นับเป็นปรากฏการณ์ความนิยมที่พุ่งทะยานเหนือความคาดหมาย เมื่อนิตยสาร a day ฉบับที่ 195 ประกาศทำเล่มพิเศษ โดยเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเป็นหลัก

แม้จะยังไม่ทันได้เห็นรูปปกหรือตัวอย่างเนื้อหาภายในแม้แต่หน้าเดียว แต่ทันทีที่ใครหลายคนทราบว่า ‘a day จะทำเล่มในหลวง’ และประกาศเปิดให้จองสั่งซื้อล่วงหน้า ผลตอบรับก็เหนือความคาดหมาย มีผู้อ่านให้ความสนใจติดต่อเข้ามาสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก จนระบบเว็บไซต์ที่ใช้ในการสั่งซื้อล่ม! และแม้จะมีการปรับปรุงระบบแล้วก็ตาม เว็บไซต์ก็ยังล่มอีกเช่นเคย! (เนื่องจากผู้เข้าชมเว็บไซต์พร้อมกันมากจริงๆ)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อมูลระบุอีกด้วยว่า ยอดสั่งพิมพ์ a day ฉบับนี้ มีจำนวนมากกว่า 600,000 เล่ม!

ในวันที่นิตยสาร a day ฉบับที่ 195 ทยอยวางแผง The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ถึงเรื่องราวที่มาที่ไป ตลอดจนความภาคภูมิใจและเบื้องหลังการเริ่มต้นทำ a day ฉบับพิเศษเล่มนี้

ทำหนังสือน่าเก็บให้น่าอ่าน

เชื่อว่าหลายคนที่ได้ทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ในช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ต่างก็คงอยู่ในอาการอึ้ง, สับสน, โศกเศร้า และช็อกไปตามๆ กัน ไม่ต่างจากทรงกลดและทีมงานนิตยสาร a day

แต่เมื่อแสงแดดแสนโศกายามรุ่งอรุณคล้อยเคลื่อนเข้ามาถึง ทันทีที่พวกเขาเริ่มตั้งสติได้ พระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ตรัสว่า “ทำเพื่อให้ดีเรื่อยๆ ทำหน้าที่ที่มีให้สำเร็จ” ก็ได้ย้ำเตือนให้ทรงกลดนึกขึ้นได้ว่า ในฐานะคนทำนิตยสาร เจ้าตัวก็อยากจะถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยตัวหนังสือและนิตยสารของพวกเขาเช่นกัน

“เราอยากจะทำนิตยสารเล่มนี้ออกมาให้ดีที่สุดภายใต้เวลาที่จำกัด ความคิดแรกสุดของพวกเราจึงเป็นการนำ a day เล่มในหลวงฉบับที่ 88 มาพิมพ์ใหม่ เพราะคิดว่ามันน่าจะง่ายและเร็วมาก แต่เมื่อกลับมาอ่านเนื้อหาข้างในแล้วรู้สึกว่าเนื้อหาไม่เข้ากับยุคสมัย เป็นเรื่องราวในยุคนั้น (a day ปีที่ 8 ฉบับที่ 88 ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2550) ผมเลยคิดว่าอยากทำให้ดีกว่านั้น จึงตัดสินใจทำเนื้อหาใหม่ทั้งหมด เป็น a day เล่มพิเศษที่เนื้อหาข้างในพูดถึงพระองค์ท่านหมดเลย

“ผมอยากให้คนที่อ่านนิตยสารเล่มนี้จบแล้วได้รับแรงบันดาลใจจากในหลวง ซึ่งก็เป็นคอนเซปต์ของ a day อยู่แล้ว เรารู้สึกว่ากษัตริย์พระองค์นี้ทำอะไรดีๆ เยอะมาก เราเห็นพลังของท่านและอยากนำไปปฏิบัติตาม ผมอยากให้นิตยสารของผมเป็นส่วนหนึ่งของบทบันทึกที่คนในแผ่นดินไทยได้เก็บไว้ นอกจากจะอยากเก็บ ก็อยากให้คนอยากอ่านด้วย หลายๆ ครั้งก็อาจจะมีหนังสือเทิดพระเกียรติที่น่าเก็บ แต่ไม่น่าอ่านออกมาเยอะ เราอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ทุกคนอยากอ่านในทุกๆ หน้า”

“เมื่อได้รู้เรื่องราวของพระองค์ลึกซึ้งมากขึ้น ผมก็รักในหลวงมากขึ้นกว่าสมัยเด็กๆ
ที่เราอาจจะรู้จักท่านเพียงผิวเผินเสียอีก”

7 วันที่ทำให้เรารู้จักพระองค์มากขึ้นกว่าเดิม

ทรงกลดเล่าให้เราฟังว่า การทำงานในฉบับที่ 195 นี้ ถือเป็นการทำงานที่เร็วมากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำงาน กระทั่งปิดเล่มและส่งไฟล์ต้นฉบับไปถึงแท่นพิมพ์เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น! (14 ตุลาคม-21 ตุลาคม) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานเกือบ 1 เดือนเต็มๆ

เหนือสิ่งอื่นใด ตลอดระยะเวลาการทำงานแค่ 7 วัน ก็ทำให้พวกเขาได้รับรู้เรื่องราวการทรงงานของพระองค์ที่ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อประชาชนอย่างมากมายและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

“ต้องยอมรับนะว่าการที่เราฟังเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์มาตั้งแต่เด็กๆ หลายครั้งก็รู้สึกว่ามีโครงการต่างๆ มากมายที่เราอาจจะได้แค่รับฟัง แต่เมื่อมาตั้งใจฟังเรื่องราวของพระองค์ท่านอีกครั้งในวันนี้ เราได้เห็นว่าทำไมพระองค์ถึงทรงงานมากมายขนาดนี้ โครงการของพระองค์ท่านเทียบกับโปรเจกต์ที่เราทำเพียงชิ้นเดียวก็พบว่าใช้พลังชีวิตไปมหาศาลแล้ว เต็มไปด้วยปัญหาที่เราต้องต่อสู้ แต่ท่านทำโปรเจกต์ที่มหาศาลจนสำเร็จและเกิดผลดีตามมามากมาย

“ผมรู้สึกว่า เรื่องราวพลังในการทำงานของพระองค์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทุกพระราชกรณียกิจ ท่านทรงตั้งใจทำเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอด แม้จะบอกว่าโครงการหญ้าแฝก หรือโครงการเกี่ยวกับดินจะไกลตัวคนเมืองอย่างเรา แต่พลังในการทำงานของพระองค์ก็สามารถชาร์จแบตฯ ให้พวกเราได้ เมื่อได้รู้เรื่องราวของพระองค์ลึกซึ้งมากขึ้น ผมก็รักในหลวงมากขึ้นกว่าสมัยเด็กๆ ที่เราอาจจะรู้จักท่านเพียงผิวเผินเสียอีก”

“ผมภูมิใจที่อย่างน้อยอาชีพการเป็นสื่อของเราก็มีคนเห็นค่าและอยากเก็บงานของเรา
เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”

ความภูมิใจของคนเบื้องหลัง เมื่อยอดสั่งพิมพ์ a day ฉบับ 195 เพิ่มขึ้นมากกว่า 600,000 เล่ม    

ถือเป็นผลตอบรับที่เหนือความคาดหมาย เมื่อผู้อ่านให้ความสนใจนิตยสารฉบับพิเศษเล่มนี้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทีมงานต้องเพิ่มปริมาณการพิมพ์ทวีคูณขึ้นอีกหลายเท่าตัว (มีข้อมูลว่ายอดสั่งพิมพ์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 600,000 เล่ม) จนกระดาษที่พวกเขาใช้หมดทั้งประเทศ!

“ผมภูมิใจตั้งแต่ทำเสร็จเเล้ว แต่ยิ่งภูมิใจมากขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าเล่มนี้มียอดคนสั่งซื้อมหาศาล มากจนเราตกใจ กระดาษที่เราใช้หมดประเทศ ต้องเปลี่ยนไปใช้กระดาษตัวใหม่ ซึ่งสาเหตุที่เราไม่อยากพิมพ์เยอะเพราะกลัวว่าจะจัดการไม่ได้

“เราต้องมาคุยกันว่าจะประกาศปิดรับออร์เดอร์แค่นั้นดีไหม แต่ก็นึกถึงคนที่เขาอยากได้หนังสือแล้วก็กลับมามองว่า เราจะเอาแต่ความสบายที่เราไม่อยากจัดการก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูก เราไม่ได้ทำหนังสือแค่ให้พวกเราชอบกันเอง เราทำให้คนไทยจำนวนมากได้เก็บเป็นที่ระลึก ผมภูมิใจที่อย่างน้อยอาชีพการเป็นสื่อของเราก็มีคนเห็นค่าและอยากเก็บงานของเรา เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”

แตกต่างด้วยแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์

ช่วงเวลานี้ สื่อทั้งหลายต่างก็นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบและแนวทางตามความถนัดของแต่ละฝ่าย สำหรับ a day เเล้ว พวกเขาให้น้ำหนักไปกับการบอกเล่าเรื่องแรงบันดาลใจและพระราชดำริที่สร้างสรรค์ของพระองค์

“เราคงไม่ได้เน้นเล่าเรื่องพระราชประวัติของในหลวง เเต่เลือกเล่าเฉพาะด้านที่เป็นแรงบันดาลใจ และพระราชดำริของพระองค์ที่มีความสร้างสรรค์ วิธีการแก้ปัญหาของท่าน เราอยากเล่าเรื่องราวในมุมนี้เป็นหลัก พูดถึงคนทำงานด้านต่างๆ ที่มีพระองค์เป็นแรงบันดาลใจว่าพวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนแรงบันดาลใจจากพระองค์มาสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไร

“ในแง่การทำหนังสือให้น่าเก็บ เราก็อยากให้มีรูปสวยๆ เยอะๆ ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ หรือผลงานพระบรมสาทิสลักษณ์จากศิลปินต่างๆ ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์หายากส่วนใหญ่ของพระองค์ก็สามารถหาดูได้ตามโซเชียลฯ เราเลยอยากแข่งกับสื่อออนไลน์ด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ในมุมที่ต่างออกไปผ่านการถ่ายทอดโดยศิลปินที่อาจจะไม่เคยวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของท่านมาก่อน

“เราโทรไปชวนศิลปินทำภาพประกอบเป็นจำนวนมากว่าจะขอผลงานของพวกเขามาลงในเล่ม ทุกคนร้องจ๊ากเหมือนกันหมดว่าให้เวลาเพียง 7 วันเองเหรอ? แต่ทุกคนก็ตอบรับหมด ไม่มีใครปฏิเสธเลยสักคน เป็นเรื่องที่เเปลกมาก ผมรู้สึกว่ามันมีพลังบางอย่างที่ทำให้ทุกคนอยากช่วยกัน ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ทุกคนจะออกไปพระบรมหาราชวังเพื่อถวายความอาลัยแด่พระองค์ ส่วนพวกเราก็อยู่ในออฟฟิศกันเพื่อทำนิตยสารเล่มนี้น้อมส่งเสด็จพระองค์ท่าน และมันก็สำเร็จในระยะเวลา 7 วันจริงๆ”

“ช่วงนั้นผมได้เห็นพลังของสื่อกระดาษอีกครั้ง แม้หลายคนอาจจะบอกว่ามันตายไปแล้ว
สุดท้ายสิ่งพิมพ์ก็ยังทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้อยู่”

ปรากฏการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนทั้งหลายต่างก็อยากจะเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ไว้เป็นที่ระลึก ‘กระดาษ’ จึงได้รับความนิยมเหนือ ‘หน้าจออิเล็กทรอนิกส์’ ในช่วงเวลานี้

“เรามักจะได้ยินคนส่วนใหญ่พูดว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายเป็นประจำ ประกอบกับเราได้เห็นการเติบโตของสื่อดิจิทัล แต่ตลอดระยะเวลาในการทำงาน 7 วันนั้นกลับทำให้ผมได้เห็นปรากฏการณ์สื่อกระดาษยังไม่ตาย เราได้เห็นข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ออกปกเล่มเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ใหม่ๆ ในแต่ละวัน เห็นคนไล่ซื้อเก็บและเอามาขายต่อในราคาที่สูง ทำให้ยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงนั้นอาจจะสูงกว่ายอดขายรวมกันทั้งปีด้วยซ้ำ เอาง่ายๆ พวกเราซื้อหนังสือพิมพ์เล่มล่าสุดกันเมื่อไหร่? หลายคนอาจจะไม่ได้ซื้อกันมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็กลับมาซื้อกันในช่วงนั้น

“มันทำให้ผมได้เห็นพลังของสื่อกระดาษอีกครั้ง แม้หลายคนอาจจะบอกว่ามันตายไปแล้ว สุดท้ายสิ่งพิมพ์ก็ยังทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้อยู่ อย่าง a day เล่มนี้ก็แจกไฟล์ PDF แต่สิ่งที่ไฟล์ทำหน้าที่แทนตัวเล่มไม่ได้คือภาพพระบรมสาทิสลักษณ์บนหน้าปก ที่เกิดขึ้นจากเทคนิคการพิมพ์เเบบปั้มนูน ซึ่งจะมองเห็นและสัมผัสได้จากตัวเล่มจริงเท่านั้น ผมจึงรู้สึกว่าสื่อกระดาษมันยังมีพลังอยู่นะ ถ้าใช้มันให้ถูกวิธี มันก็คงอยู่ได้”