ช่วงเวลาในฤดูฝน อะไรจะดีไปกว่าการได้หมกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ หาภาพยนตร์ดูสักเรื่อง หรืออ่านหนังสือสักเล่ม
หากเอ่ยถึงหนังสือที่เหมาะกับฤดูฝนแล้ว เดาว่าชื่อที่ผุดขึ้นมาในใจของหนอนหนังสือคงจะเป็น การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก (South of the Border, West of the Sun) , แมวในสายฝน (Cat in the Rain and other selected stories) , ประวัติศาสตร์หยาดฝน (Rain: The Natural and Cultural History) , ฝนตกตลอดเวลา หรือ ฝนตกขึ้นฟ้า
แต่หนังสือที่เหมาะกับการอ่านในฤดูฝน ไม่จำเป็นจะต้องมีคำว่า ‘ฝน’ อยู่ในชื่อเรื่องเพียงอย่างเดียว เราจึงอยากแนะนำหนังสือที่เข้ากันกับบรรยากาศวันฝนพรำ รับรองว่าหม่นไม่แพ้ท้องฟ้าแน่นอน
ที่ใดมีความเศร้า
ผู้เขียน: ออสการ์ ไวลด์
ผู้แปล: รติพร ชัยปิยะพร
สำนักพิมพ์: ฟรีฟอร์ม
“สำหรับพวกเรา ฤดูกาลมีเพียงหนึ่งเดียว ฤดูกาลแห่งความเศร้า”
ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนและกวีคนสำคัญ ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยวิกตอเรียน เกิดในตระกูลดี มีการศึกษา และผลิตผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับมากมาย แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลายลง เมื่อไวลด์ถูกศาลจำคุกในคดีอื้อฉาวทางเพศ
ที่ใดมีความเศร้า เป็นผลงานความเรียงชิ้นสุดท้ายของไวลด์ เขาเขียนขึ้นในขณะที่ไร้อิสระ ไร้คนรอบกาย และไร้ความสุข ความปวดร้าวสาหัสถูกกลั่นออกมาเป็นผลงานอันมีค่าของเขาเอง
เมื่อต้องถูกจองจำ ชีวิตของไวลด์ก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งแม่ผู้เป็นที่รักก็จากไปในเวลาให้หลังเพียงสามเดือน นับจากไวลด์เข้าไปนอนในห้องขัง เขารู้สึกผิดที่ความผิดพลาดของตนทำให้ครอบครัวต้องเสื่อมเสีย ถึงอย่างนั้นภรรยาของเขาก็ยังเดินทางไกลมาบอกข่าวร้ายด้วยตัวเอง
เวลาผ่านไปนานเท่าไร ไวลด์ก็ยิ่งทุกข์ทนขึ้นเท่านั้น เขาเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะความสิ้นหวังเป็นห้วงอารมณ์ที่เกาะติดอยู่กับเขาไม่ไปไหน ไวลด์ถึงกับต้องแสร้งว่ามีความสุขเมื่อมีคนรู้จักมาเยี่ยม ด้วยว่าไม่อยากให้การเดินทางไกลของคนอื่นต้องจบลงด้วยความบึ้งตึง
แต่ช่วงเวลาแห่งความเศร้านี้เอง ไวลด์ก็ได้มีโอกาสไตร่ตรองถึงสิ่งรอบตัวเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว มิตรสหาย ศิลปะ จนถึงพระผู้เป็นเจ้า และทั้งหมดก็กลายมาเป็นความเรียงที่สร้างความหวังให้แก่โลกได้เล่มนี้
ทะเลสาบ
ผู้เขียน: โยชิโมโต บานานา
ผู้แปล: ฮิโรกะ ลิมภิภูวัฒน์
สำนักพิมพ์: เอิร์นเนส
หากเอ่ยถึงนักเขียนหญิงในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อโยชิโมโต บานานา เธอได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมายทั้งในญี่ปุ่นและระดับนานาชาติ
บานานา เป็นนามปากกาเท่านั้น แท้จริงเธอมีชื่อว่า มาโฮโกะ เธอเกิดที่กรุงโตเกียว และเติบโตขึ้นมาในครอบครัวแบบเสรีนิยม พ่อของเธอเป็นทั้งกวีและนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียง และน้องสาวของเธอก็เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังเช่นกัน ผลงานส่วนใหญ่ของบานานาจะเอ่ยถึงความอ่อนล้าของหนุ่มสาวญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน และอัตถิภาวนิยม
ทะเลสาบ เป็นผลงานลำดับที่ 13 เล่าเรื่องผ่านมุมมองและน้ำเสียงของชิฮิโระ ลูกนอกสมรสของนักธุรกิจกับมาม่าซังในคลับหรู เธอโตขึ้นมาท่ามกลางคำครหาจากคนอื่นๆ ที่มีต่อพ่อและแม่ ดังนั้นเมื่อวันที่แม่เสียชีวิต เธอจึงใช้ช่วงเวลานี้หลีกหนีออกจากเมืองเกิดโดยไม่คิดจะกลับไปอีก
การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เพียงลำพังกับอดีตอันแหว่งเว้าข้างในทำให้ชิฮิโระพบกับนาคาจิมะ นักศึกษาแพทย์ผู้มีอดีตฝังใจอันเจ็บปวด เขาจึงมีความไม่สมบูรณ์บางอย่างในจิตใจไม่ต่างจากเธอ ความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เรียบง่ายและเป็นไปตามธรรมชาติ จนกลายเป็นการเข้ามาอยู่ด้วยกันในที่สุด
ทั้งสองมีความบอบบางและอ่อนโยนอันคล้ายคลึงกัน การอ้าแขนรับและเปิดปากแผลของอดีตไม่อาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว การได้อยู่ด้วยกันจึงเป็นการเยียวยาบาดแผลในอดีตของทั้งคู่ ความทรงจำอันเลวร้ายจะถูกบรรเทาด้วยปัจจุบันอันเข้มแข็ง
เสียงแห่งขุนเขา
ผู้เขียน: ยาสึนาริ คาวาบาตะ
ผู้แปล: อมราวดี
สำนักพิมพ์: นาคร
นักเขียนรางวัลโนเบลคนที่ 64 และนับเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลนี้คนแรกของญี่ปุ่น ผู้เป็นต้นแบบสำคัญของให้กับนักเขียนรุ่นหลังในญี่ปุ่นหลายคน แต่หลังจากได้รับมอบรางวัลเพียงสามปี คาวาบาตะก็ได้ทำอัตวินิบาตกรรมโดยที่ไม่มีใครคาดคิด
เสียงแห่งขุนเขา เขียนขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่คาวาบาตะหยุดเขียนงานมานานในช่วงที่สงครามถือกำเนิด เขาแสดงให้เห็นถึงผลการกระทำของสงคราม เนื้อหาในเล่มจึงเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และเล่าผ่านความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้อย่างทรงพลัง
เรื่องราวชีวิตของชายชรา โอกาตะ ชินโก ผู้มีภรรยาแก่กว่าหนึ่งปีและมีลูกกับเธอสองคน เป็นชายหนึ่งคนชื่อชูอิจิ และหญิงหนึ่งคนชื่อฟูซาโกะ ฝ่ายลูกสาวนั้นเคยออกเรือนไปแล้ว แต่ก็ไปไม่รอดกับสามี เธอจึงต้องหอบหลานสาวสองคนกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ส่วนชูอิจินั้นก็แต่งสะใภ้เข้าบ้าน ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้ดูแลเธอดีเท่าที่ควร แถมยังนอกใจไปมีหญิงคนอื่น
คิคุโกะ ภรรยาของชูอิจิ อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนโดยที่ไม่รู้อะไร แต่ในตัวคิคุโกะนี้เองที่ทำให้ชินโกหวนระลึกถึงพี่สาวของภรรยาตัวเอง หญิงสาวที่ตนเคยหลงรักเป็นอย่างมาก บางสิ่งบางอย่างในตัวชินโกที่มีต่อคิคุโกะจึงพิเศษขึ้นเรื่อยๆ และก็กลายเป็นว่าเขาหลงรักลูกสะใภ้ของตัวเอง
แม้ว่าการเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้จะเป็นการเล่าถึงครอบครัวของชินโกเป็นหลัก แต่คาวาบาตะก็ทำให้มันสะท้อนเป็นภาพกว้าง ด้วยความสามารถของเขา เสียงแห่งขุนเขา จึงเป็นการเล่าบาดแผลของสงครามได้อย่างลึกซึ้ง จิตใจของผู้คนที่โดนผลกระทบ การล่มสลายของสังคมและสถาบันครอบครัว สิ่งที่กลายเป็นซากปรักหักพังนั้นไม่ได้มีเพียงบ้านเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงจิตวิญญาณภายในด้วย
ไข่ย้อย ดากานดา
ผู้เขียน: อภิชาติ เพชรลีลา
สำนักพิมพ์: นกดวงจันทร์
กล่องไปรษณีย์สีแดง หรือ เพื่อนสนิท ยังติดอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คน และ “แกมาทำอะไรตอนนี้” กลายเป็นประโยคคุ้นหู แม้ว่าเวลาจะผ่านมาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม ความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างไข้ย้อยและดากานดาชัดเจนขึ้นด้วยประโยคปฏิเสธ แต่ยังคงค้างคาและขุ่นมัวอยู่ในใจผู้อ่านและผู้ชมเสมอมา
จนปีที่ผ่านมา อภิชาติ เพชรลีลา ได้สานต่อความสัมพันธ์นี้อีกครั้ง เก้าปีต่อมาหลังทั้งสองเรียนจบ นานพอจะรื้อฟื้นความเจ็บปวดของรักที่ไม่สมหวัง
ไม่มีโปสการ์ดและจดหมายจากชายหนุ่มอีกแล้ว ดากานดาลืมเลือนมันไป เพื่อจะได้ไม่เฝ้ารออย่างไร้ความหวัง เธอเติบโตขึ้น มีชีวิตและหน้าที่การงานที่ดี มีคนรักที่พร้อมจะเข้าใจ แต่แล้วดากานกาก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ สภาพรถยับเยิน ไม่มีใครคิดว่าคนในรถจะรอดมาได้ แต่เธอก็ฟื้นขึ้นในโรงพยาบาลหลังสลบไสลไปสองวัน และเหตุการณ์นั้นก็ได้ทำให้เธอรู้ว่า ความจริงแล้วลึกๆ ในใจ เขายังอยู่ตรงนั้นเสมอ
ทั้งไข่ย้อยและดากานดาต่างไปกรุงปรากในคนละโอกาส คนหนึ่งไปเรียนต่อ คนหนึ่งไปหาประสบการณ์ แต่ใครจะรู้เล่าว่าปรากจะแคบเหมือนโลกเล่นตลกจนคนทั้งสองได้มาเจอกัน เก้าปีนับจากเหตุการณ์ใต้ต้นชงโค แววตาคู่นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นความรู้สึกต่างๆ คล้ายกับไม่เคยต่างออกไป เศษเสี้ยวหนึ่งของทั้งสองยังติดอยู่ที่นั่นตลอดมา
ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง
ผู้เขียน: อุทิศ เหมะมูล
สำนักพิมพ์: จุติ
รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของอุทิศ เหมะมูล ที่จะพาเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งในความหมายของสถานที่และความรู้สึก แต่การเดินทางนั้นดูเหมือนจะไม่มีวันไปถึงจุดสิ้นสุด มันกลับทำให้สะดุดและติดอยู่กับที่ “ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง”
เรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่อง ต่างมีทิศทางและระหว่างทางเป็นของตัวเอง คละเคล้าไปด้วยความเจ็บช้ำ ไม่สมหวัง และหม่นเศร้า แต่มันก็ไม่ฟูมฟายจนเกินเหตุ เรื่องสั้นทุกเรื่องอาจไม่ต่างจากตัวผู้เขียนที่ผ่านเวลามาช่วงระยะหนึ่ง จนรู้ว่าควรแสดงออกอย่างไร แค่ไหน ร่องรอยความสัมพันธ์ในทุกบทชัดเจนอย่างกับแผลสด แต่ก็ไม่ใช่การกรีดเลือดเฉือนหนังตัวเองมาเขียน มันคือการสั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าชื่นชม
ไม่ทางใดทางหนึ่งผู้อ่านจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับตัวละคร อย่างน้อยๆ ความรักก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ เราต่างติดขัดและคับข้องอยู่กับความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะกับครอบครัว มิตรสหาย หรือคนรัก หลายคนมักบอกว่าระหว่างทางสำคัญไม่แพ้ปลายทาง แต่หากติดอยู่ระหว่างทาง ปลายทางจะยังมีความหมายอยู่ไหม?
“มันงดงามเสมอ แม้แต่ความเศร้าก็งดงาม”
Tags: ยาสึนาริ คาวาบาตะ, ไข่ย้อย, หนังสือ, วรรณกรรมญี่ปุ่น, อุทิศ เหมะมูล, โยชิโมโต บานานา