เป็นประจำที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติรวบรวม ‘หนังสือใหม่’ (ใหม่ขนาดบางเล่มยังไม่มีวางขายที่ร้านเลย) และ ‘หนังสือไม่ใหม่’ (บางเล่มหาซื้อนอกงานไม่ได้แล้ว) ไว้มากมาย แต่ถ้าไม่ใช่แฟนประจำสำนักพิมพ์ใด บางครั้งคุณอาจเคยเจอภาวะที่ไม่รู้จะซื้อเล่มไหน หรือไม่รู้จะซื้อเล่มนี้ได้ที่บูธไหน
เพื่อให้นักอ่านมีตัวช่วยในการเดินหาหนังสือ เนื่องในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 (29 มีนาคม – 8 เมษายน 2561) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เราเลยตระเวนทักทายและชวน ‘คนประจำบูธ’ มาแนะนำหนังสือของบูธตัวเอง บางคนแนะนำหนังสือเล่มใหม่ที่อุ่นมาจากโรงพิมพ์ บางคนหยิบหนังสือของปีก่อนๆ ที่ยังน่าอ่านมาแนะนำ
ไม่ต้องเกริ่นอะไรให้มากความ ลองพิจารณาคำแนะนำของพวกเขาเลย
Magical Moments at Walt Disney World
ผู้เขียน : anya
แนะนำโดย ธนธรณ์ แซ่อึ้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Bunbooks
หากสนใจจงไป แซลมอน เฮ้าส์ (SALMON HOUSE) บูธ Y12 โซน Ballroom (Book Wonderland)
“เรื่องของเด็กผู้หญิงที่ไปฝึกงานและทำงานที่ดิสนีย์เวิลด์ ในสหรัฐอเมริกา ตอนแรกเขาฝึกงานโดยทำหน้าที่ขายของที่ระลึก แล้วเปลี่ยนไปทำงานเป็นทูตวัฒนธรรมของไทยประจำที่นั่น คอยแนะนำวัฒนธรรมต่างๆ ของดิสนีย์เวิลด์ให้คนที่เข้ามาเที่ยว ฉากหน้าของสวนสนุกที่บันเทิงและสนุกสนาน เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเบื้องหลังเป็นยังไง วัฒนธรรมในการทำงาน ความหลากหลายของคนที่มาเที่ยว ต้องเอนเตอร์เทนให้ทุกๆ คนสนุก คนทำงานรับมือสิ่งเหล่านั้นยังไง เรามองว่าคนอ่านจะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นเบื้องหลังการทำงานที่หาอ่านได้ยากนะ”
RAJASTHAN, DELHI & AGRA มหัศจรรย์อินเดีย เส้น ทางราชสถาน เดลี และอักรา
ผู้เขียน : Wongklom Journey
แนะนำโดย ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ พาร์ทเนอร์ของบูธ
หากสนใจจงไป วงกลม (CIRCLE) บูธ G18 โซน Plenary
“เป็นไกด์ซีนที่พาไปประเทศอินเดีย เนื้อหาไม่ได้เน้นแค่สถานที่ท่องเที่ยว ไม่ได้บอกว่าต้องไปเช็กอินที่ไหน แต่จะเล่าถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปะ และวัฒนธรรมต่างๆ บอกว่าเมืองนั้นมีอะไร สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ยังไง คนที่นั่นมีจิตวิญญาณแบบไหน ย่านไหนมีกิจกรรมอะไรบ้าง ตอนเราอ่านครั้งแรกรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่สีสันและลายเส้นสดมาก เรียกได้ว่าจัดเต็ม เก็บ element ของอินเดียมาได้ดี คนเขียนมีความรู้เรื่องอินเดีย อินเรื่องศิลปะ อ่านสนุกและเห็นอินเดียในมิติที่ลึกขึ้น”
อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย (The Power of Meaning)
ผู้เขียน : Emily Esfahani Smith / ผู้แปล : อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ
แนะนำโดย อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ OMG BOOKS
หากสนใจจงไป โอเอ็มจี บุ๊คส์ (OMG BOOKS) บูธ G04 โซน Plenary
“เราได้ยินมาตลอดว่า ‘ความสุข’ คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คนเขียนเล่มนี้ตั้งคำถามว่า จริงหรือเปล่า? สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า มนุษย์มีแรงขับอีกอย่างคือ การใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เนื้อหาค้นคว้างานวิจัยใหม่ๆ มาสนับสนุนคำตอบนั้น อย่างองค์ประกอบแรกที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย คือความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คน หรืออะไรที่มากกว่าตัวเอง พูดง่ายๆ คือชีวิตที่มีความหมายคือชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ลึกๆ เราก็รู้กัน แต่คนเขียนสามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่าย หลายอย่างเป็นประสบการณ์ที่สากลมากๆ แต่พอไม่มีถ้อยคำมาถ่ายทอด เลยตีกันอยู่ในหัว ขัดแย้งในจิตใจ เมื่อมีคำมานิยามก็ช่วยให้ตกผลึกความรู้สึกของตัวเอง”
อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ (Freedom from the Known)
ผู้เขียน : จ. กฤษณมูรติ (J. KRISHNAMURTI) / ผู้แปล : สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ และคณะ
แนะนำโดย พรทิพย์ ศิริสุคนธ์ อาสาสมัครมูลนิธิอันวีกษณา
หากสนใจจงไป กฤษณมูรติ บุ๊ค & ดีวีดี (ANVEEKSHANA) บูธ M43 โซน C1
“ความรู้แบ่งได้เป็นสองแบบ ความรู้สำหรับใช้ในชีวิต ในเรื่องการกินการอยู่ เราก็ต้องรู้ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่มันมีความรู้อีกอย่าง คือความรู้ที่ทำให้ไม่ทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จาก ‘ความไม่รู้’ เพราะความรู้มือสองเป็นของคนอื่น เป็นความจำในอดีต ทำให้เกิดการยึดติดและคิดปรุงแต่ง เราต้องทิ้งความรู้แล้วอยู่กับปัจจุบันขณะที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง จิตที่เงียบและว่างจะมาชี้ทางสว่าง ทำให้เจอกับอิสรภาพ ชีวิตที่ไม่ทุกข์จะเกิดขึ้นขณะนั้น ตัวเองประทับใจกฤษณมูรติเพราะท่านไม่ให้เราพึ่งสิ่งใด เป็นการสังเกตโดยธรรมชาติ เรารู้ด้วยตัวเองว่าถูกอะไรครอบงำ อ่านเล่มนี้แล้วจะรู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจทุกข์ที่เกิดจากความกลัว เกิดความมั่นคงในตัวเอง ในที่สุดจะรู้ว่าความรักที่แท้จริงเป็นยังไง”
ให้รู้ซะบ้างว่าเราเร็วแค่ไหน (You Shall Know Our Velocity)
ผู้เขียน : Dave Eggers / ผู้แปล : มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
แนะนำโดย ศิริธาดา กองภา บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลเจ้นด์ บุ๊คส์
หากสนใจจงไป เลเจ้นด์ บุ๊คส์ (LEGEND BOOKS) บูธ W15 โซน Atrium
“สำนักพิมพ์แปลงานของเดฟ เอกเกอร์ส มา 4 เล่มแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดีในกลุ่มคนอ่านวรรณกรรม งานเขียนของเขามักเสียดสีสังคมและเล่าผ่านตัวละครที่ดูเป็นลูสเซอร์ เล่มนี้เริ่มจาก ‘วิล’ ได้เงินก้อนนึงจากบริษัทหลอดไฟที่นำภาพของเขาไปใช้ แต่เงินนั้นพาความซวยเข้ามาด้วย เขาอยากกำจัดเงินนั้น แต่วิธีธรรมดาก็ธรรมดาไป เลยชวน ‘แฮนด์’ เดินทางรอบโลกในหนึ่งสัปดาห์ เอาเงินไปแจกคนตามที่ต่างๆ จิ้มประเทศที่รู้สึกว่ากันดารกว่าอเมริกา พยายามจะเล่นบทพระเจ้า แต่การเดินทางทำให้เห็นความไม่เท่าเทียม ระหว่างการเดินทางวิลเขียนบันทึกของตัวเอง ในนั้นมีเรื่องราวระหว่างวิลกับแฮนด์ ขณะที่คนอ่านคิดว่าเรื่องคงจบแบบนี้แน่ๆ พอตอนท้ายเปลี่ยนมาเล่าผ่านบันทึกของแฮนด์ เลยกลายเป็นหักมุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ คนเขียนพยายามสะท้อนปัญหาสังคม โดยไม่ได้บอกตรงๆ ว่านี่คือปัญหา มันจะอารมณ์หนังโร้ดมูฟวี่เลย เดินทางไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็ศึกษาผู้คนและได้ค้นพบตัวเอง”
อีกไม่นานเราจะสูญหาย
ผู้เขียน : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
แนะนำโดย ปรียา พุทธประสาท คนรักของบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
หากสนใจจงไป อัลเทอร์เนทีฟ ไรท์เตอร์ / เม่นวรรณกรรม (ALTERNATIVE WRITERS / PORCUPINE BOOK) บูธ D01 โซน Plenary
“อ้อมแก้วเคยออกหนังสือมาบ้างแล้ว วันหนึ่งเขาส่งนิยายมาให้ปอ (นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม) ปออ่านแล้วรู้สึกว่างานดีมาก น่าตื่นตะลึง เราอ่านแล้วรู้สึกถึงรสชาติใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ เขียนได้เก่ง เป็นงานวรรณกรรมแบบที่เราชอบ นักเขียนรุ่นปอมักเขียนอะไรคล้ายๆ กัน แต่เล่มนี้เป็นงานของคนอีกรุ่น มีเสียงของตัวเอง ภาษาดี พล็อตกระชับ ไม่ยืดเยื้อ เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ตอนอ่านพาร์ทแรกๆ เรายังรู้สึกว่าธรรมดา แต่ระหว่างบรรทัดจะรู้สึกแปลกๆ แต่พาร์ทต่อมา โอ้โห! วิธีเล่ามีความกล้ามาก เขาอธิบายควาทุกข์ทรมานของคนออกมาได้เห็นภาพ ส่วนพาร์ทสุดท้าย อธิบายยังไงดีวะ (หัวเราะ) มันมีลักษณะไซไฟนิดๆ น่ะ”
121 Classic Literature Book Lists บ่นสนทนา ‘วรรณกรรม’
ผู้เขียน : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
แนะนำโดย เอกสิทธิ์ เทียมธรรม ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ
หากสนใจจงไป สมมติ (SOMMADHI) บูธ R52 โซน C2
“เป็นการกลับมาอีกครั้งของ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ บรรณาธิการที่คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรม หลังจากหายไปนานในแง่การเขียน เนื้อหารวบรวมอินโทรดักชั่น 121 เล่มของวรรณกรรมที่เป็น ‘กล่องดวงใจ’ ในโลกสากลตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เพื่อสำรวจว่าในภาษาต่างๆ มีเล่มไหนเป็นเดอะเบสต์บ้าง คนเขียนจะอธิบายว่าทำไมเล่มนี้ถึงเป็นกล่องดวงใจของภาษานั้น มันส่งผลกับบริบทสังคมตอนนั้นยังไง ในแง่สำนักพิมพ์ เล่มนี้ถือเป็นเล่มใหญ่ที่ทำให้สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถ้าในแง่วรรณกรรมแปล บ้านเรามักไปหยิบเล่มงานชั้นรองมาแปล ซึ่งส่งผลต่อการอ่านวรรณกรรมทุกวันนี้ เล่มนี้จะให้ภาพรวมของโลกวรรณกรรมที่ควรนำมาแปลให้คนไทยได้อ่านกัน”
เลข 8 แปดปุยผู้พิทักษ์
ผู้เขียน : เกื้อกมล นิยม
แนะนำโดย เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร
หากสนใจจงไป สานอักษร (SAANAKSORN) บูธ W22 โซน Atrium
“เป็นหนึ่งใน 11 เล่ม ของชุดนิทานที่สอนเรื่องจำนวน เล่มนี้คือเลข 8 เล่าผ่านแมงมุมที่มีแปดขา เราชอบเล่มนี้เพราะเป็นหนังสือขาวดำเล่มเดียวในชุด พ่อแม่มักคิดว่าเด็กๆ ต้องเป็นหนังสือสีๆ แต่พอเอาไปทดลองใช้กับเด็ก ปรากฏว่าชอบกันมาก พวกเขาไม่ได้เรียกร้องความเป็นสี ขอแค่เนื้อเรื่องสนุกก็พอ หนังสือขาว-ดำเปิดพื้นที่ให้จินตนาการต่อได้ด้วย เนื้อหาว่าด้วย ‘จำนวน’ เป็นบทเรียนแรกในวิชาคณิตศาสตร์ของเด็ก ป.1 เป็นเรื่องที่จับต้องได้ยากนะ กว่าจะเชื่อมโยงจำนวนเป็น ‘นามธรรม’ กับ ‘สัญลักษณ์’ ออกมาได้ เช่น ถ้าบอกเด็กเล็กโดยไม่มีของจริงตรงหน้าว่า ‘ส้ม 1 ลูก แม่ให้มาอีก 2 ลูก จะเป็นเท่าไร’ เด็กบางคนตอบ 12 นิทานจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น แมงมุมตัวโตทะลุบ้าน สองขาออกประตูหน้า อีกสองขาออกประตูหลัง อีกสองขาออกหน้าต่าง อีกสองขาออกหน้าต่างอีกด้าน จากการทดลองในโรงเรียนรุ่งอรุณ การใช้นิทานสอนเด็กเป็นสิ่งที่เวิร์กเลยนะ นิทานทำให้เด็กๆ สนุกกับการได้คิด”
ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผู้เขียน : วีระ สมบูรณ์
แนะนำโดย คีรีบูน วงษ์ชื่น คนพิสูจน์อักษรของสำนักพิมพ์ WAY
หากสนใจจงไป เวย์ (WAY) บูธ G01 โซน Plenary
“อาจารย์วีระรวบรวมความคิดของนักคิดสำคัญของโลก 12 คน มาอธิบายทฤษฎีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้บางส่วนเป็นนักคิดที่มีชีวิตเมื่อสองพันกว่าปีก่อน แต่ความคิดก็ยังสัมพันธ์กับบริบทโลก สามารถนำทฤษฎีเหล่านั้นมาทบทวนบริบทปัจจุบัน เราเป็นคนพิสูจน์อักษรเล่มนี้ อาจารย์เขียนด้วยภาษาเข้าใจง่าย ความคิดแต่ละคนเชื่อมร้อยกัน แต่ด้วยความที่เป็นแนววิชาการ ก็ต้องมีสมาธิ ตั้งใจ และสนใจพอสมควรถึงจะสนุก ด้วยความที่คนเขียนเป็นอาจารย์ ตอนอ่านเลยเหมือนเข้าไปนั่งฟังเลกเชอร์นะ”
ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน
ผู้เขียน : เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson)
แนะนำโดย อริศา กิตติคุณเสรี กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน
หากสนใจจงไป อ่าน (READ PUBLISHING) บูธ S39 โซน C2
“อาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน สอนหนังสืออยู่ที่อเมริกา เขาต้องการเรื่องสั้นที่อ่านแล้วเข้าใจสังคมไทยเพื่อไปสอนนักศึกษาที่เรียนไทยศึกษา เลยทำงานร่วมกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกมาเป็น 13 เรื่องสั้นที่เป็นตัวแทนของยุค ตอนนั้นใช้คำว่า ‘ยุคอเมริกัน’ คือทศวรรษที่ 2510 ช่วงสงครามเวียดนาม ที่ประเทศไทยมีทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพในภาคอีสานเพื่อไปรบกับเวียดนาม เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น กระแสวัฒนธรรมอเมริกัน การตั้งผับบาร์ อาชีพเมียเช่า เรื่องสั้นเหล่านั้นได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมกับบทนำขนาดยาวโดยอาจารย์เอง (หนังสือ In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era) เล่มนี้ดึงเรื่องสั้นเหล่านั้นมาพิมพ์ แปลบทนำเป็นภาษาไทย โดยมีบทวิจารณ์โดยอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เพิ่มเข้ามา เราประทับใจบทนำในเล่มนี้ เพราะอาจารย์รวบรวมสถิติและข้อมูลต่างๆ เชิงสังคมมาอธิบายได้ค่อนข้างลุ่มลึก คนชอบวรรณกรรมจะได้อ่านเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่สะท้อนชีวิตคน หรือคนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยก็จะเข้าใจแง่มุมต่างๆ มากขึ้น”
Fact Box
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 08 เมษายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์