ความรักเป็นเรื่องง่ายและเป็นเรื่องยากในคราวเดียวกัน มันทั้งสุขและทุกข์ งดงามและน่ารังเกียจ นั่นขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นเรารู้สึกต่อมันเช่นไร และใครคนหนึ่งรู้สึกต่อเราอย่างไร

บางคนอาจเอ่ยว่าผู้หญิงมักฟูมฟายและแสดงออกถึงอาการเศร้าโศกมากกว่าผู้ชาย หากแท้จริงแล้วไม่ว่าใครก็ปวดร้าวได้มากเท่าๆ กัน การร้องไห้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งแสดงออกเพียงอย่างเดียวที่จะนำมาพิสูจน์ว่าใครเศร้ากว่าใคร ไม่ว่าชายหรือหญิง วัยกลางคนหรือคนชรา ความรักก็สามารถทำร้ายเราได้พอกัน แต่มุมมองของแต่ละคนนั้นย่อมต่างกันออกไป

แล้วความรักจากปลายปากกานักเขียนชายนั้นเป็นอย่างไร? เป็นความทรมาน ความแค้น หรือลมหายใจ สัมผัสทุกห้วงอารมณ์ของความรักได้จากหนังสือ 5 เล่มนี้

1. รับรู้ถึงความรัก แต่รักนั้นแสนทรมาน

ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ

ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล: ชัยณรงค์ สมิงชัยโรจน์

สำนักพิมพ์: บทจร

แม้ว่างานเขียนเล่มนี้ของมาร์เกซนั้นจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอื่นๆ มากมาย ทั้งการแบ่งชนชั้น อำนาจของศาสนจักร ความงมงาย อคติ คนชายขอบ ตลอดจนศีลธรรมอันดี แต่หากกล่าวว่า ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ นั้นมีแกนกลางอยู่ที่เรื่องราวแห่งความรักนั้นก็คงจะไม่เกินเลยไป

เซียร์วา มาเรีย เด็กสาวผู้มีผมยาวเหยียดสีทองแดง ลูกที่เกิดจากความเกลียดชังของแม่ผู้สูญเสียประกายตาสดใส และพ่อผู้เศร้าโศก เธอเติบโตมาได้ด้วยน้ำมือของคนรับใช้ผิวสีในบ้าน

ระหว่างไปเดินตลาดวันหนึ่ง มาเรียถูกสุนัขกัด แต่แผลนั้นเล็กเกินกว่าที่ใครจะใส่ใจ จนเวลาต่อมาทั้งเมืองก็ตกอยู่ในอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า ท่านมาร์ควิส พ่อของมาเรียจึงหันมาเอาใจใส่เธอเป็นครั้งแรก เขาพยายามรักษาเธอทุกวิถีทาง จนเมื่อวิทยาศาสตร์ไม่ช่วยอะไร อีกทางเลือกหนึ่งคือไว้ใจในพระเจ้า ประจวบกับความทุกข์ทรมานจากโรคกำเริบ มาเรียจึงเริ่มคลุ้มคลั่ง และสุดท้ายเธอก็โดนส่งตัวไปคอนแวนต์

อาการของเธอถูกมองว่าเป็นดังปีศาจเข้าสิง มันเลวร้ายลงทุกวัน บิชอป เดอ คาชาเรส ส่งบาทหลวงคาเยตาโน่ เดลาอูด้า ให้เฝ้าดูแลมาเรีย แต่บาทหลวงก็พ่ายแพ้ให้กับความงามบวกกับความสงสารจนกลับกลายเป็นความรัก เขาหลงรักเด็กสาวผู้ทนทุกข์ผู้นี้ แต่เขาก็ไม่สามารถช่วยเหลือเธอให้พ้นจากความตายได้

ความรักในเรื่องนี้อาจเปรียบได้กับโรคระบาด มันแพร่ออกไปและเข้าสู่ตัวเราได้ และในทำนองเดียวกันมันก็เป็นดั่งปีศาจร้ายที่เข้าทำลายใจเรา ทำให้เกิดความสับสน ทุกข์ร้อน และไม่เป็นตัวของตัวเอง

“เพื่อเธอฉันจึงได้เกิดมา เพื่อเธอฉันจึงมีชีวิต เพื่อเธอฉันจะตาย เพื่อเธอฉันกำลังตายอยู่ ณ ขณะนี้”

2. เมื่อรักแปรเปลี่ยน และความซื่อสัตย์อาจเป็นการแก้แค้น

หยามเหยียด

ผู้เขียน: อัลแบร์โต โมราเวีย

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์: ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง

อัลแบร์โต โมราเวีย เขียนนวนิยายเรื่องแรกเมื่ออายุ 22 ปี และเป็นนักเขียนคนสำคัญของอิตาลีในศตวรรษที่ 20 ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นการสำรวจจิตใจมนุษย์ จัดการกับความอ่อนแอทางอารมณ์ เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว กรอบของศีลธรรม และความคับข้องใจของอัตถิภาวนิยม

หยามเหยียด เป็นนวนิยายเรื่องที่ 9 ของเขา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1954 เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตคู่ของเขากับภรรยาคนแรก

เรื่องราวเล่าผ่านคำบอกเล่าของโมลแตนี ชายผู้มองว่าตัวเองเป็นนักเขียนปัญญาชน แต่โชคชะตากลับทำให้เขามีอาชีพเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งอันที่จริงแล้วอาชีพนี้ทำให้ฐานะของเขาค่อยๆ ดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่ในทางตรงกันข้าม ความรักและความสัมพันธ์กับเอมิเลีย ภรรยาของเขากลับแย่ลง

โมลแตนีไม่ทันรู้ตัวว่าสูญเสียเธอไปตั้งแต่เมื่อไร เพราะกว่าที่จะรับรู้ได้ เธอก็มีท่าทีหมางเมินและเฉยชากับเขาไปแล้ว เขาตระหนักได้ว่าความรักที่เธอมีได้จืดจางลง และเฝ้าหาสาเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นอย่างทุรนทุรายระคนปวดร้าว

โมลแตนีเฝ้าสังเกตและตีความเอมิเลียทุกอย่าง ทุกถ้อยคำ ทุกการกระทำ แล้วเขาก็รู้สึกว่าแท้จริงแล้วเธอกำลังเหยียดหยามเขาอยู่ หรือความจริงแล้วเขาเองต่างหากที่กำลังหยามเหยียดเธออยู่กันแน่ เหตุผลทั้งหลายแหล่นี่จึงเป็นที่มาของการล่มสลายในความสัมพันธ์

“เป็นไปไม่ได้เลยที่เอมิเลียจะมีเหตุให้เลิกรักผม ผมไปเอาความมั่นใจนี้มาจากไหน ผมบอกไม่ได้”

3. ความสัมพันธ์ราบเรียบ จึงหาความสุขชั่วขณะ

ชู้

ผู้เขียน: เปาโล คูเอลญู

ผู้แปล: วิรัช ศิริวัฒนะนาวิน

สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์

การมีคนอื่นหรือการนอกใจนั้นมีปัจจัยหลายสาเหตุ ตั้งแต่การไปตกหลุมรักคนอื่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ การเข้าใจผิดหรือไม่ลงรอยกับคนรักปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเซ็กซ์ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อกันได้ และอีกปัญหาร้อยแปดที่อาจเกิดขึ้น

ความเบื่อหน่ายในชีวิตคู่ที่ราบรื่นก็เป็นหนึ่งในนั้น บางทีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ มั่นคง และปลอดภัย ดันกลับกลายเป็นความซ้ำซากจำเจ ขาดสีสัน ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือน่าตื่นเต้น จนหันเหไปหาความท้าทายหรือความสุขชั่วครั้งชั่วคราว

ลินดา หญิงวัย 31 ที่มีทุกอย่างดีพร้อม สามีรักใคร่ ลูกๆ น่ารัก การงานและฐานะมั่นคง ชีวิตของเธอคือชีวิตที่ใครหลายคนอยากจะมี แต่วันหนึ่งเธอก็พบว่าตัวเองไม่มีความสุขกับสิ่งนั้น เธอเริ่มหดหู่ เหนื่อยหน่าย หวาดกลัว และเธอก็รู้สึกว่ากำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า จนเมื่อหน้าที่การงานของเธอเหวี่ยงให้ไปพบกับคนรักเก่า เจคอบ นักการเมืองหนุ่ม ความสัมพันธ์ลับๆ ก็เกิดขึ้น และลินดาก็รู้สึกกล้าและอิสระมากกว่าเดิม ถึงแม้มันจะตามมาด้วยความรู้สึกผิดอยู่บ้าง แต่เธอก็ยังคงเดินหน้าที่จะมีความสัมพันธ์กับเขาต่อไป

แล้วเธอก็หลงทางและสับสน การตัดสินใจที่ผิดพลาดจะทำให้ทุกคนที่แวดล้อมเจ็บปวด ตัวเลือกบางตัวเลือกจะทำลายตัวเราเอง ไม่มีเหตุผลไหนดีพอให้กับการมีชู้ของตนเอง

“ผมจะไม่พูดว่าคิดถึงคุณ เพราะคุณคงไม่เชื่อ ผมจะไม่พูดว่าที่ไม่ตอบข้อความของคุณ เป็นเพราะผมกลัวว่าจะตกหลุมรักคุณอีก”

4. หรือความรักมีปลายทางที่ความร้าวราน

ชายที่คนรักจากไป

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: กนกวรรณ เกตุชัยมาศ, ปาลิดา พิมพะกร, พรรษา หลำอุบล, อานนท์ สันติวิสุทธิ์, มุทิตา พานิช, ปาวัน การสมใจ, มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

รวมเรื่องสั้น 7 เรื่องของเหล่าผู้ชายที่คนรักจากไป มูราคามิถอดลักษณะและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาตามชื่อเรื่อง พวกผู้ชายในเรื่องถูกทอดทิ้งไปในรูปแบบต่างๆ หายไป ตายไป จากไป ไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่งพวกเขาต่างรวดร้าวในอก

‘Men without Women’ เป็นวลีที่ติดค้างอยู่ในหัวของมูราคามิ คล้ายกับเพลงบางเพลงที่เราสลัดจากมันไม่ออก ดังนั้นเขาจึงเริ่มลงมือเขียนเรื่องสั้น โดยมีประโยคนี้เป็นแกนกลาง เริ่มต้นจาก Drive My Car ชื่อเรื่องสั้นที่มาจากชื่อเพลงของ The Beatles

ผู้ชายแต่ละคนมีวิธีการแสดงออกต่อความเจ็บปวดต่างกัน

คะฟุคุจาก Drive My Car รับรู้ว่าภรรยาตนนอนกับผู้ชายคนอื่น แต่เขาก็ยอมรับบทบาทสามีที่ดีต่อไป

ทะนิมุระ จาก Yesterday ได้แต่ยอมรับการหายตัวไปของเพื่อน และห่างหายไปจากหญิงสาวที่ออกเดตกัน โทคะอิ นายแพทย์ผู้ไม่เคยแต่งงาน มีความสัมพันธ์ที่ไม่ลึกซึ้งกับใคร แต่สุดท้ายกลับตรอมใจเพราะหลงรักผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว และยังมีชายอีกสี่คนที่เราไม่ได้เอ่ยถึงในที่นี้ ซึ่งพวกเขาก็พบความโดดเดี่ยวเหมือนๆ กัน

ความรักทำให้พวกเราเติบโตและงอกงาม แต่ขณะเดียวกันมันก็ย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ คงไม่มีชีวิตไหนที่ไม่พานพบความเจ็บช้ำจากรัก และการได้รับประสบการณ์อันไม่น่าปรารถนานี้ อย่างไรก็จำเป็นสำหรับการก้าวเดินในชีวิต

“หากหัวใจเธอขยับ หัวใจผมก็พลอยกระตุกไปด้วย เหมือนเรือสองลำที่เชือกล่ามติดกันไว้ ต่อให้คิดจะตัดเชือก ก็ไม่รู้จะไปหามีดคมพอจะตัดได้จากที่ไหน”

5. หากเกิดอีกครั้งยังขอรักเพียงแต่เธอ

จดหมายถึง D.

ผู้เขียน: อ็องเดร กอร์ซ

ผู้แปล: อุไรวรรณ กูร์โตด์

สำนักพิมพ์: พันหนึ่งราตรี

จดหมายถึง D.  เปรียบเสมือนหนังสืออัตชีวประวัติของกอร์ซและดอรีน โดยมีกอร์ซเป็นผู้เขียน เขาสารภาพและใคร่ครวญถึงช่วงเวลาทั้งหมดในชีวิต นับแต่วันแรกที่ได้พบดอรีน หญิงสาวผู้จะมาเป็นภรรยาเขาในกาลต่อมา และเขากับเธอจะรักกันจวบจนสิ้นลมหายใจสุดท้าย

ถ้อยความต่างๆ สะท้อนความรักที่เขามีต่อดอรีนตลอดมา แม้ในบางครั้ง เขาก็ได้ทำพลาดไปและอาจทำร้ายเธอในทางอ้อม ระยะเวลาอันยาวนานที่ทั้งคู่ได้อยู่ด้วยกันนั้นเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อย มีทั้งความยากลำบากและความสุข ทั้งยังเต็มไปด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลกระทบต่อความรักอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาทอดทิ้งกัน กอร์ซกล่าวว่าเขาและเธอเกิดมาเพื่อเข้าใจกันและกัน และมันคงจริงดังนั้น

และถึงแม้เราจะบอกว่านี่คือบันทึกที่ใคร่ครวญถึงอดีตและความรัก แต่มันกลับไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเศร้าสร้อยถึงขนาดกลายเป็นความปวดร้าว มันเป็นการตระหนักถึงความเป็นจริงในชีวิตเสียมากกว่า เป็นคำสารภาพและสำนึกผิดที่ไม่ว่าด้วยเหตุใด เรารู้ว่าดอรีนจะให้อภัยเขา และอยู่เคียงข้างเขาอย่างที่เธอทำตลอดมา

“เราใช้ชีวิตร่วมกันมา 58 ปีแล้ว และผมก็รักคุณมากยิ่งกว่าเดิม เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมยังตกหลุมรักคุณอีกครั้ง”

Tags: , , , , , , ,