การสูญเสียเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าการจากเป็นหรือจากตาย ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากแบกรับความเสียใจนั้นไว้ และเยียวยาหัวใจตัวเองให้กลับมามีชีวิตให้ได้เร็วที่สุด แต่กับบางคนการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับนั้นไม่ได้สร้างความเสียใจให้กับคนรอบข้างเพียงอย่างเดียว มันสะเทือนไปถึงหัวใจใครอีกมากเท่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ยามมีชีวิต เขาอยู่อย่างเป็นที่รัก
และแด่ศิลปินที่เคยสร้างช่วงเวลาดีๆ ให้กับเราผ่านผลงาน วันนี้เราจะมาหวนคิดถึงพวกเขาอีกครั้งผ่านภาพยนตร์สารคดี ซึ่งสะท้อนชีวิตของแต่ละคนได้อย่างน่าจดจำ
Michael Jackson’s This Is It (2009)
สารคดีคอนเสิร์ตเรื่องนี้กำกับโดย เคนนี ออร์เทกา ผู้ที่มีเส้นทางอาชีพเป็นทั้งนักออกแบบท่าเต้นและผู้กำกับ This Is It คือคอนเสิร์ตที่ควรจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2009 ณ โอทูอารีนา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ราชาเพลงป๊อปก็มาจากไปเสียก่อน ในวันที่ 25 มิถุนายนปีเดียวกัน นี่จึงเป็นสารคดีที่นำเสนอเบื้องหลังการฝึกซ้อมและการเตรียมตัวสำหรับคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ของไมเคิล แจ็กสัน
เดิมทีในตอนที่ประกาศคอนเสิร์ตนี้ การแสดงจะมีเพียง 10 รอบเท่านั้น แต่ด้วยเสียงเรียกร้องและความต้องการของแฟนๆ ส่งผลให้ในภายหลังคอนเสิร์ตจำเป็นต้องเพิ่มรอบ ซึ่งมากถึง 50 รอบ
เบื้องหลังต่างๆ ที่ถูกบรรจุอยู่ในนี้ เป็นภาพที่บันทึกจาก Staples Center ลอสแอนเจลิส และ The Forum แคลิฟอร์เนีย ไล่เรียงตั้งแต่การออดิชั่นนักเต้น การออกแบบเครื่องแต่งกาย คิวซ้อมการแสดง ไปจนถึงช่วงที่เริ่มซ้อมกันจริงๆ มันเป็นการเตรียมพร้อมของทุกอย่างที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เกิดขึ้น
การดำเนินไปของสารคดียังร้อยเรียงเข้ากับบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่รายล้อมไมเคิล แจ็กสันด้วย ตั้งแต่นักดนตรี นักร้องไลน์ประสาน นักออกแบบ และอีกหลากหลายคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนรักเขามากขนาดไหน และแม้ว่าฟุตเทจส่วนใหญ่เป็นการซ้อมเพื่อขึ้นแสดง แต่เสน่ห์ของไมเคิลก็ยังเต็มเปี่ยม ทุกท่วงท่า ทุกคำร้อง ทุกสิ่งที่ปรากฎจะทำให้เราได้แต่คิดถึง ไม่เพียงแต่ได้เห็นเขาสร้างความสุขความบันเทิงให้กับผู้ชมผู้ฟัง แต่ยังได้เห็นการสร้างสรรค์ทางดนตรี และความมุ่งมั่นที่ทำให้โลกทั้งใบต้องจับจ้องเขาด้วย
สารคดีได้รับคำชื่นชมจากแฟนๆ ทั่วโลก แม้ว่าแฟนๆ ส่วนหนึ่งจะคว่ำบาตร รวมถึงครอบครัวของไมเคิลที่ไม่สนับสนุนสารคดีนี้เท่าไรนัก ในวันแรกที่เข้าฉาย ตั๋วภาพยนตร์ถูกจำหน่ายไปกว่า 30,000 ที่นั่งในลอนดอน และในสุดสัปดาห์แรกก็ทำรายได้ทั่วโลกไปทั้งสิ้น 101 ล้านเหรียญ
Amy (2015)
สารคดีชีวิตของนักร้องสาวผู้ล่วงลับ เอมี ไวน์เฮาส์ ผลงานการกำกับของอาซิฟ คาพาเดีย ผู้ที่เคยคว้ารางวัลบาฟต้า จากสารคดี Senna และอย่างไม่น้อยหน้าสารคดีเรื่องดังกล่าว Amy เองก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงและกวาดรางวัลไปมากมาย
แรกเริ่มครอบครัวของเอมี่ยินดีที่จะร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้างทันที พวกเขาอนุญาตให้ทีมงานเข้าถึงฟุตเทจที่เก็บไว้อย่างเต็มที่ รวมถึงให้สัมภาษณ์ในทุกแง่มุมของชีวิต แต่ในไม่ช้าพวกเขาก็รู้สึกว่าถูกบิดเบือนความจริงและทำให้ภาพลักษณ์ที่ออกมาดูแย่ แม้ว่าภายหลังสารคดีจะได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม แต่มิทช์ ไวน์เฮาส์ พ่อของเอมีก็ยังออกมาบอกว่าเขาเกลียดภาพยนตร์เรื่องนี้
เอมี ไวน์เฮาส์ คือเด็กสาวที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ เธอรักดนตรีแจ๊สและการร้องเพลง ด้วยความโดเด่นทำให้เอมีได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงตั้งแต่อายุ 13 ปี และมีอัลบั้มแรกเป็นของตัวเองในวัน 20 ปี อัลบั้ม Frank ถูกปล่อยออกมาในปี 2003 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม
สารคดีจะพาเราเยื้องย่างเข้าไปยังชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่ง ตั้งแต่ในวัยที่เธอยังเบ่งบาน ไร้เดียงสา และมีความสุขกับการร้องเพลงอย่างไม่อาจหาสิ่งใดมาเทียบ จวบจนเธอก้าวเข้ามายืนอยู่ในสปอตไลท์ เส้นทางของชีวิตทำให้เธอพานพบทั้งสิ่งดีและสิ่งที่เจ็บปวด ไม่ต่างจากการก่อตัวของพายุที่จะพัดพาทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลองในวันใดวันหนึ่ง และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
สิ่งที่เธอรักกลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้าย ไม่ว่าจะด้วยคนรอบตัวหรือตัวเธอเอง มันชักนำเอมีเข้าสู่วังวนที่ไม่มีทางออก จิตใจของเธอบอบช้ำและสิ้นไร้เรี่ยวแรง กว่าที่มันจะฟื้นตัวมาได้ก็ในวันที่สายไป และมันก็ไม่ทันการณ์แล้วที่จะต่อลมหายใจให้กับเธอ ถ้าหากโลกนี้จะปรานีกับเธอสักนิด เอมี ไวน์เฮาส์คงยังจะได้ร้องเพลงที่เธอรักจนถึงวันนี้
Kurt Cobain: Montage of Heck (2015)
Nirvana วงดนตรีกรันจ์ระดับตำนานที่ต่อให้คุณไม่เป็นสาวกเพลงของเขา คุณก็ยังต้องเคยได้ยินเพลงเขาผ่านหู และผู้ที่เป็นแกนหลักของวงก็ไม่ใช่ใคร นอกจากชายหนุ่มที่จากไปด้วยน้ำมือของตัวเอง เคิร์ต โคเบน
สารคดี Kurt Cobain: Montage of Heck เป็นผลงานกำกับของ เบรตต์ มอร์แกน ผู้กำกับหนังสารคดี โดยนี่เป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของเคิร์ตได้รับการร่วมมือจากครอบครัวโดยตรง มันจึงเป็นการรวบรวมเรื่องราวของเขาจากข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน ทั้งบันทึก ภาพถ่าย คลิปวิดีโอส่วนตัว เพลงที่ไม่เคยเผยแพร่ และผลงานศิลปะอื่นๆ ที่เขาได้ทิ้งไว้ รวมถึงบทสัมภาษณ์คนใกล้ตัวของเคิร์ตที่จะทำให้เราเข้าใจความเปราะบางและความแข็งกร้าวในตัวเขา บางช่วงตอนช่างน่าสนใจ แต่บางช่วงตอนก็ช่างน่าอึดอัด
สารคดีจะพาย้อนกลับไปตั้งแต่ในวัยเด็ก เด็กชายใสซื่อที่เติบโตมาท่ามกลางปัญหาครอบครัว จนช่วงเข้าสู่วัยรุ่น เคิร์ตก็ยิ่งแสดงออกถึงความก้าวร้าว และขณะเดียวกันนั่นคงเป็นช่วงแรกที่เขาคิดถึงความตาย การจบชีวิตลงอาจง่ายดายกว่าการมีชีวิตอยู่
ใช่ว่าเคิร์ตจะผ่านพ้นความรู้สึกนั้นมาได้อย่างหมดจด แต่เขาก็เริ่มที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเองขึ้นมาบ้าง ด้วยการร่วมกันตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ซึ่งกลายเป็นวง Nirvana ในเวลาต่อมา และเราก็ได้เห็นว่ามันประสบความสำเร็จขนาดไหน แม้ว่าดนตรีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วก็ตาม เคิร์ตก็ยังทนทุกข์กับบางสิ่งบางอย่าง และเขาก็ไม่สามารถถอนตัวจากยาเสพติดได้ สุขภาพจิตของเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หลังจากพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดวันที่ 8 เมษายน 1994 เขาก็จากไป และทิ้งไว้เพียงบทเพลงที่เคยได้ร้อง
Jimi Hendrix: Electric Church (2015)
สารคดีเกี่ยวกับการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ของนักกีต้าร์ที่ขึ้นชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง จิมี เฮนดริกซ์ เป็นบันทึกการแสดงในงานแอตแลนตาอินเตอร์เนชั่นแนลป็อปเฟสติวัลต่อหน้าแฟนๆ กว่า 300,000 คน ในปี 1970 ซึ่งจัดขึ้นที่ไบรอน รัฐจอร์เจีย จิมมีขึ้นไปบนเวทีในเวลาเที่ยงคืนกว่า แต่ในความมืดนั้นเราก็ยังได้เห็นความสามารถอันท่วมท้น และการรอคอยของผู้คนที่พร้อมจะสร้างปรากฎการณ์นี้ร่วมไปกับเขา หลังจากคอนเสิร์ตจบลงจิมมีก็เสียชีวิตในอีกสองเดือนถัดมา นอกจากฟุตเทจการแสดงที่จะทำให้หัวใจเราลุกโชนแล้วก็ยังมีบทสัมภาษณ์ของคนมีชื่อเสียงอีกหลายคน อาทิ พอล แมคคาร์ทนีย์, สตีฟ วินวู๊ด, เคิร์ก แฮมเมตต์, เดเร็ค ทรัคส์ และอื่นๆ ซึ่งทุกคนต่างยืนยันในความสามารถของเขา
จิมี เฮนดริกซ์ มีกีต้าร์ตัวแรกเป็นของตัวเองในวัย 15 ปี หลังจากนั้นเขาก็ใช้เวลาไปกับมันวันละหลายๆ ชั่วโมง พอเติบโตเขาเข้าไปรับใช้ชาติอยู่หนึ่งปี แต่เส้นทางที่เหลือจิมมีหันไปมุ่งมั่นให้กับทางด้านดนตรี เขาทำงานให้กับนักดนตรีหลายคน แล้วค่อยๆ พัฒนาสไตล์การเล่นกีต้าร์ของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดความสามารถของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ และมีอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการดนตรีร็อก จิมีโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกจากการแสดงสดที่มอนเทอเรย์ป็อปเฟสติวัลในปี 1967 จากวีรกรรมจุดไฟเผากีต้าร์ตัวเอง ต่อมาเขาก็ได้เล่นเป็นวงหลักในเทศกาลวู้ดสต็อกปี 1969 และเทศกาลไอเซิลออฟไวต์ ในปี 1970 จิมีปิดตำนานของตัวเองไว้ในวัย 27 ปี และยังคงได้รับการกล่าวขานถึงจนถึงทุกวันนี้
WHITNEY (2018)
สารคดีโดย เควิน แม็กโดนัลด์ ผู้กำกับที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของวิทนีย์ ฮุสตัน นักร้องหญิงที่มีเสียงอันทรงพลังและยากที่ใครจะไม่เคยได้ยินเสียงร้องของเธอ วิทนีย์เองก็ไม่ต่างจากศิลปินหลายคนที่มีทั้งด้านที่ดีและด้านที่แย่ สิ่งที่เราเคยได้เห็นก็คงเป็นแต่ด้านที่เฉิดฉาย หรือข่าวร้ายๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่จะเห็นจากสารคดีเรื่องนี้ แน่นอนว่ามันคือความเป็นส่วนตัวอย่างที่สารคดีจะให้ได้
มันเปิดเผยให้เราเห็นด้านที่เป็นส่วนตัวที่สุด บทสัมภาษณ์ของบุคคลที่รู้จักเธอดี ฟุตเทจเก่าเก็บ ภาพบันทึกการแสดงที่หาดูยาก และผลงานที่ถูกเก็บซ่อน ทุกอย่างที่มากมายพอจะทำให้เราได้เห็นความรุ่งโรจน์และความล้มเหลว ความสุขที่เคยมีและความทุกข์ที่เคยได้ ภายใต้เบื้องหลังอันงดงาม ภายใต้เสียงร้องอันรวดร้าว ภายใต้ความแข็งแกร่งบนเวที เธอกลับต้องประสบปัญหาต่างๆ มากมายที่ถาโถมมาไม่หยุด ความรักที่ไม่เป็นดั่งใจ ความบาดหมางกับพ่อ การใช้สารเสพติด เรื่อยไปจนถึงการบำบัด เธอพยายามจะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่นั่นดูจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินคว้า เมื่อผู้คนตัดสินเธอไปแล้ว ดังนั้น การหวนคืนจึงไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ วิทนีย์เสียชีวิตลงในวัย 48 ปี ในห้องน้ำโรงแรมเบเวอร์ลีฮิลล์ ความเจ็บปวดของเธออาจหมดลงในวันนั้น แต่มันก็หมายถึงชีวิตทั้งชีวิตของเธอด้วย
ในสายตาคนอื่น วิทนีย์อาจเป็นหญิงสาวที่ควรจะมีพร้อมทุกสิ่ง แต่แท้จริงแล้วบางทีเธอคงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเลย ทั้งๆ ที่เธออาจจะคิดแบบนั้น แต่ทันทีที่เธอได้เปล่งเสียงร้องออกมา โลกนี้ก็พอจะเผยให้เธอได้มีรอยยิ้มออกมาบ้างในวันเหล่านั้น