เมื่อตกหลุมรักคุณรู้ตัวไหม แล้วรู้ได้อย่างไรว่านั่นเป็นรักหรือเปล่า ฉันไม่เคยแน่ใจอะไรเลยในความรัก แม้ฉันรู้ว่าตัวเองกำลังคิดถึงใคร โหยหาใคร และต้องการใคร แต่ฉันก็ไม่มั่นใจว่าควรจะเรียกมันว่ารักหรือไม่ เมื่อมานั่งนึกๆ ดูว่าเพราะอะไร ฉันก็คิดว่ามันคงเป็นเพราะฉันกลัวจะสูญเสียมันขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง หากไม่รัก ความเจ็บปวดคงไม่ทำร้าย ซึ่งไม่จริง บ่อยครั้งที่ฉันทำใครบางคนหล่นหาย-หลุดลอย-เลือนลาง และต้องมานอนจมกองน้ำตาของตัวเอง ตอนที่มีอยู่ เราก็นึกว่ามันจะมีอยู่ตลอดไป และหลงลืมไปว่าบนโลกไม่ได้มีแค่ความตายเท่านั้นที่จะพรากเราจากกัน แต่มันยังมีสิ่งอื่นอีกมายมากที่จะกระชากให้ดวงใจเรายับเยิน ดังนั้น ก่อนที่จะแยกหายไปตามทาง ฉันขอมอบหนังสือเหล่านี้ให้กับคุณ

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
ผู้เขียน: วีรพร นิติประภา
สำนักพิมพ์: ArtyHOUSE

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 และทำให้ชื่อของวีรพร นิติประภา เป็นที่รู้จักในวงกว้างในอีกสองปีถัดมาจากการเป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ นั่นจึงนับเป็นการเปิดตัวนวนิยายเล่มแรกด้วยความสำเร็จอย่างดงาม จนมาถึงในปัจจุบันนวนิยายเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 19 แล้ว

เรื่องราวคงเริ่มต้นด้วยความรัก หากแต่เป็นรักร้าวของพ่อและแม่ก่อนที่จะตกมาถึงมือลูก ชารียา ลืมตาขึ้นมาดูโลกด้วยอายุครรภ์ไม่ครบดี แต่ก็รอดจากความตายมาได้ เธอติดนิสัยชอบเก็บสัตว์เลี้ยงมาดูแล ก่อนจะรู้ว่ามันแสนเศร้าแล้วหันไปหาต้นไม้ ส่วน ชลิกา นั้นเป็นทั้งเพื่อนและพี่สาว อยู่เคียงกันทั้งยามหลับและยามตื่น รวมถึงยามที่พ่อตาย แล้วแม่ทุรนทุรายอยู่กับพื้น

ส่วน ปราณ ก็เป็นเด็กหนุ่มที่โตมาโดยลำพัง ครั้นมีพ่อแต่ก็ไม่ต่างอะไรเท่าไรจากคนแปลกหน้า เขาแทบไม่รู้ว่าความอบอุ่นนั้นคืออะไร กระทั่งมาเจอกับสองพี่น้องที่ต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนรัก การพบกันของพวกเขาคงเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจเลี่ยงพอๆ กับการพรากกันให้หลงไปตามทิศทางของหัวใจ ในวัยเพียงสิบหกปี ชารียาก็หนีออกจากบ้านตามคนรักไปพร้อมกับจดหมายที่พ่อเขียนมันถึงผู้หญิงคนอื่น เธอมีรักและมีลา ซ้ำแล้วซ้ำอีก รักอย่างจะฝากชีวิต แต่ก็โดนทิ้งชีวิตไว้ตรงนั้นด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ ชารียาจึงแหว่งวิ่นและหาหนทางกลับไปยังที่ๆ จากมาแทบไม่เจอ

แต่ก็ไม่ใช่มีแต่ชะตากรรมของชารียาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชลิกาหรือปราณ ต่างก็มีเส้นทางของตัวเองเช่นกัน ซึ่งทุกเศษเสี้ยวของแต่ละคนจะถูกปะติดปะต่อร้อยเรียงจนเป็นภาพใหญ่ แล้วกางออกให้เราเห็นว่ามายาคติของความรักนั้นเป็นอย่างไร และมันครอบชีวิตใครไว้บ้างบนโลกใบนี้

พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา
ผู้เขียน: ออร์ฮาน ปามุก
ผู้แปล: นพมาส แววหงส์
สำนักพิมพ์: มติชน

พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา หนังสือเล่มหนาที่บอกเล่าสังคมและวัฒนธรรมผ่านแกนความรักความสัมพันธ์อันเปราะบาง ผลงานจากปลายปากกาออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลปี 2006 ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ในอีกสองปีให้หลังจากที่เขาได้รับรางวัล และในอีกสี่ปีต่อมา พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ก็ถูกเปิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเป็นความคิดตั้งแต่แรกเริ่มในการเขียนนวนิยายแล้ว

เรื่องรักครั้งนี้มีอิสตันบูลเป็นฉากหลัง เคมาล หนุ่มตุรกีจากตระกูลร่ำรวยกำลังจะเข้าพิธีหมั้นหมายในอีกไม่ช้ากับ สิเบล สาวคนรัก ไม่ว่าดูจากมุมไหนทั้งสองก็ดูเข้ากันทุกอย่าง ทั้งฐานะ การศึกษา การวางตัว และครอบครัว ชีวิตของเคมาลดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใดที่ทำให้เขาริเริ่มมีความสัมพันธ์ลับๆ กับ ฟูซุน ญาติห่างๆ ที่ทั้งยากจนและอายุอ่อนกว่าเขาถึง 12 ปี ทั้งคู่พบกันโดยบังเอิญในหนแรก แต่หนหลังนั้นล้วนเป็นไปด้วยความตั้งใจ พวกเขาลักลอบพบกันในสถานที่ซึ่งเร้นลับจากสายตาผู้คน ห้องครัวที่อวลกลิ่นฝุ่น ชาที่ไม่ได้ถูกชง ร่มที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และหัวใจที่ไม่ทันคิดว่าจะตกเป็นของกัน พวกเขาร่วมรักโดยมีเราเป็นผู้เฝ้ามอง

การตกหลุมรักกันเป็นเรื่องทรมานหัวใจอยู่แล้ว แต่การต้องปกปิดทำให้ยิ่งทรมานมากกว่า เคมาลรู้ตัวว่ารักฟูซุนมากเหลือเกิน แต่เขาก็มีแรงรั้งต่างๆ มากมายคอยขวางกั้น และปามุกไม่เพียงพาเราไปเพลิดเพลินอย่างเจ็บปวดต่อความรัก แต่ยังฉายภาพกว้างที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์นี้ด้วย ทั้งชนชั้น สภาพสังคม สภาพแวดล้อม ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น

บางอย่างนั้นต่อให้เราอยากกอดเก็บมันไว้เท่าไร เราก็ทำได้แค่เก็บบางส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของมันเอาไว้แทน และปล่อยให้โมงยามแสนหวานนั้นหลงเหลือเพียงความทรงจำ

จดหมายรักฉบับสุดท้าย
ผู้เขียน: อิวาอิ ชุนจิ
ผู้แปล: ฉัตรขวัญ อดิศัย
สำนักพิมพ์: Bibli
หากเรื่องราวใน Love Letter มีประโยคอันน่าจดจำว่า “เธอสบายดีไหม ส่วนฉันสบายดี” มาคราวนี้ใน Last Letter ประโยคที่จะเข้ามาอยู่ในความทรงจำของเราก็คือ “ถ้าผมบอกว่ายังรักคุณเสมอ คุณจะเชื่อผมไหม” คำบอกเล่าง่ายๆ ที่จะพาเราค้นลึกลงไปในใจของตัวเองอีกครั้งว่าที่ผ่านมา “เธอหรือเขา” ได้จากเราไปแล้ว หรือยังคงอยู่ตลอดมา

ความตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่บางทีก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวครั้งใหม่ด้วยเช่นกัน เมื่อประโยคแรกของหนังสือเล่มนี้เผยสู่สายตา “คุณจากโลกนี้ไป…” เราก็ได้ตระหนักแล้วว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นหลังจากนั้น จุดศูนย์กลางของเรื่องนี้คือชีวิตของโทโนะ มิซากิ หญิงสาวที่จากโลกนี้ไป เพราะไม่อาจต้านทานโรคที่เธอเป็นได้ สิ่งสำคัญที่มิซากิทิ้งไว้มีอยู่สามสิ่ง ได้แก่ จดหมาย ลูกสองคน และความทรงจำ อายูมิ ลูกสาวคนโตยังไม่อาจทำใจเปิดดูจดหมายของแม่ได้ แต่เธอก็รู้ว่าอย่างไรเสีย ชีวิตของเธอกับน้องจะต้องเดินหน้าต่อไป

ทางฝั่งคิชิเบโนะ ยูริ น้องสาวของมิซากิก็พยายามจะบอกข่าวการเสียชีวิตกับเพื่อนๆ ของพี่สาวให้ทราบด้วย เธอจึงตัดสินใจไปงานเลี้ยงรุ่น แต่ยังไม่ทันที่เธอจะได้พูดอะไร คนก็เข้าใจผิดว่าเธอคือมิซากิ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้ความจริง แต่เขาก็ไม่พูดอะไรออกไป นั่นคือโอโตซากะ เคียวชิโร นักเขียนนิยายที่เคยหลงรักมิซากิ และเป็นรักแรกของยูริ เขาเองยังเคยทำถึงขนาดฝากจดหมายรักผ่านยูริด้วย เคียวชิโรทำทีเป็นเข้าใจผิดตามคนอื่น และก่อนแยกจากกันจึงขอแลกช่องทางติดต่อทิ้งไว้ นั่นเป็นเหตุให้นาฬิกาของพวกเขาทั้งเดินไปข้างหน้าและหมุนวนกลับไปข้างหลังพร้อมๆ กัน อิวาอิกำลังจะทำให้เราเห็นว่าอานุภาพของความรักมันส่งผลต่อหัวใจเราขนาดไหน ความเศร้าความอบอุ่นคลุกเคล้ากัน และทำให้เรามีแรงที่จะหายใจต่อไป แม้ว่าหมายถึงการไม่มีเธอแล้วก็ตาม

การส่งจดหมายเป็นการปิดผนึกและเปิดผนึก อิวาอิจึงส่งจดหมายของตัวเองออกมา ปิดผนึกผ่านตัวอักษรและแผ่นฟิล์ม เพื่อรอให้เราได้เปิดอ่าน ซึ่งอาจรวมไปถึงการเปิดกล่องความทรงจำของเราเองขึ้นมาด้วย

ฉันขังความรักไว้ในหนังสือ
ผู้เขียน: อภิชาติ เพชรลีลา
สำนักพิมพ์: นกดวงจันทร์

การเดินผ่านความเศร้านั้นต้องใช้เรี่ยวแรงมากกว่าความเจ็บปวด บางทีมันก็ดูไม่เห็นทางที่จะเป็นไปได้ เราจึงชอบทึกทักเอาเองว่า หากทำเป็นลืมหรือฝังมันไว้คงช่วยให้การใช้ชีวิตนั้นง่ายขึ้น เราเลยสร้างกล่องหรือกรงขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อบันทึกเรื่องราวลงไปในนั้นทั้งหมด จากนั้นก็วางมันทิ้งไว้ หากแข็งแรงแล้วหรือคิดถึงขึ้นมาเมื่อไรค่อยกลับไปหยิบมันขึ้นมาพลิกดูอีกครั้ง

ฉันขังความรักไว้ในหนังสือ เป็นเรื่องราวของหลากหลายตัวละครที่ล้วนมีความรัก ซึ่งถูกเล่าออกมาแตกต่างกัน บางอันเป็นสเตตัส บางชิ้นเป็นบันทึก บางบทเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนใหญ่แล้วจบลงที่ไม่สมหวัง แรกรักทุกอย่างเหมือนเป็นไปได้สวย แต่ระหว่างทางประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่สามารถกระทบความสัมพันธ์ได้ เราไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วอีกคนคิดเห็นอย่างไรกันแน่ในสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ เมื่อความรักเกิดขึ้นในใจเรา เราได้แต่หวังอย่างสุดหัวใจว่าจะได้รับสิ่งเดียวกันกลับคืนมา ซึ่งบ่อยหนก็ไม่เป็นแบบนั้น อย่างน้อยก็กับในเรื่องสั้นเล่มนี้

ตัวละครของอภิชาติจึงจมลงสู่ก้นบ่อของน้ำตามากกว่าจะปีนขึ้นไปบนดวงดาวได้ เราชอบที่เวลาเปิดอ่านมันจะมีกลิ่นอายที่เราเคยได้สูดดมจากเชียงใหม่ติดมาด้วย เราจะพยายามนึกว่าที่ตรงนั้นเคยได้ผ่านหรือเคยไปยืนหรือเปล่า ทาบทับตัวเองลงไป ทาบทับความรักลงไป ทาบทับคนรักของเราลงไป หยิบความคิดถึงขึ้นมาแล้ววางมันกลับลงไปที่เดิม

84 Paragraphs of Consolations แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม
ผู้เขียน: วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
สำนักพิมพ์: P.S.

หากสังคมล่มสลาย ความรักเราจะยังมีอยู่ไหม หรือมันจะตายไปพร้อมๆ กันกับทุกสรรพสิ่ง นี่คือคำถามที่อาจเกิดขึ้นเมื่อ “แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม” ถูกหยิบมาไว้ในมือเรา ผลงานอีกลำดับของวิวัฒน์  เลิศวิวัฒน์วงศา ที่เนื้อหาถูกเล่าอยู่บนอาณานิคมใหม่ มนุษย์มีชีวิตที่แปลกต่างออกไปบนดาวอังคาร

ตัวละครมีแค่ ผม กับ คุณ ผู้ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอย และมีเวลาอย่างจำกัดจำเขี่ยที่จะได้อยู่ร่วมกัน ไม่รู้ว่าเป็นเงื่อนไขที่ใครตั้งไว้หรือมันเป็นไปแบบนั้นของมัน สิ่งที่พวกเขาลงมือทำนอกเหนือจากการทำงานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพคือพูดคุย ร่วมรัก พูดคุยและร่วมรัก โดยมีเรื่องราวต่างๆ รายล้อมพอให้เราได้เห็นพื้นเพความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำไมมนุษย์ถึงมาอยู่บนดาวอังคาร ทำไมพวกเขาจึงกลายเป็นดรอยด์ และทำไมอภิสิทธิ์บางอย่างถึงตกอยู่แค่กับคนบางคน

“ผมไม่รู้เรื่องความเจ็บปวดหรอก พวกเขาไม่โปรแกรมความเจ็บปวดในตัวผม” หลายครั้งที่เรารู้สึกอยากทำให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป หากไม่รู้สึกเลยยิ่งดี แต่ถ้าเป็นแบบนั้นความยินดีต่อสิ่งต่างๆ จะถูกทำให้หายไปด้วยไหม เราจะยังยินดีกับการได้พบใครบางคนหรือเปล่า เราจะยังเฝ้าคิดถึงแง่งามของความรักไหม เราจะยังถามหาบุคคลที่เป็นดวงใจหรือไม่ “ผมอยากพบคุณอีกแม้เราจะไม่มีวันได้พบกัน”

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ แต่นั่นอาจไม่ได้หมายถึงความรัก บางทีมันคงเป็นภาพความสิ้นหวังที่ทาบทับอยู่ระหว่างการล่มสลายของโลกและการล่มสลายของ ผม กับ คุณ

Fact Box

 

 

 

 

Tags: