตรีคลาสสิกยุคใหม่ เช่น เบลา บาร์ตอก, อิกอร์ สตราวินสกี, อาร์โนลด์ เชินแบร์ก, โอลิเวียร์ เมสซิออง, โทรุ ทาเกมิตซุ

กลุ่มดนตรีแบบอาวองการ์ด เช่น ยอร์กี ลิเกตี, อิยานนิส เซนาคิส, คริสตอฟ แปนแดแรตสกี

กลุ่มมินิมัลลิสต์ เช่น สตีฟ ไรช์, เทอร์รี ไรลีย์ ฯลฯ

และซากาโมโตะก็ยังนำผลงานเพลงของเขาเองจากอัลบั้มต่างๆ มาขยาย เป็นการบรรเลงแบบออร์เคสตร้าประกอบในโอเปร่าเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

LIFE (1999) เล่าเรื่องตั้งแต่สงครามและการปฏิวัติ พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ และการสูญเสียความสมดุล การก่อกำเนิดศิลปะ ความสำนึกร่วมกันของคนทั้งโลก และแสงสว่างในปลายทางแห่งอนาคต ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักดันที่ซากาโมโตะนำตัวเองเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางสังคมในช่วงศตวรรษต่อมา

บางส่วนของโอเปร่า “LIFE” (1999)

บางส่วนของโอเปร่า LIFE (1999)

หลังจากงานแสดงชิ้นใหญ่ผ่านไป ซากาโมโตะและเพื่อนศิลปิน ชิโระ ทาคาทานิ ยังได้ดัดแปลงเสียงและคลิปวิดีโอที่เคยใช้บนเวทีการแสดงโอเปร่าให้มาอยู่ในรูปของศิลปะการจัดวาง ในชื่อชุด LIFE–fluid, invisible, inaudible… โดยจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ศิลปะเมืองยามากูชิ 2 ครั้งในปี 2007 และ 2013

นิทรรศการ  LIFE–fluid, invisible, inaudible…ณ เมืองยามากูชิ ประเทศญี่ปุ่น

เทคนิคของสื่อผสมนี้ คือการใช้ตู้กระจกขนาดใหญ่บรรจุน้ำ แล้วติดตั้งให้แขวนลงมาจากเพดาน มีเครื่องทำหมอกควันให้ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แล้วมีโปรเจ็กเตอร์ฉายคลิปวิดีโอและเสียง ส่องลงไปในกลุ่มควันเหนือตู้กระจก

ผู้ที่เข้าชมสามารถเดินรับชม หรือใช้วิธีนอนลงใต้ตู้กระจกเพื่อจะได้ชมภาพจากโปรเจ็กเตอร์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การจัดแสดง LIFE – fluid, invisible, inaudible… ที่ Yamaguchi Center for Arts and Media

Life – Fluid, Invisible, Inaudible… 

ปัจจุบันผลงานศิลปะจัดวางชุดนี้กำลังจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ศิลปะ Piknikc กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในชื่อนิทรรศการ Ryuichi Sakamoto: Life, Life และภายในงานจะจัดฉายหนังสั้นของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ประกอบดนตรีของซากาโมโตะด้วย)

นิทรรศการ Ryuichi Sakamoto: Life, Life

นิทรรศการ Ryuichi Sakamoto: Life, Life  ณ แกลเลอรี Piknic กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

The Glass House

ผลงานสไตล์ดนตรีทดลองที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือการใช้อาคารเรือนกระจก อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณอนุรักษ์ และใช้แสดงผลงานศิลปะในเมือง New Canaan มลรัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา ในการสร้างเสียงดนตรี ซึ่งซากาโมโตะร่วมงานกันกับ ดีเจ.สไตล์แอมเบียน- อิเล็กทรอนิกส์ชาวเยอรมันที่ใช้สมญานามว่า อัลวา โนโต (Alva Noto) หรือชื่อจริงว่า คาร์สเตน นิโคไล (Carsten Nicolai)

ทั้งซากาโมโตะและอัลวา โนโต จัดแสดงดนตรีแนวแอมเบียน- อิเล็กทรอนิกส์ และถ่ายทำเป็นหนังสั้นขึ้นในห้องแสดงผลงานศิลปะที่มีผนังเป็นกระจกทั้งหมดที่เรียกกันว่า The Glass House ซึ่งในขณะนั้น กำลังจัดแสดงผลงานของศิลปินญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งคือ ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama ) ศิลปินหญิงอาวุโสที่โด่งดังระดับแนวหน้าของโลก (หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่าคุณป้าลายจุด)

คุซามะใช้อาคาร The Glass House เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานลายจุดอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเธอ การแสดงของซากาโมโตะ และ อัลวา โนโต เป็นการใช้เสียงจากอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องซินธิไซเซอร์ และเครื่องเคาะรูปร่างแปลกๆ มากมาย

เทคนิคที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ลูกยางรูดไปบนพื้นกระจก ซึ่งก็จะเกิดเสียงเสียดสีตามมา โดยจะมีไมโครโฟนจับขยายสัญญาณเสียงนั้นให้ดัง แล้วก็ผ่านอุปกรณ์ sound processor ที่จะเพิ่มให้เสียงนั้นฟังดูแปลกประหลาดมากยิ่งขึ้น นั่นทำให้ผนังกระจกของ The Glass House กลายเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างเสียงต่างๆ ได้มากมาย

Alva Noto and Ryuichi Sakamoto site specific performance at the Glass House from The Glass House

บทเพลงรำลึกถึงความตาย

ดีเจ.อัลวา โนโต ร่วมงานกับซากาโมโตะในการแสดงสดดนตรีแนว อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายครั้ง ได้ออกอัลบั้มร่วมกัน รวมถึงมีส่วนช่วยซากาโมโตะในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง “The Revenant” (2015) ด้วย

ในปี 2014 หลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งในลำคอ ซากาโมโตะหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น แต่นอกเหนือจากงานประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่อย่าง The Revenant แล้ว ดนตรีประกอบภาพยนตร์ญี่ปุ่นอีกเรื่องหนึ่งคือ “Living with My Mother” หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “Nagasaki : Memories of My Son”(2015) ก็เป็นงานชิ้นสำคัญของซากาโมโตะด้วยเช่นกัน

ขณะบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์  Nagasaki : Memories of My Son

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการสร้างของผู้กำกับชั้นบรมครูของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นคือ โยจิ ยามาดะ (Yoji Yamada) เล่าเรื่องการปรากฏตัวของชายหนุ่ม (เป็นภาพความทรงจำ เป็นผี หรือเป็นอะไรกันแน่) หลังจากที่เมืองนางาซากิถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ผู้คนล้มตายเพราะแรงระเบิดและความร้อน กับอีกจำนวนมากที่ทรมานเจ็บป่วยก่อนจะเสียชีวิตเพราะพิษกัมมันตรังสี หายนะนี้ผูกโยงอยู่กับพิบัติภัยแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะในปี 2011 ที่ซากาโมโตะเองก็ออกมาประท้วงถึงการใช้พลังงานที่ไม่บริสุทธ์และอาจที่จะเกิดเหตุวิบัติภัยกับประชาชนได้

ซากาโมโตะจึงใช้วิธีการประพันธ์บทเพลงสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบ “รีเควียม” (Requiem) ของคอมโพสเซอร์ชาวตะวันตก ที่จะประพันธ์บทเพลงรำลึกแห่งความตายในช่วงท้ายๆ ของชีวิตการทำงานของผู้ประพันธ์เพลงคนนั้นๆ (ซึ่งในที่สุด ซากาโมโตะเองก็รักษามะเร็งร้ายได้ แม้จะกลับมาทำงานดนตรีได้อีกครั้ง แต่เขาเองก็เหมือนกับก้าวย่างสู่ปากเหวแห่งความตายมาแล้วครั้งหนึ่ง)

ขณะบันทึกเพลงในแบบ ‘รีเควียม”'(Requiem) ประกอบภาพยนตร์  Nagasaki : Memories of My Son

การรำลึกถึงความตายของทั้งเหตุการณ์และตัวละครในภาพยนตร์และเหตุการณ์จริงจากประวัติศาสตร์อันบาดลึกในจิตใจของชาวญี่ปุ่น น่าจะมีส่วนสำคัญในความตั้งใจประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้เขาเองยังอยู่ในขั้นรักษาตัวหรือแม้จะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อสานต่อแนวคิดในการต่อต้านการใช้นิวเคลียร์เพื่อสื่อความหมายนี้ไปยังผู้ชมภาพยนตร์และแฟนเพลงของเค้าเอง ก็ตามที

คลิปเบื้องหลังการบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ Nagasaki : Memories of My Son

มาถึงเรื่องภาพยนตร์สารคดี Ryuichi Sakamoto : Coda (2017) สิ่งหนึ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือ ซากาโมโตะใช้ศาสตร์แห่งเสียงในการส่งต่อเนื้อหาสาระสู่ผู้ฟังและผู้ชม

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เพลงของซากาโมโตะไม่ได้ฟังง่ายเหมือนเพลงป๊อปโดยทั่วไป และเราสามารถรับรู้ถึงสีสันและอารมณ์จากบทเพลงประเภทซิมโฟนีออร์เคสตราได้ง่ายกว่าดนตรี อิเล็กทรอนิกส์ เหมือนอย่างการทำงานในอัลบั้มชุดล่าสุด “async” ในภาพยนตร์นี้

โลกเต็มไปด้วยสรรพเสียง

แต่เอกลักษณ์สำคัญของดนตรี อิเล็กทรอนิกส์ คือการสร้างเสียงชนิดใหม่ๆ บางครั้งเสียงอาจจะต่ำมากจนน่าอึดอัด บางครั้งเสียงอาจจะสูงมากจนน่ารำคาญ บางครั้งเสียงนั้นอาจจะถมทับเข้าไปในบรรยากาศจนทำให้รู้สึกล่องลอย เคว้งคว้าง จิตหลอน หรืออะไรก็ตามที แต่การได้สัมพัสกับเสียงแบบใหม่ๆ เหล่านี้ น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ ตามที่แต่ละคนจะพึงมีได้อย่างน่าสนุกเลยทีเดียว

เสียงแปลกๆ บางอย่างก็ไม่จำเป็นจะต้องมาจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังเห็นได้จากในภาพยนตร์ว่า ซากาโมโตะพยายามใช้วิธีหลากหลายให้ได้มาซึ่งเสียงใหม่ๆ แปลกๆ บ้างก็เข้าไปอัดเสียงนกเสียงลมตามป่าในธรรมชาติ บ้างก็อัดเสียงจากฉาบโดยใช้คันชักไวโอลินสีแทน

ซากาโมโต้ใช้ลูกยางลากเสียดสีกับกระจกให้เกิดเป็นเสียง

ขณะลองฟังเสียงฝนที่ตกใส่ถัง

โดยส่วนตัว ชอบมากกับบุคลิกตลกๆ ขำๆ ที่ซากาโมโตะเอาถังมาครอบศีรษะเพื่อฟังเสียงเม็ดฝนตกกระทบ เขาทดลองตีฉิ่งเพื่อฟังเสียงก้องกังวาน ทดลองอัดเสียงน้ำไหลใต้พื้นน้ำแข็ง แล้วภาพยนตร์ก็พาเราย้อนกลับไปตอนซากาโมโตะเดินทางไปดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งบนพื้นทวีปขั้วโลกเหนือในสภาวะโลกร้อนที่กำลังประสบอยู่

 

คุณค่าของเสียงเหล่านี้มาจากแนวคิดทาง acoustic-ecology คือ เสียงตามธรรมชาติที่ย่อมแตกต่างกันตามสภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละพิกัดของโลก

ในแต่ละเขตของโลก ย่อมมีสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เปล่งเสียงหรือใช้เสียงสื่อสารกันมากมายหลากหลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตอาร์ติกที่ซากาโมโตะเดินทางดั้นด้นไปถึง เป็นเขตที่ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย ซึ่งก็แปลความได้ว่า เป็นเขตแดนที่คาร์บอนฟูตปรินต์ต่ำหรือไร้ซึ่งมลภาวะด้วย นั่นทำให้ซากาโมโตะเอ่ยขึ้นว่า เขาไม่เคยได้ยินเสียงที่ ‘บริสุทธิ์’ เช่นนี้มาก่อน

ขณะบันทึกเสียง ณ ขั้วโลกเหนือ

ขณะบันทึกเสียง ณ ขั้วโลกเหนือ

ในหลายช็อตที่ผู้กำกับฯ พยายามถ่ายให้เห็น ‘หู’ ของซากาโมโตะ ส่วนหนึ่งอาจจะมีความหมายว่า นอกจากจะเป็นผู้ผลิต (งานศิลปะ) เสียงแล้ว ซากาโมโตะยังเป็นผู้ที่ตั้งใจฟังเสียงเป็นอย่างยิ่ง

วิธีการหนึ่งที่เราจะลองเป็นนักฟังเสียง ก็อาจจะใช้วิธีการขำๆ แบบที่เห็นได้ในหนัง คือการลองเอาถังกะละมังครอบศรีษะดูว่า เม็ดฝนที่ตกลงมาใส่นั้นมันจะเป็นอย่างไร

 

Tags: , , , , ,